(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Despite strike, US has lost the long game in Syria
By Fawaz Gerges
14/04/2018
เวลานี้มีอันตรายอย่างแท้จริงในเฉพาะหน้าแล้วว่า ซีเรียจะกลายเป็นสถานที่เกิดไฟบัลลัยกัลป์ ซึ่งจะสร้างความเสียหายยับเยินยิ่งเสียกว่ามหาอัคคีภัยที่กำลังอาละวาดอย่างกราดเกรี้ยวอยู่ที่นั่นตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว การที่คณะบริหารทรัมป์ตั้งใจที่จะถอนตัวผละออกจากสงครามในซีเรีย จะทำให้สหรัฐฯกลายเป็นประเทศผู้พ่ายแพ้รายใหญ่ที่สุด
สหรัฐฯพร้อมกับอังกฤษและฝรั่งเศสผู้เป็นพันธมิตรของตนได้เข้าโจมตีซีเรียแล้ว ทว่าความเคลื่อนไหวทางยุทธวิธีเช่นนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพรวมทางยุทธศาสตร์แต่อย่างใด ในเมื่อเป็นที่แน่นอนเสียแล้วว่าสหรัฐฯจะยุติปิดฉากภารกิจในซีเรียไปอย่างรวดเร็ว
การผละจากไปของสหรัฐฯก็คือการสูญเสียโอกาสที่จะได้หนทางแก้ไขอย่างสันติและยั่งยืนสำหรับสงครามกลางเมืองอันโหดเหี้ยมที่ดำเนินมา 7 ปีแล้วในประเทศซีเรีย การโจมตีด้วยอาวุธเคมีซึ่งกล่าวหากันว่ากระทำโดยกองกำลังอาวุธของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในเมืองดูมา (Douma) เมืองแห่งสุดท้ายที่ยังอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายกบฎในบริเวณเขตกูตาตะวันออก (Eastern Ghouta) เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าทิศทางอนาคตแห่งการไม่มีอเมริกานั้น มีอันตรายมากมายขนาดไหนสำหรับซีเรียและสำหรับโลก
การแผดเสียงคำรามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ภายหลังเกิดเหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีคราวนี้ขึ้นมานั้น เผยโฉมให้เรามองถึงความไม่คล้องจองกันและความขัดแย้งกันเองในวิธีการจัดการปัญหาของเขา ขณะเดียวกันก็เปิดเผยให้เราเห็นภาวะแห่งการขาดไร้ซึ่งยุทธศาสตร์อย่างจริงจังใดๆ ในซีเรียของเขาไปด้วย การออกคำสั่งให้เข้าโจมตีเล่นงานกองกำลังของอัสซาดสักครั้งสองครั้ง อย่างที่เขาเพิ่งกระทำไปนี้ จะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจในซีเรียได้เลย รวมทั้งไม่ช่วยให้ฐานะของทรัมป์ในประเทศที่ถูกฉีกกระชากเป็นชิ้นๆ จากสงครามแห่งนี้กระเตื้องดีขึ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงฐานะของเขาในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยรวม
แน่นอนทีเดียวว่า เหล่าที่ปรึกษาทางทหารระดับท็อปของทรัมป์ ได้โน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้เขาคงบุคลากรทางทหารจำนวนราว 2,000 คนที่เวลานี้ประจำการอยู่ในซีเรียเอาไว้ต่อไปอีก แต่เขาก็ได้จำกัดวัตถุประสงค์ของอเมริกาที่ซีเรียให้คับแคบลงมาเรียบร้อยแล้ว โดยเหลือเพียงการมุ่งกำจัดกวาดล้างการปรากฏตัวของพวกรัฐอิสลาม (ไอซิส) กลุ่มเล็กๆ ที่ยังตกค้างอยู่ –โดยที่ความพยายามนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
จากการจำกัดยับยั้งพันธกรณีของอเมริกาเช่นนี้ ทรัมป์ก็ได้สูญเสียโอกาสในการเป็นผู้ช่วยเหลือกำหนดรูปร่างรูปโฉมในอนาคตของซีเรียไปด้วย ซึ่งยิ่งตอกย้ำความรับรู้ความเข้าใจที่มีกันอยู่ในวงกว้างไม่ว่าจะในหมู่เพื่อนมิตรหรือในแวดวงศัตรูของอเมริกาที่ว่า ความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯกำลังอยู่ในภาวะถดถอยเสื่อมทรุด ไม่เพียงเท่านั้น เขายังไม่ใส่ใจกับวิกฤตทางด้านมนุษยธรรมที่กำลังบังเกิดขึ้นในซีเรีย ซึ่งถือเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งเลวร้ายที่สุดนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
อเมริกันถอนตัวออกไป = อเมริกันพ่ายแพ้ปราชัย
ข้อที่เป็นความย้อนแย้งก็คือว่า วิธีการจัดการปัญหาด้วยความคับแคบเช่นนี้ ยังกำลังส่งผลในทางบ่อนทำลายความพยายามที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่เหลืออยู่เพียงประการเดียวของทรัมป์ เนื่องจากการที่จะทำให้พวกไอซิสและพวกนักรบญิฮาดกลุ่มอื่นๆ บังเกิดความพ่ายแพ้ปราชัยอย่างยืนยาวได้นั้น เรียกร้องต้องการให้มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่น่าเชื่อถือขึ้นมา เพื่อที่จะได้ยุติสงครามกลางเมืองในซีเรียได้อย่างถาวร การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะเป็นไปได้ก็มีแต่ต้องกระทำผ่านปฏิสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างตัวแสดงต่างๆ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ในซีเรีย
