รอยเตอร์ - รัฐบาลมาเลเซียเสนอร่างกฎหมายเอาผิดผู้เผยแพร่ข่าวเท็จ โดยกำหนดระวางโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงว่ารัฐบาลกำลังลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชนเพื่อสยบข่าวคดีทุจริตเงินกองทุน วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) ที่พัวพันถึงนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก
ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเสนอต่อรัฐสภาในวันนี้ (26 มี.ค.) ก่อนที่มาเลเซียจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ภายใต้กฎหมายต่อต้านข่าวเท็จปี 2018 ผู้ใดก็ตามที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จจะมีโทษปรับสูงสุด 500,000 ริงกิต (ราว 4 ล้านบาท) และจำคุก 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
รัฐบาลอ้างว่า “กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสาธารณชนจากข่าวลวงที่ถูกแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็ยังคงปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกภายใต้รัฐธรรมนูญ”
กฎหมายฉบับนี้ให้นิยามข่าวเท็จว่าหมายถึง “ข่าว ข้อมูล ฐานข้อมูล หรือรายงานซึ่งไม่เป็นความจริงบางส่วนหรือทั้งหมด” รวมไปถึงบทความ ภาพ และเสียงที่มีการบันทึกเอาไว้ด้วย
กฎหมายซึ่งครอบคลุมสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดียยังสามารถบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดที่อยู่นอกประเทศ หากข่าวอันเป็นเท็จนั้นสร้างความเสียหายต่อประเทศหรือพลเมืองมาเลเซีย
กฎหมายฉบับนี้ยังมุ่งส่งเสริมให้ประชาชน “มีความรับผิดชอบ และระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลข่าวสาร”
นักการเมืองฝ่ายค้านได้ออกมาตั้งคำถามว่า กฎหมายลักษณะนี้มีความจำเป็นหรือไม่ ในเมื่อรัฐบาลมาเลเซียก็มีอำนาจกว้างขวางที่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการทำงานของสื่ออยู่แล้ว
“นี่คือการโจมตีสื่อมวลชน และสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14” ออง เกียน มิง (Ong Kian Ming) ส.ส.ฝ่ายค้าน ทวีตข้อความหลังจากที่ร่างกฎหมายถูกเสนอต่อรัฐสภา
การยักยอกเงินกองทุน 1MDB ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวที่ นาจิบ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 ถูกสื่อต่างชาติเปิดโปงจนเป็นข่าวฉาวโฉ่ทั่วโลกเมื่อปี 2015 และดูเหมือนเรื่องจะยังไม่ซาง่ายๆ แม้ นาจิบ จะยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด อีกทั้งรัฐบาลก็มีอำนาจควบคุมสื่อกระแสหลักอยู่ก็ตาม
ธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับ 1MDB กำลังถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายใน 6 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้เปิดการสอบสวนคดีแพ่งเพื่อติดตามอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวพันกับกองทุนแห่งนี้
รัฐบาลเสือเหลืองพยายามใช้กฎหมายไล่บี้สื่อที่กล้านำเสนอข่าวคดีทุจริต 1MDB เช่น การสั่งถอนใบอนุญาตหนังสือพิมพ์ The Edge ในปี 2015 และบล็อกเว็บไซต์อีกหลายแห่งที่ลงบทความวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ
ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีช่วยมาเลเซียคนหนึ่งได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ข่าวเกี่ยวกับ 1MDB ที่ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์จากรัฐบาลถือว่า “เป็นเท็จ”
รัฐบาลบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ก็เริ่มมีการเสนอกฎหมายต่อต้าน “ข่าวเท็จ” เช่นเดียวกัน