xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ-จีน’แข่งกันหนักทั้ง‘การค้าและด้านอาวุธ’ ทำให้ทั่วทั้งโลกตกอยู่ในความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เคน โมค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US-China trade policies, arms race put whole world at risk
By Ken Moak
15/01/2018

มีหลายๆ เหตุการณ์ในระยะหลังๆ มานี้ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯกำลังเพิ่มระดับความรุนแรงในการโหมกระแส “ภัยคุกคามจากจีน” อีกครั้งหนึ่งแล้ว เป็นต้นว่า การขัดขวางไม่ให้ แอนต์ ไฟแนนเชียล ของกลุ่มอาลีบาบาเข้าเทคโอเวอร์ มันนี่แกรม, การบีบคั้นให้ เอทีแอนด์ที ยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายสมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุดของ หัวเหว่ย ในสหรัฐฯ, และการที่วอชิงตันประกาศรื้อฟื้นการปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ขึ้นมาอีก

สหรัฐฯกำลังไต่บันไดเพิ่มระดับความรุนแรงของถ้อยคำวาจาเกี่ยวกับ “ภัยคุกคามจากจีน” ขึ้นไปอีกครั้งหนึ่งแล้ว ตัวอย่างจากหลายๆ เหตุการณ์ล่าสุดทำให้มองเห็นแนวโน้มเช่นนี้ เป็นต้นว่า การสกัดขัดขวางไม่ให้ แอนต์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) กิจการในเครือของ อาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซสัญชาติจีน เข้าเทคโอเวอร์ มันนี่แกรม อินเตอร์เนชั่นแนล (MoneyGram International) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ [1], การบีบคั้นกดดัน เอทีแอนด์ที (AT&T) ให้ต้องยกเลิกข้อตกลงจัดจำหน่ายโทรศัพท์สมาร์ตโฟนให้แก่บบริษัทหัวเหว่ย (Huawei) [2] , และการรื้อฟื้น “การปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือและในการบินผ่าน” (freedom of navigation and overflight operations หรือ FNOPs) ในทะเลจีนใต้

สกัดกั้นแอนต์ ไฟแนนเชียล

การที่ คณะกรรมาธิการว่าด้วยการลงทุนของต่างประเทศในสหรัฐฯ (Committee on Foreign Investment in the United States หรือ CFIUS ) เข้าสกัดขัดขวางไม่ให้ แอนต์ ไฟแนนเชียล เข้าครอบครองกิจการ มันนี่แกรม ด้วยเหตุผลข้ออ้างในเรื่อง “ความมั่นคงแห่งชาติ" นับเป็นการกระหน่ำตีครั้งล่าสุดครั้งหนึ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งก็อยู่ในสภาพน่าเป็นห่วงอยู่ก่อนแล้ว

แรงจูงใจของ แอนต์ ไฟแนนเชียล ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการมันนี่แกรม บริษัทให้บริการโอนเงินซึ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในสหรัฐฯนั้น กล่าวกันว่าสืบเนื่องมาจากการที่กลุ่มอาลีบาบากำลังเผชิญการแข่งขันหนักหน่วงขึ้นทุกทีจากระบบชำระเงินด้วยเทคโนโลยีรู้จำหน้า “วีแชต” (WeChat facial-recognition payment system) ในแดนมังกร ของค่ายเทนเซนต์ (Tencent) เครือข่ายกิจการด้านอินเทอร์เน็ตสัญชาติจีนรายบิ๊กเบิ้มอีกรายหนึ่ง แอนต์เป็นผู้ที่เสนอวงเงินขอซื้อสูงสุด ประมาณเท่ากับ 1,200 ล้านดอลลาร์ เพื่อเทคโอเวอร์มันนี่แกรม

ดีลนี้ควรจะต้องเป็นข้อตกลงแบบ “วิน-วิน” สำหรับทั้งสองบริษัท เนื่องจากมันนี่แกรมจะถูกขายออกไปในราคาที่สูงขึ้น ส่วนแอนต์ ไฟแนนเชียลก็จะสามารถเจาะเข้าสู่ตลาดต่างประเทศหลายๆ ตลาด เฉพาะในหมู่บริษัทสหรัฐฯนั้น รายที่เสนอราคาซื้อสูงที่สุด อยู่ที่ราว 1,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง นอกจากนั้น มติการตัดสินใจของ CFIUS คราวนี้ ยังเป็นสาเหตุทำให้ มันนี่แกรม ต้องสูญเสียมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นของตนไปมากกว่า 8%

