xs
xsm
sm
md
lg

In Pics:สิ้นยุคระบอบคาสโตร!! “ราอูล คาสโตร” ลาออกให้ “รองปธน. มิเกล ดิแอซ-กาเนล”เป็นผู้นำคิวบาคนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้(18 เม.ย) รัฐสภาคิวบามีมติเลือกรองประธานาธิบดีคิวบาคนที่ 1 มิเกล ดิแอซ-กาเนล(Miguel Díaz-Canel) ขึ้นเป็นผู้นำสืบต่อจากราอูล คาสโตร น้องชายของผู้นำปฎิวัติคิวบาที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานถึง 12 ปีเต็ม และจะสิ้นสุดการสิ้นยุคคาสโตรอย่างเป็นทางการวันนี้(19 เม.ย) อย่างไรก็ตาม คาสโตรจะยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาต่อไป ด้านสว.รัฐฟลอริดา มาร์โก รูบิโอ ที่มีเชื้อสายคิวบาและเคยเป็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯรอบไพรมารีปี 2016 ชี้ ถึงจะเปลี่ยนผู้นำ แต่คิวบายังคงไม่เปลี่ยน เป็นคอมมิวนิสต์ต่อไป

เอพีรายงานวันนี้(19 เม.ย)ว่า เมื่อวานนี้(18) สภานิติบัญญัติแห่งชาติคิวบามีมติเลือกรองประธานาธิบดีคิวบาคนที่ 1 วัย 57 ปี มิเกล ดิแอซ-กาเนล(Miguel Díaz-Canel) ขึ้นเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ ถือเป็นผู้นำคนแรกในรอบเกือบ 60 ปีของคิวบาที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์จะผู้นำนอกตระกูลคาสโตร

เอพีชี้ว่า ดิแอซ-กาเนลเป็นผู้สมัครเพียงหนึ่งเดียวที่เสนอตัวเพื่อขอทำหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีต่อจากประธานาธิบดี ราอูล คาสโตร ที่กำลังจะหมดอำนาจลงในวันพฤหัสบดี(19)

อย่างไรก็ตามสำหรับน้องชายของฟิเดล คาสโตร ผู้นำแห่งการปฎิวัติคิวบา ถึงแม้จะลงจากตำแหน่งแล้ว แต่เขายังไม่ล้างมือจากทางการเมืองเพราะราอูล คาสโตรวัย 86 ปีจะยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาที่ทรงอำนาจอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งจากกฎหมายรัฐธรรมนูญคิวบาระบุว่า เป็นตำแหน่งที่อยู่ในฐานะ "ผู้ชี้นำกองกำลังสูงกว่าแห่งสังคมและรัฐ" (the superior guiding force of society and the state)

เอพีชี้ว่า ส่งผลทำให้น้องชายของคาสโตรยังคงได้รับการการันตีทางกฎหมายรัฐธรรมนูญคิวบาให้เป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศต่อไป และทำให้การลาออกของเขาจากตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์

ทั้งนี้ราอูล คาสโตรที่ถึงแม้จะสูงวัยด้วยอายุถึง 86 ปี แต่ทว่าจากสภาพทางร่างกายและสุขภาพ พบว่าทุกประการยังคงมีความแจ่มใส เอพีวิเคราะห์ว่า การลาออกของเขานั้นต้องการทำให้แน่ใจว่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจให้กับรองประธานาธิบดีคิวบาคนที่ 1 มิเกล ดิแอซ-กาเนล นั้นจะมีขึ้นอย่างสมบูรณ์โดยที่ไม่มีปัญหา และรัฐบาลคิวบาชุดใหม่ยังคงมีอำนาจควบคุมอย่างเต็มที่เพื่อเผชิญหน้าเศรษฐกิจชะงักงัน ประชากรที่เข้าสู่ยุควัยชรา และความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้นของชาวคิวบายุคใหม่

