xs
xsm
sm
md
lg

จีนเดินหน้าทำระบบป้องกันขีปนาวุธ หวั่น‘อาวุธนิวเคลียร์’ของอินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดั๊ก สึรุโอกะ

<i>ขีปนาวุธนำวิถี “อัคนี” 5  เข้าขบวนสวนสนามเนื่องในวันชาติอินเดียในกรุงนิวเดลีเมื่อเดือนมกราคม 2013  “อัคนี 5” ได้เคยถูกนำมาทดสอบก่อนหน้านี้  แต่กระทรวงกลาโหมแดนภารตะระบุว่า การทดสอบที่ประสบความสำเร็จเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ม.ค. 2018 คือการทดสอบยิงเต็มพิสัยครั้งแรก </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

‘China pursuing missile defenses; Indian nukes are main worry’
By Doug Tsuruoka
19/01/2018

บรูซ ดับเบิลยู. แมคโดนัลด์ ผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปชาวสหรัฐฯในเรื่องการป้องกันขีปนาวุธ บอกว่า ถึงแม้ไม่ค่อยมีข่าวปรากฏออกมา แต่คาดได้ว่าจีนกำลังเดินหน้าเรื่องระบบป้องกันขีปนาวุธอยู่แน่ๆ ถึงแม้จะอยู่ในลักษณะมีขนาดขอบเขตที่จำกัด ด้วยความกังวลในขีปนาวุธข้ามทวีปติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดียมากกว่าสมรรถนะด้านนี้ของเกาหลีเหนือ, ญี่ปุ่น, หรือสหรัฐฯ ขณะเดียวกันปักกิ่งยังมีแรงจูงใจซ่อนเร้นที่ว่า การพัฒนาด้านการป้องกันขีปนาวุธนั้น สามารถอำพรางการทดสอบอาวุธเพื่อใช้ในการสอยดาวเทียม

อินเดียเพิ่งประสบความสำเร็จในการยิงทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile หรือ ICBM) รุ่นก้าวหน้าทันสมัยที่สุดของตน และก็สามารถที่จะติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ นั่นคือ รุ่น “อัคนี-5” (Agni-5) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า อาวุธชนิดนี้สามารถเป็นภัยคุกคามต่อจีนและก็ต่อปากีสถาน [1]

นอกจากนั้นแล้ว จีนยังอยู่ภายในพิสัยทำการของพวกขีปนาวุธที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ได้ของเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกับที่มีรายงานว่าญี่ปุ่นกำลังขบคิดพิจารณาว่าตนควรที่จะพัฒนาสมรรถนะทำนองเดียวกันนี้ขึ้นมาหรือไม่ [2] อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าประหลาดใจกันไม่ใช่น้อยเลยว่า เวลานี้แทบไม่มีการโฟกัสจับตาในเรื่องความพยายามของฝ่ายจีนที่จะพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธขึ้นมาต่อสู้กับภัยคุกคามเหล่านี้

บรูซ ดับเบิลยู. แมคโดนัลด์ (Bruce W. MacDonald) [3] ผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปชาวสหรัฐฯในเรื่องการป้องกันขีปนาวุธ กล่าวให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้อยู่มากที่จีนก็กำลังยกระดับความพยายามในการนำเอาระบบป้องกันขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์ออกมาติดตั้งประจำการในระยะเวลาสองสามปีต่อจากนี้ โดยที่ระบบนี้จะยังมีจรวดขีปนาวุธสกัดกั้นเพียงจำนวนจำกัด เขาตั้งข้อสังเกตว่า สมรรถนะด้านขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ของอินเดีย คือปัจจัยอันเป็นแรงจูงใจสำหรับความพยายามด้านนี้ของแดนมังกร มากยิ่งกว่าภัยคุกคามอื่นๆ ไม่ว่าจะจากขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ, ญี่ปุ่น, หรือของสหรัฐฯก็ตามที

“จีนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ทว่าจีนไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลในเรื่องที่ว่ากำลังจะถูกโจมตีจากโสมแดงหรอก” แมคโดนัลด์กล่าวกับเอเชียไทมส์ สำหรับร่องรอยเงื่อนงำอันยังกำกวมคลุมเครือที่ว่าญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะพัฒนาขีปนาวุธซึ่งเป็นไปได้ที่จะมีสมรรถนะด้านนิวเคลียร์ด้วยนั้น ก็ยังไม่ใช่ความห่วงกังวลสำคัญสำหรับจีนในช่วงเวลานี้ เขากล่าวต่อ

แต่ในส่วนของอินเดีย ซึ่งเข้าเกี่ยวข้องอยู่ในการเผชิญหน้าอันตึงเครียดกับจีนบริเวณชายแดนที่ราบสูงดอคลัม (Doklam) เมื่อปีที่แล้ว [4] นั้น นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย กระนั้นก็ตาม แมคโดนัลด์โต้แย้งว่า เทคโนโลยีด้านต่อต้านขีปนาวุธใดๆ ก็ตามซึ่งจีนจะนำเอามาใช้เพื่อรับมือกับอินเดียนั้นจะอยู่ในระดับพอประมาณเท่านั้น ยกเว้นแต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับนิวเดลีเกิดการพลิกผันอย่างไม่คาดฝัน

ในเวลาเดียวกัน จีนก็ไม่ได้เล็งมองการจัดทำ “โครงการเร่งรัด” เพื่อป้องกันต่อสู้กับพวกขีปนาวุธข้ามทวีปของสหรัฐฯ ถึงแม้คลังแสงขีปนาวุธของอเมริกันมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่อย่างต่อเนื่อง แมคโดนัลด์กล่าวว่า ปักกิ่งน่าที่จะยึดมั่นอยู่กับนโยบาย “ป้องปราม” ที่ได้เคยใช้มาก่อนหน้านี้ ซึ่งยึดมั่นแนวความคิดที่ว่าการมีอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นการป้องปรามการโจมตีได้ สืบเนื่องจากเป็นที่มั่นใจได้ว่าจะมีการตอบโต้เอาคืน และเป็นที่รับประกันได้ว่าจะต้องเกิดความเสียหายยับเยินกันทั้งสองฝ่าย

พร้อมกันนั้น แมคโดนัลด์เน้นย้ำว่า ในเวลาที่จีนดำเนินการพัฒนาด้านการป้องกันขีปนาวุธอยู่นั้น พวกเขายังมีแรงจูงใจแฝงเร้นซึ่งก็คือ กิจกรรมดังกล่าวสามารถที่จะใช้มาพัฒนาพวกอาวุธต่อต้านดาวเทียม (anti-satellite หรือ ASAT) ได้ “เมื่อพิจารณากันเป็นเรื่องๆ ไปโดยไม่นำมาโยงใยเชื่อมต่อกันแล้ว อาวุธต่อต้านดาวเทียมคือเหตุผลใหญ่ที่สุดสำหรับจีนในการเดินหน้าโครงการการป้องกันขีปนาวุธ” แมคโดนัลด์บอก พร้อมกับชี้ว่าปัจจัยนี้มีน้ำหนักมากกว่าเรื่องที่จีนวิตกกังวลเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดียด้วยซ้ำไป

ทางด้าน จอห์น ไพค์ (John Pike) [5] ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของอวกาศ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของคลังสมองด้านการทหารที่ใช้ชื่อว่า globalsecurity.org [6] แสดงความเห็นพ้องด้วยว่าจีนกำลังเดินหน้าในเรื่องการป้องกันขีปนาวุธแล้ว “เรายังไม่ได้เห็นอะไรมากนักออกมาจากจีนในเรื่องการป้องกันขีปนาวุธ เท่าที่เป็นมาจนถึงขณะนี้นะ แต่ผมจะขอคาดหมายอย่างมั่นอกมั่นใจทีเดียวว่าจะได้เห็นเพิ่มมากขึ้น” ไพค์ กล่าว

แมคโดนัลด์นั้นเคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (Assistant Director for National Security) อยู่ที่ สำนักงานนโยบายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของทำเนียบขาว (White House Office of Science and Technology Policy) และเคยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Senior Director for Science and Technology) อยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) ของสหรัฐฯ เขายังเคยทำงานให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯในฐานะผู้ชำนาญการพิเศษด้านอาวุธนิวเคลียร์, อวกาศ, และเทคโนโลยี นอกเหนือจากตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ แล้ว

เขาเป็นผู้เขียนรายงานฉบับเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 ร่วมกับ ชาร์ลส์ เฟอร์กูสัน (Charles Ferguson) ประธานของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists) ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “Chinese Strategic Missile Defense: Will It Happen, and What Would It Mean?” (การป้องกันขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์ของจีน: จะเกิดขึ้นมาหรือไม่ และจะหมายความว่าอย่างไร?) [7]

การประเมินของแมคโดนัลด์ในตอนนั้นก็คือ จีนน่าที่จะกำลังดำเนินการเพื่อติดตั้งประจำการโล่ป้องกันขีปนาวุธที่มีขนาดขอบเขตอันจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า แดนมังกรได้เคยทดสอบสิ่งที่เรียกกันว่า จรวดสกัดกั้นขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ (strategic ballistic missile interceptor) อย่างน้อยที่สุด 3 ครั้งนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2010 เป็นต้นมา แต่จากการพึ่งพาอาศัยแหล่งที่มาของข่าวต่างๆ ซึ่งเผยแพร่ในทางสาธารณะ เขาไม่ทราบว่าจีนได้มีการทดสอบจรวดสกัดกั้นใดๆ อีกหรือไม่หลังจากนั้นเป็นต้นมา

เขากล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ แทบทั้งหมดซึ่งชี้ชวนไปในทางเชื่อว่าจีนจะทำการติดตั้งประจำการระบบป้องกันขีปนาวุธ ตามที่ได้สรุปเอาไว้ในรายงานฉบับปี 2015 ของเขานั้น ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป แต่เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่า จากการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนมีฐานะความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งมากขึ้นทุกทีนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ตลอดจนการที่เขามีความภาคภูมิใจในความองอาจกล้าหาญของกองทัพจีน ทำให้มีความน่าจะเป็นเพิ่มมากขึ้นที่จะมีการเดินหน้าความพยายามด้านการต่อต้านขีปนาวุธ

เมืองใหญ่ทั้งหลายของจีนล้วนอยู่ในพิสัยทำการของขีปนาวุธอินเดีย

แมคโดนัลด์ชี้ว่า อินเดียเริ่มต้นนำเอาขีปนาวุธข้ามทวีป “อัคนี-5” แบบที่เก็บรักษาและยิงออกจากท่อยิง (canister-launched) ของตน เข้าติดตั้งประจำการในปี 2016 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้บรรดาเมืองใหญ่อันทรงความสำคัญทุกๆ เมืองของจีนตกอยู่ภายในพิสัยทำการของอาวุธนิวเคลียร์อินเดียเป็นครั้งแรก นอกจากนั้นเชื่อกันว่าแดนภารตะยังกำลังพัฒนา “อัคนี-6” ซึ่งจะเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปอันมีศักยภาพในการบรรทุกหัวรบหลายๆ หัวรบ ที่มีพิสัยทำการไกลยิ่งขึ้นและมีความสามารถในการบรรทุกน้ำหนักได้มากกว่า “อัคนี-5” อีกด้วย ถึงแม้พวกเจ้าหน้าที่อินเดียพากันปิดปากเงียบในเรื่องนี้ และไม่เป็นที่ชัดเจนว่าขีปนาวุธรุ่นใหม่นี้จะถูกนำมาทดสอบและติดตั้งประจำการกันเมื่อใด

ในเวลาเดียวกัน นักวิเคราะห์ผู้นี้ยืนยันแสดงความมั่นใจว่า พวกผู้นำของจีนให้น้ำหนักความสำคัญแก่เรื่องอาวุธนิวเคลียร์เชิงรุกของอินเดียนี้ สืบเนื่องจากเหตุผลทางการเมืองภายในแดนมังกรเอง มากกว่าเพราะภัยคุกคามจริงๆ ซึ่งนุกภารตะเหล่านี้มีต่อแดนมังกร

เขาชี้ว่า จรวดขีปนาวุธต่างๆ ซึ่งอินเดียกับจีนเล็งเป้าเข้าใส่กันและกันนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องปรามมากกว่าเพื่อการทำสงครามสู้รบกันจริงๆ แต่ปักกิ่งอาจรู้สึกว่าตนเองจำเป็นต้องพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธขึ้นมาตอบโต้ เพราะหวั่นเกรงว่าการที่แดนมังกรดูเหมือนกับมีจุดอ่อนเปราะทางนิวเคลียร์ในเวลาเผชิญหน้ากับแดนภารตะเช่นนี้ อาจกลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองอันร้อนแรงขึ้นภายในประเทศจีนเอง

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่กำลังคอยสะกิดคอยดันให้จีนต้องติดตั้งประจำการโล่ป้องกันขีปนาวุธบางแบบบางประเภท ได้แก่ความหวาดหวั่นที่ว่าอินเดียอาจจะกำลังพัฒนาระบบเช่นนี้ของตัวเองขึ้นมา องค์การเพื่อการวิจัยและการพัฒนาด้านกลาโหม (Defense Research and Development Organization) ของอินเดีย เพิ่งแถลงว่า ตนกำลังทำงานเกี่ยวกับหนทางต่างๆ ในการปกป้องพิทักษ์ประเทศชาติจากการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธซึ่งมีพิสัยทำการที่อาจจะไกลถึง 5,000 กิโลเมตร และในรายงานปี 2015 ของแมคโดนัลด์ก็ได้อ้างคำพูดของนักวิชาการจีนผู้หนึ่งซึ่งบอกว่า “คุณสามารถคิดจินตนาการได้เชียวหรือ ว่าอินเดียกำลังมีระบบป้องกันขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์ แต่จีนกลับไม่มี?”

