xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิบัติกับจีนในฐานะศัตรู ไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของอเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอร์จ คู

<i>เรือสินค้าจำนวนมากจอดเทียบท่าที่เมืองเซี่ยงไฮ้, ประเทศจีน ในภาพซึ่งถ่ายเมื่อ 29 มี.ค. 2018 ภาพนี้ ทั้งนี้กำลังเป็นที่วิตกว่าสงครามการค้าที่อาจระเบิดขึ้นมาระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งสองและของทั่วโลก </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Treating China as an adversary is not in America’s interest
By George Koo
17/04/2018

พวกนักการเมืองในกรุงวอชิงตันดูเหมือนพร้อมที่จะเปล่งถ้อยคำโจมตีเล่นงานจีน โดยมองว่ามันคือเกียรติประวัติ ขณะเดียวกันก็มีพวกที่อ้างตนเป็นบัณฑิตผู้รู้ซึ่งทำมาหากินกับการใส่สีตีไข่ให้ร้ายจีน แต่มาถึงเวลานี้เมื่อเรากำลังเผชิญภัยคุกคามที่จะขัดขวางทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักกันโดยทั่วหน้าสืบเนื่องจากสงครามการค้า มันจึงถึงเวลาที่จะพิจารณาถึงผลดีผลเสียของการปฏิบัติต่อจีนในฐานะเป็นศัตรู โดยอิงอยู่กับข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง

ผลโพลของสำนัก “แกลลัพ” เมื่อเร็วๆ นี้ [1] เปิดเผยให้ทราบว่า สาธารณชนชาวอเมริกันที่มีความคิดเห็นต่อจีนในทางชื่นชม ในที่สุดก็ไต่ข้ามระดับ 50% ได้เสียทีถึงแม้เลยไปเพียงนิดเดียวก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นพัฒนาการที่น่าจับตามองโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่ายังคงมีการโจมตีเล่นงานแบบระเบิดอารมณ์ในเชิงลบอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนจากพวกนักการเมืองอเมริกันและพวกบัณฑิตผู้รู้ชาวอเมริกัน

พวกนักการเมืองสหรัฐฯที่มีความใฝ่ฝันทะเยอทะยานในระดับชาติ ดูเหมือนจะต้องทำให้มีเรื่องการโจมตีเล่นงานจีนปรากฏเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในประวัติผลงานของพวกเขา ตัวอย่างล่าสุดของเรื่องนี้ คือ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) [2] การเดินทางไปยังจีนของเธอเมื่อเร็วๆ นี้แทบจะเพียงเพื่อให้สามารถบันทึกเอาไว้ว่าเธอได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์การไม่เคารพสิทธิมนุษยชนของแดนมังกร –และเพื่อให้ได้โบว์เกียรติคุณยืนยันว่าเธอก็มีผลงานทางด้านกิจการต่างประเทศกับเขาเหมือนกัน

เนื่องจากเป็นที่สันนิษฐานกันว่าเธอจะกลายเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีแนวความคิดแบบก้าวหน้าสำหรับให้ประชาชนชาวอเมริกันเลือกในสมัยต่อไป ดังนั้นในทางเป็นจริงแล้วเธอน่าจะสามารถใช้ช่วงเวลาในการเยือนของเธอเพื่อเรียนรู้ว่าจีนทำอย่างไรจึงสามารถนำพาเอาประชาชนหลายร้อยล้านคนให้หลุดออกมาจากความยากจน และขบคิดว่ามีเทคนิคอะไรของจีนหรือไม่ที่อาจก็อบปี้นำมาช่วยเหลือนำพาชาวอเมริกันให้หลุดพ้นความยากจนบ้าง –ซึ่งเรื่องนี้กำลังเป็นความท้าทายภายในประเทศประเด็นหนึ่งที่จำเป็นต้องแก้ไขหาทางออกกันอย่างจริงจัง

ความบกพร่องล้มเหลวร่วมกันประการหนึ่งในหมู่ผู้นำทางการเมืองในวอชิงตันก็คือ พวกเขากำลังแสดงท่าทีรวดเร็วเหลือเกินในเวลาวิพากษ์วิจารณ์จีน ขณะที่ทำมึนไม่รู้ไม่เห็นกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ๋งครึ่มภายในอเมริกาเอง

