xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’เอาจริงแค่ไหนที่ประทับตรา‘จีนกับรัสเซีย’ เป็นภัยคุกคาม

เผยแพร่:   โดย: เคน โมค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Labeling China and Russia as threats puts the US at risk
By Ken Moak
12/02/2018

เอกสาร “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” ฉบับล่าสุดของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ มองว่าจีนกับรัสเซียเป็นภัยคุกคาม และสหรัฐฯกำลังเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารขึ้นอย่างมโหฬาร ทว่าการกระทำเช่นนี้กลับจะส่งผลด้านกลับที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐเอง

การที่สหรัฐฯปฏิบัติต่อจีนและรัสเซียโดยถือว่าทั้งสองประเทศเป็น “คู่แข่งทางยุทธศาสตร์” (strategic competitors) ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไรเลย แต่การประทับตราพวกเขาว่าเป็นมหาอำนาจ “ลัทธิแก้” (“revisionist” powers) เพื่อสร้างความถูกต้องชอบธรรมให้แก่การขอใช้จ่ายเงินทอง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในการปรับปรุงยกระดับคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกา ตลอดจนให้แก่การขอเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมของสหรัฐฯจนอยู่สูงกว่าระดับ 700,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้นั้น คือเรื่องใหม่อย่างแน่นอน และจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กระทำเช่นนี้แหละ คือการที่เขาทำให้เศรษฐกิจอเมริกาและความมั่นคงของอเมริกันต้องตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างไม่มีความจำเป็นเลย

เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จากการที่สหรัฐฯมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในยุโรป จึงได้นำไปสู่การประกาศ “ลัทธิทรูแมน” (Truman Doctrine) ในปี 1947 ซึ่งขบคิดจัดทำกันขึ้นมาก็ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะขัดขวางการแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของโซเวียต

ยิ่งไปกว่านั้น พอถึงปี 1949 สหรัฐฯและเหล่าชาติพันธมิตรยุโรปตะวันตกของตนยังได้ก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (North Atlantic Treaty Organization หรือ NATO) อันเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารซึ่งกำหนดให้เหล่าชาติสมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกันถ้าหากพวกเขาถูกโจมตีโดยมหาอำนาจภายนอก –ซึ่งก็หมายถึงสหภาพโซเวียตนั่นเอง

เพื่อเป็นการตอบโต้ทัดทานนาโต้ สหภาพโซเวียตก็มีการก่อตั้งกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอร์ (Warsaw Pact) ขึ้นในปี 1955 เยอรมนีขณะนั้นยังถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ประเทศ และเยอรมันตะวันตกได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ในปี 1955 ส่วนเยอรมันตะวันออกเป็นหนึ่งในรัฐบริวารของโซเวียต ระหว่างกลุ่มพันธมิตรที่เป็นปรปักษ์กัน 2 กลุ่มนี้ไม่ได้มีความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธเกิดขึ้นมาเลย ดังนั้นช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 1947 จนถึงปี 1991 จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า ยุค “สงครามเย็น” (Cold War)

สหภาพโซเวียตได้แตกสลายไปในปี 1991 ก่อให้เกิดประเทศขนาดเล็กลงมาขึ้นแทนที่รวม 15 ประเทศ ในจำนวนนี้ประเทศใหญ่ที่สุดก็คือรัสเซีย บอริส เยลตซิน (Boris Yeltsin) ผู้ว่าการระดับภูมิภาคจากไซบีเรีย สามารถยังความพ่ายแพ้ให้แก่ มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) และกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซียภายหลังยุคโซเวียต เยลตซินเป็นผู้ที่ต้อนรับสวมกอดประชาธิปไตยเสรีนิยม ผลพวงต่อเนื่องที่ตามมาก็คือ บิลล์ คลินตัน (Bill Clinton) ประธานาธิบดีสหรัฐฯในตอนนั้น และ โทนี แบลร์ (Tony Blair) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในเวลานั้น ได้เชื้อเชิญรัสเซียให้เข้าร่วมในกลุ่ม จี7 (G7) ทำให้กลุ่มนี้ได้รับการเรียกขานใหม่เป็น จี8