การถอนตัวออกไปของทรัมป์จะเป็นการส่อนัยให้เห็นว่าสหรัฐฯกับพวกพันธมิตรของตนได้พ่ายแพ้ปราชัยในสงครามนี้ อัสซาดนั้นรู้สึกใจกล้าเพิ่มขึ้นเรียบร้อยแล้วที่จะเดินหน้าต่อไป (ด้วยความสนับสนุนจากรัสเซียและอิหร่าน) ตามแผนการของเขาในการช่วงชิงเอาดินแดนต่างๆ ที่พวกกบฏยังคงยึดครองอยู่กลับคืนไปไม่ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างขนาดไหนก็ตามที หลังจากที่ได้สถาปนา “ข้อเท็จจริงในภาคสนาม” เรียบร้อยแล้ว อัสซาดและพันธมิตรของเขาก็จะสามารถเสนอให้โลกทราบถึงสิ่งที่ได้กระทำสำเร็จเสร็จกิจไปแล้ว นั่นคือ อัสซาดจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป โดยที่ไม่ต้องยินยอมอ่อนข้ออย่างแท้จริงใดๆ ต่อพวกฝ่ายค้าน
พวกตัวแสดงทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับภูมิภาค ซึ่งได้ทุ่มเทความศรัทธาของพวกเขาด้วยความผูกพันเชื่อมั่นว่าอเมริกาจะมุ่งมั่นกระทำตามพันธกรณี มาถึงตอนนี้จะต้องจ่ายค่าตอบแทนอันนองเลือดอย่างสูงลิ่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ที่สุดและทรงประสิทธิภาพที่สุดของอเมริกาในการสู้รบปราบปรามพวกไอซิส น่าที่จะถูกทอดทิ้งถูกหลงลืมเอาไว้เบื้องหลัง ถึงแม้สหรัฐฯอาจมีการรับประกันอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของชาวเคิร์ดภายหลังการถอนตัวออกไปของสหรัฐฯก็ตามที
อันที่จริงในเวลานี้ชาวเคิร์ดได้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์คณะบริหารทรัมป์อยู่แล้ว จากการที่นำเอาพวกเขาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยเพื่อประคองรักษาความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่อเมริกามีอยู่กับตุรกี โดยที่สหรัฐฯทำเป็นหลับหูหลับตาไม่แยแสต่อการที่เมื่อเร็วๆ นี้ ตุรกีได้เข้ารุกรานและยึดครองเมืองอัฟริน (Afrin) เมืองในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียซึ่งอยู่ในการยึดครองของกองกำลังชาวเคิร์ด ทั้งๆ ที่การรุกรานยึดครองดังกล่าวได้นำไปสู่การสังหารชาวเคิร์ดเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 คน ในจำนวนนี้เป็นพลเรือนหลายสิบคน
จากการถอนตัวออกไปของสหรัฐฯเช่นนี้ ชาวเคิร์ดอาจรู้สึกถูกความจำเป็นบีบบังคับให้ต้องจับมือเป็นพันธมิตรกับอัสซาดเพื่อหาความคุ้มครองป้องกันตัว มีนักรบชาวเคิร์ดจำนวนหลายร้อยคนได้ถอนตัวออกจากการสู้รบปราบปรามพวกไอซิสในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังเดินทางสู่เมืองอัฟรินเพื่อต้านทานการบุกโจมตีร่วมของตุรกีและกลุ่มกบฎซีเรียกลุ่มหนึ่งที่ได้เข้าเป็นพันธมิตรกับตุรกี ขณะที่มีชาวเคิร์ดวัยหนุ่มสาวบางส่วนเริ่มเข้าไปร่วมอยู่ในกองกำลังกึ่งทหารของอัสซาด ด้วยความต้องการล้างแค้นภายหลังการสูญเสียเมืองอัฟริน
แต่มันจะเป็นสงครามอันยากลำบากทีเดียว เนื่องจากการผละออกไปของอเมริกาน่าที่จะทำให้ตุรกีมีฐานะเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อปราศจากสหรัฐฯเสียแล้ว มหาอำนาจต่างชาติรายหลักรายอื่นๆ ที่อยู่ในสงครามความขัดแย้งของชาวซีเรีย ซึ่งได้แก่ ตุรกี, รัสเซีย, และอิหร่าน จะต้องสามารถรวมศูนย์เขตอิทธิพลของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และแบ่งปันผลประโยชน์ต่างๆ ของการฟื้นฟูบูรณะภายหลังสงครามภายในหมู่พวกเขากันเอง ขณะที่พวกเขาอาจจะมีผลประโยชน์พิเศษเฉพาะที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง 3 ประเทศนี้ต่างมีความเห็นร่วมกันในวิสัยทัศน์ว่าด้วยการแบ่งแยกซีเรียออกเป็นส่วนๆ แบบ “นุ่มนวล” ซึ่งจะลดฐานะของอัสซาดและพวกกบกฎซีเรียกลุ่มต่างๆ ให้เป็นเพียงตัวแทนของพวกเขาเท่านั้น [1]
รัสเซียกับอิหร่านคือผู้ชนะในเกมระยะยาว
