รอยเตอร์ – บริษัท Uber Technologies Inc ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเรียกรถโดยสารตกลงขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับคู่แข่งในภูมิภาครายใหญ่กว่าอย่าง Grab บริษัทระบุในวันนี้ (26) นับเป็นการล่าถอยจากตลาดเอเชียครั้งที่สองของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯแห่งนี้
ข้อตกลงนี้เป็นการรวมกิจการครั้งใหญ่ครั้งแรกของอุตสาหกรรมนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บ้านของประชากรราว 640 ล้านคน และสร้างแรงกดดันต่อบริษัท โก-เจค (Go-Jek) ของอินโดนีเซียที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทกูเกิลในเครือ อัลฟาเบต อินซ์ และบริษัท เทนเซนต์ โฮลดิง ของจีน
การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมบริการเรียกรถที่มีการแข่งขันดุเดือดในเอเชียเริ่มส่อแววเมื่อต้นปีเมื่อบริษัท วิชัน ฟันด์ (Vision Fund) ในเครือ ซอฟท์แบงค์ กรุ๊ป คอร์ป (SoftBank Group Corp) ที่มีฐานในญี่ปุ่นทำการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในอูเบอร์ ซอฟท์แบงค์ก็ลงทุนในแกร๊บด้วยเช่นกัน
“มันเป็นการตัดสินใจด้วยตัวเองของทั้งสองบริษัท” หมิง หม่า ประธานบริหารของแกร๊บ บอกกับรอยเตอร์ และเสริมว่า มาซาโยชิ ซัน ซีอีโอของซอฟท์แบงค์ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ในฐานะส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่าน อูเบอร์จะถือหุ้น 27.5 เปอร์เซ็นต์ในบริษัทแกร๊บที่มีฐานในสิงคโปร์และ ดารา คอสโรว์ชาฮี ซีอีโอของอูเบอร์จะเข้าร่วมในคณะกรรมการของแกร๊บ
“มันจะช่วยให้เราทุ่มเทกับแผนเพื่อการเติบโตของเราได้มากขึ้น ในขณะที่เรากำลังลงทุนในผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของเราอย่างหนัก” คอสโรว์ชาฮี กล่าวในถ้อยแถลง
สำหรับแกร๊บ ข้อตกลงจะเป็นประโยชน์สำหรับบริหารส่งอาหารของพวกเขาซึ่งตอนนี้ควบรวมกับ Uber Eats บริการส่งอาหารที่สมบูรณ์มากกว่าเดิมจะทำให้แกร๊บได้เปรียบ โก-เจค อ้างจากบุคคลที่ใกล้ชิดกับแกร๊บ
โก-เจค เป็นบริษัทเจ้าถิ่นในอินโดนีเซีย ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และได้ขยับขยายจากบริการเรียกรถไปสู่บริการอื่นๆ อย่างรวดเร็ว เช่น การชำระเงินแบบดิจิตัล การส่งอาหาร รวมทั้งการทำความสะอาดและการนวดตามสั่ง
บริษัทบริการเรียกรถทั่วเอเชียพึ่งพาอาศัยการลดราคาและการส่งเสริมการขายเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผลกำไรลดลงและเพิ่มแรงกดดันสำหรับการรวมกิจการ
อูเบอร์ซึ่งกำลังเตรียมการสำหรับการเสนอขายหุ้นใหม่แก่สาธารณะชนเป็นครั้งแรกขาดทุน 4.5 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วและกำลังเผชิญกับการแข่งขันดุเดือดในประเทศและในเอเชีย ตลอดจนการกวาดล้างของหน่วยงานควบคุมในยุโรป
อูเบอร์ลงทุนกับกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเงิน 700 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ในจีนพวกเขาทุ่มเงินไปถึง 2 พันล้านดอลลาร์ก่อนที่ขายกิจการที่นั่นให้กับบริษัท Didi