แล้วนอกจากนั้นยังมีพวกบัณฑิตผู้รู้ซึ่งกำลังทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการระบายสีใส่ไข่ให้จีนกลายเป็นปีศาจร้าย บุคคลที่โดดเด่นเตะตาคนหนึ่งในเรื่องเช่นนี้ก็คือ กอร์ดอน ชาง (Gordon Chang) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Coming Collapse of China” (การล่มสลายที่กำลังจะเกิดขึ้นของจีน) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2001 ในสหรัฐฯนั้นเขายังคงได้รับคำเชื้อเชิญให้ออกเทศนาสั่งสอนสาธารณชน ทว่าภายนอกประเทศแล้ว คำทำนายของเขาเกี่ยวกับการล่มสลายของจีน ถูกมองว่านี่ต่างหากคือความล่มสลายที่แท้จริง

ทางด้าน ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) [3] ก็ออกโรงอย่างปั่นป่วนวุ่นวายโดยใช้แผนการสูตรการเล่นของชางนั่นเอง และได้ผลิตหนังสือและภาพยนตร์สารคดีที่บิดเบือนให้ร้ายจีนตลอดจนนโยบายการค้าของแดนมังกร ด้วยวิธีพูดใส่สีตีไข่ให้เกินเลยความเป็นจริงไปมากมาย และกระทั่งเสกสรรปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาเลยก็มี

พวกเพื่อนร่วมงานของนาวาร์โร ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ (University of California at Irvine) สามารถพิสูจน์ให้เห็นความจริงที่ว่าเขาไม่ได้มีภูมิหลังใดๆ หรือความเชี่ยวชาญใดๆ ในเรื่องจีนหรอก พวกนักเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านการฝึกอบรมแบบมืออาชีพทั่วทั้งโลกต่างพากันมองพวกข้อเขียนแบบมือสมัครเล่นเกี่ยวกับจีนของเขาอย่างดูถูกดูแคลน กระนั้นก็ตาม นาวาร์โรก็ยังสามารถพึ่งพาอาศัยถ้อยคำโวหารกระหน่ำโจมตีจีนแหลกลาญของเขา จนกระทั่งเข้าสู่ระดับวงในของทำเนียบขาว

เวลานี้เมื่อเรากำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่จะขัดขวางทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักกันโดยทั่วหน้าสืบเนื่องจากสงครามการค้า มันจึงถึงเวลาแล้วที่จะพิจารณาชั่งน้ำหนักดูถึงผลดีผลเสียของการปฏิบัติต่อจีนในฐานะเป็นศัตรู โดยอิงอยู่กับข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงแทนที่จะอาศัยเพียงการพูดโวยวายโผงผางและการทวิตอย่างเกินความเป็นจริง

ทำไมจีนจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)

ประเทศจีนสามารถเข้าเป็นชาติสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) ในปี 2001 หลังจากเริ่มต้นกระบวนการยื่นใบสมัครเมื่อราว 15 ปีก่อนหน้า ในเวลานั้นเศรษฐกิจของจีนยังมีขนาดไม่ถึง 5%ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นชาติกำลังพัฒนาชาติหนึ่ง จีนจึงได้รับสิทธิตามกฎกติกาของ WTO ให้สามารถใช้มาตรการที่ชัดเจนบางอย่างบางประการมาพิทักษ์คุ้มครองพวกอุตสาหกรรมการผลิตของตน

แรงจูงใจที่ทำให้จีนต้องการเข้า WTO นั้น ก็คือเพื่อบีบบังคับให้พวกอุตสาหกรรมภายในประเทศของแดนมังกรต้องปรับปรุงวิธีปฏิบัติทางการผลิตของพวกตนเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตรงกันข้ามกับความหมายโดยอ้อมๆ ในคำแถลงฉบับต่างๆ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การที่จีนเป็นสมาชิกของ WTO นั้น ไม่ได้หมายความเลยว่าเป็นการมอบใบอนุญาตให้แก่จีนเพื่อเล่นเล่ห์เพทุบายกับระบบ

เรื่องที่เป็นความย้อนแย้งอย่างน่าขันก็คือว่า ทำเนียบขาวต่างหากที่กำลังล่วงละเมิดคุณสมบัติความเป็นสมาชิก WTO ของสหรัฐฯ จากการข่มขู่คุกคามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะขึ้นภาษีศุลกากรต่อสินค้าเข้าของจีนแบบตามอำเภอใจโดยลำพังฝ่ายเดียว

ในระยะแรกของการเป็นสมาชิก WTO จีนยืนยันว่าในอุตสาหกรรมบางอย่างบางประเภท หากบริษัทต่างชาติต้องการที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมเหล่านี้ในแดนมังกรแล้ว บริษัทต่างชาติก็ต้องจัดตั้งกิจการร่วมทุนขึ้นมาโดยจะถือหุ้นได้ไม่เกิน 50% และต้องแบ่งปันถ่ายโอนเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับให้กิจการร่วมทุนนี้ประสบความสำเร็จ

นี่คือยุทธศาสตร์ของจีนในการไล่ตามให้ทันด้วยวิธีการเรียนรู้จากฝ่ายตะวันตก พวกบริษัทสหรัฐฯไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องเข้าสู่ตลาดจีน พวกเขามองเมินแดนมังกรก็ได้ ถ้าพวกเขาพบว่าเงื่อนไขเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

เจเนอรัลมอเตอร์ส (General Motors หรือ GM) บริษัทกิจการรถยนต์ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ เป็นรายหนึ่งซึ่งยินยอมทำตามเงื่อนไขของปักกิ่ง และเวลานี้รู้สึกปลาบปลื้มยินดีมากที่กระทำเช่นนั้น เมื่อปรากฏว่าจีเอ็มสามารถทำเงินจากการขายรถยนต์แบรนด์ “บูอิค” (Buick) ในจีนโดยผ่านกิจการร่วมทุน 50 ต่อ 50 ของตน ได้มากกว่าที่ขายได้ทั้งหมดในสหรัฐฯ และเรื่องนี้ช่วยชะลอเวลาให้แก่บริษัทในการประกาศยอมเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ขณะเดียวกันการที่จีนจัดเก็บภาษีศุลกากรจากพวกรถยนต์ทำในต่างประเทศในอัตราสูง ก็เป็นตัวช่วยเหลือ GM ในแดนมังกร แม้กระทั่งทุกวันนี้บริษัทยังคงสามารถทำอัตรากำไรจากรถยนต์ซึ่งผลิตและขายในจีน ได้สูงกว่ารถที่ทำและจำหน่ายในสหรัฐฯ

สำหรับใครก็ตามที่มีความรู้สึกฝังจิตฝังใจว่าการที่จีนประสบความสำเร็จในทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ เพราะพึ่งพาอาศัยการถ่ายโอนเทคโนโลยีอเมริกันแล้ว ควรต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่ายอดเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดของสหรัฐฯในแดนมังกรนั้น อยู่ในระดับน้อยกว่าเยอะแยะเมื่อเทียบกับพวกธุรกิจของฮ่องกงและไต้หวันที่ไปตั้งโรงงานกันในจีน ผู้คนแวดวงธุรกิจที่เป็นคนเชื้อจีนได้เข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่อย่างน้อยก็ 10 ปีก่อนหน้าพวกบริษัทสหรัฐฯ และพวกเขานี่แหละเป็นผู้ที่นำเอาวิธีปฏิบัติอย่างดีงามในอุตสาหกรรมการผลิตเข้าสู่ประเทศจีน

สงครามการค้าจะทำให้สหรัฐฯเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ถ้าทีมทรัมป์ยังคงยืนกรานที่จะเปิดฉากทำสงครามขึ้นภาษีศุลกากรกันแล้ว พวกเขาจำเป็นที่จะต้องเข้าใจให้ดีว่าอเมริกันนั่นแหละจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เหตุผลง่ายๆ คือเพราะจีนไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องคอยง้อรอซื้อพวกสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่น ถั่วเหลือง, หมู, และไวน์จากสหรัฐฯ ยังมีประเทศอื่นๆ อีกซึ่งกระตือรือร้นที่จะขายสินค้าเหล่านี้ให้จีน นั่นคือ พวกคุณสามารถมองจีนว่าเป็นตลาดของผู้ซื้อ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าสหรัฐฯต้องยุติการซื้อหาพวกสินค้าของใช้ประจำวันสำหรับผู้บริโภคจากประเทศจีนแล้ว ครัวเรือนชาวอมริกันจะต้องจ่ายเงินแพงขึ้นสำหรับสินค้านำเข้าจากที่อื่นๆ นั่นคือ พวกคุณสามารถมองสหรัฐฯว่าเป็นตลาดของผู้ขาย

