xs
xsm
sm
md
lg

เฟซบุ๊กแบน “CubeYou” ใช้ข้อมูลยูสเซอร์เพื่อธุรกิจ – อื้ออึง!! ที่ปรึกษาทีมหาเสียง “ดูเตอร์เต” แอบนั่งกินข้าวกับซีอีโอเคมบริดจ์ แอนาไลติกา ก่อนปีเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - บริษัทเฟซบุ๊กสั่งห้ามบริษัทวิจัยข้อมูล CubeYou สามารถเข้าระบบแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก หลังสื่อสหรัฐฯ CNBC พบหลักฐานบริษัทใช้วิธีเดียวกับบริษัทเคมบริดจ์แอนาไลติกา(Cambridge Analytica) แอบใช้ข้อมูลส่วนบุคคลยูสเซอร์เพื่อการตลาด แต่อ้างวิจัยไม่แสวงผลกำไร ด้านนักแฉอดีตพนักงานบ.เคมบริดจ์ แอนาไลติกาชี้ เชื่อข้อมูลที่มาจากยูสเซอร์กว่า 87 ล้านวิจัยเพื่อผลการเลือกตั้งสหรัฐฯปี 2016 อาจเก็บในเซิร์ฟเวอร์ ตั้งในรัสเซีย พบบอสใหญ่บริษัทแอบกินข้าวเย็นกับที่ปรึกษาทีมหาเสียงประธานาธิบดีดูเตอร์เต ปี 2015ก่อนวันเลือกตั้ง 9 พ.ค 2016

CNBC สื่อสหรัฐฯรายงาน บริษัทเฟซบุ๊กตกลงกับ CNBC ที่จะระงับการให้บริการบริษัทวิจัยข้อมูล CubeYou เพื่อที่จะทำการสอบสวนภายใน เกิดขึ้นเมื่อทาง CNBC พบข้อมูลว่า บริษัทนี้แอบรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของยูสเซอร์เฟซบุ๊กผ่านแอพถามตอบ ซึ่งทาง CubeYou อ้างกับคนที่เข้าร่วมตอบคำถามเหล่านั้นว่ามีจุดประสงค์เด้านการวิจัยทางวิชาการ

สื่อสหรัฐฯพบว่า ข้อมูลส่วนตัวที่ทางบริษัทได้จากชุดคำถาม “คุณเป็นในสิ่งที่คุณชอบ” (You Are What You Like) นั้นจะถูกส่งต่อไปให้กับบรรดาบริษัทการตลาด ซึ่งไม่ต่างจากบริษัทเคมบริดจ์ แอนาไลติกา(Cambridge Analytica) ที่อื้อฉาวที่อ้างเพื่อการวิจัย แต่กลับใช้ข้อมูลยูสเซอร์กว่า 87 ล้านเพื่อเป้าหมายทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม CNBC ชี้ว่า เฟเดริโก ทรู(Federico Treu) ซีอีโอบริษัท CubeYou ปฎิเสธว่าบริษัทไม่ได้กระทำผิด ทั้งๆที่บริษัทของเขาได้ ***ขายข้อมูลส่วนบุคคลของยูสเซอร์*** ที่ถูกรวบรวมจากกลุ่มนักวิจัยคณะจิตวิทยาประจำศูนย์ไซโคเมทริกส์ แบล็บ(Psychometrics Lab) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

คล้ายกับที่ทางเคมบริดจ์ แอนาไลติกาใช้ข้อมูลที่รวบรวมโดยศาสตราจาย์ประจำคณะจิตวิทยามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเลือกตั้งสหรัฐฯ

สำหรับบริษัท CubeYouพบว่า บริษัทนี้เชี่ยวชาญด้านสถิติการสำรวจข้อมูลโดยเป็นการรวบรวมทางออนไลน์ ผ่านแอพ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เจาะจงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ และหลังจากที่ได้แล้ว พบว่าทางบริษัทจะทำการติดต่อกับบริษัทโฆษณาที่มีเป้าหมายลูกค้าบนเฟซบุ๊กเพื่อการทำโฆษณาให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย

CNBC ชี้ว่า บริษัททำการเก็บข้อมูลประเภทระบุบุคคลที่เรียกว่า PII ซึ่งข้อมูลที่ทางบริษัทจะรวบรวมนั้นจะรวมไปถึง ชื่อและนามสกุล อีเมลแอดเดรส เบอร์โทรศัพท์ ไอพีแอดเดรสคอมพิวเตอร์ของยูสเซอร์ ไอดีของโทรศัพท์มือถือ และประวัติการเข้าดูเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์ของบุคคลนั้นเป็นต้น

