xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ผวา‘อินเดียเข้ายึดพื้นที่ในทิเบต ขณะ‘ปักกิ่ง’ยกทัพบุก‘ไต้หวัน’?

เผยแพร่:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Are China’s border incursions only an exercise in paranoia?
By Asia Times staff
14/02/2018

ด้วยความระแวงระไวไม่ไว้วางใจว่าอาจจะต้องสู้รบทำศึกในแนวรบ 2 ด้านพร้อมๆ กัน ถ้าอินเดียฉกฉวยประโยชน์จากการที่ปักกิ่งยกทัพบุกไต้หวัน มีรายงานว่าเวลานี้กำลังกำลังวางแผนสร้างเสริมความแข็งแกร่งใน “ด็อคลัม” บริเวณใกล้ๆ พรมแดนอินเดียของที่ราบสูงทิเบต

พวกนักยุทธศาสตร์ทางทหารกำลังพยายามขยายต่อเติมส่วนที่เป็นจุดอ่อนเปราะทางด้านความมั่นคงของจีน ซึ่งก็คือในพื้นที่บริเวณประชิดพรมแดนอินเดียของที่ราบสูงทิเบต ที่มีอากาศหนาวเย็นระดับเยือกแข็งอยู่เป็นเวลาหลายๆ เดือนในแต่ละปี ขณะเดียวกับที่ปักกิ่งก็ดูเหมือนวางแผนการสำหรับความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องทำสงครามพร้อมกันสองแนวรบ ระหว่างเวลาที่จีนทำการรุกรานใดๆ ต่อเกาะไต้หวัน ซึ่งปักกิ่งถือเป็นมณฑลกบฏ

อินเดียกับญี่ปุ่น ที่เป็นปรปักษ์ในระดับภูมิภาคของจีน และมีความหวั่นระแวงไม่ไว้วางใจการสั่งสมกำลังทางทหารของแดนมังกรอยู่นั้น รับทราบมาอย่างยาวนานแล้วว่าถ้าหากปักกิ่งยกทัพบุกไต้หวัน กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะอยู่ในภาวะอ่อนแอที่สุดในแนวรบด้านอื่นๆ และดังนั้นนิวเดลีอาจสามารถฉกฉวยความได้เปรียบจากการที่ปักกิ่งกำลังต้องรวบรวมกองทหารทุ่มเทไปที่ไต้หวัน เพื่อเข้ายึดดินแดนของจีนในที่ราบสูงและหุบเขาด็อคลัม (Doklam)

ดินแดนดังกล่าวซึ่งปักกิ่งเรียกชื่อว่า ต้งหล่าง (Donglang) เป็นพื้นที่ลักษณะแคบๆ ยาวๆ ซึ่งทั้งจีนและภูฏานต่างอ้างกรรมสิทธิ์ อินเดียนั้นไม่ได้มีการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ใดๆ ของตัวเองแต่ให้การสนับสนุนภูฏาน เนื่องจากถ้าด็อคลัมเป็นของภูฏาน มันก็จะกลายเป็นพื้นที่กันชนให้แก่รัฐเบงกอลตะวันตก (West Bengal) ของอินเดียที่อยู่ใกล้ๆ

เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว กองทหารอินเดียประมาณ 270 คนได้เข้าแทรกแซงตอนที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนเริ่มต้นทำการขยายถนนเส้นหนึ่งซึ่งตัดข้ามที่ราบสูงด็อคลัม ไปยัง สันเขาจัมเภรี (Jampheri Ridge) ที่จีนมองว่าเป็นดินแดนของตนทว่าทั้งภูฏานและอินเดียต่างถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภูฏาน ในที่สุดแล้วพวกคนงานก่อสร้างของจีนได้ถอนตัวออกไปเมื่อตอนที่ฤดูหนาวย่างกรายเข้ามา ทว่าความตึงเครียดตรงที่ราบสูงนี้ยังคงอยู่ในระดับหนักหน่วง

การขยายถนนนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามหลายๆ ด้านของจีนซึ่งมุ่งที่จะทำให้ตัวเองสามารถเข้าถึงอาณาบริเวณนั้นได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนก็ตระหนักรับรู้มานมนานแล้วเช่นกันว่า การส่งกำลังบำรุงและการติดต่อเชื่อมโยงด้านการคมนาคมที่อ่อนแอ อาจส่งผลเสียหายกระทบกระเทือนการส่งกำลังทหารเข้าไปเสริมเติมอย่างรวดเร็วในกรณีเกิดการเผชิญหน้าตรงบริเวณชายแดนขึ้นมา มีบางฝ่ายบอกว่าแดนมังกรแทบไม่มีทางเลือกเอาเสียเลย เนื่องจากอินเดียเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบทั้งในด้านภูมิศาสตร์และในเรื่องสภาพภูมิประเทศ

รายงานข่าวหลายชิ้นที่ปรากฏอยู่ในสื่ออินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้รื้อฟื้นจัดตั้งที่มั่นป้อมปราการในพื้นที่ชายแดนตรงนี้ขึ้นมาใหม่ โดยกำลังสร้างลาดจอดเฮลิคอปเตอร์และป้อมค่ายแห่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย และเรื่องนี้เองกำลังกลายเป็นเชื้อเพลิงโหมกระพือข่าวลือที่ว่าจะเกิดการเผชิญหน้าทางทหารอีกครั้งหนึ่งขึ้นมา ทั้งนี้สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นจะเปิดทางให้สามารถเข้าไปถึงบริเวณแถบนี้ได้สะดวกง่ายดายขึ้นเมื่อถึงช่วงเวลาประมาณกลางปี