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าการเป็นสมาชิกของ WTO มีส่วนช่วยเหลืออย่างใหญ่โตต่อการก้าวผงาดขึ้นมาในทางเศรษฐกิจของจีน เพราะหากโรงงานแห่งหนึ่งๆ ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว ก็จะต้องเจ๊งออกจากธุรกิจไป ผลที่ติดตามมาก็คือ จีนในเวลานี้เป็นประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมหาศาลจากเมื่อสัก 2 หรือ 3 ทศวรรษก่อนหน้านี้

การพึ่งพาอาศัยทรัพย์สินทางปัญญาที่โจรกรรมมา อาจจะเป็นสิ่งที่มีความหมายความสำคัญมากในอดีต ทว่าในปัจุบันจีนกำลังก่อกำเนิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างสำคัญของตนเอง ยิ่งในบางด้าน เป็นต้นว่า การสื่อสารโทรคมนาคมเคลื่อนที่ยุค 5G, หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิต, และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จีนเข้าไปอยู่ในหมู่ผู้นำของโลกเรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ

การข่มขู่คุกคามที่จะทำสงครามการค้าและการแสดงท่าทีท้าตีท้าต่อยอย่างอื่นๆ จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป้าหมายของจีนที่จะกลายเป็นเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกได้ ในเวลาเดียวกัน จีนยังไม่ได้เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งของชาวอเมริกัน หรือเข้าร่วมการสู้รบขัดแย้งในตะวันออกกลางใดๆ เลย

จีนยังพยายามเดินไปตามเส้นทางของตนโดยไม่คิดแสดงท่าทีข่มขู่คุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยต่อสหรัฐฯ หากคิดเปรียบเทียบกันอย่างเร็วๆ ก็อาจจะสะท้อนจุดนี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น นั่นคือ กองทัพเรือสหรัฐฯเวลานี้จัดการฝีกซ้อมเพื่อสำแดง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ในทะเลจีนใต้อยู่บ่อยๆ แต่จีนไม่ได้คิดที่จะตอบโต้เอาคืนด้วยการจัดการฝึกซ้อมสำแดงเสรีภาพเช่นนั้นบ้างในเขตหลังบ้านของสหรัฐฯอย่างทะเลแคริบเบียน

การปฏิบัติต่อจีนในฐานะเป็นศัตรู คือการนำเอางบประมาณแผ่นดินรัฐบาลกลางสหรัฐฯไปใช้ในทางที่ผิด, เป็นการดึงดูดความสนใจของสหรัฐฯออกไปจากประเด็นปัญหาอันเร่งด่วนอย่างแท้จริงในส่วนอื่นๆ ของโลก, และเป็นการโยนทิ้งลู่ทางโอกาสใดๆ ที่จะร่วมมือกับจีนในหนทางซึ่งจะให้ผลระโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชนชาวอเมริกัน

เชิงอรรถ

[1]http://news.gallup.com/poll/228638/favorable-views-japan-china-keep-climbing.aspx

[2]http://www.scmp.com/news/china/diplomacy-defence/article/2139809/united-states-waking-chinese-abuses-us-senator

[3]http://www.atimes.com/trumps-buying-navarros-snake-oil-will-make-world-sick/

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ดร. จอร์จ คู เกษียณอายุจากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100 และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media

หมายเหตุผู้แปล

เว็บไซต์เอเชียไทมส์ได้โพสต์ข้อเขียนเรื่อง Navarro’s snake oil will sicken the world ของ จอร์จ คู (ตามที่อ้างอิงไว้ในเชิงอรรถ [3] ข้างต้น) ซึ่งมีเนื้อหาพูดถึงโปรไพล์ของ ปีเตอร์ นาวาร์โร ผู้อำนวยการของคณะกรรมการการค้าแห่งชาติของทำเนียบขาว ที่มีบทบาทสำคัญในนโยบายความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้


คำหลอกลวงที่ดูขึงขังของ'นาวาร์โร' มีแต่จะเป็นอันตรายต่อโลก
โดย จอร์จ คู

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Navarro’s snake oil will sicken the world
By George Koo
24/03/2018

ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ผู้สำเร็จปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นผู้ถือครองตำแหน่งศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย ถึงได้ออกมาเขียนหนังสือที่เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศจีน ชนิดซึ่งไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีความเคารพตนเองคนไหนเลยกล้าอวดอ้างว่าเป็นเจ้าของความคิดดังกล่าว?

