xs
xsm
sm
md
lg

In Clips :ศาลเยอรมันขัง “ปุยจ์เดมองต์” ยาวถึงเทศกาลอีสเตอร์ ก่อนพิจารณาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับสเปน – ทนายความชี้ “ไม่ขอลี้ภัยการเมือง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ล่าสุดเมื่อวานนี้(26 มี.ค) ศาลเยอรมันออกคำพิพากษายึดระยะเวลาการกักตัวอดีตผู้นำแคว้นกาตาลุญญา คาร์เลส ปุยจ์เดมองต์ ออกไปจนถึงหลังเทศกาลวันอีสเตอร์ หรือวันอาทิตย์(1 เม.ย) นี้ สื่อเยอรมันชี้ การตัดสินส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับสเปนตามหมายจับยุโรปขึ้นอยู่กับการเปรียนเทียบกฎหมายระหว่าง 2 ชาติเป็นสำคัญ ด้านทนายความส่วนตัวปุยจ์เดมองต์ให้สัมภาษณ์ ไม่ขอยื่นลี้ภัยการเมืองในเยอรมัน

DW สื่อเยอรมันรายงานเมื่อวานนี้(26 มี.ค)ว่า ศาลเมืองนอยมึนสเตอร์(Neumünster) ในแคว้นชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์(Schleswig-Holstein) ที่มีทิศเหนือติดเดนมาร์ก ได้ขยายระยะเวลาการสั่งกักตัวอดีตประธานาธิบดีกาตาลุญญา คาร์เลส ปุยจ์เดมองต์ ออกไป

ซึ่งพบว่าปุยจ์เดมองต์ถูกตำรวจแคว้นทางตอนเหนือจับกุมเมื่อ 1 วันก่อนหน้า ถือเป็นก้าวแรกทางกระบวนการทางยุติธรรมในการส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังสเปน สื่อเยอรมันชี้

ในวันศุกร์(23)ก่อนหน้า สเปนได้ทำการแจ้งหมายจับยุโรปต่อตัวปุยจ์เดมองต์ใน “ข้อหากบฎต่อรัฐ” อีกครั้ง ซึ่งตัวปุยจ์เดมองต์เผชิญหน้าข้อกล่าวหาพยายามแบ่งแยกดินแดนที่มีโทษจำคุกสูงถึง 25 ปีหลังจากต้องการประกาศเอกราชย์ให้กับแคว้นกาตาลุญญา

ซึ่งหากว่าศาลเมืองนอยมึนสเตอร์พิจารณาว่า ตำรวจเยอรมันสามารถเก็บตัวอดีตผู้นำแคว้นกาตาลุญญาไว้ได้ คดีของเขาจะถูกส่งไปยังศาลในชั้นที่สูงกว่าประจำภูมิภาคในเมืองชเลสวิก(Schleswig) ซึ่งจะเป็นที่เขาจะเผชิญหน้าในกระบวนการส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

ทั้งนี้เยอรมันจะมีเวลาแค่ 60 วันในการตัดสินว่าจะส่งตัวเขากลับสเปนหรือไม่ หรือภายใน 10 วันหากปุยจ์เดมองต์ตกลงยินบอมที่จะยอมถูกส่งตัวกลับเอง ซึ่งทางโฆษกหญิงศาลเยอรมันยืนยันว่า ไม่มีความเป็นไปได้ว่า การตัดสินใจส่งตัวจะเกิดขึ้นได้ภายในวันอาทิตย์(1 เม.ย) ซึ่งเป็นเทศกาลอีสเตอร์

ด้านทนายความส่วนตัว เฮาเม อลอนโซ คูเอวิลาส(Jaume Alonso Cuevillas) ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุแคว้นกาตาลุญญาเมื่อวานนี้(26) ชี้ว่า ***เขาไม่มีแผนที่จะยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองให้กับปุยจ์เดมองต์ที่เยอรมัน ***

ในขณะที่ในการแถลงข่าวในวันเดียวกันนั้น(26) โฆษกกระทรวงมหาดไทยเยอรมันออกมาให้ความเห็นว่า “ถือเป็นสิ่งผิดปกติมาก” ที่พลเมืองสเปนจะยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองในเยอรมัน

ทั้งนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายต่างเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ของปุยจ์เดมองต์ในเวลานี้ขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบในระดับกฎหมายระหว่างเยอรมันและสเปน

