xs
xsm
sm
md
lg

ญาติเหยื่อฟ้องศาลสิทธิฯ แห่งอเมริกาคัดค้านอภัยโทษ “ฟูจิโมริ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตประธานาธิบดี อัลเบร์โต ฟูจิโมริ แห่งเปรู โบกมือทักทายสื่อมวลชนขณะเดินทางไปขึ้นศาลที่กรุงลิมา เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ปี 2015 (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและครอบครัวผู้สูญเสียรวมตัวยื่นฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights) เมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) เพื่อขอให้ศาลคัดค้านการอภัยโทษอดีตประธานาธิบดี อัลเบร์โต ฟูจิโมริ แห่งเปรู ซึ่งเคยถูกจำคุกในคดีคอร์รัปชันและละเมิดสิทธิมนุษยชน

“เรามาที่นี่วันนี้เพื่อประกาศให้ทุกฝ่ายรับรู้ว่า เรารับไม่ได้กับการอภัยโทษให้แก่ อัลเบร์โต ฟูจิโมริ เพราะเป็นการดูหมิ่นเกียรติและความทรงจำของพี่น้อง พ่อ และลูกชายของพวกเรา” คาร์เมน อามาโร หนึ่งในญาติผู้เสียชีวิต กล่าวต่อศาล

ประธานาธิบดี เปโดร ปาโบล คักซินสกี แห่งเปรูได้ออกคำสั่งอภัยโทษให้แก่ ฟูจิโมริ วัย 79 ปี เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลด้านมนุษยธรรม เนื่องจาก ฟูจิโมริ สุขภาพไม่แข็งแรง

อดีตผู้นำรายนี้ถูกศาลตัดสินจำคุก 25 ปีด้วยข้อหาอาชญากรรมหลายกระทง รวมถึงการตั้งหน่วยล่าสังหารตามฆ่าพลเรือนที่สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธเหมาอิสต์ และลักพาตัวสื่อมวลชนในช่วงระหว่างปี 1990-2000 อีกทั้งยังมีพฤติกรรมยักยอกเงินแผ่นดินและรับสินบน

แม้จะปกครองประเทศแบบเผด็จการ แต่ฝ่ายสนับสนุน ฟูจิโมริ ก็อ้างว่าผู้นำรายนี้ช่วยให้เปรูพ้นจากภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย

ชาวเปรูที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งอภัยโทษได้นัดชุมนุมต่อต้านบนท้องถนน ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติชี้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity)

หลายฝ่ายเชื่อว่าคำสั่งอภัยโทษเป็นข้อตกลงทางการเมืองระหว่าง คักซินสกี กับ เคนจิ ฟูจิโมริ บุตรชายของอดีตประธานาธิบดี ซึ่งยอมทรยศพรรคตัวเองด้วยการงดออกเสียงระหว่างที่รัฐสภาลงมติถอดถอน คักซินสกี ด้วยข้อหาทุจริต ซึ่งช่วยให้ผู้นำเปรูรั้งเก้าอี้ไว้ได้อย่างหวุดหวิดเมื่อปีที่แล้ว

“พวกเราจะสู้ จนกว่าคนที่ต้องรับผิดชอบการตายของญาติๆ เราจะกลับเข้าไปนอนในคุก... นี่ไม่ใช่การแก้แค้น แต่เป็นความยุติธรรม” อามาโร ระบุ

ศาลสิทธิมนุษยชนซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองหลวงคอสตาริกาถูกจัดตั้งโดยองค์การแห่งรัฐอเมริกัน (Organization of American States) ในปี 1979 เพื่อทำหน้าที่พิพากษาคดีซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งอเมริกา

ฮอร์เก วิลเลกัส ทนายซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลเปรู อธิบายว่า เปรู “มีประเพณีการให้อภัยตามหลักมนุษยธรรม แม้แต่ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายก็เคยได้รับการอภัยมาแล้วหลายคน”

“รัฐบาลเปรูขอยืนยันว่าเรามีสิทธิ์ที่จะอภัยโทษตามหลักมนุษยธรรม แม้จะเป็นผู้ต้องหาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงก็ตาม”

อาเดรียน ไซมอนส์ ทนายฝ่ายรัฐบาลอีกคนหนึ่ง วิจารณ์กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่คัดค้านการอภัยโทษว่าทำไม่ถูกต้องที่นำเรื่องมาฟ้องศาลสิทธิมนุษยชนแห่งอเมริกา ทั้งที่ยังไม่ได้ต่อสู้จนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ

ผู้พิพากษา เอดูอาร์โด เฟอร์เรอร์ ยืนยันว่าศาลจะพิจารณาข้อโต้แย้งของทุกฝ่าย และตัดสินเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวในเร็วๆ นี้




กำลังโหลดความคิดเห็น