xs
xsm
sm
md
lg

จากตอนแรกปท.เดียว เวลานี้‘สงครามต่อสู้ก่อการร้าย’ ของสหรัฐฯรบกันใน 76 ปท.แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทอม เองเกลฮาร์ดต์

<i>แผนที่แสดง “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ของสหรัฐฯในตลอดทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดย “โครงการค่าใช้จ่ายของสงคราม” (Costs of War Project) สถาบันวัตสันเพื่อกิจการระหว่างประเทศและกิจการสาธารณะ แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์   สามารถชมภาพขยายใหญ่ได้ที่http://www.tomdispatch.com/images/managed/costofwar_projectmap_large1.jpg</i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Mapping a world from hell: 76 countries now involved in US ‘war on terror’
By Tom Engelhardt
09/01/2018

ในเดือนตุลาคม 2001 วอชิงตันได้เปิดฉาก “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ของตนขึ้นมา โดยที่เวลานั้นมีเพียงประเทศเดียวซึ่งตกเป็นเป้าหมาย นั่นคืออัฟกานิสถาน แต่หลังจากนั้นสงครามนี้ได้ขยายตัวไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้สิ้นสุด มาถึงบัดนี้เวลาผ่านไปเกือบ 17 ปี ตามการศึกษาของ “โครงการค่าใช้จ่ายของสงคราม” แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ ปรากฏว่ามีไม่ต่ำกว่า 76 ประเทศ หรือ 39% ของชาติต่างๆ บนพื้นพิภพนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในการสู้รบขัดแย้งระดับโลกนี้

เขาทอดทิ้งเครื่องบินประจำตำแหน่ง “แอร์ ฟอร์ซ ทู” (Air Force Two) เอาไว้เบื้องหลัง แล้วขึ้นเครื่องบินขนส่งทางทหารแบบ ซี-17 ลำหนึ่งซึ่งมิได้แสดงเครื่องหมายบ่งบอกใดๆ [1] เพื่อการเดินทางที่ไม่ได้มีการประกาศบอกกล่าวและถูกปกปิดอำพรางเป็นความลับอย่างแน่นหนา [2] ไปยังฐานทัพอากาศบากรัม (Bagram Air Base) ค่ายทหารสหรัฐฯที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน ข่าวคราวทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับการเยือนของเขาคราวนี้ถูกสั่งห้ามเผยแพร่จวบจนกระทั่ง 1 ชั่วโมงก่อนที่เขาจะเดินทางออกจากประเทศนี้แล้ว [3]

หลังจากสหรัฐฯเข้ารุกราน “ปลดแอก” อัฟกานิสถานมาเป็นเวลากว่า 16 ปี เขาเดินทางไปที่นั่นเพื่อบอกกล่าวข่าวดีบางประการต่อกองทหารเฉพาะกิจของอเมริกันซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเพิ่มจำนวนขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง [4] ต่อหน้าธงชาติสหรัฐอเมริกาผืนมหึมาขนาด 12 เมตร เพื่อกล่าวปราศรัยกับทหารอเมริกันจำนวน 500 คน รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ได้กล่าวยกย่องพวกเขาว่าเป็น “กองทหารเพื่อความดีงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก” พร้อมกับคุยโวว่าเมื่อเร็วๆ นี้การถล่มโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ได้ “เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตื่นใจ” รวมทั้งสาบานว่าประเทศของพวกเขา “จะอยู่ที่นี่กันต่อไปอีก” และยืนยันว่า “ชัยชนะกำลังขยับเข้ามาใกล้ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา” [5]

อย่างไรก็ดี อย่างที่มีผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งชี้เอาไว้นั่นแหละ การตอบรับจากผู้ฟังของเขานั้นอยู่ในลักษณะ “เงียบเชียบ” (“ทหารจำนวนมากยืนฟังโดยเอามือกอดอก หรือไม่ก็เอามือไขว้หลัง แต่ไม่ได้ปรบมือ) [6]

ลองขบคิดมองเรื่องนี้ว่าเป็นตอนล่าสุดในเทพนิยายภูมิรัฐศาสตร์ที่ท้องเรื่องเกิดกลับหัวกลับหาง ถึงแม้อาจจะเล่าขานด้วยถ้อยคำแบบเทพนิยายกริมม์ ทว่ากลับเต็มไปด้วยความร้ายกาจสกปรก เทพนิยายสำหรับยุคสมัยของเราอาจจะเริ่มต้นอย่างนี้ครับ:

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว –พูดกันให้แน่นอนชัดเจนลงไปเลยก็ได้ว่า ในเดือนตุลาคม 2001 –วอชิงตันได้เปิดฉาก “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ของตนขึ้นมา ในเวลานั้นมีเพียงประเทศเดียวที่ตกเป็นเป้าหมาย ซึ่งก็คือประเทศหนึ่งเดียวกันกับที่เพียงเมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านั้นไปอีก สหรัฐฯได้ยุติสงครามตัวแทนอันดำเนินมาอย่างยาวนานเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต [7] โดยที่ในระหว่างศึกสงครามตัวแทนครั้งนั้น สหรัฐฯทั้งให้ความสนับสนุนทางการเงิน, อาวุธยุทโธปกรณ์ หรือไม่ก็คอยหนุนหลังพวกกลุ่มอิสลามิสต์เคร่งจารีตอย่างสุดโต่งขบวนหนึ่ง โดยในจำนวนนี้มีชาวซาอุดีอาระเบียวัยหนุ่มฐานะมั่งคั่งร่ำรวยผู้หนึ่งผู้มีนามว่า อุซามะห์ บิน ลาดิน รวมอยู่ด้วย

เมื่อถึงปี 2001 สืบเนื่องมาจากผลของสงครามตัวแทนคราวนั้นนั่นเอง (ซึ่งยังได้ช่วยเสริมส่งให้สหภาพโซเวียตจมถลำลงสู่เส้นทางแห่งการระเบิดพังพินาศจากภายใน) อัฟกานิสถานส่วนใหญ่ (แต่ยังไม่ใช่ทั่วทั้งหมด) ก็ถูกปกครองโดยกลุ่มตอลิบาน สำหรับอุซามะห์ บิน ลาดิน เขาอยู่ที่นั่นด้วยเหมือนกันพร้อมกับพวกผู้ร่วมงานจำนวนที่ค่อนข้างน้อยกลุ่มหนึ่ง ครั้นเมื่อถึงต้นปี 2002 เขาได้หลบหนีไปอยู่ในปากีสถาน ทอดทิ้งเพื่อนๆ ของเขาจำนวนมากให้สูญเสียชีวิต ส่วนองค์การของเขา คือ อัล-กออิดะห์ ก็อยู่ในสภาพปั่นป่วนรวนเร พวกตอลิบานซึ่งพ่ายแพ้ปราชัยแล้ว กำลังร้องขอให้ได้รับอนุญาตวางอาวุธและกลับคืนสู่หมู่บ้านของพวกเขา ทว่ามันกลับกลายเป็นกระบวนการที่ดำเนินการกันไม่สำเร็จ ซึ่ง อนันท์ โกปัล (Anand Gopal) เขียนบรรยายเอาไว้อย่างมีชีวิตชีวา [8] ในหนังสือเรื่อง “No Good Men among the Living” ของเขา [9]

มันดูเหมือนกับว่าทุกอย่างจบสิ้นลงแล้ว ยกเว้นแต่การส่งเสียงยกย่องสรรเสริญ และก็แน่นอนล่ะ รวมทั้งการวางแผนการเพื่อเข้าหาผลประโยชน์อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ เหล่านี้คือสิ่งที่ยังไม่ได้ปิดฉาก พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และรองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ แห่งสหรัฐฯ เป็นพวกนักเพ้อฝันทางภูมิรัฐศาสตร์อันดับต้นๆ ซึ่งไม่อาจหยุดยั้งแนวความคิดเกี่ยวกับวิธีการขยายความสำเร็จคราวนี้ให้ใหญ่โตบานเบิกออกไปอีก โดยให้ครอบคลุมถึงการกำจัดปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มกบฎก่อความไม่สงบในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก –ดังที่รัฐมนตรีกลาโหม โดนัลด์ รัมสเฟลด์ (Donald Rumsfeld) ระบุเอาไว้เพียงไม่กี่วันภายหลังเหตุการณ์โจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001[10]

มันกลายเป็นประเด็นหนึ่งซึ่งประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จะกลับมาเน้นย้ำอีกครั้งในอีก 9 เดือนให้หลัง ในสุนทรพจน์ของเขาที่แสดงน้ำเสียงของผู้พิชิตอย่างชัดเจน ณ พิธีวันสำเร็จการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยทหารบกสหรัฐฯ(US Military Academy) เมืองเวสต์พอยต์ (West Point) รัฐนิวยอร์ก [11]

ในขณะนั้น การต่อสู้ที่พวกเขาขนานนามขึ้นมาอย่างรวดเร็วและแสดงถึงความกร่างไม่มีการมิดเม้มว่า “สงครามต่อสู้การก่อการร้ายในทั่วโลก” (Global War on Terror) ยังคงเป็นกิจการในประเทศหนึ่งประเทศเดียวอยู่ อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้มีการลงลึกเข้าสู่การเตรียมการเพื่อขยายมันให้กว้างขวางออกไป ในวิถีทางที่รุนแรงยิ่งขึ้นและก่อให้เกิดความวิบัติเสียหายมากขึ้นกว่าที่พวกเขาสามารถจินตนาการได้ ด้วยการเข้ารุกรานและยึดครองอิรักของซัดดัม ฮุสเซน และสร้างฐานะครอบงำเหนือดินแดนหัวใจของน้ำมันในพื้นพิภพนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขามั่นอกมั่นใจว่าจะต้องเกิดขึ้นติดตามมา

(ควรต้องบันทึกเอาไว้ในที่นี้ว่า นิตยสารนิวสวีก (Newsweek) ได้อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่อังกฤษผู้หนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกในตอนนั้นได้อย่างเหมาะเจาะ โดยเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกล่าวว่า “ทุกๆ คนต่างต้องการไปยังแบกแดด แต่ลูกผู้ชายตัวจริงนั้นต้องการไปให้ถึงเตหะราน” [12])

หลังจากเวลาผันผ่านไปหลายปี บางทีมันอาจจะไม่ได้สร้างเซอร์ไพรซ์อะไรให้แก่คุณ –เฉกเช่นเดียวกับที่น่าจะไม่ได้ก่อให้เกิดความประหลาดใจอะไรแก่ผู้ประท้วงหลายแสนคนซึ่งออกมาสู่ท้องถนนตามเมืองใหญ่เมืองน้อยของสหรัฐฯในตอนต้นปี 2003 เพื่อคัดค้านการบุกรุกรานอิรัก [13]— ในแง่ที่ว่าเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องราวจำนวนมากซึ่งคล้องจองกับคำพังเพยที่ว่า “ระวังให้ดีในสิ่งที่คุณมุ่งมาดปรารถนา” (be careful what you wish for) จริงๆ แล้วคุณอาจจะไม่ได้ต้องการมันเลย