หนึ่งในคนยุคใหม่ของคิวบา เมลิสซา เมเดรอซ(Melissa Mederos) อาชีพครูวัย 21 ปี กล่าวแสดงความเห็นกับเอพีว่า “ดิฉันอยากที่จะยังคงอยู่กับแนวความคิดของประธานาธิบดี ฟิเดล คาสโตร ต่อไป เป็นเพราะเขาทำสิ่งมากมายเพื่อชาวคิวบา แต่เราต้องทำให้มีการปฎิรูปโดยเฉพาะกับระบบเศรษฐกิจทั้งหมด”

และกล่าวต่อว่า “ดิแอซ-กาเนลยังคงต้องทำงานหนักในด้านเศรษฐกิจ เป็นเพราะประชาชนจำเป็นต้องมีชีวิตที่ดีกว่านี้”

ในขณะเดียวกัน ว่าที่ประธานาธิบดีคิวบาคนใหม่กล่าวให้ความเห็นหลังจากลงคะแนนในการออกเสียงรัฐสภาคิวบาวันพุธ(18)ว่า

“เรากำลังสร้างฐานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชนขึ้น” และกล่าวต่อว่า “ชีวิตของพวกที่ได้รับการเลือกตั้งจะถูกวางเป้าหมายให้เกี่ยวข้องไปกับประชาชน ฟังเสียงของพวกเขา วิเคราะห์ปัญหาพลเมืองเหล่านั้น และการทำให้มีการถกเถียงเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ในวิดีโอคลิปจากที่ประชุมพรรคที่ถูกรั่วมาถึงภายนอกในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า มิเกล ดิแอซ-กาเนล ได้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนแบบพวกหัวเก่า ที่รวมไปถึงความต้องการที่จะปิดสื่อเอกชนอิสระบางที่ และการประกาศถึงสถานทูตชาติตะวันตกบางส่วนในฐานะที่ซ่องสุมเพื่อการบ่อนทำลายอำนาจรัฐบาลฮาวานา

แต่ทว่าดิแอซ-กาเนล ที่มีชื่อเสียงมาจากจังหวัดบียากลารา (Villa Clara) ที่อยู่ตอนกลางของคิวบาในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ มีตำแหน่งเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัด ถูกขึ้นชื่อว่าเป็นพวกปกป้องบรรดานักวิชาการและบล็อกเกอร์ที่ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มฮาร์ดไลน์ และได้ชื่อว่าเป็นหัวหอกในช่วยให้สังคมคิวบาเปิดกว้างในประเทศที่มีระบอบพรรคการเมืองเดี่ยว

อ้างอิงจากนิวยอร์กไทม์ส พบว่า ว่าที่ประธานาธิบดีคิวบาคนใหม่เป็นผู้ที่สนับสนุนในการนำระบบอินเตอร์เนตเข้ามาในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์สหรัฐฯชี้ว่า ไม่คิดว่าผู้นำคนใหม่นั้นจะมีแนวคิดที่ผิดแผกไปจาก 2 ผู้นำคิวบาก่อนหน้าพี่น้องตระกูลคาสโตร

สำหรับตัวผู้นำคิวบา ราอูล คาสโตร ที่กำลังจะก้าวลงจากอำนาจอย่างสมบูรณ์ เอพีชี้ว่า ภายใต้การบริหารของเขา คาสโตรผู้น้องได้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศไม่แพ้ผู้พี่

2 ปีหลังจากที่รับตำแหน่งในปี 2006 คาสโตรได้ทำการปฎิรูปหลายด้านให้กับคิวบา ที่ทำให้ภาคเอกชนมีการเติบโตถึงเกือบ 600,000 คน และให้เสรีภาพแก่พลเมืองคิวบามากขึ้นในการเดินทางและการเข้าถึงข้อมูล

แต่ทว่าความล้มเหลวที่ ราอูล คาสโตร ไม่สามารถแก้ได้ภายในยุคของเขาคือการแก้ไขภาคส่วนของรัฐที่มีประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งยังคงบริหารงานในรูปแบบระบบราชการขนาดใหญ่ตามแบบอดีตสหภาพโซเวียตที่มีการว่าจ้างงาน 3 ทุก 4 คนของประชากรคิวบา