นี่คือคำถามที่ลอยอยู่เหนือศีรษะของนักป่าวร้องโจมตีจีนคนสำคัญ และก็เป็นผู้อำนวยการของคณะกรรมการการค้าแห่งชาติของทำเนียบขาว (White House National Trade Council) อีกด้วย ครับ ผมกำลังพูดถึง ปีเตอร์ นาวาร์โร

ผมไปหาคำตอบจากศาสตราจารย์ จอห์น เกรแฮม (John Graham) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของ นาวาร์โร ที่ วิทยาลัยธุรกิจ พอล เมอเรจ (Paul Merage School of Business) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาลัยเขตเออร์ไวน์ (University of California at Irvine) เขาเข้าเป็นอาจารณ์ที่คณะนี้ในปี 1989 ปีเดียวกับนาวาร์โร เวลานี้นาวาร์โรได้ลาออกไปเข้าร่วมอยู่ในคณะบริหารทรัมป์ เกรแฮมคือผู้ที่เทคโอเวอร์รายวิชาว่าด้วยประเทศจีนที่นาวาร์โรเคยสอนอยู่

“ผมไม่แน่ใจหรอกนะว่าผมรู้เหตุผลของเรื่องนี้” เกรแฮมกล่าว “พูดโดยภาพรวมแล้ว หนังสือทั้ง 3 เล่มที่เขาเขียนเกี่ยวกับจีนน่ะ เป็นขยะแสดงความหวาดกลัวต่างชาติชัดๆ หนังสือพวกนี้บรรจุไว้ด้วยความจริงจำนวนหนึ่ง แต่นาวาร์โรเลือกคัดหยิบเอามาแต่ข้อมูลที่จะพิสูจน์ความคิดความเห็นของเขาเท่านั้น พูดกันอย่างถึงที่สุดแล้ว มันไม่มีอะไรเลยนอกจากเป็นสื่อมวลชน yellow journalism (สื่อที่มุ่งเสนอสิ่งเร้าอารมณ์มุ่งทำให้เตะตาดึงดูดคนอ่านและเพิ่มยอดขาย -ผู้แปล) เท่านั้น”

เกรแฮมกล่าวต่อไปว่า “นาวาร์โรไม่ได้มีความคุ้นเคยโดยตรงใดๆ ในเรื่องจีนเลย ไม่ได้แสดงให้เห็นความเข้าอกเข้าใจใดๆ เกี่ยวกับจีน และก็พูดภาษาจีนไม่ได้ เมื่อถามว่าเขาเคยไปจีนกี่ครั้งแล้ว เขาก็หลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบ”

อดีตศาสตราจารย์และผู้ร่วมงานอีกคนหนึ่งของนาวาร์โร ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเออร์ไวน์ ยืนยันเรื่องนี้ โดยเล่าว่า “โดยทั่วไปแล้วเขาหลีกเลี่ยงคนที่รู้อะไรบางสิ่งบางอย่างจริงๆ เกี่ยวกับประเทศนั้น”

ต้องขอคนมาช่วยสอนวิชาว่าด้วยประเทศจีน

หลังจากตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับจีนไปแล้วหลายเล่ม นาวาร์โรจึงตัดสินใจที่จะสร้างรายวิชาว่าด้วยความสัมพันธ์กับจีนของเขาเองขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “China and the Global Order” (จีนกับระเบียบโลก) เมื่อ เบนจามิน เลฟเฟล (Benjamin Leffel) ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการด้านจีนคนหนึ่ง และก็เป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านสังคมวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเออร์ไวน์ ชักตระหนักรับทราบถึงงานเขียนต่างๆ ของนาวาร์โร เขาได้ติดต่อขอพูดคุยและตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนะความคิดเห็นของนาวาร์โร

การพบปะพูดคุยกันได้นำไปสู่การที่นาวาร์โรขอเลฟเฟล ให้มาทำหน้าที่เป็นผู้คอยทัดทานถ่วงน้ำหนักในชั้นเรียนเรื่องจีนของเขา เลฟเฟลได้คิดค้นเนื้อหาหลักสูตรเกือบทั้งหมดโดยใช้พวกวัสดุทางวิชาการในด้านจีนศึกษาซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือ ขณะที่ส่วนร่วมของนาวาร์โรคือหนังสือและภาพยนตร์สารคดีที่เขาเขียนและทำขึ้นมา