แผนที่ซึ่งทำให้มองเห็นภาพสงครามต่อสู้การก่อการร้าย

แล้วเรื่องนี้ยังไม่ใช่ว่ายุติปิดฉากลงแล้ว มันยังดูห่างไกลนักจากตอนจบ แท้ที่จริงแล้วในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สงครามครั้งที่เกิดการสู้รบกันมาอย่างยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ[14] ซึ่งก็คือสงครามที่ดำเนินอยู่ในอัฟกานิสถานนี่แหละ กำลังมีแต่ยืดเยื้อออกไปอีกเรื่อยๆ จำนวนและระดับของทหารสหรัฐฯซึ่งประจำการอยู่ที่นั่นกำลังไต่สูงขยายตัว[15] ขณะที่การถล่มโจมตีทางอากาศก็เข้มข้นยิ่งขึ้น[16] โดยที่พวกตอลิบานสามารถควบคุมพื้นที่ภาคส่วนอันสำคัญๆ ของประเทศเอาไว้[17] พร้อมกันนั้นกลุ่มก่อการร้ายที่ประทับแบรนด์ “รัฐอิสลาม” กำลังแผ่ขยายไปอย่างประสบความสำเร็จยิ่งกว่าด้วยซ้ำในภูมิภาคทางด้านตะวันออกของประเทศ[18] ตามรายงานล่าสุดจากเพนตากอนระบุเอาไว้ว่า “มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือพวกกบฏมากกว่า 20 กลุ่มอยู่ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน”[19]

คิดดูซิครับ: 20 กลุ่มทีเดียว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลังจากเวลาผ่านไปนานหลายๆ ปี “สงครามการต่อสู้การก่อการร้าย” สมควรที่จะถูกมองว่าเป็นแบบฝึกหัดอันไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นในเรื่องการใช้สูตรคูณ –แล้วก้อไม่เฉพาะในอัฟกานิสถานเท่านั้นด้วย

เวลาผ่านไปกว่า 1 ทศวรรษครึ่งหลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้หนึ่งพูดถึงประเทศต่างๆ ราว 60 ประเทศหรือมากกว่านั้นที่มีศักยภาพจะตกเป็นเป้าหมายของสงครามการต่อสู้การก่อการร้าย ในที่สุดเวลานี้เราก็มีภาพที่มองเห็นด้วยตาซึ่งแสดงให้เห็นถึงขนาดขอบเขตอันถูกต้องแท้จริงของ “สงครามการต่อสู้การก่อการร้าย” ทั้งนี้ต้องขอบคุณผลงานอันประมาณค่ามิได้ของกลุ่มๆ หนึ่งที่อุทิศตนเพื่อเรื่องนี้ ได้แก่ “โครงการค่าใช้จ่ายของสงคราม” (the Costs of War Project) แห่งสถาบันวัตสันเพื่อกิจการระหว่างประเทศและกิจการสาธารณะ (Watson Institute for International and Public Affairs) ของมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University’s) ในเมืองพรอวิเดนซ์ (Providence) รัฐโรดไอแลนด์ (Rhode Island)[20] ทั้งนี้จากการที่เราต้องรอคอยอย่างเนิ่นนานถึงขนาดนี้ มันก็ควรที่จะบอกเล่าให้เราทราบถึงบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของยุคสมัยแห่งสงครามอันยั่งยืนถาวรนี้

โครงการค่าใช้จ่ายของสงครามไม่เพียงผลิตแผนที่ของสงคราม “การต่อสู้การก่อการร้าย” ช่วงปี 2015-2017 เท่านั้น แต่ยังเป็นแผนที่ในลักษณะเช่นนี้ฉบับแรกเท่าที่เคยมีผู้จัดทำกันออกมาอีกด้วย แผนที่นี้เสนอภาพอันน่างงงวยชวนตกใจด้านต่างๆ เกี่ยวกับสงครามต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้ายซึ่งวอชิงตันกระทำอยู่ตลอดทั่วพิภพนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแผ่กระจายของสงครามนี้, การส่งกองกำลังอาวุธของสหรัฐฯออกไปประจำการตามที่ต่างๆ, ภารกิจที่กำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในการฝึกอบรมกองกำลังอาวุธต่างชาติให้ทำการต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย, ฐานทัพที่ตั้งทางทหารต่างๆ ของสหรัฐฯซึ่งทำให้การประจำการและการทำภารกิจเหล่านี้เป็นไปได้, การใช้โดรนและการโจมตีทางอากาศอย่างอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการทำสงครามต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย, และกองทหารหน่วยรบของสหรัฐฯที่กำลังเข้าช่วยเหลือสู้รบกับผู้ก่อการร้าย (แน่นอนทีเดียวว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายทั้งหลายก็มีการแปลงร่างเปลี่ยนโฉมและขยายตัวไปอย่างโกลาหลอึกทึก ซึ่งนี่ย่อมต้องถือว่าเป็นส่วนสาระสำคัญของกระบวนการอันเดียวกัน)

