เอเจนซีส์ - หญิงชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งที่ถูกบังคับให้ทำหมันตั้งแต่อายุ 15 เพราะพิการทางจิต ได้ทำการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล นับเป็นคนแรกของหญิงจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อกฏหมายบำรุงพันธุ์ในแดนปลาดิบ
สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารของศาลที่ระบุว่า หญิงที่ทำการฟ้องร้อง ซึ่งขณะนี้เธออยู่ในวัย 60 กว่าแล้ว ต้องการค่าเสียหาย 11 ล้านเยน โดยอ้างว่ารัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนของเธอ แถมยังบอกว่าจะไม่ช่วยเหลือหากเธอไม่ปฏิบัติตาม
โจทก์ที่ไม่มีการเปิดเผยนามรายนี้ คือหนึ่งในผู้ถูกบีบบังคับให้ทำหมันโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม ซึ่งประเมินว่ามีผู้ถูกบังคับมากถึง 16,000 คน ภายใต้กฏหมายบำรุงพันธุ์มนุษย์ (Eugenics Law) ที่มีการบังคับใช้จนถึงปี 1996
คัตซึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีสาธารณสุข ปฏิเสธที่จะแสดงความเห้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยบอกเพียงแค่ว่า เขายังไม่ทราบรายละเอียดการฟ้องร้องในคดีนี้
เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขรายหนึ่งบอกกับนักข่าวเอเอฟพีว่า ทางรัฐบาลเคยบอกว่าอยากจะคุยเป็นรายบุคคล สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ยังไม่มีแผนจะให้การสนับสนุนแก่ทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อของกฏหมายนี้
กฏหมายบำรุงพันธุ์มนุษย์เริ่มมีการใช้ที่ญี่ปุ่นในปี 1948 โดยให้รัฐมีอำนาจที่จะทำหมันไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แก่ผู้ที่รัฐคิดว่าพิการทางจิตและเจ็บป่วย รวมถึงผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ด้วยข้ออ้างว่า "เพื่อป้องกันการให้กำเนิดทายาทที่ด้อยศักยภาพ รวมถึงเป็นการปกป้องชีวิตและสุขภาพของผู้เป็นแม่"
เยอรมนีและสวีเดนก็เคยมีมาตรการลักษณะคล้ายกัน แต่ในภายหลังก็ได้ขอโทษต่อเหยื่อของมาตรการนี้ พร้อมทั้งให้เงินชดเชย
คำกล่าวอ้างของหญิงชาวญี่ปุ่นรายนี้ ที่ยื่นฟ้องต่อศาลในเมืองเซนได ถูกคาดว่าจะเป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของญี่ปุ่น ต่อผู้พิการและเจ็บป่วยเรื้อรังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง