เอเจนซีส์ – สื่ออัลญะซีเราะฮ์รายงาน พบหลักฐานทางการไทยละเมิดกฎหมายว่าด้วยพื้นฐานสิทธิเด็กระหว่างประเทศ ต.มไทยส่งเยาวชนโซมาเลียเข้าคุกกักตัวร่วมห้องขังกับผู้ใหญ่ ชี้สภาพด้านในสุดทนอยู่อย่างแออัด ถูกจำกัดการเข้าถึงด้านสาธารณสุขและการศึกษา แถมไม่มีมีกำหนดปล่อยตัวหากไม่ได้รับการส่งต่อไปยังประเทศที่ 3
อัลญะซีเราะฮ์ สื่อกาตาร์ รายงานเมื่อวานนี้(20 ม.ค) ถึงชีวิตของกลุ่มเยาวชนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ต้องอาศัยอยู่ในความกลัวกลางกรุงเทพฯ โดยผู้สื่อข่าวได้ไปสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชายชาวโซมาเลีย วัย 19 ปี ซึ่งยังคงอยู่ในสถานะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีชื่อย่อว่า อาร์เค(RK) ที่ได้ระบายความอัดอั้นให้ฟังว่า
“พวกเขาเตะประตูที่พักของผม และนำตัวสมาชิกครอบครัวผมไปในระหว่างที่ผมไม่อยู่บ้าน” อาร์เคกล่าว ซึ่งเยาวชนชายชาวโซมาเลียผู้นี้ได้อ้างไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 3 เดือนก่อนหน้าในปฎิบัติการกวาดล้างต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองของรัฐบาลไทย
อัลญะซีเราะฮ์ชี้ว่า สมาชิกครอบครัวของอาร์เคที่ถูกทางการไทยจับไปคือ ภรรยาและลูกสาววัยแบเบาะ 9 เดือน ซึ่งคนทั้งสองที่เป็นคุณแม่มือใหม่และทารก ถูกทางการไทยส่งตัวเข้าสถานกักตัวคนต่างด้าวสวนพลู (the Suan Phlu Immigration Detention Center )ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สื่อกาตาร์ชี้ว่า สภาพภายในสถานกักตัวนั้นเต็มไปด้วยความแออัด
ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์ของผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียรายนี้ พบว่าเขาเข้ามาไทยเมื่อมีอายุได้เพียงแค่ 16 ปี การสัมภาษณ์เกิดขึ้นในช่วงราวเดือนธันวาคมล่าสุด ที่ไทยเพิ่งสัมผัสอากาศหนาว โดยอัลญะซีเราะฮ์รายงานว่า สภาวะอุณหภูมิในขณะนั้นอยู่ราว 20 องศาเซลเซียส ซึ่งอาร์เคได้ส่งเสียงบ่นเชิงประท้วงให้กับผู้สื่อข่าวฟังในขณะที่เขากำลังนั่งอยู่ในตรอกแห่งหนึ่งในย่านดาวน์ทาวน์ของกรุงเทพฯว่า “ผมไม่เคยรู้สึกหนาวเช่นนี้มาก่อน”
ทั้งนี้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ UNHCR ได้ออกมายืนยันกับสื่อกาตาร์ว่า “กรุงเทพฯ” เป็นบ้านของชุมชนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่า มีตัวเลขของผู้ลี้ภัยราว 4,500 คน ผู้ขอสถานภาพลี้ภัยอีก 2,000 คน ทั้งหมดมาจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ภายใต้กฎหมายคนต่าวด้าวผิดกฎหมายของไทย ภรรยาของอาร์เคและลูกสาววัย 9 เดือนต้องเผชิญหน้าต่อการถูกกักตัวแบบไม่มีกำหนด คนเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัวก็ต่อเมื่อถูกส่งต่อไปประเทศที่ 3 แล้วเท่านั้น
สำหรับตัวอาร์เคพบว่า เขาเป็นทั้งผู้อพยพผิดกฎหมาย และเคยถูกทางการไทยกักตัวมาก่อนหน้าแล้ว สื่อกาตาร์ชี้ว่า ชายผู้นี้เดินทางเข้าไทยหลังจากที่บิดาของเขาเสียชีวิตในเหตุกลุ่มก่อการร้ายอัลเชบับโจมตีโซมาเลียด้วยคาร์บอมบ์
อัลญะซีเราะฮ์ได้เปรียบเทียบไทยและยุโรปในสถานการณ์อพยพโลกว่า ไทยนั้นในสายตาผู้อพยพ ถูกมองว่าเป็นประเทศที่เข้ามาได้ง่ายกว่า และน่าอาศัยมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยุโรป ในกลุ่มผู้อยพยและผู้ลี้ภัยชาวปากีสถาน โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ และซีเรีย
