xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันขึ้นน้อย-ทองพุ่งหลังดอลล์อ่อนค่า หุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/มาร์เกตวอตช์ - ราคาน้ำมันปิดบวกเล็กน้อยและทองคำพุ่งแรงจากดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่วนวอลล์สตรีทขยับขึ้นท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน จับตาทรัมป์อาจล้มเลิกข้อเสนอขึ้นภาษีนำเข้า

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 3 เซ็นต์ ปิดที่ 62.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 25 เซ็นต์ ปิดที่ 65.79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ตลาดน้ำมันได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์เมื่อเทียบกับตะกร้าเงิน จากข่าวที่เกาหลีใต้เผยว่าเกาหลีเหนือมีความตั้งใจเปิดเจรจากับสหรัฐฯ ในประเด็นปลดอาวุธนิวเคลียร์และจะระงับการทดสอบนิวเคลียร์ระหว่างหารือใดๆ

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันสัญญาสหรัฐฯ ถูกกดดันจากความคาดหมายว่าที่ว่าตัวเลขคลังน้ำมันดิบสำรองของประเทศซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในวันพุธ (7 มี.ค.) น่าจะเพิ่มขึ้น 2 สัปดาห์ติดต่อกัน

ปัจจัยดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ช่วยดันราคาทองคำในวันอังคาร (6 มี.ค.) ปิดสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 15.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,335.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันอังคาร (6 มี.ค.) ขยับขึ้นท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ด้วยนักลงทุนเฝ้ารออย่างกังวลว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะยกเลิกข้อเสนอขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าหรือไม่

ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 9.36 จุด (0.04 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 24,884.12 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 7.18 จุด (0.26 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,728.12 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 41.30 จุด (0.56 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 7,372.01 จุด

บรรดา ส.ส.สหรัฐฯ เรียกร้องทรัมป์ให้ถอนข้อเสนอขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและและอะลูมีเนียม ซึ่งรื้อฟื้นความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวช่วยคลายความหวาดวิตก หลังจากข้อเสนอของประธานาธิบดีอเมริกากระพือแรงเทขายเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว

รายงานของบลูมเบิร์กอ้างคำพูดคนใกล้ชิดทรัมป์ระบุว่าประธานาธิบดีรายนี้เปิดใจพร้อมเปลี่ยนแปลงข้อเสนอตามเสียงเรียกร้องดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ตลาดยังได้แรงหนุนจากกรณีที่ ทรัมป์ ทรัมป์ทวีตข้อความขานรับความคืบหน้าในการแก้ไขความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ หลังจากที่เกาหลีเหนือส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อยุติโครงการนิวเคลียร์


กำลังโหลดความคิดเห็น