xs
xsm
sm
md
lg

อิตาลีหลังเลือกตั้งส่อตั้งรัฐบาลยาก ประชานิยม-ขวาจัดมาแรง แต่ก็ไม่ชนะขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>(ภาพจากแฟ้ม) อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ซึ่งเป็นผู้นำของพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ที่มีแนวทางกลาง-ขวา (ซ้าย) ใช้ผ้าเช็ดหน้าผากของ  มัตเตโอ ซัลวินี ผู้นำกลุ่ม “ลีก” ที่มีแนวทางขวาจัด  ขณะเขาปล่อยมุกตลกบนเวทีแถลงข่าวร่วม ในกรุงโรม เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา  ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งอิตาลีเมื่อวันอาทิตย์ (4 มี.ค.) ชี้ว่า แนวร่วมฝ่ายขวาซึ่งมีทั้งสองพรรคเป็นแกนนำ  ได้คะแนนมากกว่าพรรคหรือกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ  ขณะที่ภายในแนวร่วมนี้ “ลีก” ได้เสียงมากกว่า “ฟอร์ซา อิตาเลีย”  จนพูดกันว่า ซัลวินีอาจได้เป็นนายกฯอิตาลีคนต่อไป </i>
เอเจนซีส์ - อิตาลีเผชิญภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่อาจยืดเยื้อเป็นเดือนๆ ภายหลังผลการเลือกตั้งรัฐสภาในวันอาทิตย์ (4 มี.ค.) ออกมาชนิดที่ไม่มีพรรคหรือกลุ่มใดได้เสียงข้างมาก โดยแนวโน้มที่พอมองเห็นได้ชัดเจนคือบรรดาผู้ออกเสียงมองเมินพวกพรรคกระแสหลักที่ก่อตั้งมายาวนาน และหันไปเลือกประดากลุ่มประชานิยมต่อต้านระบบ ตลอดจนกลุ่มขวาจัดในจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์

ขณะที่การนับคะแนนผ่านไปเกินกว่า 75% แล้วนั้น เกือบเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ในบรรดา 3 กลุ่มการเมืองใหญ่ของอิตาลีไม่มีกลุ่มใดกวาดคะแนนมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ตามลำพัง และยังมีความเป็นไปได้ต่ำมากๆ ที่พรรคการเมืองกระแสหลักจะได้กลับมาบริหารประเทศ

คาดหมายกันว่า แนวร่วมปีกขวาจะได้คะแนนเสียงราว 37% โดยในจำนวนนี้ กลุ่ม “ลีก” ที่เป็นพวกขวาจัดต่อต้านสหภาพยุโรป ได้ไปเกือบๆ 18% ขณะที่พรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ของอดีตนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ได้ประมาณ 14% เท่ากับว่า มัตเตโอ ซัลวินี ผู้นำกลุ่มลีก ที่ให้สัญญาจะจัดการเนรเทศผู้อพยพจำนวนหลายแสนคนและจัดการกับ “อันตราย” จากอิสลาม อาจได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแดนมักกะโรนี

ด้านพรรคแนวทางประชานิยมและต่อต้านสถาบันอย่าง ขบวนการ 5 ดาว (5-สตาร์ มูฟเมนต์) ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนซึ่งเบื่อหน่ายกับพรรคการเมืองหน้าเดิม การขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 คือ 31%

มาร์เซลโล ซอร์กี้ คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ ลา สแตมปา ชี้ว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 ได้ผลลัพธ์ที่ยุโรปหวาดกลัว ขณะที่อิตาลีเองก็คาดไม่ถึง นั่นคือชัยชนะของลัทธิประชานิยม ซึ่งแม้กระทั่งว่ากลุ่มการเมืองแนวนี้จะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็อาจขัดขวางระบอบอียูอยู่ดี

ชัยชนะของฝ่ายขวาจัดและพรรคประชานิยมในอิตาลีถูกนำไปเปรียบเทียบกับการลงประชามติให้อังกฤษถอนตัวจากอียู และการเข้าสู่ทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์

มารีน เลอ เปน ผู้นำพรรคขวาจัด “เนชันแนล ฟรอนต์” ในฝรั่งเศส ทวิตว่า “อียูกำลังจะเจอค่ำคืนเลวร้าย