ซึ่งจากข้อมูลแคช(catch)ของเว็บไซต์บริษัทจากวันที่ 19 มี.ค ที่ผ่านมา บริษัทอ้างว่ถึงกระบวนการทำงานในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล พบว่าทางบริษัทได้เก็บข้อมูลผู้ใช้ประเภท อายุ เพศ พิกัดที่อยู่ สถานที่ทำงาน การศึกษา ครอบครัว และข้อมูลด้านความสัมพันธ์ และประวัติการแชร์ การกดไลค์ การฟอลโลว์ การโพสต์ การคอมเมนต์ การเช็กอิน การโพสต์ถึงแบรนด์สินค้า หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง และการติดต่อกับบริษัทร้านค้านั้นจะถูกติดตามย้อนหลังไปจนถึงปี 2012 และจะถูกอัพเดตในแต่ละสัปดาห์

ข้อมูลตามเว็บไซต์ CubeYou ในปัจจุบันอ้างว่า มีข้อมูลผู้ใช้ที่เข้าร่วมกว่า 10 ล้าน แต่ทางสื่อ CNBC พบว่า จากแคชของเว็บไซต์บริษัทเมื่อวันที่ 19 มี.ค พบว่าทาง CubeYou อ้างว่า ได้รวบรวมข้อมูลผู้ใช้ทั่วโลกร่วมกว่า 45 ล้าน

แต่ทาง CNBC ชี้ว่า ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทางบริษัทรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้อายุต่ำกว่า 18 ปีซึ่งถูกจัดอยู่ในผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยหรือไม่

แหล่งข่าวผู้บริหารอาวุโสของบริษัทโฆษณาที่ได้ติดต่อทางธุรกิจกับ CubeYou ยืนยันกับสื่อสหรัฐฯว่า ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดที่ทาง CubeYou ได้นั้น ถูกเก็บผ่านแอพออนไลน์ที่ออกแบบมาเพื่อความสนุกสนานไม่ใช่เพื่อการค้า ซึ่งเป็นลักษณะเกมส์ตอบคำถาม

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่อาจเกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางกฎหมาย CNBC กล่าวว่า เมื่อยูสเซอร์คลิกไปที่ “App Terms” ซึ่งจะเชื่อมไปสู่อีกแอพที่เรียกว่า “Apply Magic Sauce”  และจะนำไปสู่เว็บไซต์ของทาง Apply Magic Sauce  ที่มีตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อยู่ด้านบน ชวนให้คิดไปว่า เป็นเพจเพื่อการวิจัยทางการศึกษา และในข้อตกลงในการใช้งานที่ปรากฎว่า อ้างว่าเพื่อการรวบรวมสำหรับการวิจัยทางการศึกษาเท่านั้น และไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าใดๆทั้งสิ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทางCubeYou ทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ทางเฟซบุ๊กได้ตอบกลับมาที่ CNBC หลังจากได้เห็นถึงหลักฐานที่ทางสื่อสหรัฐฯขุดคุ้ยมาได้ บริษัทเฟซบุ๊กอ้างว่า ทางบริษัทไม่สามารถควบคุมอย่างทั่วถึงต่อแอพประเภทนี้ และไม่สามารถควบคุมข้อมูลที่บริษัทปิดบังโดยอ้างให้หลงผิดว่า ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการค้า

“ข้อกล่าวหาเหล่านี้ร้ายแรง และทางเราได้ระงับการให้บริการชั่วคราวแก่ CubeYou จากระบบในระหว่างที่ทางเรากำลังสอบสวน” ไอเม อาร์คิบอง(Ime Archibong) รองประธานเฟซบุ๊กด้านพันธมิตรผลิตภัณฑ์(product partnerships)กล่าวผ่านแถลงการณ์

และกล่าวต่อว่า “และหากว่าพวกเขาปฎิเสธ หรือทำให้การสอบสวนของเราต้องผิดหวัง ทางเฟซบุ๊กจะสั่งห้ามแอพของพวกเขาจากแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กทันที” ซึ่งทางอาร์คิบองชี้ว่า ทางเฟซบุ๊กจะร่วมกับสำนักงานข้อมูลอังกฤษ  ICO เพื่อที่จะติดต่อกลับไปยังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เกี่ยวกับการพัฒนาแอพของศูนย์ด้านจิตวิทยา  ศูนย์ไซโคเมทริกส์ เซนเตอร์(Psychometrics Center) ของทางมหาวิทยาลัยโดยใช้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษา ที่คล้ายกับเคสของเคมบริดจ์ แอนาไลติกาที่ใช้แอพของคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลับเคมบริดจ์ ในการใช้ไปเพื่อประโยชน์ทางอื่นที่นอกเหนือจากเพื่อการศึกษาวิจัย

