(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Wang takes over as vice president at the court of President Xi
By Gordon Watts
17/03/2018
หวัง ฉีซาน อดีตซาร์ปราบคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นที่เกรงกลัวกันทั้งแผ่นดิน กลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้งด้วยตำแหน่งรองประธานาธิบดีจีน และดูเป็นที่แน่นอนว่าจะได้รับภารกิจหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
เป็นไปตามบทที่กำหนดเอาไว้อย่างระมัดระวัง ภายในมหาศาลาประชาชนอันใหญ่โตโอฬาร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมขอบของมหาจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง หวัง ฉีซาน โค้งคำนับ 2 ครั้ง จากนั้นก็ก้าวเดินมาหาและจับมือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้เป็นเพื่อนสนิท หลังจากได้รับเลือกตั้งให้เป็นรองประธานาธิบดี ณ การประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีนเมื่อวันเสาร์ (17 มี.ค.) ที่ผ่านมา
มีผู้แทนเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ออกเสียงคัดค้านอดีตซาร์ต่อต้านปราบปรามคอร์รัปชั่นผู้ที่ใครๆ ก็เกรงกลัวผู้นี้ ขณะเดียวกัน สี ก็ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 โดยที่ไม่มีเสียงไม่เห็นด้วยแม้แต่เสียงเดียวจากรัฐสภาของจีนซึ่งในทางพฤตินัยก็ไม่ผิดอะไรกับเป็นสภาตรายาง ที่แออัดคราคร่ำไปด้วยนักเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
หวัง เป็นที่รู้จักกันดีในฉายา “นักผจญเพลิง” เนื่องจากการเข้ามีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งยวดของเขาในการจัดการกับประเด็นปัญหาหนักหนาสาหัสต่างๆ เป็นต้นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่น และกรณีอื้อฉาวทางการเงินภายในประเทศ จากตำแหน่งใหม่ในฐานะรองประธานาธิบดีจีน ดูจะเป็นการแน่นอนแล้วว่าเขาจะได้รับมอบหมายภารกิจการงานที่กำลังได้รับความสนอกสนใจอย่างสูง นั่นคือการหาทางหลีกเลี่ยงสงครามการค้ากับสหรัฐฯ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรอย่างดุดันเอากับเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้า
“เขาเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองที่มีความสำคัญจริงๆ” เคอร์รี บราวน์ (Kerry Brown) ผู้อำนวยการของ สถาบัน เลา ไชน่า (Lau China Institute) ณ วิทยาลัยคิงส์คอลเลจ กรุงลอนดอน บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี “หวังเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลอยู่หรอกที่เขาจะยังได้อยู่ต่อ แต่กระนั้นมันก็แสดงให้เห็นด้วยว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนปกติในแวดวงการเมืองของจีน”
นักแก้ไขคลี่คลายปัญหายุ่งเหยิงวัย 69 ปีผู้นี้ คือคนสนิทไว้วางใจของประธานาธิบดีสี มาตั้งแต่ตอนที่ “พวกเขายังหนุ่มๆ” และเป็นผู้ที่ช่วยก่อตั้งกิจการวานิชธนกิจ (investment bank) แห่งแรกของจีน กับ มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 เขายังคงมีเครือข่ายสายใยการติดต่ออันกว้างขวางและทรงอิทธิพลในระดับโลก รวมทั้งได้สานสร้างความผูกพันอันยืนยาวกับบุคลากรคนสำคัญๆ ของวอลล์สตรีท เป็นต้นว่า แฮงค์ พอลสัน (Hank Paulson) อดีตประธานและซีอีโอของวานิชธนกิจ โกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs) และอดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช
ภายหลังก้าวลงจากตำแหน่งต่างๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากวัยของเขา หวังก็ถูกนำกลับคืนสู่เวทีการเมืองอีกครั้งโดยประธานาธิบดีสี ผู้ซึ่งกลายเป็นผู้นำทรงอำนาจที่สุดในประเทศจีนนับตั้งแต่เหมา เจ๋อตง เป็นต้นมา หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์มีมติเมื่อต้นเดือนนี้ให้ยกเลิกข้อจำกัดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่เกิน 2 สมัย
หวัง มีความสำคัญสำหรับ สี เพียงใด มองเห็นได้จากการที่ หวัง ได้รับการวางตัวให้อยู่แนวหน้าในสงครามต่อต้านปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของสี ด้วยการครองตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจสอบวินัย แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งเขานั่งอยู่ในเก้าอี้ตัวนี้ มีเจ้าหน้าที่พรรคจำนวนมากว่ากันว่าน่าจะถึง 1.5 ล้านคนทีเดียว ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างไปจนถึงผู้นำระดับมณฑลและนายพลผู้บังคับบัญชาทหาร ถูกกำจัดกวาดล้างในการรณรงค์ที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ
ในนี้มีจำนวนมากที่เป็นปรปักษ์ของ “นาย” ของเขา ซึ่งก็คือประธานาธิบดีสี
“การเลือก หวัง ให้เป็นรองประธานาธิบดี จะเป็นการรวมศูนย์อำนาจให้อยู่ในมือของ สี” นี่เป็นความเห็นของ หวา โป๋ (Hua Po) คอมเมนเตเตอร์อิสระในเรื่องการเมืองจีน
“สีเป็นผู้ที่มีอิทธิพลอย่างมากมายอยู่แล้ว แต่ปัญหาก็คือเขามีคนที่จงรักภักดีและมีความสามารถสำหรับให้เขาใช้งานได้น้อยเกินไป ดังนั้นเขาจึงยังต้องรักษา หวัง เอาไว้ และทำให้ตัวเขามีเวลามากขึ้นในการบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถ” หวา กล่าวต่อ
กระนั้น ภารกิจของหวังในการคลี่คลายประเด็นปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็ดูทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลตัวเลขทางการค้าแต่ละชุดที่มีการประกาศรายงานกันออกมา ทั้งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ จีนมียอดได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯอยู่ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากสำนักงานใหญ่ศุลกากรของจีน (China’s General Administration of Customs) ระบุเอาไว้เช่นนี้ ตัวเลขนี้เป็นกว่า 2 เท่าตัวของยอด 10,400 ล้านดอลลาร์ที่จีนได้เปรียบสหรัฐฯอยู่ในช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
จากนั้นในวันอังคาร (13 มี.ค.) ก็มีรายงานข่าวออกมาว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์กำลังพิจารณาที่จะประกาศเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรซึ่งจัดเก็บจากสินค้าต่างๆ ของจีน โดยมุ่งที่จะเก็บเพิ่มขึ้นให้ได้เป็นมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าเก็บจากภาคเทคโนโลยีและภาคสื่อสารโทรคมนาคม
“ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามการค้า โดยที่ทรัมป์เพิ่มภาษีศุลกากรซึ่งเก็บจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างกว้างขวางใหญ่โตมากขึ้นนั้น ดูเหมือนว่ากำลังสูงขึ้นทุกที” เซี่ย เล่อ (Xia Le) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชีย ณ ธนาคาร บังโก บิลเบา วิซกายา อาร์เกนตาเรีย (Banco Bilbao Vizcaya Argentaria) ในฮ่องกง บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
ช่วงเวลานี้ถือเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งสำหรับประธานาธิบดีสี ผู้ซึ่งเพิ่งสยบพวกนักวิพากษ์วิจารณ์และพวกปรปักษ์ของเขาอย่างอยู่หมัด และได้เห็น “ความคิดสี จิ้นผิง ว่าด้วยสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนในยุคใหม่” ของเขา จารึกเอาไว้ในธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ไม่กี่นาทีหลังจากการออกเสียงในสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ เหรินหมินรึเป้า (People’s Daily) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ได้ประกาศเรียกขานเขาว่าเป็น “นายท้ายเรือผู้ยิ่งใหญ่” (great helmsman) ของจีน ในข่าวสั้นข่าวด่วนชิ้นหนึ่งที่ส่งผ่านสมาร์ตโฟน วลีนี้คงจะเกิดเสียงสะท้อนก้องไปทั่วทั้งประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกอย่างแน่นอน เนื่องจากก่อนหน้านี้มันเคยถูกใช้เพื่อแสดงความเคารพยกย่องประธานเหมา
“สี จะกลายเป็นท่านประธานของทุกสิ่งทุกอย่าง” อีเธอ หยิน (Ether Yin) หุ้นส่วนคนหนึ่งในบริษัทที่ปรึกษา ทริเวียม ไชน่า (Trivium China) ในปักกิ่ง บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก “เขาเท่ากับนำเอาตัวเองเข้าไปเป็นศูนย์กลางของทั่วทั้งประเทศ”