รัสเซียกับอิหร่านจะกลายเป็น 2 ผู้ชนะรายใหญ่ที่สุด ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กลายเป็นผู้มีอำนาจซึ่งสามารถกำหนดตัวผู้ชนะในซีเรีย จากการเข้าแทรกแซงทางทหารได้อย่างถูกจังหวะเวลาซึ่งช่วยเหลือให้ระบอบปกครองอัสซาดสามารถหลุดออกมาจากความเพลี่ยงพล้ำหนักและพลิกเปลี่ยนกระแสของสงครามให้หมุนมาในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเขา ขณะที่เวลานี้แทบทุกหนทุกแห่งในซีเรียจะมองไม่เห็นสหรัฐฯเลย รัสเซียกลับปรากฏอยู่ในทุกที่ทุกทาง กำลังปรับขบวนวางหมากตัวเล่นต่างๆ อย่างมั่นคงบนกระดานหมากรุกแห่งสงครามกลางเมืองในประเทศนี้
การที่รัสเซียกำลังมีการร่วมมือประสานงานกับเหล่ามหาอำนาจระดับภูมิภาครายสำคัญๆ ทุกๆ ราย (รวมไปถึงตุรกี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การนาโต้) เป็นบทพิสูจน์ยืนยันถึงความคึกคักมีชีวิตชีวา (และการหยามหยันเยาะเย้ยใส่โลก) ของนโยบายการต่างประเทศของวังเครมลิน จากการที่สหรัฐฯทิ้งเดิมพันถอนตัวออกมาจากซีเรียเช่นนี้ สายสัมพันธ์ทางการทหารและทางเศรษฐกิจซึ่งตุรกีมีอยู่กับรัสเซียมีดูมีแต่จะยิ่งแนบแน่นลึกซึ้งขึ้นอีก
เฉกเช่นเดียวกับรัสเซีย อิหร่านก็ได้ลงทุนในรูปของเลือดเนื้อและทรัพย์สินต่างๆ ไปอย่างมหาศาลเพื่อรักษาระบอบปกครองอัสซาดเอาไว้ และก็สามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนอันงดงามกลับคืนมาเป็นบางส่วนแล้ว อิหร่านเวลานี้กลายเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่ทรงอิทธิพลที่สุดในซีเรีย อย่างที่อิหร่านก็ดำรงฐานะเช่นนี้อยู่แล้วทั้งในอิรักและเลบานอน ทว่าการรีบร้อนเข้าเติมเต็มสุญญากาศซึ่งสหรัฐฯทิ้งเอาไว้อาจจะกลายเป็นการจุดประกายซึ่งกระตุ้นให้เกิดสงครามในระดับทั่วทั้งภูมิภาคขึ้นมาก็ได้ มีความวิตกกังวลที่สมเหตุสมผลทีเดียวว่า อิสราเอลอาจใช้การถอนทหารออกไปของสหรัฐฯมาเป็นเหตุผลบังหน้าสำหรับการเพิ่มทวีการโจมตีของตนทั้งต่อกองกำลังของอิหร่านและต่อกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ในซีเรีย อันเป็นการตัดสินใจที่อาจเกิดผลบานปลายขยายตัวจนกลายเป็นการสู้รบขัดแย้งในตลอดทั่วทั้งภูมิภาค เป็นการสู้รบขัดแย้งซึ่งจะดึงลากเอาเข้ามาทั้งสหรัฐฯ, อิรัก, และซาอุดีอาระเบีย ผู้เป็นศัตรูตัวหลักของอิหร่านในการช่วงชิงฐานะความเป็นเจ้าแห่งภูมิภาค
แม้กระทั่งยังไม่ต้องไปแตะต้องเรื่องที่ทรัมป์แสดงความเป็นปรปักษ์ต่อข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 (ซึ่งมันคือการเพิ่มที่มาแห่งความเสี่ยงขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยอันตรายเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว) เวลานี้ก็มีอันตรายอย่างแท้จริงเฉพาะหน้าแล้วว่า ซีเรียจะกลายเป็นสถานที่เกิดไฟบัลลังกัลป์ ซึ่งจะสร้างความเสียหายยับเยินยิ่งเสียกว่ามหาอัคคีภัยที่กำลังอาละวาดอย่างกราดเกรี้ยวอยู่ที่นั่นอยู่แล้วนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา
ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน https://www.project-syndicate.org/commentary/syria-assad-chemical-attack-trump-policy-by-fawaz-a--gerges-2018-04
(ข้อเขียนจากบุคคลภายนอก ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)
ฟาวาซ เอ. เจอร์เจส เกิดในเลบานอน และอพยพตามครอบครัวไปอเมริกาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันถือสัญชาติอเมริกัน เขาเป็นศาสตราจารย์ วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ที่ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics) ผลงานหนังสือเล่มสำคัญๆ ของเขามีอาทิ ISIS: A History, Journey of the Jihadist: Inside Muslim Militancy, The Far Enemy: Why Jihad Went Global, หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือเรื่อง Making the Arab World: Nasser, Qutb, and the Clash That Shaped the Middle East
หมายเหตุผู้แปล