เศรษฐกิจของรัสเซียพังครืนภายใต้เยลตซิน

แต่แล้วเศรษฐกิจรัสเซียกลับอยู่ในอาการล้มคว่ำคะมำหงายในยุครัฐบาลเยลตซินและติดตามมาด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย การมีพรรคการเมืองมากกว่า 100 พรรคทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะบริหารปกครอง พวกคนงานไม่ได้รับค่าจ้าง เกิดความยากจนอย่างสุดๆ และเรื่องบริการดูแลรักษาสุขภาพก็ย่ำแย่ เยลตซินได้ก้าวลงจากตำแหน่ง และวลาดิมีร์ ปูติน ได้รับแต่งตั้งให้เข้ารักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1999

ต้องขอบคุณราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจรัสเซียจึงกลับกระเตื้องฟื้นตัว นับจากปี 2000 ถึงปี 2012 เงินรายได้ส่วนที่สามารถนำไปใช้จ่ายของประชาชนได้พุ่งสูงขึ้นถึง 160% ความนิยมชมชื่นในตัวปูตินทวีขึ้นเรื่อยๆ และเขาก็ชนะการเลือกตั้งอย่างสะดวกสบายในปี 2004 และปี 2012 โดยสามารถกวาดคะแนนโหวตมาได้มากกว่า 70% และ 60% ตามลำดับ

เศรษฐกิจที่กำลังบูมขึ้นมา เมื่อเข้าคู่กับความเข้มแข็งทางการทหารด้วยแล้ว จึงเปิดทางให้รัสเซียสามารถดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระ ซึ่งพวกประเทศสมาชิกกลุ่ม จี7 บอกว่าเป็นภัยคุกคาม ตัวอย่างเช่น ปูตินประกาศรับรองผลการลงประชามติของประชาชนแหลมไครเมีย ซึ่งมีจำนวนเกินกว่าครึ่งอย่างมากมายท่วมท้นออกเสียงที่จะกลับไปอยู่กับรัสเซีย ทว่าพวกผู้นำ จี7 พิจารณาเห็นว่านั่นคือ “การผนวกดินแดน” (annexation) แหลมไครเมีย และขับไล่ไสส่งรัสเซียออกไปจากกลุ่ม จี8 ในปี 2014

นับแต่นั้นมารัสเซียก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความไม่สงบในยูเครน และบางทีอาจจะกำลังวางแผนเพื่อรุกรานพวกชาติเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่าตัวเองในยุโรปตะวันออกอีกด้วย ส่งผลทำให้แดนหมีขาวถูกสหรัฐฯใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอย่างรุนแรงขึ้นอีก ทั้งนี้ ถึงแม้พวกนักวิชาการอย่างเช่น จอห์น เจ. เมียร์ไชเมอร์ (John J. Mearsheimer) แห่งมหาวิทยาชัยชิคาโก โต้แย้งว่าไม่ควรประณามรัสเซียในเรื่องปัญหายูเครน พร้อมกับเสนอแนะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงต่อเนื่องของการที่นาโต้ทรยศไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาซึ่งให้ไว้แก่รัสเซียที่ว่าจะไม่ขยายตัวรับชาติสมาชิกใหม่ๆ จาก “ลานหลังบ้าน” ของรัสเซีย ทว่าความคิดเห็นเช่นนี้ไม่เป็นที่รับฟังไม่เป็นที่ต้อนรับ

จีนก็กลายเป็น “ศัตรู” ในอุดมคติไปเช่นกัน เนื่องจากจีนนั้นเป็นพวกเอเชีย, เป็นคอมมิวนิสต์, แล้วก็มีศักยภาพที่จะเข้าท้าทายการวางตัวเป็นเจ้าไปทั่วโลกของสหรัฐฯอีกด้วย เศรษฐกิจของแดนมังกรนั้นเติบโตขยายตัวถึงกว่า 30 เท่าตัวทีเดียวในช่วงระหว่างปี 1980 ถึงปี 2017 จากระดับ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลายมาเป็น 12.8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งในทางกลับกันก็มีส่วนช่วยในการใช้จ่ายเพื่อสร้างการทหารที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมขึ้นมา

การปฏิบัติต่อจีนและรัสเซียโดยมองว่าทั้งสองชาติเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯนั้น กำลังเป็นคำพยากรณ์ที่กลายเป็นความจริงมากขึ้นทุกที เนื่องจากสหรัฐฯเองคาดหวังฝักใฝ่ให้เป็นเช่นนั้น ขณะที่ในมุมมองของสองประเทศนี้แล้ว เพื่อตอบโต้กับสิ่งที่พวกเขาพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามจากสหรัฐฯ จีนกับรัสเซียก็ได้เร่งรัดการพัฒนาทางด้านอาวุธเพิ่มมากขึ้น

