ซีเอ็นเอ็น -ไลฟ์สดวิดีโอหนึ่งบนเฟซบุ๊กซึ่งอ้างว่าเป็นการโชว์ถ่ายทอดสด "จันทรุปราคาเต็มดวง" เหนือท้องฟ้ากรีซ สามารถดึงดูดผู้เข้าชมมากกว่า 16 ล้านวิวภายในเวลาเพียง 4 ชั่วโมงเมื่อวันพุธ(31ม.ค.) แต่ข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามันเป็นเพียงภาพนิ่งและมีเสียงลมประกอบเท่านั้น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อบริษัทเฟซบุ๊กที่ปล่อยปละละเลยตรวจหาไม่พบ แม้ว่าผู้แสดงความคิดเห็นบางส่วนจะชี้ให้เห็นถึงกลิ่นทะแม่งๆบางอย่าง
ในวิดีโอไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กเป็นภาพนิ่งของพระจันทร์เต็มดวงเหนือวิหารแห่งเทพโพไซดอนทางภาคใต้ของกรีซที่ถ่ายไว้นานกว่า 9 ปีแล้ว โดยภาพดังกล่าวถูกนำมาวางทับกับช่วงเวลาปัจจุบันและมีเสียงลมประกอบ ในความพยายามทำให้มันดูเหมือนเป็นการถ่ายทอดสด
ไลฟ์สดดังกล่าวปรากฏเป็นวิดีโอแรกในการค้นหาคำว่า "supermoon" บนเฟซบุ๊ก ทั้งนี้มันโพสต์โดยเพจที่ใช้ชื่อว่า EBUZZ ซึ่งแม้จะไม่ค่อยโพสต์อะไรเท่าไหร่นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2016 แต่เพจนี้ก็มีผู้ติดตามมากถึง 250,000 คน
ดูเหมือนว่าเพจดังกล่าวจะดูแลโดยบุคคลนิรนาม โดยไม่ได้ระบุช่องทางการติดต่อแอดมินใดๆ
วิดีโอถูกถอดออกจากแพลตฟอร์มในช่วงบ่ายวันพุธ(31ม.ค.) แต่จนถึงช่วงค่ำของวันเดียวกัน เพจ EBUZZ ก็ยังคงอยู่ โดยเฟซบุ๊กเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่าวิดีโอถูกลบฐานละเมิดนโยบายของบริษัท แต่ไม่ได้ให้คำตอบว่าทำไมตัวเพจเองถึงไม่ถูกถอดออกด้วย
ซีเอ็นเอ็นสรุปว่าภาพดังกล่าวถ่ายโดย คริส คอตซิโอโปอูลอส ช่างภาพสมัครเล่น ซึ่งเขาบอกกับซีเอ็นเอ็นว่าเคยพบเห็นมีคนลอบใช้ภาพถ่ายของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาตมาก่อนแล้ว แต่ก็ไม่เคยเจอในลักษณะนี้เลย
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมเพจนี้ถึงทำวิดีโอปลอมขึ้นมา โดยที่ผ่านมา บางส่วนอาจต้องการเพิ่มจำนวนผู้ติดตามเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเช่นดึงดูดผู้คนไปยังเว็บไซต์อีกแห่งที่สามารถทำเงินให้พวกเขาได้
ในขณะที่ผู้คนบางส่วนที่เข้าชมไลฟ์สดตกหลุมพรางวิดีโอดังกล่าว พากันแสดงความคิดเห็นชื่นชมความสวยงามของมัน แต่ก็มีหลายคนที่รู้สึกสงสัย "แปลกมาก มันจะเป็นไลฟ์สดได้ไงเมื่อเป็นภาพเดิมที่ดวงจันทร์อยู่ในจุดเดียวนานกว่า 3 ชั่วโมงแล้ว" ผู้ชมรายหนึ่งเขียน
ผู้คนจำนวนมากในบรรดา 16 ล้านวิว ไม่ได้เข้าดูนานพอที่จะรับรู้ความจริงว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นนั้นเป็นเพียงภาพนิ่ง โดยเฟซบุ๊กจะนับ "วิววิดีโอ" เมื่อคนๆนั้นเข้าชมวิดีโอ 3 วินาทีขึ้นไป
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่วิดีโอปลอมแรกที่เรียกผู้ชมหลายล้านวิวในเฟซบุ๊ก โดยเมื่อเดือนกันยายน ระหว่างเฮอร์ริเคนเออร์มา วิดีโอที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์สุดช็อคของพายุสามารถดึงดูดผู้ชมได้มากกว่า 6 ล้านวิว แม้ความจริงแล้วพอคลิปเข้าไปดูจะพบว่ามันเป็นเหตุการณ์เก่าซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ 9 เดือนก่อน