[1] เกี่ยวกับแผนการแบ่งเฉือนซีเรียออกเป็นเขตพื้นที่อิทธิพลของมหาอำนาจต่างๆ นี้ เว็บไซต์เอเชียไทมส์ได้เผยแพร่ข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่ง คือเรื่อง Partition of Syria: US and Israel eye Golan Heights oil ของ Christina Lin ซึ่งได้เสนอทัศนะจากจุดยืนและข้อมูลที่แตกต่างออกไป จึงขอเก็บความนำมาเสนอเอาไว้ในที่นี้
เฉือนแบ่งซีเรีย: สหรัฐฯและอิสราเอลต่างจ้องเขม็งแหล่งน้ำมันในที่ราบสูงโกลาน
โดย คริสตินา ลิน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Partition of Syria: US and Israel eye Golan Heights oil
By Christina Lin
04/04/2018
เหตุผลแท้จริงที่กองทหารสหรัฐฯเข้ายึดครองดินแดนบางส่วนของซีเรียอยู่ในเวลานี้ ก็คือเพื่อถ่วงอำนาจกับรัสเซียและอิหร่าน ด้วยการทำให้ซีเรียอยู่ในสภาพอ่อนแอและถูกแบ่งเฉือนเป็นเสี่ยงๆ นอกจากนั้นแล้วก็เพื่อเอาน้ำมันจากซีเรียด้วย โดยที่เมื่อปี 2015 สหรัฐฯค้นพบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่โตในดินแดนที่ราบสูงโกลานซึ่งอิสราเอลยึดครองอยู่ ดังนั้นหากทำการแบ่งเฉือนซีเรียออกเป็นเขตพื้นที่อิทธิพลของมหาอำนาจต่างๆ แล้ว ก็จะทำให้สะดวกยิ่งขึ้นต่อการที่อิสราเอลจะเข้าผนวกดินแดนที่ราบสูงโกลาน และเปิดทางให้พวกบริษัทพลังงานสหรัฐฯ/อิสราเอลเข้ากอบโกยขูดรีดแหล่งน้ำมันสำรองดังกล่าว
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อช่วงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯจะถอนตัวออกจากซีเรีย “เร็วๆ นี้” แล้วถัดจากนั้นเขายังสั่งระงับการนำเอางบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากเงินของผู้เสียภาษีชาวอเมริกันจำนวน 200 ล้านดอลลาร์ไปใช้จ่ายในโครงการฟื้นฟูบูรณะประเทศที่ยับเยินจากสงครามแห่งนี้ [1] เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่การประกาศ 2 เรื่องนี้จะกลายเป็นการกดกริ่งเตือนภัยดังก้องไปทั่ว ทั้งภายในกองทัพสหรัฐฯ, สื่อที่มีบริษัทใหญ่เป็นเจ้าของ, พวกชนชั้นนำในองค์กรคลังสมองต่างๆ, ตลอดจนในหมู่ชาติพันธมิตรของอเมริกา ซึ่งยังคงต้องการให้วอชิงตันประคับประคองการเข้ายึดครองหลายพื้นที่ในซีเรียและดินแดนอื่นๆ ในตะวันออกกลางเอาไว้ต่อไปอีก
“เราเชื่อว่ากองทหารอเมริกันควรที่จะอยู่ต่อไปอย่างน้อยที่สุดจนกระทั่งถึงในระยะกลาง ถ้าหากไม่ถึงระยะยาว” เจ้าชายมกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย ผู้ซึ่งทรงต้องการใช้แสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯมาทัดทานอิหร่านเอาไว้ในขณะมีการแข่งขันกันระหว่างเตหะรานกับริยาดเพื่อช่วงชิงฐานะความเป็นเจ้าแห่งภูมิภาค [2] ทางด้านอิสราเอลและพวกชาติยุโรปซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ส่งเสียงสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกอย่างเดียวกันนี้
อย่างไรก็ดี ทรัมป์ต้องการให้พวกประเทศในภูมิภาคเฉกเช่นซาอุดีอาระเบีย แสดงบทบาทเพิ่มขึ้นมาให้มากๆ และแบ่งเบาร่วมเป็นคนจ่ายบิลค่าใช้จ่ายในซีเรียให้สูงยิ่งขึ้น ชาวซีเรียจำนวนมากยังกำลังหลบหนีพวกนักรบญิฮาดในบ้านตนเองไปยังชาติเพื่อนบ้านอย่างจอร์แดน, เลบานอน, อิรัก, อียิปต์, และตุรกี จากการที่ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), และพวกรัฐริมอ่าวอาหรับที่มั่งคั่งร่ำรวยรายอื่นๆ ต่างกำลังยุแหย่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและทำให้การเผชิญหน้าทางทหารขยายตัวบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ใครๆ ย่อมอดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วพวกชาติเหล่านี้เองรับเอาผู้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในประเทศของพวกเขาเป็นจำนวนเท่าใดแล้ว? คำตอบจาก เคนเนธ รอธ (Kenneth Roth) ผู้อำนวยการขององค์การฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch) ก็คือ 0 คน
เรื่องที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ ริยาดกำลังก่อให้เกิดผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนหลายหมื่นคนด้วยการที่พวกเขาเข้าถล่มทิ้งระเบิดใส่เยเมน ซึ่งเป็นการรณรงค์ที่ได้สังหารพลเรือนไปมากกว่า 10,000 คนแล้ว และยังมีผู้บาดเจ็บอีก 40,000 คน [3] ในจำนวนนี้มีอยู่ 135 คนที่ถูกทิ้งระเบิดขณะอยู่ในงานแต่งงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กๆ [4]
