เอเจนซีส์ – เงินหลายสิบพันล้านดอลลาร์หายไปจากตลาดหลักทรัพย์รัสเซียภายในแค่ไม่กี่ชั่วโมงในวันจันทร์(9 เม.ย) RTS index ของรัสเซียตกไป 11.4% ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค 2014 ที่ตกไปถึง 12.4% เกิดขึ้นหลังสหรัฐฯประกาศมาตรการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่วันศุกร์(6 เม.ย)ก่อนหน้า นำไปสู่การร่วงลงมาอย่างหนักทั้งตลาดหลักทรัพย์ และค่าเงินรูเบิล สื่อรัสเซียประโคมข่าว คว่ำบาตรมหาเศรษฐีโอลิกาชรัสเซีย 7 คน + เจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซียระดับสูง 17 คน &บริษัทสัญชาติรัสเซีย 12 แห่งทำเอาตลาดหุ้นพัง
DW สื่อเยอรมันรายงานเมื่อวานนี้(10 เม.ย)ว่า ผลของคำสั่งการคว่ำบาตรของสหรัฐฯรอบใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลทำให้ตลาดหลักทรัพย์รัสเซียตกอย่างหนักในวันจันทร์(10) กลายเป็นแบล็กมันเดย์ แต่กลับกลายว่าในวันถัดมา สื่อเยอรมันชี้ว่า ตลาดหลักทรัพย์รัสเซียยังคงร่วงหนักกว่าเดิมส่งผลทำให้กลายเป็น แบล็กทิวซ์เดย์ ซึ่งเป็นการตกอย่างหนักยิ่งกว่า
ซึ่งอ้างอิงจากสื่อสหรัฐฯ CNBC ชี้ว่า ในวันจันทร์(9) RTS index ของรัสเซียตกไป 11.4% ถือเป็นการตกครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นภายในวันเดียวนับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค 2014 ที่ตกไปถึง 12.4% ส่วน VanEck Vectors (RSX) ของรัสเซียตกไป 10.7%
ในขณะที่บิสซิเนสอินไซเดอร์ สื่อธุรกิจรายงานเมื่อวานนี้(10)ว่า ค่าสกุลเงินรูเบิลร่วงเป็นวันที่ 2 ซึ่งพบว่าค่าสกุลเงินรูเบิลตกไปอีก 4.1%ต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าวันอังคาร(10) หลังจากก่อนหน้าในวันจันทร์(9) ตกไปมากกว่า 4%
DW ชี้ว่า และในเวลานี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถหยุดได้ ความกดดันเพิ่มขึ้นที่พันธบัตรรัสเซีย และค่าสกุลเงินรูเบิล ซึ่งรวมไปถึงภัยคุกคามที่มาจากการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯเนื่องมาจากคดีลอบสังหารสายลับ 2 หน้า เซอร์เก สคริพาล ซึ่งในเวลานี้เชื่อว่า มาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯต่อมาตรการลงโทษคดีสคริพาลกำลังอยู่ในระหว่างการหารือ ที่อาจมีความเป็นไปได้ว่า ทางสภาคองเกรสอาจมองไปถึงหนี้ของรัฐบาลรัสเซีย
ทำให้มีการตั้งคำถามเกิดขึ้นว่า สมควรแล้วหรือที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้น เพราะจะนำมาสู่ “สงครามทางเศรษฐกิจ” ความเห็นจากอเล็กซานเดอร์ โชชิน( Alexander Shoshin) ประธานสมาพันธ์ธุรกิจรัสเซียสัมพันธ์ RSPP
แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลและบริษัทรัสเซียที่ตกเป็นเป้าหมายถูกคว่ำบาตรนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวที่ต้องได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯล่าสุด เพราะบริษัทอื่นๆและสถาบันธนาคารทั่วไปต่างรู้สึกได้ถึงความกดดันนี้
การร่วงอย่างหนักของตลาดหุ้นรัสเซียย่อมส่งผลกระทบต่อธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ธนาคารสเบอร์แบงก์( Sberbank) แต่ทว่าครมลินประกาศกับประชาชนรัสเซียว่า สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม พร้อมให้สัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
ท่ามกลางผู้คนทั้งหมด เชื่อกันว่า โอเลก เดริพาสกา(Oleg Deripaska) นักธุรกิจรัสเซียวัย 50 ปี ย่อมต้องการความช่วยเหลือมากกว่าใคร เพร่ะในสายตาของวอชิงตัน เดริพาสกาถูกเชือดเดี่ยวจากสาเหตุที่เขาอยู่ในลิสต์ “บุคคลใกล้ชิดเครมลิน” และบริษัท เบสิค เอลิเมนต์( Basic Element) กลายเป็นเป้าที่ถูกเล่นงานมากที่สุดครั้งนี้
ทั้งนี้ เบสิค เอลิเมนต์ ของเดริพาสกานั้นมีพนักงานทั่วโลกทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 150,000 คน ในขณะที่บนเว็บไซต์ของบริษัทได้ประกาศว่า 15% ของประชากรทั้งหมดของรัสเซีย “มีความเกี่ยวข้องทางตรงหรือทางอ้อม” กับบริษัท