ไพค์แห่ง globalsecurity.org ให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า จีนยังควรที่จะกังวลใจเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านขีปนาวุธข้ามทวีปที่จะมาจากญี่ปุ่นด้วย เขาชี้ว่าจรวด “เอปซิลอน” (Epsilon) ของญี่ปุ่นที่บรรทุกดาวเทียมเรดาร์ “อัสนาโร-2” (Asnaro-2 radar satellite) ขึ้นไปสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา [8] นั้น สามารถที่จะติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ “ความแตกต่างระหว่างจรวดขีปนาวุธกับจรวดส่งดาวเทียมนั้นไม่ใช่เรื่องของความสูงในการขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่เป็นเรื่องการจัดวางตัวการจัดวางตำแหน่งของจรวดต่างหาก” ไพค์กล่าว

เหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้จีนจะต้องมีสมรรถนะด้านต่อต้านขีปนาวุธ

นอกเหนือจากภัยคุกคามซึ่งมาจากอินเดีย, เกาหลีเหนือ, และญี่ปุ่น รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องคอยจำกัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศแล้ว แมคโดนัลด์กล่าวว่าจีนยังมีเหตุผลอื่นๆ อีกหลายประการที่จะต้องพัฒนาสมรรถนะด้านการต่อต้านขีปนาวุธขึ้นมา

ตัวอย่างเช่น ความพยายามในเรื่องนี้จะทำให้มีความเข้าอกเข้าใจดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีการป้องกันขีปนาวุธ และจุดอ่อนข้อบกพร่องต่างๆ ของระบบต่อต้านขีปนาวุธของพวกชาติที่อาจกลายเป็นศัตรูอย่างเช่นสหรัฐฯและอินเดีย

นอกจากนั้นแล้ว จากการที่จีนมีคลังแสงขีปนาวุธนิวเคลียร์ในขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับของสหรัฐฯและรัสเซีย ดังนั้นการใช้จรวดสกัดกั้นเพื่อต่อต้านขีปนาวุธในลักษณะคัดสรรในลักษณะจำกัดขนาดขอบเขต จะช่วยเหลือแดนมังกรในการป้องกันรักษาอำนาจในการป้องปรามทางนิวเคลียร์ของตนให้สามารถยืดชีวิตอยู่รอดต่อไป ไม่เพียงเท่านั้นจีนยังอาจจะต้องการใช้จรวดสกัดกั้นเพื่อคุ้มครองป้องกัน “พวกเป้าหมายเจาะจง” (point targets) ซึ่งทรงความสำคัญยิ่งยวด อย่างเช่นพวกสิ่งปลูกสร้างทางทหาร หรือโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ อย่าง เขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) จากการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นโดยฝีมือของอินเดียหรือของชาติอื่นๆ

มุมมองในด้านการพัฒนาอาวุธต่อต้านดาวเทียม

แต่เรื่องใหญ่จริงๆ ที่ใครๆ ก็มองเห็นกันอยู่แต่ไม่ค่อยอยากพูดถึงก็คือ ศักยภาพในการทดสอบอาวุธต่อต้านดาวเทียม (ASAT) ซึ่งมาด้วยกันกับการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันขีปนาวุธของจีน

แมคโดนัลด์ชี้ว่า จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเมื่อปี 2007 ตอนที่แดนมังกรทำการทดสอบ ASAT แบบพลังงานจลน์ (kinetic-energy) หรือก็คืออาวุธปล่อยที่อาศัยแรงเฉื่อย (inert projectile) ยิงใส่ดาวเทียมเป้าหมาย แล้วปรากฏว่าทำให้เกิดเศษซากที่เป็นอันตรายกระจายเกลื่อนไปในอวกาศ การทดสอบคราวนั้นยังเป็นการลดทอนเครดิตความน่าเชื่อถือของจีนซึ่งก่อนหน้านั้นเคยประกาศจุดยืนต่อต้านการทำให้อวกาศกลายเป็นพื้นที่แข่งขันกันด้านอาวุธ