ที่จริงแล้วมีเหตุผลอันชอบธรรมอยู่หลายหลากประการซึ่งสนับสนุนทรัมป์ให้ถอนตัวถอยออกมาจากซีเรีย เป็นต้นว่า หนี้สินแห่งชาติของสหรัฐฯที่สูงลิ่วระดับ 21 ล้านล้านดอลลาร์จนเปรียบได้กับเป็นระเบิดหนี้สิน[5], ความเสี่ยงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในรัฐบาลอเมริกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่ไม่ได้มีทองคำหรือโลหะเงินจริงๆ หนุนหลัง, สภาพของพวกโครงสร้างพื้นฐานภายในสหรัฐฯที่กำลังทรุดโทรมและจำเป็นต้องยกเครื่องบูรณะยกระดับกันครั้งมโหฬาร [6], เงินทองของผู้เสียภาษีเป็นจำนวน 5 ล้านล้านดอลลาร์ได้ถูกใช้ไปแล้วเฉพาะในสงครามที่อิรักกับที่อัฟกานิสถานเท่านั้น โดยที่มีการคาดการณ์กันว่าจะไต่สูงขึ้นสู่ระดับ 12 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2053 [7], ทั่วสหรัฐฯมีทหารผ่านศึกที่อยู่ในสภาพเป็นคนไร้ที่อยู่มากกว่า 40,000 คน จำนวนมากทีเดียวตัดสินใจฆ่าตัวตายขณะรอคอยการบำบัดรักษา โดยที่หลายๆ คนเป็นทหารผ่านศึกจากพวกสงคราม “เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง” ในตะวันออกกลาง, คำมั่นสัญญาของทรัมป์ที่เคยให้ไว้ว่าจะ “ทำอเมริกาให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง” (Make America great again) ไม่ใช่มัวไป “ทำซีเรียให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง” (Make Syria great again) หรือไปยุ่งเกี่ยวกับความพยายามในการสร้างชาติ (nation-building) ประการอื่นๆ ในตะวันออกกลาง
แต่ทำไมพวกชนชั้นนำของกรุงวอชิงตันจึงยังคงพยายามผลักดันหาหนทางให้สหรัฐฯยังคงอยู่ในซีเรียต่อไป? คำตอบตามที่เปิดเผยโดย โจช โรกิน (Josh Rogin) แห่งวอชิงตันโพสต์ก็คือ เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำมัน
จะเอาน้ำมัน ๆ
ดินแดนซีเรียที่สหรัฐฯยึดครองอยู่ในปัจจุบันเป็นพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศนี้ และคิดเป็นประมาณ 30% ของพื้นที่ทั่วซีเรีย รวมทั้งยังควบคุมพวกบ่อน้ำมันซึ่งเป็นตัวสร้างผลผลิตราว 90% ของประเทศในยุคสมัยก่อนสงครามกลางเมือง อย่างไรก็ตาม ตามปากคำของพวกนักวิเคราะห์ชาวซีเรียบางราย รายรับจากน้ำมันนั้นอยู่ในระดับเล็กน้อยเท่านั้นและไม่เพียงพอแม้กระทั่งสำหรับจ่ายให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ซีเรียมีรางวัลใหญ่ยิ่งกว่านี้นักหนาตั้งอยู่ในส่วนอื่นของประเทศ –นั่นคือในที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) [1]
อย่างที่มีการอ้างอิงกันไว้ก่อนหน้านี้ในบทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทาง “เอเชียไทมส์” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 [8] อาเฟค ออยล์ แอนด์ แก๊ส (Afek Oil and Gas) ที่เป็นกิจการในเครือของบริษัทสหรัฐฯ จีนี เอนเนอจี (Genie Energy) ได้ค้นพบคลังมหาสมบัติน้ำมันดิบในที่ราบสูงโกลาน “ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีปริมาณหลายพันล้านบาร์เรล” [9] โดยที่ จีนี เอนเนอจี ซึ่งคุยอวดว่ามีคณะกรรมการที่ปรึกษาที่เต็มไปด้วยอดีตเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีคนสำคัญของสหรัฐฯ[10] พยายามอย่างหนักที่จะให้ได้รับสัมปทานทำการขุดสำรวจ ถึงแม้ถูกคัดค้านทั้งจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมและจากกลุ่มผู้คนท้องถิ่นซึ่งมีความกังวลว่าการขุดเจาะอาจสร้างมลพิษให้แก่พื้นที่ชนบทของที่ราบสูงโกลานตลอดจนทะลกาลิลี (Sea of Galilee) ที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของน้ำสำหรับดื่มแทบทั้งหมดของอิสราเอล อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ที่สุดกลับอยู่ที่การต้องหาทางแก้ไขคลี่คลายประเด็นเรื่องอธิปไตยให้ได้เสียก่อน
