xs
xsm
sm
md
lg

มกุฎราชกุมารซาอุดีฯกระชับอำนาจอีกรอบ ปลดประธานเสนาธิการทหาร-ยกเครื่องกระทรวงกลาโหม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<i>ภาพเผยแพร่จากสำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบียเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2018 แสดงให้เห็น มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ขณะทรงเข้าร่วมพิธีสำเร็จการศึกษาของโรงเรียนนายเรืออากาศ คิง ไฟซาล แอร์ อคาเดมี ในกรุงริยาด  ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบียประกาศปรับเปลี่ยนนายทหารสำคัญในวันอังคาร (27) โดยที่เห็นกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกระชับอำนาจของเจ้าชายมกุฎราชกุมาร </i>
เอพี – ซาอุดีอาระเบียปลดประธานเสนาธิการทหารและปรับเปลี่ยนนายพลคนสำคัญอีกหลายตำแหน่ง เพื่อยกเครื่องกระทรวงกลาโหม ขณะที่ประเทศกำลังเป็นแกนนำพันธมิตรอาหรับทำสงครามใหญ่ในเยเมน นักวิเคราะห์เชื่อนี่เป็นอีกก้าวในการกระชับอำนาจของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด เช่นเดียวกับมาตรการกวาดล้างคอร์รัปชันก่อนหน้านี้

ซาอุดีอาระเบียประกาศเรื่องนี้ในตอนเช้าวันอังคาร (27 ก.พ.) พร้อมๆ กับพระบรมราชโองการอื่นๆ อีกหลายฉบับ ผ่านทางสำนักข่าวซาอุดี เพรสส์ของทางการ และก็เช่นเดียวกับประกาศอื่นๆ จำนวนมากในราชอาณาจักรอิสลามสุหนี่อนุรักษนิยมจัดแห่งนี้ นั่นคือมีการแจกแจงรายละเอียดน้อยเหลือเกิน

โดยในพระบรมราชโองการเกี่ยวกับการพัฒนากระทรวงกลาโหม ระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย “ทรงอนุมัติเอกสารว่าด้วยการพัฒนากระทรวงกลาโหม ซึ่งรวมถึงวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของโครงการพัฒนากระทรวง รูปแบบการดำเนินการเพื่อการพัฒนา โครงสร้างการจัดองค์กร ข้อกำหนดด้านธรรมาภิบาลและทรัพยากรมนุษย์”

ขณะที่ เจ้าชาย ไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน ที่ปรึกษาอาวุโสประจำสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงวอชิงตัน เขียนเอาไว้ในทวิตเตอร์ว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ความพยายามที่ดำเนินมาหลายปีแล้ว”

สำหรับการเปลี่ยนแปลงตัวบุคลากรในกองทัพที่สำคัญที่สุดในครั้งนี้ คือการปลดพลเอกอับดุลเราะห์มาน บิน ซาเลห์ อัล-บุนยาน จากตำแหน่งประธานเสนาธิการทหาร และโยกย้ายไปเป็นที่ปรึกษาราชสำนัก ส่วนคนที่จะมาทำหน้าที่แทนคือ พลเอกไฟยาดห์ บิน ฮามิด อัล-รไวลี อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศ

นอกจากนั้นยังมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยกลาโหมคนใหม่ ได้แก่ คอเลด บิน ฮุสเซน อัล-บิยารี ผู้เป็นซีอีโอของซาอุดี เทเลคอม บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งประกอบธุรกิจโทรศัพท์มือถือและให้บริการอินเทอร์เน็ต

การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นขณะที่กองกำลังพันธมิตรที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย และได้รับการสนับสนุนอย่างสำคัญที่สุดจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ยังไม่สามารถเผด็จศึกในเยเมน ซึ่งเป็นประเทศยากจนที่สุดในโลกอาหรับ ขณะที่ประชาชนในประเทศนั้นกลายเป็นเหยื่อของสงครามล้มตายไปกว่า 10,000 คนแล้ว