เมื่อปีที่แล้วจีนเปิดเผยว่าตนเองกำลังปรับปรุงยกระดับอาวุธประเภทต่างๆ เป็นต้นว่าขีปนาวุธข้ามทวีปที่มีศักยภาพบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์หลายๆ หัวรบ, การต่อเรือบรรทุกเครื่องบิน, ขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียงตั้งแต่ 5 เท่าตัวขึ้นไป (hyper-sonic), เครื่องบินขับไล่ไอพ่นรุ่นที่ 5 (fifth-generation jet fighters), เรือดำน้ำ, เรือรบผิวน้ำ, และปืนแม่เหล็กไฟฟ้าแบบรางคู่ขนาน (electromagnetic rail guns)

รัสเซียก็แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นพอๆ กันหากไม่ใช่ยิ่งกว่าด้วยซ้ำ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มอาวุธใหม่ๆ เพื่อตอบโต้กับสหรัฐฯและ/หรือพันธมิตรของสหรัฐฯ ทำนองเดียวกันกับจีน เวลานี้รัสเซียกำลังผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ทั้งเครื่องบินขับไล่, ขีปนาวุธข้ามทวีป, และอื่นๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้อยคำโวหารที่ป่าวร้องกันในสหรัฐฯในเรื่องภัยคุกคามจากจีน/รัสเซีย ยังวางอยู่บนสมมุติฐานที่ควรต้องตั้งข้อสงสัย

ไมเคิล พิลส์เบอรี (Michael Pillsbury) อดีตนักวิเคราะห์ด้านกลาโหมซึ่งเวลานี้ผันตัวไปเป็นที่ปรึกษาของทรัมป์ ได้สร้างทฤษฎีในหนังสือของเขาที่มีชื่อเรื่องว่า “The One Hundred Year Marathon” โดยบอกว่า จีนกำลังใช้ “การหลอกลวง” เพื่อยื้อแย่งฐานะความเป็นผู้ครอบงำเหนือใครๆ ไปจากสหรัฐฯ สมมุติฐานของเขานั้นอิงอยู่กับวิธีการเล่น “โกะ” หรือกีฬาหมากล้อมของจีน ซึ่งใช้ “ขั้นตอนต่างๆ ในการหลอกลวง” เพื่อตีวงล้อมข้าศึก แต่ทำไมพวกผู้เล่นโกะจึงต้องพึ่งพาอาศัยวิธีหลอกลวงนั้น กลับไม่เคยมีการอธิบายเลย

อันที่จริงแล้วข้อคาดเดาที่ระบุว่า การสร้างกำลังทหารที่แข็งแกร่งขึ้นมาก็เพื่อยื้อแย่งฐานะความเป็นผู้ครอบงำเหนือใครๆ ไปจากสหรัฐฯนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศใดก็ได้ทั้งสิ้น ไม่เฉพาะแต่จีนหรือรัสเซียเท่านั้น แท้ที่จริงการที่พวกนักจักรวรรดินิยมยุโรปและนักจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นปรับปรุงกองทัพของพวกเขาให้ทันสมัยขึ้นมานั้นโดยเบื้องแรกเลยก็ด้วยมีวัตถุประสงค์ในการเข้าพิชิตประเทศอื่นๆ กองทัพอเมริกันก็อาจถูกนำไปใช้เพื่อบังคับให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต้องยอมรับทำตามค่านิยมของสหรัฐฯก็ได้เหมือนกัน

สื่อทางการรัสเซียอย่าง รัสเซียน เทเลวิชั่น หรือ อาร์ที (Russian Television หรือ RT) ระบุว่าแท้ที่จริงแล้วพวกสำนักคลังสมองทั้งหลายของสหรัฐฯก็คือพวกนักล็อบบี้ซึ่งกำลังโฆษณาชวนเชื่อเพื่อผลประโยชน์ต่างๆของ นาโต้, รัฐบาลสหรัฐฯ, และกลุ่มอุตสาหกรรมทหาร อาร์ทีเปิดเผยในเดือนนี้ว่า สำนักคลังสมองชื่อดังอย่าง “สภาแอตแลนติก” (Atlantic Council) ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทั้งนาโต้, กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ, และพวกบริษัทผู้รับเหมาด้านกลาโหมรายใหญ่ๆ เป็นต้นว่า เรย์ธีออน (Raytheon), โบอิ้ง (Boeing), และ แมคดอนเนลล์ดักลาส (McDonnell Douglas)