เลฟเฟลต้องการโยนวัสดุทั้งหลายของนาวาร์โรทิ้งไป แต่นาวาร์โรไม่ยินยอม (ภายหลังนาวาร์โรเข้าร่วมในคณะบริหารทรัมป์แล้ว เลฟเฟลกับเกรแฮมได้จัดแจงโยนทิ้งหนังสือและหนังสารคดีของนาวาร์โรออกไปจากเนื้อหาหลักสูตรอยู่ดี) ถึงแม้มีการไม่เห็นพ้องต้องกันแบบเผชิญหน้ากันเช่นนี้ นาวาร์โรก็ยังคงเก็บเลฟเฟลเอาไว้ให้เป็นผู้ช่วยสอนของเขา โดยที่ในความเป็นจริงแล้ว เลฟเฟลนี่เองคือผู้ที่ทำการสอนเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งยังเป็นผู้ที่ทุ่มเทลงแรงแก้ไขจุดผิดพลาดและข้อความเกินเลยความจริงต่างๆ ที่พบในหนังสือและหนังสารคดีของนาวาร์โร

ผมถามเลฟเฟลว่า เขาจะสรุปประสบการณ์ในการทำงานกับนาวาร์โรออกมาว่าอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า “มันเป็นการฝึกซ้อมที่ตึงเครียดแต่ก็ประสบความสำเร็จ สำหรับการที่จะทำงานกับใครสักคนหนึ่งซึ่งมีทัศนะความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปอย่างรุนแรง นี่เป็นอะไรที่เราจำเป็นต้องมีในขณะนี้ยิ่งกว่าในช่วงที่ผ่านๆ มา”

เกรแฮมคาดเดาว่าบางทีนาวาร์โรคงจะได้แรงจูงใจจากการได้ปรากฏตัวทางทีวี โดยที่พวกหนังสือที่เขาเขียนและวิดีโอสารคดีที่เขาจัดทำขึ้นมา ได้รับการคำนวณเอาไว้แล้วว่าจะต้องทำให้สื่อมวลชนเกิดความสนอกสนใจตัวเขา นี่ช่างเป็นข้อสังเกตการณ์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจกระจ่างแจ้งเป็นอย่างมาก

“ปีเตอร์ นาวาร์โร” – ต้องการที่จะเป็นเหมือน “กอร์ดอน ชาง”?

จริงๆ แล้วมีความเป็นไปได้สูงที่นาวาร์โรอาจจะเลียนแบบกระทำตามกลวิธีของกอร์ดอน ชาง (Gordon Chang) ชางตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Coming Collapse of China” (การล่มสลายที่กำลังจะเกิดขึ้นของจีน) ของเขาในปี 2001 เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนกลับเติบโตขยายตัวขึ้นมาเป็น 4 เท่าตัวนับตั้งแต่การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ชางก็สมควรที่จะถูกเอาไข่ละเลงหน้าเพื่อหยามหยันความบกพร่องผิดพลาดอย่างชนิดไกลสุดกู่

แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น นาวาร์โรกลับมองเห็นว่าเพื่อนของเขาได้กลายเป็นบุคคลที่สื่อมวลชนชื่นชอบและเป็นผู้ให้สัมภาษณ์แสดงทัศนะเกี่ยวกับจีนอยู่บ่อยๆ ประดาผู้คนที่ถูกเรียกขานกันว่าเป็นคนแวดวงข่าวปลอม หรือที่บางทีเราอาจจะคุ้นชินมากกว่ากับการเรียกพวกเขาว่า เป็นพวกสื่อมวลชนกระแสหลักนั้น ทราบดีว่าพวกเขาสามารถพึ่งพาอาศัยชางได้เสมอ เมื่อต้องการได้ความคิดเห็นเกี่ยวกับจีนในเชิงลบที่เต็มไปด้วยสีสัน

นาวาร์โรได้นำเอาเรื่องการกระหน่ำโจมตีจีนเพื่อเป็นถนนเดินไปสู่ความสำเร็จ แบบที่ชางกระทำ ให้ก้าวขึ้นสูงไปอีกระดับหนึ่ง เขาเป็นคนที่เขียนหนังสือได้ดีกว่าชาง, เป็นผู้ที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจในเวลาออกทีวีมากกว่า, และมีทรัพยากรที่จะนำมาใช้สอยอย่างชนิดที่ชางหาไม่ได้ มูลนิธินิวคอร์ (Nucor Foundation) ให้เงินเขา 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อแปลงหนังสือของเขาให้กลายเป็นวิดีโอสารคดี ซึ่งจากนั้นเขาก็ตระเวนนำออกเปิดตัวเผยแพร่จากฝั่งสมุทรหนึ่งไปสู่อีกฝั่งสมุทรหนึ่งของสหรัฐฯ