เพียงการชำเลืองดูแผนที่ฉบับนี้ มันก็บอกให้คุณทราบว่า “สงครามการต่อสู้การก่อการร้าย” ซึ่งเป็นชุดของการสู้รบขัดแย้งที่พันพัวร้อยรัดเข้าด้วยกันอย่างสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น เวลานี้กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกอันโดดเด่นอย่างหนึ่งแล้ว มันแผ่เหยียดยาวจากฟิลิปปินส์ (โดยที่ในประเทศนี้มีกลุ่มซึ่งประทับตราตัวเองเป็นไอซิส (ISIS อีกชื่อย่อหนึ่งของไอเอส) เพิ่งทำการสู้รบเป็นเวลาเกือบๆ 5 เดือนทีเดียว ในการรณรงค์ซึ่งทำให้เมืองขนาดค่อนข้างใหญ่อย่าง มาราวี (Marawi) ที่มีประชากรราว 300,000 คน ได้รับความเสียหายหนัก)[21], ผ่านเอเชียใต้, เอเชียกลาง, ตะวันออกกลาง, แอฟริกาเหนือ, และล่วงลึกเข้าไปในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเพียงเมื่อไม่นานมานี้เอง มีทหารรบพิเศษของสหรัฐฯสังกัดหน่วย “กรีนแบเรต์” (Green Beret) เสียชีวิตไป 4 คนจากการถูกซุ่มตีในประเทศไนเจอร์[22]

สิ่งที่น่างงงวยชวนให้ตกใจพอๆ กันอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่จำนวนของประเทศซึ่ง “สงครามการต่อสู้การก่อการร้าย” ของวอชิงตันได้แตะต้องสัมผัสในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แน่นอนล่ะ ครั้งหนึ่งมีอยู่เพียงประเทศเดียวเท่านั้น (หรือ ถ้าหากคุณต้องการรวมสหรัฐฯเข้าไปด้วย มันก็มีอยู่ 2 ประเทศ) แต่มาถึงปัจจุบัน โครงการค่าใช้จ่ายของสงคราม ระบุชื่อออกมาได้ไม่ต่ำกว่า 76 ประเทศ เท่ากับ 39% ของประเทศทั้งหมดทั้งสิ้นบนโลกใบนี้ทีเดียว ซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในการสู้รบขัดแย้งระดับโลกคราวนี้

นี่หมายถึงสถานที่อย่าง อัฟกานิสถาน, ซีเรีย, อิรัก, เยเมน, โซมาเลีย, และลิเบีย ซึ่งการปฏิบัติการของโดรนของสหรัฐฯหรือการโจมตีทางอากาศแบบอื่นๆ ของสหรัฐฯกำลังกลายเป็นมาตรฐานปกติ และกองทหารภาคพื้นดินของสหรัฐฯ (บ่อยครั้งทีเดียวเป็นกองทหารรบพิเศษ[23]) ก็เข้าร่วมอยู่ในการสู้รบด้วยไม่ทางตรงก็ในทางอ้อม มันยังหมายถึงพวกประเทศซึ่งบรรดาที่ปรึกษาของสหรัฐฯกำลังฝึกอบรมทหารของกองทัพท้องถิ่นหรือกระทั่งกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นที่มิใช่ทหารประจำการ ในยุทธวิธีการต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย ตลอดจนพวกประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพหรือที่มั่นอันสำคัญยิ่งยวดต่อชุดของการสู้รบขัดแย้งที่กำลังแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ นี้ อย่างที่แผ่นที่ฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นเอาไว้อย่างชัดเจน กิจกรรมประเภทต่างๆ เหล่านี้บ่อยครั้งทีเดียวมีการเหลื่อมซ้อนกันอยู่

แล้วใครจะรู้สึกประหลาดใจกันล่ะเมื่อ “สงคราม” เช่นนี้กำลังเขมือบกลืนกินเงินภาษีอากรของชาวอเมริกันในอัตราซึ่งสมควรส่งผลทำให้การอพยพเข้าประเทศเกิดการรวนเร ขณะที่ภายในสหรัฐฯเองพวกโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เวลานี้กำลังอยู่ในสภาพทรุดโทรมผุพังอย่างเห็นได้ชัด[24]

ในการศึกษาแยกต่างหากอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ออกมาในเดือนพฤศจิกายนปี 2016 [25] โครงการค่าใช้จ่ายของสงคราม ประมาณการเอาไว้ว่า ราคาค่างวดของ “สงครามการต่อสู้การก่อการร้าย” (โดยรวมงบประมาณรายจ่ายในอนาคตเอาไว้บางรายการด้วย) ได้พุ่งโด่งทะลุฟ้าแตะระดับ 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี เพียงเมื่อเร็วๆ นี้เอง ประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งเวลานี้กำลังไต่ระดับเพิ่มขยายการสู้รบขัดแย้งเหล่านี้อยู่ ได้ทวิตระบุถึงตัวเลขอันชวนให้รู้สึกซวนเซยิ่งกว่านี้อีก โดยเขาบอกว่า “หลังจากกำลังใช้จ่ายอย่างงี่เง่า 7 ล้านล้านดอลลาร์ในตะวันออกกลาง มันถึงเวลาแล้วที่จะเริ่นต้นสร้างประเทศของเราขึ้นมาใหม่!”[26]

(ตัวเลขนี้ก็เช่นเดียวกัน ดูเหมือนคำนวณออกมาได้โดยใช้บางสมมุติฐานซึ่งโครงการค่าใช้จ่ายของสงครามใช้อยู่ในการประมาณ[27] นั่นคือ “ดอกเบี้ยที่ต้องชำระในอนาคตจากการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายในสงครามนี้ น่าที่จะทำให้ต้องบวกเพิ่มอีก 7.9 ล้านล้านดอลลาร์เข้าไปในยอดตัวเลขหนี้สินแห่งชาติ” เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงกลางศตวรรษนี้ [28])