จากการที่ไม่มีฝ่ายใดกุมเสียงข้างมากเด็ดขาดทำให้การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลอาจยืดเยื้อหลายสัปดาห์หรือกระทั่งหลายเดือน
<i>ภาพชุดแสดงให้เห็นนักเคลื่อนไหวเปลือยอกจากกลุ่มสิทธิสตรี “ฟีเมน” บุกเข้ามาขัดจังหวัดขณะที่ อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ผู้นำของพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย (ไม่เห็นในภาพ) กำลังลงคะแนนเสียงในหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งที่เมืองมิลานเมื่อวันอาทิตย์ (4 มี.ค.)  ข้อความที่เขียนบนตัวเธอคือ “แบร์ลุสโกนี คุณจบไปแล้ว” </i>
ริกคาร์โด ฟรักคาโร สมาชิกอาวุโสของ 5-สตาร์ บอกว่า ไม่ว่าพรรคใดก็ไม่สามารถฟอร์มรัฐบาลได้โดยไม่มี 5-สตาร์ ซึ่งถือเป็นพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุด

ส่วนพรรคเดโมเครติก ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลและมีแนวทางกลาง-ซ้าย ได้คะแนนแค่เกือบๆ 19% และถือเป็นความพ่ายแพ้อย่างชัดเจน

หากไม่มีพรรคหรือแนวร่วมกลุ่มใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด อิตาลีจะมีสามทางให้เลือกคือ ข้อตกลง “ต่อต้านระบบ” หรือการจับมือระหว่าง 5-สตาร์กับลีก ซึ่งเป็นทางเลือกที่นักลงทุนต่างชาติและบรัสเซลส์หวาดผวา โดยจากการคาดการณ์นั้น แนวร่วมนี้จะมีที่นั่งในสภาล่าง 355 ที่นั่ง จาก 630 ที่นั่ง และ 168 ที่นั่งในสภาสูง จาก 315 ที่นั่ง

ทางเลือกที่สองคือ 5-สตาร์ฟอร์มรัฐบาลตามลำพัง ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพอย่างยิ่ง และทางเลือกสุดท้ายคือ การตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาดูแลจัดการจัดเลือกตั้งกันใหม่

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เลสเพรสโซ ชี้ว่า ผู้ชนะเมื่อคืนวันที่ 4 คือ ลุยจิ ดิ มาโย ผู้นำ 5-สตาร์ และซัลวินี ผู้นำพรรคลีก ส่วนผู้แพ้ยับเยินมีสองคนเช่นกันคือ แบร์ลุสโกนี และมัตเตโอ เรนซี ผู้นำเดโมเครติก

แบร์ลุสโกนี อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ซึ่งเวลานี้ยังไม่สามารถรับตำแหน่งทางการเมืองได้ เนื่องจากยังมีความผิดติดตัวในคดีโกงภาษี แต่เขาก็ประกาศวางตัวแอนโตนิโอ ทาจานี ประธานรัฐสภายุโรป เป็นนายกฯ นอมินี

สตีฟ แบนนอน อดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาวที่เคยช่วยให้ทรัมป์ขี่กระแสประชานิยมจนได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ฟันธงว่า การเลือกตั้งของอิตาลีเป็น “ลัทธิประชานิยมล้วนๆ” โดยบรรยายว่า คนอิตาลีไปไกลกว่าและเร็วกว่าคนอังกฤษที่สนับสนุนเบร็กซิต และคนอเมริกันที่สนับสนุนทรัมป์

ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการคาดว่าจะออกมาในช่วงคืนวันจันทร์ (5) และรัฐสภาจะเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 23 มีนาคม อย่างไรก็ดี ไม่มีแนวโน้มว่า ประธานาธิบดีแซร์จิโอ มัตตาเรลลา จะสามารถเริ่มต้นการหารืออย่างเป็นทางการเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้จนกว่าจะถึงต้นเดือนเมษายน

คลอดิโอ ติโต คอลัมนิสต์ของลา รีพับบลิกา ทิ้งท้ายว่า คำพิพากษาในอิตาลีเหมือนเดิมคือ ประเทศที่ไร้เสถียรภาพเสมอมา และมีอาการเรื้อรังคือการไม่สามารถปกครองได้


กำลังโหลดความคิดเห็น