รอยเตอร์ – นักวิจัยด้านวิศวกรรมของญี่ปุ่นระบุว่า พวกเขาได้สร้างดวงไฟอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเท่าหิ่งห้อยที่เคลื่อนไหวได้ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และสามารถปรับใช้ได้หลายรูปแบบตั้งแต่การแสดงภาพเคลื่อนไหวไปจนถึงการแสดงแสงสี
อนุภาคลอยได้น้ำหนักเบานี้ที่มีชื่อว่า ลูซิโอลา (Luciola) เนื่องจากความคล้ายคลึงกับหิ่งห้อย มีน้ำหนัก 16.2 มิลลิกรัมและมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 มิลลิเมตร และฉายแสงสีแดงที่สามารถส่องได้แค่ตัวหนังสือเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ขนาดเล็กจิ๋วของมันซุกซ่อนพลังของลำโพงจิ๋ว 285 ตัวที่ปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงที่ทำให้เจ้าดวงไฟนี้ลอยได้ และเป็นความถี่ที่หูของมนุษย์ไม่สามารถได้ยิน ทำให้ลูซิโอลาสามารถทำงานได้อย่างเงียบสนิท
การพัฒนาลูซิโอลาจนถึงขั้นนี้ใช้เวลาสองปี มาโกโตะ ทาคามิยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบวงจร สมาชิกของโครงการKawahara Universal Information Network Project ที่พัฒนาอุปกรณ์นี้ กล่าว
“ท้ายที่สุด ผมหวังว่าอุปกรณ์เล็กจิ๋วนี้จะมีความสามารถแบบสมาร์ทโฟนและถูกสร้างเพื่อช่วยเหลือเราในชีวิตประจำวันได้อย่างชาญฉลาดกว่านี้” ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียวที่หวังว่า มันจะถูกใช้ในเชิงการค้าในอีก 5 ถึง 10 ปี
ทีมนักพัฒนาคาดหวังว่าลูซิโอลาจะสามารถนำไปใช้ในสิ่งที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) แนวคิดซึ่งสิ่งของทั่วไปอย่างเช่นรถยนต์ หรือเครื่องใช้ภายในบ้านอย่างเครื่องปรับอากาศถูกเชื่อมต่อกับเครือข่ายเพื่อส่งและรับข้อมูล
ลูซิโอลาที่มีเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวหรือเซนเซอร์อุณหภูมิสามารถบินไปยังวัตถุนั้นๆ เพื่อส่งข้อความหรือสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยแสงไฟที่สามารถตรวจจับการมีอยู่ของคนได้ หรือมีส่วนร่วมในการแสดงแสงสีล้ำสมัย
Kawahara Universal Information Network Project เป็นโครงการทุนรัฐบาลที่เป็นส่วนหนึ่งหน่วยงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งญี่ปุ่นและเสาะหาความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร