เอเจนซีส์ - สํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ UNHCR แถลงล่าสุดถึงเหตุจลาจลด้านอาหารขึ้นในรวันดาว่า ตำรวจพื้นที่ยิงผู้ลี้ภัยเสียชีวิต 11 ราย หลังเกิดการประท้วงขึ้นจากการที่โครงการอาหารโลกของยูเอ็น WFPลดการปันส่วนอาหารสำหรับผู้อพยพลง 25% ภายในค่ายคิซีบา(Kiziba)ตั้งแต่เดือนมกราฯ
DW สื่อเยอรมันรายงานวันนี้(27 ก.พ)ว่า จากจำนวนผู้เสียชีวิต 11 รายในเหตุจลาจลด้านอาหารเมื่อวันพฤหัสบดี(22) ก่อนหน้า พบว่ามี 5 คนเป็นผู้ลี้ภัยชาวคองโก สํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ UNHCR แถลงเมื่อวานนี้(26)
และพบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุจลาจลอีกกว่า 20 คน ซึ่งรวมไปถึงตำรวจรวันดาและเจ้าหน้าที่ UNHCR
ซึ่งแดนีลา ไอโอนิตา( Daniela Ionita) เจ้าหน้าที่ด้านความสัมพันธ์ภายนอกของ UNHCR กล่าวว่า มีการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยคิซีบา(Kiziba) และในเมืองคิบูเย(Kibuye) ที่อยู่ใกล้เคียงในทางตะวันตก
ทั้งนี้มีผู้ลี้ภัยเสียชีวิต 8 รายในเมืองคารอนจี( Karongi) ซึ่งมีการประท้วงจากผู้เข้าร่วมจำนวนหลายพันคนบริเวณด้านหน้าสำนักงานโครงการอาหารโลกของยูเอ็น WFP ในเมืองแห่งนี้ และอีก 3 คนถูกสังหารภายในค่ายผู้ลี้ภัยคิซีบา
อย่างไรก็ตาม DW ชี้ว่า จากแถลงการณ์ที่ออกมาในวันศุกร์(23) ทาง ตำรวจรวันดายืนยันเสียงแข็งว่า การเสียชีวิตเกิดขึ้นแค่ 5 รายเท่านั้น และอ้างต่อว่า ทางพวกเขาต้องลงมือหลังจาก บรรดาผู้ประท้วงใช้ก้อนหิน ท่อนไม้ และเศษเหล็กเป็นอาวุธ โยนเข้าใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ ส่งผลทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรวันดาได้รับบาดเจ็บไป 7 นาย
ทั้งนี้พบว่าการปะทะและเสียชีวิตเกิดขึ้นหลังจากการประท้วงของบรรดาผู้ลี้ภัยต่อการลดจำนวนอาหารปันส่วนที่ค่ายผู้ลี้ภัยคิซีบาที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการอาหารโลกยูเอ็น WFO
โดยทางหน่วยงาน WFO จำเป็นต้องลดความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้อพยพที่ค่ายแห่งนี้ลง 10% ในเดือนพฤศจิกายน 2017 และอีก25% นับตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมา เนื่องมาจากทางหน่วยงานมีงบประมาณไม่เพียงพอ
โดยทางWFP ชี้แจงว่า จำเป็นต้องลดการปันส่วนเนื่องจากบรรดาชาติผู้บริจาคในยุโรปลดเงินให้ความช่วยเหลือโครงการอาหารโลกลง
DWรายงานว่า การนั่งประท้วงของบรรดาผู้ลี้ภัยเริ่มต้นตั้งแต่วันอังคาร(20) บริเวณด้านหน้าสำนักงานยูเอ็น WFP และความตรึงเครียดเริ่มปะทุขึ้นในวันพฤหัสบดี(22)
ซึ่งทางไอโอนิตาแถลงว่า “โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นนั้นสามารถที่จะเลี่ยงไม่ให้เกิดได้ และการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมต่อกลุ่มผู้ลี้ภัยถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะรับได้”
สื่อเยอรมันรายงานต่อว่า ทางองค์การสหประชาชาติได้ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รวันดาทำการสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งทาง UNHCR ตั้งความหวังว่า จะสามารถกลับมาให้การบรรเทาทุกข์ผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัย คิซีบา ของรวันดาได้อีกครั้งในวันนี้(27)
และสำหรับค่ายผู้ลี้ภัยคิอซีบาแห่งนี้ ถือเป็น 1 ใน 6ของค่ายผู้ลี้ภัยในรวันดา ที่รองรับผู้ที่หนีความเดือดร้อนจากภัยความไม่สงบทางการเมืองในบุรุนดี และความขัดแย้งทางเชื้อชาติในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งในปัจจุบันพบว่าทางค่ายมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ร่วม 17,000 คน