สำหรับนักการเมืองชาวอเมริกันสักคนหนึ่ง คงจะไม่สามารถออกความคิดเห็นในปริมาณอันน้อยนิดยิ่งกว่านี้ได้อีกแล้ว ขณะที่การประเมินผลทั้งด้านต้นทุนทางการเงินและต้นทุนทางมนุษย์ในตลอดช่วงเวลาหลายๆ ปีเหล่านี้ ส่วนใหญ่กลับถูกปล่อยปละ [29] ให้เป็นหน้าที่ของพวกกลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น[30] ในทางเป็นจริงแล้ว “สงครามการต่อสู้การก่อการร้าย” ซึ่งแผ่ขยายออกไปตามที่ปรากฏบนแผนที่ในวันนี้ กำหนดจัดเตรียมกันขึ้นมาโดยแทบไม่ได้มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างจริงจังใดๆ ในประเทศนี้ในเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายของมันหรือเรื่องผลที่จะเกิดตามมา

ถ้าหากว่าเอกสารซึ่งผลิตขึ้นโดยโครงการค่าใช้จ่ายของสงครามชิ้นนี้ ในทางเป็นจริงแล้วเป็นแผนที่ซึ่งได้ออกมาจากนรกโลกันตร์แล้ว ผมก็เชื่อว่ามันยังเป็นแผนที่แสดงขนาดขอบเขตอย่างเต็มๆ ของสงครามคราวนี้ฉบับแรกที่เคยผลิตกันขึ้นมาอีกด้วย

ลองหยุดสักนิดและขบคิดพิจารณาดูซิครับ ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ประชาชนชาวอมเริกันกำลังออกเงินทุนสนับสนุนชุดแห่งการสู้รบขัดแย้งอันสลับซับซ้อนนี้ในระดับหลักล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว โดยที่ไม่ได้มีการจัดทำแผนที่สักฉบับเดียวเพื่อแสดงให้เห็นสงครามซึ่งวอชิงตันกำลังสู้รบอยู่เอาเลย ไม่มีเลยสักฉบับเดียว ครับ สำหรับชิ้นส่วนต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนโฉมแปลงร่างของสงคราม, การแผ่ขยายของชุดแห่งการสู้รบขัดแย้งครั้งต่างๆ ในสงครามนี้ ได้มีการเสนอให้ปรากฏอยู่ในข่าวที่ไหนอะไรสักแห่งเป็นประจำอยู่หรอก ทว่ามีน้อยนิดเหลือเกินที่นำเสนอกันเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ (ยกเว้นกรณีที่เกิดการโจมตีแบบก่อการร้ายของ “หมาป่าผู้โดดเดี่ยว” ในสหรัฐฯหรือในยุโรปตะวันตก) ในตลอดระยะเวลาปีแล้วปีเล่าเหล่านี้ ชาวอเมริกันไม่ได้มีโอกาสมองเห็นภาพของการสู้รบขัดแย้งที่แปลกประหลาดและยืดเยื้อเหมือนกับตราบชั่วนิจนิรันดรโดยที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใดนี้เลย

เรื่องนี้ส่วนหนึ่งอาจหาคำอธิบายได้จากธรรมชาติของ “สงคราม” คราวนี้ มันเป็นสงครามที่ไม่มีแนวรบใดๆ ไม่มีกองทัพใดๆ กำลังบุกรุดหน้ามุ่งสู่กรุงเบอร์ลิน และไม่มีกองเรือรบอันเกรียงไกรใดๆ กำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วน่าเกรมขามสู่มาตุภูมิของญี่ปุ่น เหมือนเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 , มันไม่เหมือนแม้กระทั่งสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีเมื่อตอนต้นทศวรรษ 1950 ซึ่งมีเส้นขนานให้คุณยกทัพข้ามไปหรือเป็นเป้าหมายให้คุณสู้รบเพื่อรุกไปให้ถึง, ในสงครามคราวนี้ ยังไม่มีการล่าถอยอย่างชัดเจนใดๆ อีกด้วย ขณะเดียวกันภายหลังจากบุกหน้าอย่างผู้พิชิตเข้าสู่กรุงแบกแดดได้สำเร็จเมื่อปี 2003 แล้ว มันก็แทบไม่ได้มีการรุกเดินหน้าใดๆ อีกเลยเช่นกัน

เป็นเรื่องยากเย็นทีเดียวแม้กระทั่งการนำเอาส่วนประกอบบางส่วนของสงครามคราวนี้มาจัดทำเป็นแผนที่ และเมื่อคุณพยายามทำออกมาสำเร็จจนได้ --อย่างเช่นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งนิวยอร์กไทมส์จัดทำแผนที่ดินแดนต่างๆ ซึ่งพวกตอลิบานมีอำนาจควบคุมอยู่ในอัฟกานิสถาน[31] — ภาพที่ปรากฏออกมาก็จะดูซับซ้อนและก่อให้เกิดผลกระทบเพียงระดับจำกัด อย่างไรก็ดี กล่าวในภาพรวมแล้ว ในช่วงปีเหล่านี้ เราผู้เป็นประชาชน คือผู้ที่ถูกปลดประจำการออกจากการเป็นทหารเข้าร่วมสู้รบ[32] ในแทบจะทุกวิถีทางซึ่งสามารถที่จะจินตนาการกันได้ แม้กระทั่งภายหลังจากบังเกิดสงครามและการสู้รบขัดแย้งอย่างต่อเนื่องเป็นชุดไม่รู้จักจบสิ้นภายใต้หัวข้ออันสะดุดตาที่ใช้ชื่อว่าสงครามการต่อสู้การก่อการร้าย