การใช้จ่ายด้านการทหารของสหรัฐฯอาจกลับส่งผลกระทบเชิงลบ

การกระตุ้นส่งเสริมและการพิทักษ์ปกป้องอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมการทหาร (ซึ่งบวกกันแล้วเท่ากับกว่า 12% ของอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวมของอเมริกา) อาจจะช่วยเพิ่มพูนลู่ทางโอกาสทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ยุทธศาสตร์เช่นนี้ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติได้เช่นกัน

ปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินภาคสาธารณะต่อจีดีพีของสหรัฐฯอยู่ในระดับเกิน 100% แล้ว และการเพิ่มหนี้สินเข้าไปอีก 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับอัปเกรดคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ บวกกับการที่ทรัมป์ได้ตัดลดอัตราภาษีอย่างมโหฬาร จึงรังแต่จะผลักดันให้อัตราส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก นอกจากนั้นแล้ว ความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในปัจจุบันยังเป็นสิ่งที่อำนวยประโยชน์มากที่สุดให้แก่คนมั่งคั่งร่ำรวย ขณะที่ชนชั้นกลางและชนชั้นผู้ใช้แรงงานยังคงต้องดิ้นรนอย่างลำบาก ทั้งนี้ตามข้อมูลตัวเลขทั้งของไอเอ็มเอฟ และในหนังสือ เวิลด์ แฟกต์บุ๊ก (World Factbook) ซึ่งจัดทำโดยซีไอเอ ปรากฏว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยแล้วเป็นหนี้เป็นสินอยู่ 1.13 ดอลลาร์ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ทำมาหาได้ ขณะเดียวกันค่าจ้างแรงงานของพวกเขาก็มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงน้อยนิดเดียว

เนื่องจากการบริโภคของภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพีสหรัฐฯ ดังนั้นจึงยากที่จะมองเห็นได้ว่าการเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมอย่างเป็นจริงเป็นจัง จะสามารถเอื้อประโยชน์แก่เศรษฐกิจอเมริกันได้อย่างไร

ไม่เพียงแค่ต้องเผชิญปัญหาการบริโภคลดต่ำลงเท่านั้น สหรัฐฯยังต้องรับมือกับปัญหาหนักหน่วงอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายที่เก่าแก่ทรุดโทรม, ความยากจนที่กำลังเพิ่มพูนขยายตัว, และการศึกษาตลอดจนการสาธารณสุขที่ได้รับเงินทุนอุดหนุนไม่เพียงพอ ขณะนี้ทรัมป์บอกว่าประเทศชาติต้องการเงินทอง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อใช้ซ่อมแซมพวกถนนหนทาง, สะพาน, และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ส่วนธนาคารโลกก็ประมาณการว่าประชากรสหรัฐฯมากกว่า 15% หรือเท่ากับเกือบๆ 50 ล้านคนทีเดียวกำลังมีชีวิตอยู่ในระดับต่ำกว่าเส้นยากจน ความยากจนกำลังเพิ่มพูนสูงขึ้นก็เนื่องจากการขยายตัวของการจ้างงานในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วอยู่ในภาคบริการซึ่งจ่ายค่าจ้างต่ำ

ข้อพิพาททางการค้าเป็นสิ่งที่คุกคามเศรษฐกิจโลก

ลัทธิกีดกันการค้า (Protectionism) เป็นสิ่งที่สร้างอันตรายต่อทุกๆ ฝ่าย สมาคมอุตสาหกรรมพลังแสงอาทิตย์อเมริกัน (American Solar Industries Association) แถลงว่า การที่คณะบริหารทรัมป์เพิ่งประกาศขึ้นภาษีศุลกากรในอัตรา 30% เอากับพวกแผงพลังแสงอาทิตย์ซึ่งผลิตในจีน อาจจะทำให้ตำแหน่งงานในสหรัฐฯจำนวนมากถึง 40,000 ตำแหน่งทีเดียวต้องตกอยู่ในความเสี่ยง ยิ่งกว่านั้น จีนยังได้ทำการตอบโต้ด้วยการประกาศใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดเอากับพวกธัญญาหารสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ที่ซื้อหาจากสหรัฐฯ ข้อพิพาททางการค้าในลักษณะตอบโต้กันแบบต่อตาฟันต่อฟันเช่นนี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงทั้งในสหรัฐฯ, จีน, และทั่วโลก