อิสราเอลได้ประกาศผนวกดินแดนที่ราบสูงโกลานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเมื่อปี 1981 แต่สำหรับนานาชาติแล้วยังคงถือว่ามันเป็นดินแดนซีเรียที่ถูกอิสราเอลเข้ายึดครองอย่างผิดกฎหมาย ก่อนหน้านี้พวกผู้นำอิสราเอลได้เคยเสนอที่จะถอนกำลังออกไปจากที่ราบสูงโกลานซึ่งตนเข้ายึดครองเอาไว้ในปี 1967 โดยแลกเปลี่ยนกับการได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพที่มีเนื้อหาครอบคลุมรอบด้านกับรัฐบาลซีเรีย อย่างไรก็ตาม นับแต่ที่ซีเรียเริ่มแตกแยกถูกแบ่งออกเป็นเสี่ยงๆ เมื่อปี 2011 ก็มีความพยายามที่จะเรียกร้องให้นานาชาติรับรองสิทธิของอิสราเอลในการควบคุมพื้นที่ 1,200 ตารางกิโลเมตรซึ่งตนยึดครองไว้ในที่ราบสูงโกลาน
อันที่จริงแล้ว อิสราเอลได้เสริมมาตรการป้องกันที่ราบสูงโกลานเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เมื่อมีกระสุนปืนครกนัดหนึ่งตกลงในพื้นที่แถบนี้[11] กองทัพอากาศอิสราเอลก็ได้โจมตีใส่พวกที่มั่นของกองทัพบกซีเรียในหมู่บ้าน ซามาดานีเอห์ อัล ชาร์กียะห์ (Samadanieh al Sharqiyah) ในจังหวัดกูเนตรา (Quneitra province) [12] ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ หลังจากเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 เครื่องหนึ่งของตนตกลงในซีเรีย อิสราเอลได้ถล่มโจมตีทางอากาศซึ่งทำลายการป้องกันทางอากาศของซีเรียลงครึ่งหนึ่ง และระดมยิงจรวดแบบพื้นสู่พื้นจากที่ราบสูงโกลานด้วย [13] นอกจากนั้นอิสราเอลยังสนับสนุนกลุ่มกบฏหลายกลุ่มในซีเรียเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นกองกำลังกันชนคอยต้านทานกองทัพซีเรียและกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ที่มีอิหร่านหนุนหลังอยู่เอาไว้ [14]
ตัดเฉือนแบ่งซีเรีย
ด้วยการคงกองทหารสหรัฐฯเอาไว้ในซีเรีย และทำการเฉือนแบ่งซีเรีย [15] ออกเป็นเขตพื้นที่อิทธิพล (sphere of influence) ของมหาอำนาจต่างๆ ทำนองเดียวกับที่จีนเคยประสบในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 [16] มันก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่อิสราเอลในการผนวกดินแดนที่ราบสูงโกลาน รวมทั้งเปิดทางให้พวกบริษัทพลังงานสหรัฐฯ/อิสราเอลเข้ากอบโกยขูดรีดแหล่งน้ำมันสำรองของซีเรีย
โดยในกรณีของซีเรียนั้น สหรัฐฯจะเป็นผู้ครองพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ตุรกีจะครองในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ, รัสเซียและอิหร่านครองบริเวณชายฝั่งและพื้นที่ผืนใหญ่ๆ ของทะเลทรายในซีเรีย , ส่วนอิสราเอลกับจอร์แดนก็เป็นผู้ครองดินแดนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ทั้งนี้ตามแผนการแบ่งเฉือนที่จัดทำโดย แรนด์ คอร์เปอเรชั่น (RAND Corporation) องค์กรคลังสมองด้านการทหารที่มีความสนิทชิดเชื้อกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และถูกนำออกมาเผยแพร่ครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์เยอรมัน ดอยเชอ เวร์ทชาฟท์ส นัคริคเทน (Deutsche Wirtschafts Nachrichten) [17]
จุดที่น่าสนใจจุดหนึ่งซึ่งควรหมายเอาไว้ในที่นี้ก็คือ ในแผนการแบ่งเฉือนซีเรียของสหรัฐฯนี้ เมืองมานบิจ (Manbij) จะอยู่ในเขตพื้นที่อิทธิพลของตุรกี ถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากองทหารอเมริกันยังจะให้การสนับสนุนกองกำลังชาวเคิร์ดในมานบิจต่อไปหรือไม่ ขณะที่กองทัพรัฐบาลตุรกีของประธานาธิบดีตัยยิป แอร์โดอัน และกองกำลังนักรบญิฮาดเคลื่อนที่เร็ว (jihadi shock troops) ยังคงบุกคืบหน้าต่อไปเรื่อยๆ ในบริเวณแถบนี้เพื่อยึดครองดินแดนที่อยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรติส [18]
ถึงแม้รัฐบาลซีเรียประกาศก้องว่าจะยึดเอาดินแดนของประเทศที่สูญเสียไปกลับคืนมาทั้งหมดให้จงได้ แต่เมื่อขึ้นไปอยู่บนจุดที่สามารถมองเห็นสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างกว้างขวางแล้ว ก็ดูไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่จะเป็นเช่นนั้นได้ในเร็ววัน ทำนองเดียวกับประเทศจีนในอดีต ซีเรียอาจจำเป็นจะต้องรอคอยกันไปอีกถึง 100 ปีทีเดียว
เชิงอรรถ
[1]https://www.thedailybeast.com/report-trump-freezes-dollar200-million-pledged-for-syrian-recovery-efforts
[2]http://gulfnews.com/news/mena/syria/saudi-crown-prince-wants-us-troops-to-stay-in-syria-1.2197154