วาดแผนที่สำหรับปี 2018 และต่อจากนั้น

ผมขออนุญาตร่ายมนตร์บทนี้ซ้ำอีกครั้งนะครับ: ครั้งหนึ่งเมื่อเกือบๆ 17 ปีที่แล้ว ยังคงมีประเทศเดียวเท่านั้น เวลานี้จำนวนกลายเป็น 76 และทำท่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันนั้น เมืองใหญ่นครยิ่งใหญ่แห่งแล้วแห่งเล่ากำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นกองซากปรักหักพัง[33] มนุษย์จำนวนหลายสิบล้านชีวิตกำลังถูกผลักไสให้พลัดออกจากบ้านเรือนของพวกเขาเอง [34] ผู้ลี้ภัยมากมายเป็นล้านๆ ยังคงพยายามหาทางข้ามพรมแดนไปพักพิงยังประเทศอื่น ดินแดนที่เกิดความไม่สงบมีแต่เพิ่มมากขึ้นทุกที พร้อมกันนั้นพวกกลุ่มผู้ก่อการร้ายทั้งหลายก็กลายเป็นแบรนด์เนมชื่อดังตลอดทั่วทั้งดินแดนส่วนสำคัญๆ ของพิภพนี้ และโลกอเมริกันของเราก็ดำเนินการสั่งสมกำลังทหารเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง[35]

นี่สมควรที่จะต้องขบคิดพิจารณาว่ามันเป็นสงครามระดับโลกชนิดใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นสงครามที่ดำเนินไปอย่างไม่รู้จักจบตราบชั่วนิจนิรันดร ดังนั้นขอให้หันกลับมามองแผนที่ฉบับนี้กันอีกครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องพยายามจินตนาการให้มองเห็นเป็นภาพว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นมา เนื่องจากเรากำลังเผชิญหน้ากับความวิบัติหายนะชนิดใหม่ กำลังเกิดกระบวนการสั่งสมกำลังทหารในทั่วทั้งพิภพอย่างชนิดที่เราไม่เคยพบไม่เคยเห็นกันมาก่อนเลยจริงๆ ไม่ว่าสงครามของวอชิงตันจะประสบ “ความสำเร็จ” กันกี่ครั้งกี่ครา ไล่ตั้งแต่การรุกรานอัฟกานิสถานในปี 2001 ไปจนถึงการยึดครองกรุงแบกแดดในปี 2003 จวบจนกระทั่งการทำลาย “รัฐกาหลิบ” ของกลุ่มรัฐอิสลามในซีเรียและอิรักเมื่อเร็วๆ นี้ (หรือควรจะกล่าวเพียงแค่ว่า การทำลายรัฐกาหลิบของกลุ่มรัฐอิสลามไปแทบจะทั้งหมด เนื่องจากจนถึงขณะนี้เครื่องบินอเมริกันยังคงกำลังทิ้งระเบิดและยิงขีปนาวุธเข้าใส่หลายๆ ส่วนของซีเรียกันอยู่เลย[36]) ทว่าการสู้รบขัดแย้งก็ดูเหมือนเพียงแค่แปลงร่างเปลี่ยนโฉมและกลิ้งหลุนๆ ต่อไปเรื่อยๆ เท่านั้น

เวลานี้เรากำลังอยู่ในยุคสมัยซึ่งกองทัพสหรัฐฯกำลังเป็นตัวบุกนำหน้า –แถมบ่อยครั้งทีเดียวยังเป็นตัวบุกนำหน้าเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นด้วยซ้ำ –ของสิ่งที่เคยเรียกขานกันว่า “นโยบายการต่างประเทศ” ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกับที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเองกลับกำลังถูกลดขนาดลงไปอย่างฮวบฮาบ[37] ในปี 2017 กำลังทหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯถูกส่งออกไปประจำการยัง 149 ประเทศทั่วโลก[38] และสหรัฐฯมีทหารจำนวนมากมายไปประจำการอยู่ตามสถานที่ต่างๆ มากมายเหลือเกินบนโลกใบนี้ จนกระทั่งเพนตากอนไม่สามารถระบุได้ว่าพวกเขาราวๆ 44,000 คนไปอยู่ที่ตรงไหน[39] ในทางเป็นจริงแล้ว มันอาจจะไม่มีทางจัดทำแผนที่อันถูกต้องแท้จริงของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างครบถ้วนทั้งหมดหรอก แต่กระนั้นโครงการค่าใช้จ่ายของสงครามก็สมควรที่จะได้รับการเชิดชูว่าประสบชัยชนะสำหรับการวาดภาพให้เรามองเห็นถึงสิ่งซึ่งสามารถมองเห็นกันได้