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า CFIUS ใส่ใจห่วงใยกับ “ความมั่นคงแห่งชาติ” ยิ่งกว่าผลประโยชน์ของมันนี่แกรม ประเด็นปัญหาของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ฝ่ายสหรัฐฯหวั่นเกรงว่ารัฐบาลจีนอาจจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคชาวอเมริกันโดยผ่านข้อมูลบัญชีธนาคารของลูกค้าซึ่ง มันนี่แกรม มีอยู่ในมือ แต่ว่าข้อมูลข่าวสารเช่นนี้สามารถแสวงหามาได้อย่างง่ายดายโดยผ่านพวกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit-rating agencies) อยู่แล้ว ดังนั้นมันอาจจะกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติเพิ่มมากขึ้นอีกได้อย่างไร จึงไม่เป็นที่กระจ่างเอาเสียเลย

บีบให้ เอทีแอนด์ที กับ หัวเหว่ย เลิกเป็นหุ้นส่วนกัน

การตีกระหน่ำอย่างแรงใส่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนอีกเรื่องหนึ่ง ได้แก่การที่จู่ๆ เอทีแอนด์ที ก็บอกยกเลิกข้อตกลงที่จะทำตลาดในสหรัฐฯให้แก่โทรศัพท์สมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุดของหัวเหว่ย นั่นคือ รุ่น เมต 10 โปร (Mate 10 Pro) ไอโฟนของค่ายแอปเปิลนั้นถูกขายในตลาดอเมริกันโดยผ่านพวกบริษัทให้บริการสัญญาณการสื่อสารถึงกว่า 90% และเอทีแอนด์ทีก็มีฐานะเป็นผู้ให้บริการสัญญาณสื่อสารไร้สายรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐฯ ขณะที่หัวเหว่ยคือผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์การสื่อสารรายใหญ่ที่สุดของจีน

นี่ก็เหมือนกัน กล่าวกันว่าการตัดสินใจของเอทีแอนด์ทีเป็นผลมาจากแรงบีบคั้นกดดันของคณะกรรมาธิการการข่าวกรองทั้งของวุฒิสภาและของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ด้วยความหวาดกลัวว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อ “ความมั่นคงแห่งชาติ” โดยเป็นที่กล่าวขานกันว่าผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเหว่ยคืออดีตนายทหารบกซึ่งยังอาจยังคงมีสายสัมพันธ์อยู่กับกองทัพจีน [3]

อย่างไรก็ดี หัวเหว่ยได้เป็นผู้จัดหาจัดส่งเครื่องมืออุปกรณ์การสื่อสาร ตลอดจนเป็นผู้จัดทำวางแผนสถาปัตยกรรมด้านการสื่อสารให้แก่ประเทศและดินแดนต่างๆ จำนวนราว 170 แห่ง รวมทั้งพวกชาติซึ่งเป็นพันธมิตรตัวกลั่นของสหรัฐฯด้วยอย่างเช่น สหราชอาณาจักร, นิวซีแลนด์, และเยอรมนี แท้ที่จริงแล้วบริษัทจีนแห่งนี้เองได้จับมือเป็นหุ้นส่วนกับ ดอยต์เชอ เทเลคอม (Deutsche Telekom) ของเยอรมนี ในการเปิดตัวการเชื่อมต่อทางการสื่อสารรุ่น 5 จี ขึ้นในยุโรป [4] ยิ่งไปกว่านั้น หัวเหว่ยยังมีการทำข้อตกลงกับพวกกิจการให้บริการสัญญาณไร้สายชั้นนำทั่วโลกถึง 45 แห่ง

สำหรับ เมต 10 โปร [5]นั้น กล่าวกันว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าแต่ราคาแพงน้อยกว่าพวกโทรศัพท์สมาร์ตโฟนรุ่นก้าวหน้าที่สุดซึ่งผลิตโดย แอปเปิล และ ซัมซุง การห้ามหรือการจำกัดไม่ให้สมาร์ตโฟนของหัวเหว่ยรุ่นนี้เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ย่อมจะเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค อันเป็นการละเมิดจิตวิญญาณแห่งการแข่งขัน จากการที่ แอปเปิล และ ซัมซุง กำลังเป็นผู้ควบคุมส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนสหรัฐฯเอาไว้เกือบๆ 60% อยู่แล้วในเวลานี้ มันจึงกลายเป็นตลาดที่ถูกผูกขาดโดยผู้ขายเพียงน้อยราย (oligopoly) ซึ่งอาจส่งผลทั้งในเรื่องความไร้ประสิทธิภาพและการกำหนดราคาแบบค้ากำไรเกินควร