ซึ่งภายใต้กฎหมายสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกต้องยอมรับหมายจับยุโรปที่ออกโดยประเทศสมาชิก แต่อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกอียูมีสิทธิ์ไม่ทำการส่งตัวผู้ต้องสงสัยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปหากว่าผู้ต้องสงสัยไม่ถูกพบว่าการกระทำของตัวเองนั้นเป็นความผิดทางอาญาในประเทศต้องการถูกขอให้ส่งตัวกลับ

DW รายงานว่า ตามประมวลกฎหมายอาญาของเยอรมัน มีการกล่าวโทษ “High treason” หรือ “กบฎต่อแผ่นดิน”

อ้างอิงจากวิกีพีเดีย พบว่าความผิดนี้รวมไปถึงเป็นความผิดทางอาญาในการทรยศต่อประเทศของตนเองซึ่งครอบคลุมการกระทำต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศของตนเอง ที่รวมทั้งการเข้าร่วมสงคราม การพยายามโค่นล้มรัฐบาล การสืบความลับทางการทหารหรือทางการทูต หรือการพยายามสังหารผู้นำของประเทศ

ดังนั้นสื่อเยอรมันชี้ว่า ทางเบอร์ลินจึงมีทางเลือกน้อยนอกจากยอมส่งตัวปุยจ์เดมองต์กลับไป หากว่าโทษที่ว่านี้เท่ากับข้อหาการเป็นกบฎ(Rebellion)

สื่อเยอรมันวิเคราะห์ว่า เชื่อว่าทางเจ้าหน้าที่สเปนมีความเห็นว่าระบบกฎหมายระหว่างสเปนและเยอรมันมีความสอดคล้อง และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้อดีตผู้นำแคว้นกาตาลุญญาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในเยอรมันหลังถูกจากถูกจับกุม

ทั้งนี้พบว่า คาร์เลส ปุยจ์เดมองต์ ถูกจับกุมหลังจากเดินทางออกมาจากฟินแลนด์ทางรถ ซึ่งพบว่า ในระหว่างอยู่ในฟินแลนด์ นอกเหนือจากพบกับนักการเมืองแล้ว อดีตผู้นำประจำแคว้นยังได้เข้าบรรยายในฐานะวิทยากรอีกด้วย ซึ่งในระหว่างการถูกจับ พบปุยจ์เดมองต์กำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางกลับไปยังกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ซึ่งเป็นที่เขาลี้ภัยมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา หลังจากที่เดินทางหลบออกจากสเปนเพื่อหนีการจับกุม

DW กล่าวว่า ดูเหมือนปุยจ์เดมองต์จะได้รับสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่เบลเยียมจะไม่ทำการส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปให้กับทางมาดริด

และมีการพบว่า สื่อสเปน รวมไปถึงหนังสือพิมพ์สเปน El Pais รายงานล่าสุดว่า หน่วยข่าวกรองสเปนได้จับตาความเคลื่อนไหวของปุยจ์เดมองต์มาโดยตลอด และได้แจ้งการข่าวในทางลับให้กับทางเยอรมันได้รับทราบถึงจุดพิกัดความเคลื่อนไหวของปุยจ์เดมองต์ เป็นความสำเร็จเกิดขึ้นเนื่องมาจากความร่วมมือที่ดีในอดีตระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนและของเยอรมัน

โดยในระหว่างการแถลงข่าว โฆษกจากกระทรวงมหาดไทยและยุติธรรมเยอรมันยอมรับว่า ได้รับการติดต่อจากกระทรวงมหาดไทยและยุติธรรมของสเปนจริง แต่ไม่ยอมเปิดเผยในรายละเอียดเพิ่มเติมไปถึงการนำไปสู่การที่ตำรวจแคว้นชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ ที่สามารถหยุดรถต้องสงสัยที่มีคาร์เลส ปุยจ์เดมองต์นั่งอยู่ได้สำเร็จในวันอาทิตน์(25)

ซึ่งก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมพบว่า เขาเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านข้ามแดนเข้ามายังเดนมาร์ก ด้านโฆษกสำนักงานตำรวจเยอรมันแถลงในวันจันทร์(26)ว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากการจับกุมเขาเมื่อพบตัว

ในขณะเดียวกันรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเยอรมัน คาตารินา บาร์เลย์(Katarina Barley) ออกมายืนยันเมื่อวานนี้(26)ว่า ทางเบอร์ลินจะไม่เข้ามาแทรกแซงในคดีนี้ แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางยุติธรรมให้ศาลตัดสิน












กำลังโหลดความคิดเห็น