สื่อกาตาร์ได้เล่าถึงการเดินทางของอาร์เคมายังไทยว่า เนื่องจากกลัวภัยที่จะถึงแก่ชีวิต ทำให้ครอบครัวอาร์เคยอมจ่ายเงินก้อนโตให้กับกลุ่มค้ามนุษย์ร่วม 2,000 ดอลลาร์ในการที่จะนำตัวเขาขึ้นเครื่องบินเพื่อมายังกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ชาวโซมาเลียเช่นเขาไม่ต้องใช้วีซ่าเข้าเมือง
และจากที่นั้น อาร์เคซ่อนตัวอยู่หลังรถบรรทุกในระยะทาง 1,500 ก.มเป็นเวลาถึง 3 วันเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯโดยปลอดภัย ซึ่งเมืองหลวงที่เก่าแก่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ UNHCR ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นที่เขาจะสามารถขอยื่นเรื่องลี้ภัยได้
“พวกเขาบอกว่า ที่นี่ปลอดภัยสำหรับผมในการใช้ชีวิตและการทำงานจนกว่าผมจะได้ถูกตอบรับจากประเทศอื่น” อาร์เคกล่าว
อัลญะซีเราะฮ์อธิบายว่า เป็นเพราะไทยไม่เคยเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 และอีกทั้งกฎหมายคนต่างด้าวของไทยยังล้าสมัย ซึ่งไม่แยกประเภทผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และคนเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างชัดเจน
ผลก็คือ...ทำให้ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ความกรุณาของเจ้าหน้าที่ต.มไทยที่มักกวาดจับ และส่งเข้าสถานกักกันต่อใครก็ตามที่ไม่สามารถแสดงวีซ่าเข้าเมืองอย่างถูกต้องได้
ซึ่งอ้างอิงจากองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอช พบว่า รูปแบบการปฎิบัตินี้เป็นศูนย์กลางทางนโยบายรัฐบาลไทยด้านการเข้าเมือง ที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า ***ต้องทำให้สภาพไม่น่าอาศัยให้มากที่สุดต่อบรรดาผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยเพื่อสกัดการไหลเข้ามาของผู้อพยพในอนาคต ***
และผลจากสิ่งนี้ ทำให้คนเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัดอย่างมากต่อการเข้าถึงการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การศึกษา และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย
UNHCR ยอมรับกับอัลญะซีเราะฮ์ว่า ด้วยเหตุที่ทางองค์กรอยู่ในสภาพที่ขาดเงิน ทำให้ทางหน่วยงานต้องตั้งชุดคณะกรรมการในการประเมินความต้องการผู้อพยพ และให้การช่วยเหลือในส่วนผู้อพยพที่ตกอยู่ในอันตรายมากที่สุดเป็นอันดับแรก เป็นต้นว่า เด็ก หรือผู้หญิง
สื่อกาตาร์ชี้ว่า คนเข้าเมืองผิดกฎหมายต้องอาศัยอยู่ในไทยด้วยความกลัว โดยพบว่าส่วนใหญ่จะถูกเข้ารับทำงานสภาพแบบผิดกฎหมาย และถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยอาร์เคกล่าวเปรยไปถึงเงินค่าจ้างว่า “ผมได้รับเพียงแค่ 1,500 บาท (หรือราว 47 ดอลลาร์) สำหรับการทำงานในครัว 60 ช.มต่อสัปดาห์”
และเสริมว่า “แต่นายจ้างของผมกลับยังเอาส่วนนี้ไปทั้งหมดหลัง 3 เดือนไปแล้วเพราะเขากลัวว่าจะถูกจับ”
ซึ่งการเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในไทยเช่นอาร์เค พบว่าในแต่ละวันเขาต้องจมอยู่กับความกลัวในการถูกจับและส่งตัวเข้ากักกันที่ศูนย์ ทำให้เยาวชนชายผู้นี้ต้องเลี่ยงที่จะดึงดูดความสนใจจากเจ้าหน้าที่ไทยให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน
โดยพบว่าผู้อพยพผิดกฎหมายส่วนใหญ่เลี่ยงที่จะเก็บตัวอยู่ในอพาทเมนต์ที่แออัดแทนเป็นต้นว่า อับดิราฮิม (Abdirahim) ผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียอีกราย ซึ่งพบว่า เขาเป็นชนกลุ่มน้อยในโซมาเลียที่ในเวลานี้มีอายุแค่ 18 ปี ที่ต้องหนีออกมาจากกรุงโมกาดิชูเนื่องจากภัยความขัดแย้งที่บ้านเกิด ได้กล่าวว่า
