เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) ศาลเยาวชนฯ ตัดสินให้เจ้าของเชื้อสเปิร์มคดีอุ้มบุญทารกปี 2014 “มีสิทธิ์แต่ผู้เดียว” ในตัวเด็กทั้งหมด 13 คน หลังพิจารณาแล้วว่า “มิตซูโตกิ ชิเกตะ” วัย 28 ปี บุตรชายเศรษฐีพันล้านด้านโทรคมนาคม ยาซูมิตสุ ชิเกตะ (Yasumitsu Shigeta) ไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ พบได้เปิดบัญชีธนาคารไว้ที่สิงคโปร์ให้กับเด็กทั้ง 13 คนเพื่อปลอดภัยระยะยาว ประกาศจะนำเด็กทั้งหมดไปญี่ปุ่น พร้อมส่งเสียเข้าโรงเรียนนานาชาติใกล้ที่พักในกรุงโตเกียวที่อ้างว่าครอบครัวได้ซื้อที่ดินไว้
เดลีเมล์ สื่ออังกฤษ รายงานศาลเยาวชนเเละครอบครัวกลางของไทยได้ออกคำตัดสินคดีที่อื้อฉาวในปี 2014 เจ้าของฉายาโรงงานสเปิร์มผลิตเด็ก มิตซูโตกิ ชิเกตะ (Mitsutoki Shigeta) วัย 28 ปีในปัจจุบัน บุตรชายมหาเศรษฐีแดนอาทิตย์อุทัยด้านโทรคมนาม พบว่าศาลไทยตัดสินให้ชิเกตะชนะคดีได้สิทธิ์โดยชอบทางกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวในตัวเด็ก 13 คน
อย่างไรก็ตามในคดีอื้อฉาวเมื่อปี 2014 ตำรวจไทยเข้าทะลายคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในย่านกรุงเทพฯที่ใช้ในธุรกิจอุ้มบุญ และพบว่ามีเด็กทารกถึง 16 คนมีพ่อคนเดียวกันคือมิตซูโตกิ ชิเกตะ ซึ่งมีวัยแค่ 24 ปีในเวลานั้น แต่ทว่าอ้างตามการรายงานของสื่อไทย พบว่า ในวันอังคาร(21)ศาลได้อ่านคำสั่งในคดีหมายเลขที่ พ.2031–2017/2559 และ พ.217-218/2559 หมายเลขแดงที่ พ.296–304/2561 คดีทั้ง 9 สำนวน ระบุถึงเด็กแค่ 13 คนเท่านั้นที่ตกเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของชิเกตะ
สื่ออังกฤษรายงานว่า ศาลไทยให้น้ำหนักไปที่แผนการเลี้ยงดูเด็กทั้งหมดที่ทางทนายคนไทยตัวแทนของชิเกตะได้ยื่น โดยเฉพาะในแง่มีฐานะความมั่นคงทางการเงิน และการที่ชิเกตะไม่มีการเชื่อมโยงไปถึงอาชญากรรมค้ามนุษย์ รวมไปถึงประเด็นชิเกตะเป็นบิดาตามสายเลือด
ซึ่งระบุรวมไปถึง การที่ชิเกตะได้เปิดบัญชีธนาคารไว้ที่สิงคโปร์เตรียมให้กับเด็กทั้ง 13 คนในระยะยาว นอกจากนี้ยังอ้างไปถึงความสำเร็จของทารกอุ้มบุญรายอื่นๆของหนุ่มลูกเศรษฐีแดนอาทิตย์อุทัยรายนี้ ที่มีทั้งนำกลับไปเลี้ยงดูในญี่ปุ่น และในกัมพูชา โดยในส่วนที่ได้รับอุปการะในญี่ปุ่น พบว่าเด็กอุ้มบุญเหล่านั้นได้รับสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งจุดนี้ เดลิเมล สื่ออังกฤษตั้งข้อสังเกตว่า ยังไม่ชัดถึงสถานการณ์ของเด็กอุ้มบุญของชิเกตะที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในกัมพูชาแต่อย่างใด
CNN รายงานเพิ่มเติมว่า ในคำพิพากษา พบว่าทนายความของชิเกตะยืนยันกับศาลว่า เด็กทั้ง 13 คนที่เกิดจากแม่คนไทย ตัวลูกความของเขามีแผนที่จะนำไปรับเลี้ยงที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นอน
