xs
xsm
sm
md
lg

In Clip:คนงานเหมืองแอฟริกาใต้เฉียด 1,000 คน ติดอยู่ชั้นใต้ดินของ “เหมืองทอง” หลังเกิดไฟดับกลางพายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้(1 ก.พ) คนงานเหมืองทองแอฟริกาจำนวน 950 คนเป็นอย่างน้อย ต้องติดอยู่ด้านใต้ของเหมืองทองเบียทริกซ์ ( Beatrix gold mine)ในระดับความลึก 1,000 ม.ใกล้เมืองเวลคัม(Welkom) หลังจากพายุทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ พบติดมานานร่วม 30 ช.ม ทางบริษัทเจ้าของอ้าง เร่งรีบดำเนินการแก้ไข ส่งข้าวส่งน้ำให้คนงานเหมืองที่ติดอยู่ และทุกคนยังปลอดภัยดี และช่วยออกมาได้สำเร็จเช้านี้(2 ก.พ)

เอเอฟพีรายงานเมื่อวานนี้(1 ก.พ)ว่าบริษัทเจ้าของเหมืองทองแอฟริกาใต้ บริษัท เดอะ ซีบานเย-สตีลวอเตอร์ ไมนิง (The Sibanye-Stillwater mining)ออกแถลงการณ์ด่วนชี้แจงว่า ทางบริษัทประสบปัญหาไฟฟ้าขัดข้องครั้งร้ายแรงเป็นผลมาจากพายุ ส่งผลทำให้ลิฟต์ภายในเหมืองทองหยุดการทำงานในการที่จะนำคนงานเหมืองช่วงกะกลางคืนขึ้นมาจากชั้นใต้ดินเหนือพื้นโลกบริเวณเขตเหมืองทองเบียทริกซ์( Beatrix gold mine)ใกล้เมืองเวลคัม(Welkom)

“ทางเรามีคนงาน 995 คนที่ยังคงติดอยู่บริเวณชั้นใต้ดิน แต่พวกเขาติดอยู่ในส่วนที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่รอในหลุมเหมือง (และ) มีระบบระบายอากาศ ซึ่งทางเราได้ส่งน้ำและอาหารให้คนเหล่านี้แล้ว” เจมส์ เวลสเต็ด(James Wellsted)โฆษกบริษัทเดอะ ซีบานเย-สตีลวอเตอร์ ไมนิงกล่าวให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

และกล่าวต่อว่า “ดังนั้นในขณะนี้พวกเขาทุกคนจึงปลอดภัย ซึ่งทางเราพยายามหาทางที่จะทำให้ไฟฟ้ากลับมาใช้การได้อีกครั้ง เพื่อให้ทางเราสามารถดึงคนเหล่านี้สู่เหนือพื้นดินสำเร็จ “

เอเอฟพีรายงานว่า โฆษกบริษัทเดอะ ซีบานเย-สตีลวอเตอร์ ไมนิงให้สัมภาษณ์ทางโทรศัทพ์จากตัวเหมือง

อย่างไรก็ตาม ทางเดอะ ซีบานเย-สตีลวอเตอร์ ไมนิงชี้ว่า ระดับความลึกใต้ดินที่คนงานเหมืองติดอยู่นั้นไม่สามรถระบุได้ ซึ่งเหมืองทองเบียทริกซ์นั้นมีถึง 23 ระดับด้วยกัน โดยลึกลงไปจากเหนือพื้นดินในระดับความลึกโดยรวมราว 1,000 ม.

ซึ่งพบว่า มีสายส่งไฟฟ้าเส้นหนึ่งขาด แต่สามารถกู้กลับมาได้ในช่วงระหว่างวัน และทำให้คนงานเหมืองจำนวน 272 คนได้รับการช่วยเหลือออกมา แต่ทว่ายังคงเหลือคนงานอีก 995 คนซึ่งเป็นช่วงกะกลางคืนที่ยังคงติดอยู่ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำวันพฤหัสบดี(1) บริษัทเดอะ ซีบานเย-สตีลวอเตอร์ ไมนิงกล่าว

เอเอฟพีชี้ว่า คนงานเกือบ 1,000 คนติดอยู่ใต้ดินมานานร่วม 24 ช.มแล้ว

เวลสเต็ดกล่าวต่อว่า บรรดานายช่างกำลังเร่งมือที่จะทำให้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินทำงานเพื่อที่จะสามารถทำให้ลิฟต์เริ่มต้นทำงานได้อีกครั้งหลังจากเกิดพายุ

“ทางเรามีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้ากระชากที่เกิดมาจากพายุในการที่จะทำให้เครื่องปั่นไฟฟ้าทำงาน ดังนั้นในเวลานี้พวกเราขึงยุ่งอยู่กับการแก้ปัญหาเหล่านี้” โฆษกบริษัทเจ้าของเหมืองทองเบียทริกซ์กล่าวต่อ

และเขาชี้แจงว่า “ในคืนที่ผ่านมามีพายุร้ายแรงเกิดขึ้นในฟรีสเตท(the Free Stat) (จังหวัด) มีผลต่อสายส่งไฟฟ้า 2 เส้น...และทำให้ไฟฟ้าที่จะเข้ามายังเหมืองดับทั้งหมด ดังนั้นทางเราจึงนำคนงานเหมืองกะกลางคืนขึ้นมาไม่ได้”

นอกจากนี้ยังพบว่า เครื่องปั่นไฟฟ้าไม่ทำงานเกิดจากปัญหาซอฟต์แวร์ขัดข้อง “และในเวลานี้ทางเรากำลังแก้ปัญหานี้” เวลสเต็ดกล่าว

ทั้งนี้พบว่าเหมืองทองเบียทริกซ์นั้นตั้งอยู่ในจังหวัดฟรีสเตท ห่างไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 290 ก.มของเมืองโจฮันเนสเบิร์ก

ด้านสหภาพคนงานแอฟริกาใต้ สมาพันธ์แห่งสหภาพคนงานเหมืองและก่อสร้าง AMCU ออกแถลงการณ์เตือนว่า ชีวิตคนงานที่ติดอยู่ด้านใต้นั้นไม่ปลอดภัย และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

“AMCU มองว่าเหตุเกิดครั้งนี้ถือว่าร้ายแรง เนื่องมาจากจำนวนคนงานที่ได้รับผลกระทบ” รายงานจากแถลงการณ์ของสมาพันธ์สหภาพคนงาน AMCU

และแถลงการณ์ยังกล่าวต่อว่า “เหตุที่เกิดทำให้มีความตระหนักไปถึงการขาดแผนรับมือต่อเนื่องในเหตุฉุกเฉินภายในเหมืองที่ไม่มีแผนสำรองสำหรับการจ่ายไฟฟ้าฉุกเฉิน”

เอเอฟพีรายงานว่า ทางสมาพันธ์คนงานยังย้ำว่า ชีวิตของคนงานที่ติดอยู่ชั้นใต้ดินอาจถึงขั้นชีวิตหากว่ามีคนงานที่อยู่ในระหว่างการต้องใช้ยารักษาโรคแต่ไม่ได้รับยาได้ทันท่วงที

และพบว่าสหภาพคนงานเหมืองอีกแห่งได้ออกแถลงการณ์เช่นกัน โดยทางสหภาพแรงงานชาวเหมืองแห่งชาติแอฟริกา NUM ได้ระบุไปถึงปัญหาความปลอดภัยของเหมือง และเรียกร้องให้คนงานเหมืองปฎิเสธที่จะเข้าทำงานในสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย

DW สื่อเยอรมันรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุดเช้าวันศุกร์(2 ) พบคนงานเหมืองหลา่ยร้อยชีวิตสามารถถูกช่วยออกมาได้สำเร็จ หลังทางเหมืองทำให้กระแสไฟฟ้ากลับมาใช้ได้อีกครั้ง พบคนงานเหมืองที่ติดอยู่ต้องเฝ้ารอนานร่วม 30 ช.มจึงจะถูกดึงตัวขึ้นสู่เหนือพื้นผิวโลกได้

โดยโฆษกบริษัทเจ้าของเหมืองทองเบียทริกซ์ เวลสเต็ทยืนยันว่า ทุกคนที่ติดอยู่ชั้นใต้ดินในเวลานี้ถูกช่วยออกมาได้สำเร็จ "ทุกคนออกมาได้หมด" และกล่าวต่อว่า "นอกเหนือจากในกรณีการขาดน้ำ และป่วยด้วยโรคความดัน ไม่มีรายงานถึงการได้รับบาดเจ็บขั้นร้ายแรง"

ซึ่งภายในช่วงตะวันขึ้นพบว่า มีรถบัสจำนวนหนึ่งได้ขนคนงานเหมืองออกไปจากที่เกิดเหตุที่ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้าน เธยูนิเซน (Theunissen) ใกล้เมืองเวลคัม

สื่อเยอรมันชี้ว่า ในปฎิบัติการกู้ภัย พบว่ามีการนำตัวคนงานเหมืองครั้งละ 65 คนขึ้นสู่ด้านบน อ้างอิงจากสหภาพแรงงานเหมือง NUM และทีมกู้ภัยถูกส่งไปช่วยในระดับความลึก 1,000 ม.








กำลังโหลดความคิดเห็น