[3]http://time.com/4635909/yemen-death-toll-10000-war/
[4]http://www.latimes.com/world/middleeast/la-fg-airstrikes-wedding-yemen-20150928-story.html
[5]http://www.usdebtclock.org/
[6]http://www.businessinsider.com/asce-gives-us-infrastructure-a-d-2017-3
[7]https://www.forbes.com/sites/realspin/2017/02/01/american-taxpayers-must-be-told-the-real-cost-of-war/
[8]http://www.atimes.com/ds-oil-bonanza-golan-heights-jezreel-valley/
[9]http://www.economist.com/news/middle-east-and-africa/21677597-geologists-israel-think-they-have-found-oilin-very-tricky-territory-black-gold
[10] https://genieoilgas.com/about-us/strategic-advisory-board/
[11]http://www.reuters.com/article/us-israel-syria-idUSKBN19J2RS
[12]http://www.jpost.com/Arab-Israeli-Conflict/Syrian-skirmish-spills-over-into-Israels-Golan-Heights-497782
[13]https://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/israel-syria-fire-attack-fighter-jets-ground-missiles-idf-assad-rockets-latest-a8149031.html
[14]https://www.middleeastmonitor.com/20180228-israel-is-now-arming-seven-rebel-groups-in-syria/
[15]https://warontherocks.com/2017/11/syria-is-sliding-towards-partition/
[16]http://bhoffert.faculty.noctrl.edu/HST165/16.AgeOfWesternization.html
[17]https://deutsche-wirtschafts-nachrichten.de/2017/02/25/usa-planen-internationale-verwaltung-in-syrien/?nlid=82ffb9fcbc
[18]https://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/turkey-isis-afrin-syria-kurds-free-syrian-army-jihadi-video-fighters-recruits-a8199166.html
(ข้อเขียนจากบุคคลภายนอก ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)
ดร.คริสตินา ลิน เป็นนักวิจัยแบบไม่ประจำ (Nonresident Fellow) ที่ศูนย์เพื่อความสัมพันธ์สองฟากฝั่งแอตแลนติก (Center for Transatlantic Relations) วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์ (SAIS) มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) โดยเธอเป็นผู้ชำนาญการในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ตะวันออก กลาง/เมดิเตอร์เรเนียน เธอยังเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัยให้แก่ ศูนย์เจนส์ด้านข่าวกรองทางเคมี, ชีวภาพ, รังสี, และนิวเคลียร์ (Jane’s Chemical, Biological, Radiological, and Nuclear Intelligence Centre) ณ บริษัทวิจัย ไอเอสเอส มาร์คิต (IHS Markit)
หมายเหตุผู้แปล
[1] ที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า โกลาน มีเนื้อที่ประมาณ 1,800 กิโลเมตร ภูมิภาคที่ถือว่าเป็นที่ราบสูงโกลานนั้น มีการให้จำกัดความที่แตกต่างกันเป็น 2 แบบ
แบบแรกคือคำจำกัดความในฐานะภูมิภาคทางธรณีวิทยุและทางภูมิศาสตร์ชีวภาพ ที่ราบสูงโกลานคือที่ราบสูงหินบะซอลต์ (basaltic plateau) ซึ่งทางด้านใต้อยู่ติดกับแม่น้ำยาร์มุค (Yarmouk River) ด้านตะวันตกติดกับทะเลกาลิลี (Sea of Galilee) และหุบเขาฮูลา (Hula Valley) ด้านเหนือติดกับเทือกเขาอันติเลบานอน (Anti-Lebanon) โดยมีกลุ่มภูเขาเฮอร์มอน (Mount Hermon) เป็นจุดเด่น ส่วนด้านตะวันออกติดต่อกับหุบเขาวาดี รักกัด (Wadi Raqqad)
แบบที่สองคือคำจำกัดความในฐานะภูมิภาคทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ราบสูงโกลานคือพื้นที่ซึ่งอิสราเอลยึดเอาไปจากซีเรียใน “สงคราม 6 วัน” (Six-Day War) ปี 1967 และยึดครองเอาไว้นับแต่บัดนั้นมา โดยที่อิสราเอลประกาศผนวกดินแดนนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนในปี 1981 ภูมิภาคทางภูมิรัฐศาสตร์นี้คือพื้นที่ราว 2 ใน 3 ทางซีกตะวันตกของที่ราบสูงโกลานในทางธรณีวิทยา บวกกับกลุ่มภูเขาเฮอร์มานส่วนที่อิสราเอลยึดครองอยู่