ในรายงานชี้ว่า ทางฝ่ายชิเกตะได้อ้างต่อศาลไทยว่า ตัวเขามีฐานะทางการเงินมั่นคง เป็นบุตรชายของผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และมีหุ้นในบริษัทหลายแห่ง ในรายงานยังระบุว่า เขารายได้เป็นเงินปันผลประจำปีราว 100 ล้านบาท (3 ล้านดอลลาร์) เฉพาะแค่ในบริษัทเดียวเท่านั้น
และในจุดนี้ สื่อไทยรายงานว่า ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องมีอาชีพการงานมั่นคง มีรายได้มากเพียงพอที่จะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ทุกคน อธิบดีกรมกิจการเด็กในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงาน ที่เลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสิบสามคนมีหนังสือไม่คัดค้านการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาล
สำหรับรายละเอียดถึงบิดาของชิเกตะ ในรายงานของไทม์ส์ ฉบับตีพิมพ์ในอังกฤษระบุว่า พ่อของชิเกตะคือ ยาซูมิตสุ ชิเกตะ (Yasumitsu Shigeta) ซีอีโอใหญ่ของบริษัทโทรคมนาคมญี่ปุ่น ฮิคาริ ทะซึชิน (Hikari Tsushin) และตามการประเมินของนิตยสารฟ็อบส์แบบเรียลไทม์ของวันนี้ (21) พบว่า ยาซูมิตสุ ชิเกตะ มีมูลค่าทรัพย์สินรวมที่ 4.3 พันล้านดอลลาร์
อ้างจากนิตยสารฟอร์บส์ชี้ว่า บริษัท ฮิคาริ ทะซึชิน ที่ถูกก่อตั้งในปี 1988 นั้นเป็นบริษัทที่จำหน่ายโทรศัพท์มือถือผ่านตามสาขาร้านเครือข่าย HIT ของตัวเอง นอกจากนี้บริษัทยังจำหน่ายประกันภัยและของใช้สำนักงาน
ฟอร์บส์รายงานว่า พบว่ามูลค่าทรัพย์สินของบิดาชิเกตะเพิ่มสูงสุดถึง 42 พันล้านดอลลาร์ก่อนที่ฟองสบู่ธุรกิจดอตคอมจะแตกในปี 2001 และทำให้ทรัพย์สินของตระกูลชิเกตะหายไปส่วนใหญ่
และในปี 2005 ยาซูมิตสุ ชิเกตะ ได้เข้าร่วมในลิสต์รายชื่อการจัดลำดับความร่ำรวยของของนิตยสารฟอร์บส์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หุ้นของบริษัท ฮิคาริ ทะซึชิน ดีดตัวกลับขึ้นมา
สำหรับส่วนตัวของ มิตซูโอกิ ชิเกตะ เจ้าของเชื้ออุ้มบุญเด็ก 13 คน พบว่าเขาเป็นเจ้าของบริษัทหลายแห่ง รวมไปถึงบริษัทพัฒนาแอปสำหรับมือถือที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถติดตามลูกของตัวเองว่าในเวลานี้อยู่ที่ไหน
เดลีเมล์รายงานต่อว่า ทั้งตัวชิเกตะและครอบครัวได้ซื้อที่ดินใกล้กับสวนสาธารณะย่านใจกลางกรุงโตเกียวเพื่อเป็นบ้านให้กับเด็กทั้งหมดจากประเทศไทยได้อาศัย และมีแผนที่จะส่งเด็กเหล่านี้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติใกล้บ้านเมื่อถึงวัย
สำหรับสถานการณ์ของลูกๆ ของชิเกตะ สื่อไทยรายงานว่า ตามข้อมูลจากศาลพบว่า หลังตำรวจเข้าทะลายแหล่งอุ้มบุญแล้ว เด็กทั้งหมดถูกกระทรวงพัฒนาสังคมและมั่นคงมนุษย์นำไปเลี้ยงดูชั่วคราว โดยเด็กทารก 13 รายของชิเกตะถูกส่งเข้าสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ดและสถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ และอ้างอิงจากรายงาน ชี้ว่าทางตัวชิเกตะส่งตัวแทนไปเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