ชางเข้าร่วมการตระเวนเปิดตัวเหล่านี้ด้วย และแผ่รัศมีเซเลบด้วยการถ่ายภาพเซลฟี่กับนาวาร์โร บางช่วงเวลาในระหว่างหนังสือปี 2001 ของชาง กับหนังสือเรื่อง “Death by China” (ตายเพราะจีน) ที่ตีพิมพ์ปี 2011 ของนาวาร์โร ทั้งสองก็ได้กลายเป็นเพื่อนตายกัน

เพื่อฉลองมิตรภาพของพวกเขา นาวาร์โรกระทั่งเขียนบทความที่มีเนื้อหาปกป้องแก้ต่างให้ชาง โดยใช้ชื่อว่า “The revenge of Gordon Chang and The Coming Collapse of China?” (การแก้แค้นของกอร์ดอน ชาง และการล่มสลายที่กำลังจะเกิดขึ้นของจีน?) [1] บทความชิ้นยังถูกเผยแพร่โดยใช้ชื่อเรื่องที่ต่างออกไปในวารสารและเว็บไซต์เนชั่นแนลอินเทอเรสต์ (National Interest) วันที่ 7 พฤษภาคม 2016 [2]

เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีน นาวาร์โรไม่ได้มีแรงขับดันที่จะคำนึงถึงข้อเท็จจริงเสียแล้ว และไม่ได้มีความปรารถนาที่จะเขียนเรื่องซึ่งเป็นการคิดค้นของเขาอย่างแท้จริงหรือเป็นไปตามหลักวิชาการแต่อย่างใดทั้งสิ้น เท่าที่ผมทราบ ไม่มีข้อเขียนว่าด้วยจีนของเขาชิ้นไหนเลยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการหรือทางวิชาชีพที่มีชื่อเสียงซึ่งมีการให้เพื่อนร่วมวิชาชีพอ่านและแสดงความคิดเห็นก่อนตีพิมพ์

ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 2016 เขากับ วิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) เป็นผู้ร่วมกันเขียนแผนทางการเศรษฐกิจสำหรับคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ที่กำลังจะขึ้นครองอำนาจ ปรากฏว่าในจดหมายเปิดเผยของนักเศรษฐศาสตร์ 370 คน [3] ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล 19 คน ได้ประทับตราแผนการนี้ว่าจะก่อให้เกิดความหายนะชนิดดักดาน นั่นคือไม่มีทางผ่อนเพลาบรรเทาลงได้

แม้ถูกประณามถึงขนาดนี้ แต่เวลานี้นาวาร์โรก็ยังคงสามารถยืนตระหง่าน กลายเป็นผู้คอยกระซิบบอกกล่าวคนสำคัญในเรื่องทางเศรษฐกิจ ให้แก่ประธานาธิบดีทรัมป์

แพ้เลือกตั้งชิงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้ว 5 ครั้ง

ในช่วงวัยก่อนหน้านี้ นาวาร์โรเคยลงแข่งชิงตำแหน่งทางการเมืองมาหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จเลย ในความพยายามหนแรกของเขา นาวาร์โรเคยเฉียดที่จะได้กลายเป็นนายกเทศมนตรีเมืองแซนดีเอโก (San Diego) เมืองใหญ่อันดับ 2 ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยได้ที่ 1 ในการหยั่งเสียงไพรมารีแบบรวมพรรค ด้วยคะแนน 38.2% ของคะแนนโหวตทั้งหมด

แต่ในการตัดสินชี้ขาดด้วยการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1992 เขากลับพ่ายแพ้ โดยที่เขาเข้าแข่งขันในนามอิสระ และได้เปิดฉากหาเสียงด้วยการพูดโจมตีอย่างโหดเหี้ยมใส่ ซูซาน โกลดิ้ง คู่แข่งที่สังกัดพรรครีพับลิกัน ทำให้เธอปล่อยโฮในระหว่างการดีเบตถ่ายทอดทีวีรอบสุดท้าย พวกผู้ออกเสียงจึงหันมาต่อต้านนาวาร์โร

เขายังจะลงสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งต่างๆ หลายหลากในแซนดีเอโกอีก 4 ครั้ง แต่ละครั้งยุทธวิธีในการรณรงค์หาเสียงของเขาจะชวนสะอิดสะเอียนยิ่งกว่าครั้งก่อนๆ การสาดโคลนใส่คู่แข่งถือเป็นแบบแผนวิธีปฏิบัติมาตรฐานของเขาทีเดียว

ตอนที่มีการประกาศครั้งแรกสุดว่านาวาร์โรจะเข้าร่วมอยู่ในคณะบริหารทรัมป์ หนังสือพิมพ์แซนดีเอโกยูเนียนทรีบูน (San Diego Union Tribune) ได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์แสดงความเป็นปรปักษ์อย่างแหลมคม โดยพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเมืองนี้ในอดีตที่ผ่านมา [4] พาดหัวของบทวิจารณ์นี้คือ “How many San Diego elections did Trump trade adviser Navarro lose?” (นาวาร์โรที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์แพ้เลือกตั้งที่แซนดีเอโกมากี่ครั้งแล้ว?)

ชาร์ลี คุก (Charlie Cook) นักวิเคราะห์การเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับเชื่อถือในระดับชาติ ได้เคยพบนาวาร์โรครั้งหนึ่ง และจำเขาได้อย่างชัดเจน [5] ว่าเป็นผู้สมัครลงแข่งขันชิงตำแหน่งทางการเมืองผู้น่าขยะแขยงที่สุดคนหนึ่งซึ่งเขาเคยพบเห็นมา ในการวิเคราะห์ศึกษาความพ่ายแพ้ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหนึ่ง นาวาร์โรพูดยอมรับว่า “ผมไม่เคยมีความกังวลใดๆ เลยสำหรับการพูดอะไรเกี่ยวกับคู่แข่งของผมที่มันไม่ได้เป็นจริงไปเสียทั้งหมด”

เมื่อถูกถามว่าทำไมเขาจึงเริ่มหันมาสนใจเรื่องเกี่ยวกับจีน คำตอบของเขาก็คือเป็นเพราะเขาสังเกตเห็นว่ามีนักศึกษาของเขาบางคนกำลังสูญเสียตำแหน่งงานให้แก่จีน อะฮ้า คนงานในโรงงานอาจจะสูญเสียงานเพราะโรงงานปิด แต่พวกนักศึกษาเอ็มบีไอน่ะไม่เคยสูญเสียตำแหน่งงานให้จีนหรอก ต้องพยายามให้มากกว่านี้นะ ปีเตอร์!

สื่อมวลชนต้องรับผิดชอบไปส่วนหนึ่งแหละที่ทำให้คนพ่ายแพ้ทางการเมืองมา 5 ครั้งคนหนึ่งสามารถเข้าไปร่วมเป็นบุคคลระดับวงในของทำเนียบขาวของทรัมป์ ตอนที่นาวาร์โรฝอยฟุ้งสิ่งที่ไร้สาระ มันเป็นความรับผิดชอบของสื่อที่จะต้องท้าทายการพูดยืนกรานของเขา แทนที่จะปล่อยให้เขาสามารถผ่านออกไปได้อย่างสบายๆ

เวลานี้นาวาร์โรกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมนำร่องนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มันอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเขาจะกลายเป็นเพียงแค่จุดบลิปสั้นๆ แล้วก็จางหายไปในประวัติศาสตร์ หรือจะเป็นความหายนะชนิดดักดานอย่างที่ผู้คนจำนวนมากหวั่นกลัวกัน ถ้าทรัมป์รับฟังความเห็นของเขาจริงๆ แล้ว คงมีแต่พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะรักษาพวกเราให้อยู่รอดปลอดภัยได้ และการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรจากจีน ย่อมไม่ใช่พัฒนาการที่ชวนให้รู้สึกมีกำลังใจแต่อย่างใด

เชิงอรรถ

[1]https://www.huffingtonpost.com/peter-navarro-and-greg-autry/the-revenge-of-gordon-cha_b_9818300.html

[2]http://nationalinterest.org/feature/china-will-probably-implode-16088

[3]https://www.cnbc.com/2016/11/01/370-top-economists-publish-scathing-letter-against-dangerous-destructive-trump.html

[4]http://www.sandiegouniontribune.com/opinion/the-conversation/sd-peter-navarro-ties-to-san-diego-20161221-htmlstory.html

[5]https://www.politico.com/agenda/story/2017/03/trump-trade-attack-dog-peter-navarro-000353


กำลังโหลดความคิดเห็น