ยิ่งเมื่อมองเลยต่อไปถึงอนาคตข้างหน้า คงต้องขอให้พวกเราช่วยกันสวดอ้อนวอนขอพรให้แก่สิ่งๆ หนึ่ง: นั่นก็คือขอให้บรรดาผู้คนที่ทำงานอยู่ในโครงการนี้มีความแข็งแกร่งมีความอึดอย่างมากมายมหาศาล เนื่องจากมองเห็นกันอยู่แล้วว่า ในยุคสมัยของทรัมป์ (และเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลาต่อๆ ไปภายหลังจากนั้นด้วย) ต้นทุนค่าใช้จ่ายของสงครามจะมีแต่ขยับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เท่านั้น งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมฉบับแรกในยุคของทรัมป์ ซึ่งปรากฏว่าทางรัฐสภาผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยที่พรรคการเมืองทั้งสองพรรคต่างลงคะแนนรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์และจากนั้นก็ลงนามด้วยความยินดีโดยประธานาธิบดีนั้น อยู่ในระดับที่สูงชวนงงงวยถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว[40] เวลาเดียวกันนั้น ขณะที่เหล่าผู้นำของกองทัพและตัวประธานาธิบดีเองกำลังขยายเพิ่มระดับการสู้รบขัดแย้งของสหรัฐฯ ในสมรภูมิต่างๆ อยู่แล้ว ตั้งแต่ ไนเจอร์[41] ไปจนถึง เยเมน[42], โซมาเลีย[43], จนถึงอัฟกานิสถาน กระนั้นพวกเขาก็ดูเหมือนยังคงเที่ยวเสาะแสวงหาหนทางที่จะเปิดศึกทำสงครามให้เพิ่มมากขึ้นอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกโรเบิร์ต เนลเลอร์ (Robert Neller) ผู้บัญชาการเหล่าทหารนาวิกโยธินของสหรัฐฯ ได้บอก [44]กับกองทหารอเมริกันในนอร์เวย์ให้คาดหมายเอาไว้ว่าจะเกิด “การสู้รบอย่างใหญ่มหึมา” ขึ้นมาในอนาคต โดยที่เขาชี้ไปที่รัสเซีย, จีน, อิหร่าน, และเกาหลีเหนือ และกล่าวต่อไปว่า “ผมหวังว่าผมจะคาดผิดนะ แต่ว่าสงครามน่ะกำลังขยับใกล้เข้ามาแล้ว” ในเดือนธันวาคมปี 2017 ที่ผ่านมา พลโท เอช อาร์ แมคมาสเตอร์ (H R McMaster) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติก็เสนอแนะ[45]ในทำนองเดียวกันว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงคราม (ซึ่งเราย่อมสามารถเข้าใจได้อยู่แล้วว่า หมายถึงสงครามนิวเคลียร์) กับเกาหลีเหนือของคิม จองอึน “กำลังเพิ่มทวีขึ้นทุกๆ วัน” เวลาเดียวกันนั้น ในคณะบริหารชุดนี้ซึ่งอัดแน่นไปด้วยพวกหวาดกลัวอิหร่าน ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ดูเหมือนกำลังเตรียมพร้อมที่จะฉีกทิ้งข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านแล้ว [46]

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในปี 2018 และต่อไปจากนั้น แผนที่ชนิดที่มีการสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ จำนวนมากคงจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากการบันทึกสงครามล่าสุดครั้งต่างๆ ของอเมริกานี่แหละ ตัวอย่างเช่น ขอให้ลองขบคิดพิจารณารายงานข่าวชิ้นหนึ่งในนิวยอร์กไทมส์เมื่อเร็วๆ นี้ ที่บอกว่าเวลานี้มีลูกจ้างข้าราชการของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิจำนวนราว 2,000 คน “ได้ถูกส่งออกไปประจำการยังประเทศต่างๆ มากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก” เรียบร้อยแล้ว[47] ส่วนใหญ่ไปทำหน้าที่ป้องกันการโจมตีของพวกผู้ก่อการร้าย นี่แหละคือสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ในศตวรรษที่ 21

ดังนั้นขอให้เราต้อนรับปี 2018 ในฐานะที่เป็นอีกปีหนึ่งซึ่งเกิดสงครามอย่างไม่รู้จบไม่รู้สิ้น และในขณะที่เรากำลังพูดกันถึงเรื่องนี้อยู่ ก็ขอส่งคำเตือนเล็กๆ ถึงเหล่าผู้นำชาวอเมริกันทั้งหลายว่า : เมื่อดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ระวังให้ดีเถอะในสิ่งที่คุณมุ่งมาดปรารถนา จริงๆ แล้วคุณอาจจะไม่ได้ต้องการมันเลย