และจากทั้งหมดที่มีความเกี่ยวพันกับเบสิค เอลิเมนต์ คือผู้ผลิตอลูมิเนียม ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทรูซาล(Rusal) และบริษัทเครื่องจักรรัสเซีย(Russian Machines) ซึ่งมีบริษัทลูกจำนวนมากอยู่ทั้งในอุตสาหกรรมรถ เครื่องบิน และเทคโนโลยีระบบราง
ทั้งนี้จากการที่ราคาหุ้นของบริษัทที่อยู่ในการควบคุมของเดริพาสกาตกอย่างหนักในวันจันทร์(9) โดยบีบีซี สื่ออังกฤษชี้ไปที่บริษัท เอ็นพลัส EN+ ซึ่งผู้ผลิตอลูมิเนียมสำหรับพลังงานน้ำที่มีโอเลก เดริพาสกาเป็นเจ้าของ ตกไปกว่า 25% ที่กรุงลอนดอน
ในขณะที่บริษัทรูซาล ซึ่งเป็นผู้ผลิตอลูมิเนียม 7% ของอลูมิเนียมทั้งหมดในโลก ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจที่ชื่อบริษัทถูกขึ้นบัญชีดำของสหรัฐฯรอบล่าสุด
CNBC รายงานว่า การคว่ำบาตรวันศุกร์(6) ของสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ราคาอลูมิเนียมปรับราคาเพิ่มขึ้นทันทีในวันจันทร์(9) พบว่า เบนช์มาร์ก อลูมิเนียมที่ตลาด London Metal Exchange ทุบสถิติไต่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือนก่อนการซื้อขาย เพิ่มขึ้นเกือบ 4% ไปอยู่ที่ 2,122.50ดอลลาร์ต่อตัน ถือเป็นการเพิ่มขึ้น 7% นับตั้งแต่มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ถูกประกาศขึ้นในวันศุกร์(6)
สื่อเยอรมันกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรในเวลานี้ยังไม่แน่ชัดว่า ผลจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯนั้นจะมีผลกระทบต่อจำนวนตำแหน่งงานในบริษัทของเดริพาสกาหรือไม่ ซึ่งถึงแม้ว่า สหรัฐฯจะเป็นตลาดที่สำคัญในการส่งอลูมิเนียมจากรัสเซียเข้าไป แต่ทว่ารายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทกลับมาจากตลาดภายในประเทศ
โดยทางผู้เชี่ยวชาญ อ้างอิงจากบีบีซี แนะนำให้นักลงทุนสหรัฐฯเร่งขายหุ้นของบริษัทรูซาลและบริษัทเอ็นพลัสที่มีอยู่ในมือทิ้ง
ซึ่งปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทของนักธุรกิจรัสเซียที่ใกล้ชิดกับเครมลินรายนี้คือ “หนี้ต่างชาติ” (Foreign Debt) และจากข้อกำหนดว่าด้วยการคว่ำบาตร ส่งผลให้หนี้จะสามารถจัดการได้ผ่านทางรัฐเท่านั้น ทำให้นักสังเกตการณ์ต่างวิตกว่า อาณาจักรธุรกิจของเดลิพาสกาอาจต้องล่มสลาย และอยู่ในการควบคุมของรัฐในท้ายที่สุด
และถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในรัสเซียต่างรับรู้ถึงผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ซึ่งพบว่าตลาดค่าเงิน(Currency Market)นั้นเกิดอาการช็อก ที่ไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งช่วงปลายปี 2014 DW ชี้ ที่ในเวลานั้นเป็นสาเหตุมาจากการตกของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งน้ำมันถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของรัสเซีย และเป็นแหล่งรายได้ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเครมลิน
ซึ่งในเวลานี้มีการพูดคุยกันมากว่า การที่ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียตกนั้น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ บรรดานักท่องเที่ยวรัสเซียในต่างแดน พบว่าในปีที่ผ่านมามีจำนวนตัวเลขชาวรัสเซียที่ออกเดินทางไปต่างประเทศมีจำนวนลดลง
ในขณะที่ประชาชนบนท้องถนนในเครมลิน หรือ ไซบีเรีย เขตตะวันออกไกลอาจรู้สึกถึงการที่ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียตกเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในระหว่างที่คนเหล่านั้นกำลังควักกระเป๋าสตางค์ออกมาเพื่อจ่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้เลือกไว้
ซึ่งสื่อธุรกิจ เวดมอสติ(Vedmosti) รายงานว่า มีการปรับตัวด้านราคาในกลุ่มอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โนตบุ๊ก เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นราว 5%-10%
แต่กระนั้นอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากการตกของค่าสกุลเงินรูเบิลคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรัสเซีย เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียที่มีแผนการเดินทางที่จะไปเยือนตุรกี อาจเปลี่ยนใจเลือกไปตากอากาศที่แหลมไครเมียแทน DWรายงาน