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ของคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่ตอบกลับมายัง CNBC ได้กล่าวว่า ความร่วมมือกับ CubeYou กับทางศูนย์ไซโคเมทริกส์ เซนเตอร์นั้นจำกัดแค่เฉพาะการสร้างเว็บไซต์เท่านั้น

“ทางเราไม่ได้ตระหนักถึงการกล่าวอ้างของ Cube You บนบล็อกของทางบริษัท”

ในแถลงการทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ยังชี้ว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ร่วมมือกับบริษัทวิจัยข้อมูลแห่งนี้ในการสร้างโมเดลวิจัยเพื่อการคาดการณ์ทางจิตวิทยา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยชี้ว่า ทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เก็บโมเดลการคาดการณ์ทางจิตวิทยาไว้เป็นความลับ และได้มีการพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาก่อนที่ทางมหาวิทยาลัยจะร่วมมือกับทาง CubeYou

ทางเคมบริดจ์ยืนยันต่อว่า ความเป็นพันธมิตรกับ CubeYou ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานทางธุรกิจ ไม่มีเรื่องเงินเข้ามาข้องเกี่ยว ซึ่งหน้าที่ของ CubeYou ทางเคมบริดจ์ชี้แจงว่า คือการออกแบบระบบอินเตอร์เฟสสำหรับเว็บไซต์ที่ใช้ระบบโมเดลการคาดการณ์ทางจิตวิทยาของทางมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ระบบสามารถเข้าใจถึงข้อมูลของยูสเซอร์ของผู้ใช้งาน

ในขณะเดียวกันสำหรับกรณีของเคมบริดจ์ แอนาไลติกา ล่าสุดอดีตพนักงานชาวแคนาดาของบริษัท คริสโตเฟอร์ ไวลีย์(Christopher Wylie) ได้ออกมาเปิดเผยผ่านการรายงานของCNN สื่อสหรัฐฯในวันอาทิตย์(8)ว่า เขาเชื่อว่า ข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 87 ล้านที่ทางบริษัทได้ใช้ในการวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการเมืองนั้น เชื่อว่าอาจจะถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในรัสเซีย

“จำนวนข้อมูลส่วนตัวของยูสเซอร์เฟซบุ๊กที่ถูกทางเคมบริดจ์ แอนาไลติกาใช้ประโยชน์อาจมีสูง ซึ่งแน่นอนต้องมีมากกว่าตัวเลข 87 ล้าน ซึ่งทางบริษัทเฟซบุ๊กยอมรับ” “ไวลีย์กล่าวให้สัมภาษณ์กับ ชัค ท็อดด์ (Chuck Todd ) ในรายการ Meet The Press ทางสถานีโทรทัศน์ MSNBC วันอาทิตย์(8)

และในการให้สัมภาษณ์ นักแฉเคมบริดจ์ แอนาไลติกายอมรับว่า ทนายความของเขาสได้รับการติดต่อจากทั้งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่สอบสวนรัฐสภาคองเกรส และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯสำหรับคดี ซึ่งไวลีย์กล่าวว่า เขาพร้อมจะให้ความร่วมมือกับทางสหรัฐฯอย่างเต็มที่

ซึ่งในตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ คริสโตเฟอร์ ไวลีย์ กล่าวว่า ข้อมูลยูสเซอร์อาจถูกเก็บไว้ที่รัสเซีย “มันอาจถูกเก็บไว้ที่ส่วนต่างๆของโลก รวมไปถึงรัสเซีย จากเหตุผลที่ศาสตราจารย์(อเล็กซานดร์ โคแกน(Aleksandr Kogan) ประจำคณะจิตวิทยา มมาวิทยาลัยเคมบริดจ์) ซึ่งเป็นผู้จัดการข้อมูล ซึ่งพบว่ามีการส่งผ่านข้อมูลกลับไปมาในระหว่างกระบวนการซึ่งเกิดขึ้นระหว่างอังกฤษและรัสเซีย”

CNN รายงานว่า ศาสตราจารย์อเล็กซานดร์ โคแกน อดีตพลเมืองสหภาพโซเวียต เกิดที่มอลโดวา นั้นเคยเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก เป็นผู้ทำการวิจัยข้อมูลผู้ใช้อเมริกันจำนวนหลายล้านคน และได้ขายข้อมูลวิจัยเหล่านั้นให้กับบริษัทเคมบริดจ์ แอนาไลติกา ซึ่งทำงานให้กับทีมหาเสียงผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งปี 2016