ในสงครามนี้ กลุ่มพันธมิตรของกรุงริยาดให้การสนับสนุนรัฐบาลเยเมนที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ทำการสู้รบกับกลุ่มกบฎชีอะห์ภายใต้การหนุนหลังของอิหร่าน ที่เข้ายึดกรุงซานาและพื้นที่กว้างขวางตอนบนของประเทศเอาไว้
<i>ภาพถ่ายเมื่อ 1 ก.พ. 2018 แสดงให้เห็นทหารซาอุดีอาระเบียผู้หนึ่งยืนรักษาการณ์ ใกล้ๆ เครื่องบินที่ลำเลียงสิ่งของมาให้ ณ ฐานทัอากาศ เมืองมาริบ ประเทศเยเมน </i>
ซาอุดีฯ ถูกนานาชาติวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากการโจมตีทางอากาศที่ทำให้พลเรือนมากมายเสียชีวิต นอกจากนั้นยังมีการโจมตีตลาด โรงพยาบาล และเป้าหมายด้านพลเรือนอื่นๆ พวกองค์กรบรรเทาทุกข์ยังกล่าวหาริยาดเป็นแกนนำการปิดล้อมซึ่งทำให้ชาวเยเมนใกล้อดอยากล้มตาย

มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน องค์รัชทายาทที่จะสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา คือ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน เวลานี้ทรงเป็นทั้งรัฐมนตรีกลาโหมซาอุดีฯ และผู้วางแผนการใหญ่ในการทำสงครามเยเมน ขณะที่เจ้าชายมกุฎราชกุมารพระองค์นี้ทรงมีชื่อเสียงในต่างแดน จากการที่ทรงให้สัญญาดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ประเทศเป็นมิตรกับธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมยกระดับฐานะของสตรี ทว่าบทบาทของพระองค์ในเยเมนกลับกำลังสร้างความเสียหายให้แก่เกียรติคุณของพระองค์

กระนั้น เบ็กกา วัสเซอร์ นักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในอ่าวเปอร์เซียของบริษัทแรนด์ กรุ๊ปในวอชิงตัน ชี้ว่า ไม่ควรมองการยกเครื่องกองทัพครั้งนี้ว่าเป็นเพียงปฏิกิริยาจากสงครามเยเมนเท่านั้น โดยเธอระบุว่า ในภาพรวมแล้ว การปรับโครงสร้างคราวนี้ครอบคลุมทั้งการปรับปรุงยกระดับการฝึกและการเกณฑ์ทหาร การจัดสรรทรัพยากรต่างๆ อย่างถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น และการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำในกองทัพ ด้วยการส่งเสริมผู้ที่พร้อมรับฟังแนวคิดใหม่ๆ และลงมือทำการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ คริสเตียน โคตส์ อุลริชเซน นักวิจัยจากสถาบันเจมส์ เอ. เบเกอร์ ที่ 3 เพื่อนโยบายสาธารณะ ของมหาวิทยาลัยไรซ์ ในเทกซัส ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นการสานต่อความพยายามของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ดในการแต่งตั้งผู้นำใหม่ที่มีแนวทางสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของพระองค์เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการตัดสินใจของซาอุดีฯ รวมทั้งมีความพยายามที่จะ “สร้างความสมดุลอย่างระมัดระวัง” ในการแต่งตั้งบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในราชวงศ์อัล ซาอุด

นอกจากการโยกย้ายนายทหารสำคัญๆ แล้ว ครั้งนี้ยังมีการแต่งตั้งสตรีเข้ารับตำแหน่งระดับรัฐมนตรีด้วย ได้แก่ ตามาดีร์ บินต์ โยซิฟ อัล-รามมาห์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและการพัฒนาสังคม เรื่องนี้เห็นกันว่าเป็นการสะท้อนความพยายามในการผลักดันให้มีสตรีในสถานที่ทำงานต่างๆ ของซาอุดีมากขึ้น

การแต่งตั้งในระลอกนี้ที่ได้รับการจับตาอีกคนคือ เจ้าชายเตอร์กี บิน ตอลัล อัล ซาอุด ซึ่งได้ตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการแคว้นอะซีร์ ทั้งนี้ เจ้าชายองค์นี้เป็นพระอนุชาของเจ้าชายอัลวาลิด บิน ตอลัล นักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีที่ถูกควบคุมตัวนานหลายเดือนในโรงแรมริตซ์-คาร์ลตันในริยาด ซึ่งรัฐบาลอ้างว่า เป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามการทุจริต

วัสเซอร์มองว่า การปฏิรูปกองทัพ ก็เช่นเดียวกับการกวาดล้างคอร์รัปชัน สามารถมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกระชับอำนาจของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด แต่เธอเตือนด้วยว่าลำพังการสร้างการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างระบบราชการขนาดใหญ่ อย่างเช่นกองทัพ ย่อมเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ยิ่งการสร้างการเปลี่ยนแปลงในซาอุดีฯ ด้วยแล้ว ยิ่งยากลำบากอย่างเหลือเชื่อและเป็นภารกิจที่ต้องใช้ความมานะพยายามในระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น