โดยเงินเดือนภาครัฐโดยเฉลี่ยตกเดือนละ 30 ดอลลาร์ ทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นประสบความยากลำบากที่จะทำให้สมาชิกครอบครัวตัวเองสามารถอิ่มท้อง และต้องพึ่งกับสินบนใต้โต๊ะ หรือเงินช่วยเหลือจากญาติที่อยู่ในต่างแดน

เอพีชี้ว่า แผนการเปิดประเทศด้านเศรษฐกิจของราอูล คาสโตรถูกตั้งข้อสงสัย และทำให้ต้องถูกแช่แข็ง และไม่ประสบความสำเร็จ

โดยลูกจ้างก่อสร้างวัย 41 ปี โรเบอร์โต ซานเชซ(Roberto Sanchez) กล่าวให้ความเห็นว่า “ผมไม่อยากเห็นระบบทุนนิยม หวังว่ามันจะไม่มาถึงที่นี่ แต่พวกเราจำเป็นต้องปรับปรุงระบบเศรษฐกิจของพวกเรา” และกล่าวต่อ “ผมอยากมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น สามารถซื้อรถ และของหลายอย่าง”

ด้านสว.รัฐฟลอริดาเชื้อสายคิวบา และอดีตผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯรอบแรกของพรรครีพับลิกัน มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) ชี้ว่า การที่ราอูล คาสโตร เลือกผู้นำคนใหม่เข้าทำหน้าที่ต่อนั้น เป็นเสมือนเรื่องล้อเลียนเพื่อความขบขัน ไม่ได้นำการเปลี่ยนแปลงใดๆมาสู่คิวบา

โดยในแถลงการณ์ที่ออกมาจากรูบิโอวันพุธ(18) ชี้ว่า คิวบายังคงเป็นรัฐที่ใช้ระบบการกดขี่แบบพรรคการเมืองเดี่ยวต่อไป ซึ่งผ่านแถลงการณ์สว.สายเลือดคิวบา-อเมริกันกล่าวว่า ภายใต้รัฐบาลคิวบาชุดดิแอซ-กาเนล “รัฐบาลจะยังคงเป็นศัตรูต่อระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความมีอคติในการบังคับใช้กฎหมาย”

เอพีรายงานก่อนหน้าว่า คิวบาได้ประกาชชื่อผู้สมัคร 6 คนทีได้เสนอตัวเพื่อทำหน้าที่ในฐานะรองประธานาธิบดีคิวบา ซึ่ง 3 คนจากทั้งหมดจะกลับไปยังสภาแห่งรัฐ(the Council of State) ทั้งนี้พบว่า รัฐสภาเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

โดยคนทั้งสาม เอพีเปิดเผยว่าคือ ซัลวาดอร์ วาลเดซ เมซา(Salvador Valdes Mesa ) รามิโร วาลเดซ เมเนนเดซ(Ramiro Valdes Menendez ) และกลาดิซ มาเรีย เบเญราโน ปอร์เตลา ( Gladys Maria Bejerano Portela)

ส่วนผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคิวบาคนใหม่ได้แก่ อีเนซ มาเรีย แชปแมน( Ines Maria Chapman) เบียทริซ จอนสัน อูร์รูเตีย(Beatriz Jhonson Urrutia) และ โรเบอร์โต โทมัส โมราเลส โอเยดา( Roberto Tomas Morales Ojeda)ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขคิวบา




ประธานาธิบดี ราอูล คาสโตร (ขวา) กำลังสวมกอดแสดงความยินดีกับรองประธานาธิบดีคนที่ 1 มิเกล ดิแอซ-กาเนล (ซ้าย) เมื่อวานนี้(18)







ผู้นำการปฏิวัติคิวบา ฟิเดล คาสโตร(ซ้าย) และประธานาธิบดี ราอูล คาสโตร(ขวา) ที่กำลังจะลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันนี้(19)



กำลังโหลดความคิดเห็น