เรื่องฉาวของเคมบริดจ์ แอนาไลติกายังโยงต่อไปถึงประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต เมื่อสื่อฮ่องกง เซาท์มอร์นิงไชนาโพสต์ รายงานวันจันทร์(9)ว่า พบว่าในปี 2015 ที่ปรึกษาของดูเตอร์เต 2 คนได้นั่งร่วมรับประทานอาหารกับอเล็กซานเดอร์ นิกซ์(Alexander Nix)ซีอีโอบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง เคมบริดจ์  แอนาไลติกา ซึ่งมีภาพหลักฐานปรากฎ

นอกจากนี้สื่อฮ่องกงยังชี้ว่า พบว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวฟิลิปปินส์ร่วม 1.2 ล้านคนอยู่ในกลุ่มของผู้ใช้ที่ได้รับผลกระทบจากข้อมูลรั่วไหล

โดยในรายงานชี้ว่า นิกซ์ได้ร่วมรับประทานอาหารกับ  โฮเซ เกเบรียล “พอมพี” ลา วินา(Jose Gabriel “Pompee” La Viña) และปีเตอร์ ทู ลาวินา(Peter Tiu Laviña) ซึ่งคนทั้งสองเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในทีมหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ปี 2016 ของดูเตอร์เต

ภาพการรับประทานอาหารร่วมกันเกิดขึ้นภายในชมรมสื่อมวลชนแห่งชาติฟิลิปปินส์ (The National Press Club: NPC) กลางกรุงมะนิลา ปี 2015 ซึ่งห่างจากวันเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส เมื่อวันที่ 9 พ.ค 2016 ทั้งนี้ โรดริโก ดูเตอร์เต ได้ยื่นใบสมัครเพื่อรับเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015

สื่อฮ่องกงชี้ว่า และพบว่าหลังอาหารมื้อนั้นในอีก 6 เดือนต่อมา คนทั้งคู่เสนอให้ดูเตอร์เตลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งเซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ชี้ว่า พบว่า“พอมพี” ลา วินา ได้รับการแต่งตั้งจากดูเตอร์เตให้เป็นผู้อำนวยการด้านโซเชียลมีเดียของทีมหาเสียง ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งฟิลิปปินส์ ส่วน ทู ลาวินา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโฆษกทีมหาเสียงของดูเตอร์เต

ในขณะที่เจ้าของสถานที่ NPC ประธานชมรมสื่อมวลชนแห่งชาติฟิลิปปินส์ ในปัจจุบันนี้ พบว่าขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการประจำสำนักงานปฎิบัติการด้านสื่อสารประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (PCOO) เซาท์มอร์นิงไชนาโพสต์ชี้

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่มากกว่า 1 คนซึ่งเคยทำงานให้กับคู่แข่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ของดูเตอร์เต 2 คน กล่าวกับสื่อฮ่องกงว่า พวกเขาไม่เคยรู้จักอเล็กซานเดอร์ นิกซ์ ประธานบริหารเคมบริดจ์ แอนาไลติกา หรือ บริษัทแม่ของเคมบริดจ์ แอนาไลติกา บริษัทแล็บบาราทอรีส์ด้านยุทธศาสตร์การสื่อสาร (Strategic Communications Laboratories ) หรือ SCL

เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์กล่าวว่า อดีตผู้อำนวยการด้านโซเชียลมีเดียของทีมหาเสียงเลือกตั้งดูเตอร์เตไม่สามารถติดต่อได้ เพื่อขอความเห็นในรายงานนี้ แต่ทว่าญาติของเขา อดีตโฆษกทีมหาเสียงดูเตอร์เต ทู ลาวินา กล่าวโต้ผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “ทางเราไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากต่างชาติระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง(ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ปี 2016)”

และในการให้สัมภาษณ์ ทู ลาวินาปฎิเสธที่จะตอบคำถามว่า เขาพบกับประธานบริษัทเคมบริดจ์ แอนาไลติกากี่ครั้ง โดยตอบกลับมาว่า “จำไม่ได้” แต่ยอมรับว่าได้เข้าร่วมการประชุมครั้งหนึ่งที่ NPC ซึ่งมีชาวต่างชาติได้รับเชิญในการขึ้นพูด และทู ลาวินา ยังย้ำว่า “จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าคนนี้เป็นคนเดียวกันกับที่ทางคุณได้เอ่ยถึง”

เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์รายงานว่า ทั้งนี้การเข้ามาแทรกแซงโดยชาวต่างชาติ หรือสถาบันต่างชาติในการเลือกตั้งฟิลิปปินส์นั้นเป็นความผิดทางกฎหมายอาญา




กำลังโหลดความคิดเห็น