อันเดร ชาง (Andrei Chang) นักวิจารณ์ให้ความเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ในเรื่องการทหารผู้มีประสบการณ์สูง บอกเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การกระทำต่างๆ ของปักกิ่งบนที่ราบสูงด็อคลัมอาจจะเป็นไปเพื่อการป้องกันตัว โดยที่แดนมังกรสามารถโต้แย้งได้ว่าตนเองจำเป็นที่จะต้องตอบโต้กับความเข้มแข็งทางทหารของฝ่ายอินเดีย อย่างไรก็ดี นิวเดลีน่าที่จะตีความว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้คือการกระทำเพื่อยั่วยุเพิ่มมากขึ้นอีก

ปักกิ่งรู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ทุกๆ อย่างที่อาจเกิดขึ้นมาได้ และต้องไม่ยอมปล่อยให้เหตุเผชิญหน้ากันในพื้นที่ระดับรอง กลายเป็นตัวหน่วงรั้งตัวเองไม่ให้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือไต้หวัน กระนั้น ชางเสนอแนะว่าการที่จีนมีความหวาดกลัวว่ากำลังจะถูกอินเดีย “แทงข้างหลัง” เช่นนี้ บางทีอาจจะเป็นการระแวงอย่างเกินเลยไป

“จากที่ผมมีการติดต่อสัมพันธ์กับทั้งพวกนายพลของอินเดียและนักวิชาการชาวอินเดียนั้น นิวเดลีน่าจะไม่ได้มีความตั้งใจใดๆ เลยที่จะเลือกเปิดการสู้รบในด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ในช่วงเวลาที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนกำลังยุ่งวุ่นวายอยู่กับการจัดการกับกองทัพไต้หวัน ... และแหล่งข่าว (ชาวอินเดีย) หลายๆ รายของผมยังเสนอแนะด้วยว่า ปักกิ่งเพียงแต่กำลังหลอกหลอนตัวเองด้วยอาการโรคจิตหวาดระแวงเท่านั้น” ชางกล่าวต่อ

ในอีกด้านหนึ่ง จีนยังดูเหมือนกำลังตื่นเต้นกระวนกระวายใจต่อญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จากการที่เครื่องบินตรวจการณ์และเครื่องบินขับไล่ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ถูกพบเห็นปรากฏตัวอยู่ในเขตน่านฟ้าของญี่ปุ่นเหนือช่องแคบสึชิมะ (Tsushima Strait) หลายๆ ครั้งนับตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา จุดชนวนให้กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ (กองทัพอากาศ) ของญี่ปุ่น ต้องคอยส่งเครื่องบินรบขึ้นไปสกัดกั้น

พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ปักกิ่งกำลังขบคิดพิจารณาในทิศทางที่ว่า ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในการป้องกันแนวรบด้านตะวันออกของตน เห็นจะต้องเป็นฝ่ายเปิดฉากรุก เนื่องจากสหรัฐฯและญี่ปุ่น ซึ่งน่าที่จะแสดงตัวเป็นพันธมิตรของไต้หวันมากที่สุด จะเข้ามาแทรกแซงในขณะเวลาที่ปักกิ่งลั่นไกปืน ด้วยเหตุนี้เองจีนจึงแสดงความหงุดหงิดไม่พอใจต่อแผนการต่างๆ ของโตเกียวที่จะติดตั้งประจำการระบบป้องกันขีปนาวุธแบบ RIM-161 สแตนดาร์ด มิสไซล์ 3 (RIM-161 Standard Missile 3 anti-missile system) ชนิดติดตั้งบนภาคพื้นดิน

การเพิ่มการลาดตระเวนทางอากาศและทางทะเลในทะเลจีนตะวันออก และการส่งเครื่องบินออกไปแล่นเฉียดๆ ตามแนวชายแดนของญี่ปุ่น เป็นยุทธวิธีที่วางแผนเอาไว้ว่าคือการส่งข้อความอันแจ่มแจ้งชัดเจนไปถึงโตเกียวว่า อย่าได้เข้ามายุ่งเกี่ยววุ่นวายด้วยในขณะที่ความร้อนแรงในเรื่องไต้หวันกำลังเพิ่มสูงขึ้น ทว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้ดูเหมือนจะกลับส่งผลตรงกันข้ามให้เห็นเสียแล้ว กล่าวคือ ญี่ปุ่นได้ตอบโต้ด้วยการเสริมกำลังของตนให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และสหรัฐฯก็กำลังนำเอาเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดมาจอดในภูมิภาคตะวันออกไกลเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้กองทัพอากาศสหรัฐฯได้จัดส่งเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 เอ (ซึ่งแม้ปรากฏเป็นข่าวว่ามีจุดอ่อนเปราะอยู่เยอะทว่าก็ยังคงเป็นเครื่องบินขับไล่ระดับเหนือชั้น) จำนวนสิบกว่าลำ เข้าไปยังเกาะโอกินาวะในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่ เอฟ-35 เวอร์ชั่นที่ประกอบโดยบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์ (Mitsubishi Heavy Industries) ของญี่ปุ่นเอง ก็มีการนำออกมาใช้งานในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมกราคม


กำลังโหลดความคิดเห็น