ฟื้นชีพ “ปฏิบัติการเสรีภาพเดินเรือ”

เมื่อช่วงก่อนหน้านี้ของเดือนนี้ ไบรอัน ฮุค (Brian Hook) ผู้อำนวยการด้านนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวหาจีนว่าตระบัดสัตย์บิดพลิ้วไม่กระทำตามคำมั่นสัญญาที่ว่าจะไม่ “สร้างเสริมกำลังทหาร” ในทะเลจีนใต้เพิ่มมากขึ้นอีก[6] พร้อมกับประกาศว่าสหรัฐฯจะรื้อฟื้นคืนชีพ “การปฏิบัติการเพื่อสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่าน” (FNOPs) ในน่านน้ำแห่งนั้นขึ้นอีกครั้ง นอกจากนั้นยังมีรายงานข่าวหลายกระแส (โดยที่สำคัญแล้วเป็นข่าวจากสื่อมวลชนสหรัฐฯ) บอกว่าฟิลิปปินส์มีความกังวลในเรื่องที่จีนกำลังติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มมากขึ้นอีกในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งมีข้อพิพาทช่วงชิงดินแดนกันอยู่ระหว่างแดนมังกรกับอีกหลายๆ ประเทศ

เป็นความจริงที่จีนกำลังติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มมากขึ้นตามหมู่เกาะต่างๆ ซึ่งแดนมังกรสร้างขึ้นมาภายใน “แนวแผนที่เส้นประ 9 เส้น” (Nine Dash Line) ในทะเลจีนใต้ ทว่าไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจีนกำลังตระบัดสัตย์บิดพลิ้วไม่ทำตามคำมั่นสัญญา หรือว่าเพียงแต่กำลังตอบโต้กับนโยบายของสหรัฐฯในเอเชียช่วงหลังๆ มานี้ ทั้งนี้การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความนิยมชมชื่นที่จะใช้วลีว่า “อินเดีย-แปซิฟิก” (Indo-Pacific) แทน “เอเชีย-แปซิฟิก” ซึ่งเคยใช้กันอยู่ ได้กลายเป็นการโหมเชื้อเพลิงทำให้เกิดการกะเก็งคาดเดากันว่าเขากำลังพยายามฟื้นคืนชีพข้อตกลงความมั่นคงจตุรภาคี ระหว่างสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, และอินเดีย เพื่อ “ปิดล้อม” สิ่งที่ระบุว่าเป็น “ความก้าวร้าวรุกราน” ของจีน และพร้อมๆ กันนั้นก็เพิ่มการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศของเขาเองไปด้วย

อันที่จริงแล้ว ทั้งตัวทรัมป์และพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของเขา เป็นต้นว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน, รัฐมนตรีกลาโหม เจมส์ แมตทิส, และประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม พล.อ.โจเซฟ ดันฟอร์ด ต่างกำลังปฏิบัติตัวคล้ายๆ กับเป็นเซลส์แมนขายอาวุธ ในระหว่างที่พวกเขาเยือนชาติต่างๆ ในเอเชียในช่วงหลังๆ ของปี 2017 โดยกำลังให้คำมั่นสัญญาแก่ทั้งอินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, และ “ชาติที่เป็นเพื่อนมิตร” รายอื่นๆ ว่า จะขายอาวุธอันก้าวหน้าล้ำสมัยของสหรัฐฯให้รวมเป็นมูลค่าระดับหลายแสนล้านดอลลาร์ “เพื่อช่วยเหลือ” ประเทศเหล่านี้ในการป้องกันตนเองจาก “การข่มเหงรังแก” ของจีน

นอกจากนั้นแล้ว สหรัฐฯยังกำลังนำเอาทรัพย์สินทางทหารประเภทต่างๆ เข้าประจำการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มมากขึ้น โดยกำลังส่งทั้งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีรวม 3 หมู่ (โดยที่จะมีเพิ่มเติมมากขึ้นกว่านี้อีกในเวลาต่อไป), เครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นก้าวหน้าล้ำสมัยที่สุด, ระบบป้องกันขีปนาวุธและอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ เข้าสู่ภูมิภาคนี้ เหตุผลอย่างเป็นทางการซึ่งหยิบยกขึ้นมาอ้างกันก็คือเพื่อเหนี่ยวรั้งทัดทานความทะเยอทะยานทางด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ทว่าฝ่ายปักกิ่งดูเหมือนจะพิจารณาเรื่องนี้ต่างออกไป กล่าวคือมองว่าแสนยานุภาพอันมากมายมหาศาลเช่นนี้ ไม่ได้มุ่งหมายที่จะ “กวาดเกาหลีเหนือให้ออกไปจากแผ่นที่โลก” [7] เลย แต่กำลังเล็งเป้ามาที่จีน (และรัสเซีย) ต่างหาก

ไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นเช่นใด แต่สหรัฐฯกับจีนดูเหมือนกำลังทำการแข่งขันด้านอาวุธกันอยู่ อีกทั้งกำลังกล่าวหากันและกันว่า ทำการ “สร้างเสริมกำลังทหาร” ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเพื่อตอบโต้กับ “ภัยคุกคาม” ที่อาจเกิดขึ้นจากสหรัฐฯ จีนกับรัสเซียกำลังจัดการฝึกทางทหารบ่อยครั้งขึ้นในทะเลจีนตะวันออก ทั้งไต้หวันและญี่ปุ่นต่างรายงานว่า เครื่องบินและเรือของกองทัพอากาศและกองทัพเรือจีนกำลังบินและกำลังแล่นเฉียดใกล้ดินแดนของพวกเขาบ่อยครั้งมากขึ้น [8] จีนยังกำลังสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็น เรือบรรทุกเครื่องบิน, เครื่องบินขับไล่ไอพ่น, ขีปนาวุธ, เรือพิฆาต, และเรือดำน้ำ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯ

สิ่งที่กลายเป็นความย้อนแย้งกันก็คือว่า ผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯต่อจีนในช่วงหลังๆ มานี้ อาจจะไม่ได้ผลิตผลลัพธ์อย่างที่วอชิงตันต้องการหรือคาดหวัง

ประการแรก นโยบายต่างๆ ที่ผ่านมาจากทางรัฐสภาสหรัฐฯก่อนหน้านี้ได้ลดทอนการลงทุนของจีนให้หดลงจากระดับเกือบๆ 50,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2016 มาเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนนั้นในปี 2017 การสูญเสียเม็ดเงินลงทุน 25,000 ล้านดอลลาร์เช่นนี้แน่นอนว่าต้องส่งผลเสียหายต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคไฮเทคและภาคการเงิน

สำหรับนโยบายต่างๆ ในช่วงหลังสุดก็อาจลดทอนการลงทุนของจีนลงไปอีก และทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯซึ่งมีความสลับซับซ้อนและน่าเป็นห่วงอยู่แล้วยิ่งตกอยู่ในความเสี่ยง ดีลทางธุรกิจมูลค่ากว่า 250,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งพวกบริษัทสหรัฐฯได้รับมา อาจจะไม่ได้กลายเป็นความจริงอันจับต้องได้เสียแล้ว

มันเป็นความย้อนแย้งกันด้วยเช่นกัน เมื่อความพยายามขัดขวางการลงทุนของจีนในภาคไฮเทคของสหรัฐฯ เอาเข้าจริงแล้วกลับเป็นตัวเร่งรัดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในประเทศจีน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบโต้นโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯซึ่งแดนมังกรมองว่าเป็นการแสดงความเป็นปรปักษ์ รัฐบาลจีนได้เพิ่มงบประมาณรายจ่ายในกิจกรรมด้านการวิจัยและการพัฒนา จากราวๆ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเมื่อช่วงต้นๆ ทศวรรษ 2000 ขึ้นเป็นกว่า 2% แล้วในทุกวันนี้

ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังทำการลงทุนอย่างมหาศาลในเรื่องการศึกษาทางด้าน STEM (ย่อมาจาก science, information technology, engineering and management วิทยาศาสตร์, เทคโนโนยีสารสนเทศ, วิศวกรรม, และการบริหารจัดการ) โดยกำลังผลิตผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเหล่านี้ปีละระหว่าง 6 ล้าน ถึง 7 ล้านคน การลงทุนเช่นนี้จะทำให้ประเทศสามารถลดช่วงห่างทางเทคโนโลยีที่มีอยู่กับสหรัฐฯได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังแซงหน้าสหรัฐฯได้แล้วในด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence), ซูเปอร์คอมพิวเตอร์, รถขับเคลื่อนด้วยตนเอง, รางรถไฟไฮสปีด, และเทคโนโลยีต่างๆ ทางด้านการเงิน