หลักฐานเริ่มแรกที่สุดเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในภูมิภาคนี้สามารถย้อนหลังไปได้จนถึงยุคหินใหม่ตอนปลาย (Upper Paleolithic) ขณะที่ตามคัมภีร์ไบเบิล อาณาจักรของชาวอามอไรต์ (Amorite) แห่งหนึ่งในบาซาน (Bashan) ถูกชาวอิสราเอลยึดครองในรัชสมัยของกษัตริย์อ็อก (King Og) ตลอดช่วงเวลาที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเก่า ที่ราบสูงโกลานเป็นจุดโฟกัสของการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างเหล่ากษัตริย์ของชาวอิสราเอลกับเหล่ากษัตริย์ของชาวอาราเมอัน (Aramaeans) ซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ กับดามัสกัสในยุคสมัยใหม่ ชาวอิทูเรียน (Iturean), ชาวอาหรับ หรือ อารามาอิก (Aramaic) ได้ตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคนี้เมื่อช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล และยังคงอาศัยอยู่จนกระทั่งถึงช่วงสิ้นสุดยุคไบแซนไทน์ (Byzantine) ขณะที่ชุมชนชาวยิวแบบมีการจัดตั้งองค์กร (Organized Jewish settlement) ในภูมิภาคนี้ได้หมดสิ้นลงในปี 636 ก่อนคริสตกาล เมื่อถูกพิชิตโดยชาวอาหรับในการนำของ อุมาร์ อิบน์ อัล-คอตตับ (Umar ibn al-Khattāb) เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โกลานถูกพิชิตโดยจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) และถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของ วิลาเยต แห่ง ดามัสกัส (Vilayet of Damascus) จวบจนกระทั่งดินแดนนี้ถูกถ่ายโอนไปอยู่ใต้การควบคุมของฝรั่งเศสในปี 1918 ตามอาณัติขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งจักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้และถูกแบ่งแยกเป็นหลายส่วน ครั้นเมื่ออาณัตินี้ถูกยกเลิกไปในปี 1946 ที่ราบสูงโกลานก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศซีเรียที่ได้รับเอกราช
ระหว่างปี 1967 จนถึงตอนเริ่มต้นสงครามกลางเมืองซีเรีย ดินแดนสองในสามทางซีกตะวันตกของที่ราบสูงโกลาน ถูกยึดครองและปกครองโดยอิสราเอล ขณะที่อีกหนึ่งในสามที่เหลือทางซีกตะวันออกยังคงอยู่ใต้การบริหารของซีเรีย โดยที่มีกองกำลังผู้สังเกตการณ์การสงบศึกของสหประชาชาติ (United Nations Disengagement Observer Force หรือ UNDOF) รักษาการณ์อยู่ในพื้นที่กันชนความยาว 266 กิโลเมตรซึ่งคั่นอยู่ตรงกลาง เพื่อดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิง ครั้นแล้วก็เริ่มมีการก่อสร้างนิคมชาวยิวขึ้นในดินแดนส่วนที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอล ซึ่งทำการปกครองโดยกองทหาร จวบจนกระทั่งอิสราเอลออกรัฐบัญญัติที่ราบสูงโกลาน ขยายการใช้กฎหมายและการบริหารของอิสราเอลให้ครอบคลุมทั่วทั้งดินแดนนี้ในปี 1981 ความเคลื่อนไหวคราวนี้ถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประณามเอาไว้ในมติยูเอ็นหมายเลข 497 ซึ่งย้ำว่า “การตัดสินใจของฝ่ายอิสราเอลที่จะใช้กฎหมาย, เขตอำนาจศาล, และการบริหารของตนในดินแดนที่ราบสูงโกลานที่ได้ยึดครองเอาไว้นั้นถือเป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมายระหว่างประเทศ” อิสราเอลยังคงพยายามต่อสู้ว่าตนเองมีสิทธิที่จะครอบครองโกลาน โดยอ้างเนื้อหาในมติยูเอ็นเลขที่ 242 ซึ่งเรียกร้องให้มี “เขตพรมแดนที่ปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับ อันปราศจากภัยคุกคามหรือพฤติการณ์แห่งการใช้กำลัง” อย่างไรก็ดี ประชาคมนานาชาติต่างปฏิเสธข้ออ้างกรรมสิทธิ์ของอิสราเอลเหนือดินแดนนี้ และยังคงถือว่าดินแดนนี้เป็นดินแดนในอธิปไตยของซีเรีย
ตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองซีเรียเป็นต้นมา ดินแดนซีกตะวันออกของที่ราบสูงโกลานได้กลายเป็นสมรภูมิการสู้รบอย่างต่อเนื่องระหว่างกองทัพรัฐบาลซีเรีย กับพวกกบฎกลุ่มต่างๆ ของฝ่ายค้านซีเรีย, กลุ่มต่างๆ ที่เป็นพวกอิสลามิสต์, ตลอดจนนักรบของ อัล-นุสรา ฟรอนต์ (al-Nusra Front) กลุ่มนักรบญิฮาดที่ในอดีตเคยประกาศตัวเป็นส่วนหนึ่งของอัล-กออิดะห์ และกลุ่มนักรบที่เกี่ยวข้องโยงใยกับกลุ่มรัฐอิสลาม
(ข้อมูลจากวิกีพีเดีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Golan_Heights)