ประเทศต่างๆ แทบทั้งหมดในโลก รวมทั้งพวกที่เป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่นของสหรัฐฯด้วย ไม่ได้มีทัศนะว่าจีนกับรัสเซียเป็นภัยคุกคามแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียและรัฐมนตรีต่างประเทศของเขาบอกว่าจีนกับรัสเซียไม่เคยเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติของพวกเขาเลย ฟิลิปปินส์กับเวียดนามก็เลือกที่จะใช้หนทางเจรจากับจีนเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางดินแดนระหว่างกัน ตลอดจนกำลังเห็นพ้องกันในเรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ที่พิพาทกันอยู่ ญี่ปุ่นกับอินเดียกำลังจัดส่งรัฐมนตรีต่างประเทศของพวกเขาไปประเทศจีนในปีนี้เพื่อหาทางปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน

การรณรงค์ของฝูงชนต่อต้านจีนของสหรัฐฯ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะประทับตราจีนว่าเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมซึ่งพยายามเข้าครอบงำละตินอเมริกาและแอฟริกา กำลังกลายเป็นความพยายามที่ไม่ได้ผล เนื่องจากไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่าจีนกำลังใช้ลัทธิอาณานิคมใหม่ (Chinese neocolonialism) ตรงกันข้ามพวกประเทศละตินอเมริกาและแอฟริกากลับยกย่องให้เครดิตแก่การลงทุนและการค้าของฝ่ายจีน ว่าเป็นเครื่องมืออันสำคัญสำหรับการสร้างสวัสดิภาพในทางเศรษฐกิจของพวกเขา

ประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนา (Maithripala Sirisena) แห่งศรีลังกา เคยเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์เสียงดังในเรื่องการเข้าไปลงทุนของจีน ระหว่างช่วงการครองอำนาจของประธานาธิบดีมาฮินดา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) แต่ทันทีที่เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ไมตรีปาละ สิริเสนาได้หันไปหาบริษัทจีนแห่งหนึ่ง เพื่อให้มาช่วยพัฒนาและบริหารท่าเรือฮัมบันโตตา (Hambantota port)

ยุโรปก็มีทัศนะในทางบวกต่อแผนการริเริ่มของจีน

ทั้งสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, และประเทศยุโรปอื่นๆ ต่างกำลังมองดูจีนด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นทุกที ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ของฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรีเทเลซา เมย์ ของอังกฤษ, และกษัตริย์วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ (King Willem-Alexander of the Netherlands) ต่างแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมในแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน

โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เฉกเช่นเดียวกับบรรดาประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อนหน้าเขา อาจจะค้นพบว่าการที่จะสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของคนจำนวนน้อย กับผลประโยชน์ของประเทศชาตินั้น เป็นเรื่องที่พูดง่ายกว่าทำ รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ของสหรัฐฯ ได้เชื้อเชิญ หยาง เจียฉือ มนตรีแห่งรัฐของจีน (Chinese State Councillor) ไปเยือนอเมริกาโดยเป็นที่เข้าใจกันว่า เพื่อปลอบโยนลดทอนความหวั่นเกรงของฝ่ายจีนในเรื่องเกี่ยวกับเอกสาร “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ”( National Security Strategy) ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งเรียกร้องให้เพิ่มงบประมาณรายจ่ายทางทหารของสหรัฐฯขึ้นไปอย่างมโหฬาร

สหรัฐฯนั้นตระหนักเป็นอย่างดีถึงผลต่อเนื่องอันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นหากเกิดสงครามทางทหารหรือสงครามทางการค้ากับจีน ตลอดจนการสู้รบขัดแย้งทางการทหารกับรัสเซีย ดังนั้นเอง จึงเป็นแรงขับดันที่เร่งรัดให้ทรัมป์และทิลเลอร์สันออกมาประกาศว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนคือความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญที่สุดในโลก และอเมริกาจะยึดมั่นปฏิบัติตามนโยบาย “จีนเดียว” พูดโดยสรุปก็คือ ทั้งสองฝ่ายน่าที่จะธำรงรักษาท่าทีจุดยืนที่ทั้งเป็นหุ้นส่วนกันและเป็นคู่แข่งขันกัน (partner-competitor posture) อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเอาไว้ต่อไป

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization เพิ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer


กำลังโหลดความคิดเห็น