หมายเหตุ
[1] https://www.nytimes.com/2017/12/22/world/asia/mike-pence-afghanistan.html
[2] https://www.reuters.com/article/us-usa-afghanistan/pence-visits-afghanistan-says-u-s-will-see-this-through-idUSKBN1EF2U3
[3] https://www.washingtonpost.com/politics/pence-visits-troops-in-afghanistan-in-first-trip-to-a-war-zone/2017/12/21/eb14316a-e662-11e7-ab50-621fe0588340_story.html?utm_term=.9d096256c4d3
[4]https://www.militarytimes.com/flashpoints/2017/11/16/trump-surge-in-afghanistan-is-underway-as-14000-us-troops-are-now-in-afghanistan/
[5] http://www.foxnews.com/politics/2017/12/21/vice-president-mike-pence-makes-surprise-visit-to-afghanistan.html
[6] https://www.washingtonpost.com/politics/pence-visits-troops-in-afghanistan-in-first-trip-to-a-war-zone/2017/12/21/eb14316a-e662-11e7-ab50-621fe0588340_story.html?utm_term=.9d096256c4d3
[7]http://www.tomdispatch.com/post/175578/best_of_tomdispatch%3A_chalmers_johnson,_the_cia_and_a_blowback_world/
[8] http://www.tomdispatch.com/blog/175837/
[9]https://www.amazon.com/dp/1250069262/ref=nosim/?tag=tomdispatch-20
[10] http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/1547561.stm
[11] https://georgewbush-whitehouse.archives.gov/news/releases/2002/06/20020601-3.html
[12] http://www.nytimes.com/2003/03/18/opinion/things-to-come.html
[13]http://www.tomdispatch.com/post/414/signage_of_the_times
[14]https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2014/05/29/these-are-americas-9-longest-foreign-wars/?utm_term=.324b1084afed
[15]https://www.militarytimes.com/flashpoints/2017/11/16/trump-surge-in-afghanistan-is-underway-as-14000-us-troops-are-now-in-afghanistan/
[16] https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-12-21/u-s-touts-afghanistan-special-operations-raids-in-rare-detail
[17] https://www.reuters.com/article/us-usa-afghanistan-militants/taliban-increases-influence-territory-in-afghanistan-u-s-watchdog-idUSKBN1D026N
[18] https://www.nytimes.com/2017/12/25/world/asia/eastern-afghanistan-isis.html
[19] https://media.defense.gov/2017/Dec/15/2001856979/-1/-1/1/1225-REPORT-DEC-2017-FINAL-UNCLASS-BASE.PDF
[20] http://watson.brown.edu/costsofwar/
[21] http://newsinfo.inquirer.net/939202/marawi-war-maute-terrorism-duterte-isnilon-hapilon-is-islamic-state
[22] http://www.cnn.com/2017/10/10/politics/niger-deadly-ambush-us-intelligence/index.html
[23]http://www.tomdispatch.com/blog/176363/tomgram%3A_nick_turse%2C_a_wider_world_of_war/
[24] https://www.infrastructurereportcard.org/
[25] http://watson.brown.edu/costsofwar/figures/2017/us-budgetary-costs-post-911-wars-through-fy2018-56-trillion
[26] https://www.timesofisrael.com/trump-says-us-foolishly-spent-7-trillion-in-the-middle-east/
[27] https://news.brown.edu/articles/2017/11/costssummary
[28] https://www.nytimes.com/2017/12/29/us/politics/fact-check-trump-interview.html
[29] https://www.iraqbodycount.org/
[30] https://www.thebureauinvestigates.com/stories
[31]https://www.nytimes.com/interactive/2017/08/23/world/asia/afghanistan-us-taliban-isis-control.html
[32]http://www.tomdispatch.com/blog/176262/tomgram%3A_engelhardt%2C_the_teflon_wars/
[33]http://www.tomdispatch.com/blog/176280/tomgram%3A_engelhardt%2C_the_globalization_of_misery/
[34] http://www.unhcr.org/en-us/figures-at-a-glance.html
[35]http://www.tomdispatch.com/blog/176337/tomgram%3A_danny_sjursen%2C_embracing_our_inner_empire/
[36]https://mobile.nytimes.com/2017/12/24/world/middleeast/last-phase-islamic-state-iraq-syria.html
[37] https://www.nytimes.com/2017/11/24/us/politics/state-department-tillerson.html
[38]http://www.tomdispatch.com/blog/176363/tomgram%3A_nick_turse%2C_a_wider_world_of_war/
[39] https://www.stripes.com/report-44-000-unknown-military-personnel-stationed-around-the-world-1.501292
[40] https://www.nytimes.com/2017/09/18/us/politics/senate-pentagon-spending-bill.html
[41] https://www.nytimes.com/2017/11/30/us/politics/pentagon-niger-drones.html
[42] https://www.nbcnews.com/politics/national-security/pentagon-confirms-u-s-ground-operations-yemen-n831616
[43] http://www.newsweek.com/trump-doubles-us-forces-somalia-fight-isis-and-al-shabab-most-black-hawk-down-716923
[44]https://www.washingtonpost.com/news/checkpoint/wp/2017/12/23/theres-a-war-coming-top-marine-corps-general-tells-u-s-troops/?hpid=hp_hp-top-table-main_cp-war-525pm%3Ahomepage%2Fstory&utm_term=.bc97e72c0771
[45] http://www.cnn.com/2017/12/02/politics/mcmaster-potential-war-north-korea/index.html
[46] https://www.politico.com/story/2017/12/28/trump-kill-iran-nuclear-deal-260860
[47]https://www.nytimes.com/2017/12/26/world/americas/homeland-security-customs-border-patrol.html

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ทอม เองเกลฮาร์ดต์ เป็นผู้สร้างและดำเนินงานเว็บไซต์ Tomdispatch.com ที่เป็นโครงการหนึ่งของ The Nation Institute โดยที่เขาเองก็เป็นสมาชิกผู้หนึ่งของสถาบันแห่งนี้ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่ได้รับการยกย่องชมเชยอย่างสูง เรื่อง The End of Victory Culture ว่าด้วยประวัติศาสตร์ลัทธิเชิดชูชัยชนะอย่างเลยเถิดของชาวอเมริกัน (American triumphalism) ในช่วงสงครามเย็น สำหรับผลงานหนังสือเล่มล่าสุดของเขาได้แก่เรื่อง Shadow Government: Surveillance, Secret Wars, and a Global Security State in a Single-Superpower World นอกจากนั้นทุกๆ ฤดูใบไม้ผลิเขาจะเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่บัณฑิตวิทยาลัยวารสารศาสตร์ (Graduate School of Journalism) มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley)

(ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ TomDispatch.com)


กำลังโหลดความคิดเห็น