แต่เป็นที่คาดหมายกันว่าการทำลายพวกดาวเทียมสอดแนมของสหรัฐฯ หรือทำให้พวกมัน “ตาบอด” จะต้องเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จีนในเวลาเปิดศึกทำสงครามกับสหรัฐฯ แมคโดนัลด์ตั้งข้อสังเกตว่า การทดสอบการป้องกันขีปนาวุธนั้น ไม่เหมือนกับการทดสอบ ASAT แบบเต็มขั้น ตรงที่ไม่ได้ทำให้เกิดเศษซากปลิวเกลื่อนวงโคจร

ภายใต้บริบทนี้ การประคับประคองดำเนินการเรื่องการป้องกันขีปนาวุธเอาไว้ต่อไป ก็จะอนุญาตให้จีนสามารถทำการทดสอบ ASAT ภายใต้การปกปิดอำพรางได้อีกช่องทางหนึ่ง ในเวลาเดียวกันยังหลบหลีกการวิพากษ์วิจารณ์ของต่างประเทศได้ด้วย สหรัฐฯเองก็ไม่สามารถที่จะตำหนิติเตียนจีนได้ในเรื่องที่กำลังพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธ เพราะวอชิงตันกำลังทำอย่างเดียวกันนี้อยู่ด้วยข้ออ้างว่ามุ่งต่อต้านเกาหลีเหนือ

ทว่ามีแง่มุมในด้านลบอยู่เหมือนกันที่อาจทำให้จีนต้องขบคิดทบทวนเกี่ยวกับการติดตั้งประจำการโล่ต่อต้านขีปนาวุธ เป็นต้นว่า มันจะมีราคาแพงลิบลิ่ว และอาจเป็นชนวนทำให้เกิดการตอบโต้กลับคืนจากอินเดีย, ญี่ปุ่น, และสหรัฐฯ นอกจากนั้นมันยังเป็นการขัดแย้งกับสิ่งที่จีนเที่ยววิพากษ์วิจารณ์ความพยายามในด้านการป้องกันขีปนาวุธของประเทศอื่นๆ อีกด้วย

ความพยายามของจีนในการพัฒนาโล่ต่อต้านขีปนาวุธที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถประสบความสำเร็จได้มากกว่าสหรัฐฯหรือไม่? ปัญหานี้ต้องขึ้นอยู่กับความห้าวหาญทางเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตขยายตัวของจีนเป็นอย่างมากทีเดียว แมคโดนัลด์บอกว่าจีนกำลังเผชิญปัญหาท้าทายต่างๆ อย่างเดียวกับที่สหรัฐฯเคยประสบมา ในการพยายามสร้างความสมบูรณ์แบบให้แก่เทคโนโลยีซึ่งถูกเปรียบเทียบว่า เหมือนกับเป็น “การใช้ลูกกระสุนยิงให้ถูกลูกกระสุนที่กำลังวิ่งเข้ามา”

ขณะที่ไพค์ยิ่งมองในเชิงลบมากกว่า โดยกล่าวว่าจีนยังขาดไร้เรดาร์เตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจำเป็นสำหรับการนำทางจรวดสกัดกั้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯจะต้องปรับตัวยอมรับแนวความคิดที่ว่า จีนกำลังกลายเป็นผู้เล่นรายหนึ่งในเทคโนโลยีต่อต้านขีปนาวุธ แล้ว แมคโดนัลด์ชี้ว่าจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ ความสนอกสนใจของอเมริกันยังคงมุ่งโฟกัสอยู่ที่เรื่องการปรับปรุงเพิ่มความทันสมัยและการเพิ่มขยายกองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ตามแบบแผนของจีนเท่านั้น

“นโยบายความมั่นคงของสหรัฐฯยังคงอิงอยู่กับสมมุติฐานที่ว่า สหรัฐฯเป็นเพียงผู้เล่นเจ้าเดียวเท่านั้น เมื่อพูดถึงเรื่องการป้องกันขีปนาวุธ” แมคโดนัลด์ระบุ

หมายเหตุ

[1] http://www.cnn.com/2018/01/18/asia/india-icbm-tests/index.html
[2] http://www.atimes.com/article/will-japan-rent-nukes-us-counter-north-korean-threat/
[3] https://fas.org/expert/bruce-macdonald/
[4] http://www.atimes.com/article/lets-call-whole-thing-off-india-china-row-back-war/
[5] https://www.globalsecurity.org/org/staff/pike.htm
[6] http://globalsecurity.org/
[7] https://www.armscontrol.org/print/7243#bio
[8] http://www.spaceflightinsider.com/organizations/jaxa/japanese-epsilon-rocket-sends-asnaro-2-radar-satellite-orbit/

ดั๊ก สึรุโอกะ เป็นเป็นบรรณาธิการประจำกองบรรณาธิการ (Editor-at-Large) ของเอเชียไทมส์


กำลังโหลดความคิดเห็น