“เจ้าหน้าที่ไทยได้ทุบประตูเกือบจะทุกสัปดาห์ พร้อมตะโกนว่า “โซมาเลียออกมา!!” และบางครั้งพวกเขาจะเข้ามาด้านใน และนำคนออกไป”
ทั้งนี้สำหรับผู้อพยพเยาวชนชายชาวโซมาเลียรายนี้ชี้ว่า เขาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯตามลำพังเมื่อมีอายุได้ 15 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างจากในกรณีแรกเท่าใดนัก
โดยในการให้สัมภาษณ์ อับดิราฮิมกล่าวว่า ในเวลานี้เขาได้อาศัยอยู่กับชายชาวโซมาเลียอีก 4 คนในห้องพักเล็กๆ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจที่พบว่า ไม่มีใครในห้องนี้ที่มีอายุเกิน 20 ปี และทุกคนล้วนเป็นชนกลุ่มน้อยที่เสี่ยงภัยในสงครามที่บ้านเกิดในโซมาเลียทั้งสิ้น
คนทั้งหมดที่พักร่วมกับอับดิราฮิมยังชี้ว่า ยังมีอพาทเมนต์อื่นๆที่คล้ายกันนี้อีก 7 แห่ง ซึ่งเป็นที่หลบภัยของคนที่มาจากทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง และอาศัยอยู่ในห้องเช่าเดี่ยวที่แออัดคล้ายกัน
อัลญะซีเราะฮ์กล่าวว่า ทั้งตัวอับดิราฮิมและเพื่อนร่วมห้องต่างได้ยื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยกับทาง UNHCR แล้ว แต่คนทั้งหมดยังเกรงที่จะต้องออกไปไหนนอกอพาทเมนต์ตามลำพังหากไม่มีเหตุจำเป็นจริง
“ผมกลัวเป็นอย่างมากจะถูกจับและส่งกักตัวอีกรอบ...ผมไม่มีอำนาจใดๆที่จะช่วยตัวเองได้ ผมจึงเลือกที่จะหลับแทน” เขากล่าว
สื่อกาตาร์ได้บรรยายไปถึงสภาพคุกของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยนั้นว่า น่าหดหู่เป็นอย่างมาก และยังจำกัดการเข้าถึงเกือบจะทุกอย่าง จากการให้การของอดีตต่างด้าวผู้ที่เคยอาศัยอยู่ด้านใน
“ผมอยู่ในเซลห้องขังร่วมกับเพื่อนร่วมห้องอีกราว 120 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นชาย” อับดิราฮิมให้ความเห็น และกล่าวต่อว่า “อาหารที่ได้ก็คือข้าวและแกง 2 มื้อต่อวัน ซึ่งผมต้องนอนบนพื้นคอนกรีต และจะมีโอกาสเห็นแสงอาทิตย์ในทุก 3 วัน”
จากการที่อิบราฮิมมีอายุเพียง 15 ปีในขณะที่เดินทางเข้าประเทศ และเขาถูกควบคุมตัวและกักตัวโดยเจ้าหน้าที่ไทยถึง 2 ครั้งเป็นเวลา 2 ปีในช่วงระหว่างอายุ 15 – 17 ปีก่อนที่จะได้รับการขอปล่อยตัวชั่วคราวออกมาโดยหน่วยงานช่วยเหลือผู้อพยพ ทำให้สื่อกาตาร์ชี้ว่า การคุมตัวผู้อพยพและเด็กที่ขอการลี้ภัยของฝ่ายไทยนั้นละเมิดต่อสิทธิเด็กภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ จากการที่ได้จับขังรวมเด็กวัย 15 ปีร่วมกับผู้ใหญ่ไว้ในที่เดียวกัน
โดยทางฮิวแมนไรท์วอชชี้ว่า การปฎิบัติของไทยเป็นเสมือนการผลักดันให้ผู้อพยพเด็กและเยาวชนตกในอันตรายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศและการทำร้ายทางร่างกาย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากังวลเป็นอย่างมากสำหรับทางองค์กร
ทั้งนี้พบว่านักข่าวของสื่อกาตาร์ได้เดินทางไปเยือนสถานกักตัวคนต่างด้าวผิดกฎหมาย และได้เห็นการขังรวมของเด็กอย่างน้อย 5 คนอายุสูงสุด 10 ปีร่วมกับผู้ใหญ่
ในตอนท้ายของการให้สัมภาษณ์ อิบราฮิมกล่าวว่า “ผมหวังเสมอว่าผมน่าจะตัดสินใจไม่เดินทางมาที่นี่” และกล่าวต่อว่า “ผมคงจะไปอยู่ที่ไหนสักแห่งในเวลานี้ ซึ่งเป็นที่จะทำให้ผมปลอดภัย และเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้”
อย่างไรก็ตามในรายงานชิ้นนี้ อัลญะซีเราะชี้ว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผล