xs
xsm
sm
md
lg

In Clips : เพลิงไหม้อาราม “วัดโจคัง” มรดกโลกชื่อดังทิเบตกลางกรุงลาซา บีบีซีชี้ “ปักกิ่ง” สั่ง “เซนเซอร์” ภาพข่าวไฟไหม้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้(17 ก.พ) เกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่คาดฝันที่หนึ่งในวัดที่ได้ชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ในทิเบต วัดโจคัง(Jokhang Monastery) ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโกอายุกว่าพันปี ในเบื้องต้นไม่มีรายงานความสูญเสีย และขอบเขตความเสียหายยังไม่แน่ชัด บีบีซีรายงาน ปักกิ่งพยายามเซนเซอร์ ภาพข่าวไฟไหม้ทางโซเชียลมีเดีย

รอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้(17 ก.พ)ว่า หนังสือพิมพ์ทางการ ทิเบตเดลีรายงานว่า บางส่วนของตัวอารามของวัดโจคัง(Jokhang Monastery)ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพันปีเกิดไฟไหม้ขึ้นในช่วงพลบค่ำวันเสาร์(17 ก.พ)

ทิเบตเดลีรายงานผ่านแอกเคาน์ของตนเองบนเว็บไซต์ WeChat ว่า “ไฟถูกดับลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้น และทุกอย่างเป็นไปตามปกติในที่เกิดเหตุ”

อย่างไรก็ตาม สื่อเดอะมิเรอร์ ของอังกฤษชี้ว่า มีรายงานจากทางโซเชียลมีเดียอ้างว่า ส่วนที่เกิดเพลิงไหม้ ไม่ใช่ส่วนอารามหลักของวัดโจคัง ซึ่งจากภาพวิดีโอคลิปแสดงให้เห็นว่าขนาดไฟไหม้นั้นมีขนาดใหญ่ และเปลวไฟสูงหลายเมตรพุ่งสู่เหนือท้องฟ้ากรุงลาซา แต่น้ำที่มาจากหน่วยดับเพลิงทิเบตนั้นดูเหมือนว่าจะมีกำลังน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เดอะมิเรอร์ยังชี้ว่า มีรายงานอีกว่า การเกิดไฟไหม้เริ่มต้นจากพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับวัดโจคัง ในขณะที่สื่อจีน CGTN ชี้ว่า เหตุไฟไหม้จากวัดโจคังนั้นได้รับการควบคุมให้สงบแล้ว

ด้านหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ทิเบต วู ยิงจี (Wu Yingjie) ได้รุดไปยังที่เกิดเหตุเพื่อควบคุมปฎิบัติการดับเพลิง หนังสือพิมพ์ทิเบตรายงานโดยไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม

ในขณะที่สื่ออื่นๆได้เผยแพร่ภาพลูกไฟที่พุ่งสูงไปยังท้องฟ้าเบื้องบน และมีกระแสน้ำจากดับเพลิงทิเบตไปยังเปลวไฟนั้นเหล่านั้น

บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานว่า มีการแพร่ภาพเหตุไฟไหม้ที่อารามวัดโจคังทางโลกโซเชียลมีเดีย แสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงของเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น แต่กลับพบว่าเจ้าหน้าที่จีนพยายามปิดกั้นไม่ให้มีการเสนอภาพและวิดีโอคลิปดังกล่าว

เหตุเพลิงไหม้อารามชื่อดังกลางกรุงลาซา เกิดขึ้นหลังจากที่ทิเบตฉลองเทศกาลวันปีใหม่ทิเบตที่เรียกว่า โลซาร์( Losar) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันศุกร์(16) ถือเป็นวันแรกตามระบบปฎิทินธิเบต

รอยเตอร์รายงานว่า ปักกิ่งใช้กำปั้นเหล็กในการปกครองทิเบตนับตั้งแต่ทหารกองทัพประชาชนจีนได้เข้ายึดมาตั้งแต่ปี 1950 ซึ่งทางจีนได้นิยามว่า “เป็นการปลดปล่อยอย่างสันติ”

และนอกจากนี้ทางรัฐบาลปักกิ่งยังมักปฎิเสธข้อกล่าวหาจากบรรดากลุ่มสิทธิต่างๆและจากบรรดาชาวทิเบตที่พลัดถิ่นถึงการกดขี่ประชาชนชาวทิเบตที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยอ้างว่ากฎเหล่านี้นำมาด้วยซึ่งความมั่งคั่งและรุ่งเรืองในดินแดนที่อดีตเคยยากจนและห่างไกลความเจริญ

นอกจากนี้ปักกิ่งมักอ้างไปถึงเงินจำนวนมากที่ทางรัฐบาลได้ทุ่มลงทุนในการอนุรักษ์ปกป้องวัฒนธรรมธิเบต รวมไปถึงวัดและอารมจำนวนมากในดินแดนแห่งนี้










กำลังโหลดความคิดเห็น