ประการที่ 2 สหรัฐฯไม่ได้อะไรเลยจากการปฏิบัติการ FNOPs นอกเหนือจากการสร้างความเสียหายให้เรือพิฆาต 5 ลำ และการสูญเสียเงินทองไปในเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง การปฏิบัติการเหล่านี้ไม่ได้หยุดยั้งจีนจาก “การสร้างเสริมกำลังทหาร” ในทะเลจีนใต้ แท้ที่จริงแล้ว มันกลับก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ นั่นคือ เร่งรัดให้จีนรีบติดตั้งและประจำการทรัพย์สินและบุคลากรทางทหารของตนภายในอาณาเขตของ “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” ที่แดนมังกรอ้างสิทธิ์อยู่ การรื้อฟื้น FNOPs ขึ้นมาใหม่ไม่เพียงแต่จะถูกพิสูจน์ว่าไม่สามารถป้องปรามไม่ให้จีนดำเนิน “การสร้างเสริมกำลังทหาร” ในทะเลจีนใต้เท่านั้น แต่ในทางเป็นจริงยังอาจจะเป็นการเพิ่มทวีความตึงเครียดในทะเลที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่นี้อีกด้วย

แทบไม่มีชาติเอเชียใดๆ เลยที่ต้องการให้เกิดสงครามขึ้นมาในพื้นที่หลังบ้านของพวกเขา อาจจะเป็นด้วยเหตุผลข้อนี้เองทั้งญี่ปุ่นและอินเดียจึงต่างต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับจีน ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศนี้ต่างพัวพันยุ่งเหยิงอยู่ในข้อพิพาททางชายแดนหรือข้อพิพาททางดินแดนกับประเทศคอมมิวนิสต์ยักษ์ใหญ่รายนี้ ทางด้านสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ซึ่งรัฐสมาชิกหลายรายเป็นคู่พิพาทช่วงชิงพื้นที่ในทะเลจีนใต้อยู่กับปักกิ่ง) ก็กำลังทำงานกับจีนเพื่อตกลงกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ (code of conduct) ที่จะใช้แก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหานี้

เมื่อนำเอาการอภิปรายถกเถียงเหล่านี้เข้าสู่บทสรุปที่สมเหตุสมผล การสกัดกั้นไม่ให้ แอนต์ ไฟแนนเชียล เข้าซื้อ มันนี่แกรม อินเตอร์เนชั่นแนล, การบีบคั้น เอทีแอนด์ที ให้ยกเลิกการจับมือเป็นหุ้นส่วนกับหัวเหว่ย, และการรื้อฟืนคืนชีพการปฏิบัติการ FNOPs จะเป็นการทำอันตรายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางความมั่นคงของทั้งสหรัฐฯและจีน

ในการ “ปิดล้อม” จีน (และประเทศอื่นๆ ที่ตนเองไม่ชอบ) คณะบริหารของสหรัฐฯในอดีตที่อยู่ภายใต้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้วางแผนใช้เงินงบประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อการอัปเกรดคลังแสงนิวเคลียร์ของอเมริกาภายในระยะเวลา 30 ปี เรื่องนี้กำลังเร่งรัดให้จีนต้องเพิ่มขยายและเสริมความแข็งแกร่งคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเองเช่นเดียวกัน เอกสาร “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Strategy) ของทรัมป์ ซึ่งเรียกร้องต้องการงบประมาณรายจ่ายจำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อผลิตพวกระเบิดนิวเคลียร์ที่มีขนาดเล็กลงและมีอานุภาพทำลายล้างต่ำ ก็รังแต่จะผลักดันจีนให้ต้องยกระดับสมรรถนะทางการป้องปรามของตนเองเท่านั้น

สำหรับสหรัฐฯ เงินทองเหล่านี้มีแต่ต้องดึงออกมาจากงบประมาณของกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ และ/หรือเพิ่มทวีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของอเมริกาซึ่งอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้วให้ไต่สูงขึ้นไปอีก ทั้งสองหนทางนี้ไม่ว่าจะเป็นหนทางไหนก็ล้วนแต่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐฯได้รับความเสียหาย

เวลาเดียวกัน พวกบริษัทของจีนอาจจะไม่สามารถเข้าถึงตลาดสหรัฐฯอันมีกำลังซื้อสูงและสามารถทำกำไรงามๆ ความทะเยอทะยานทางธุรกิจของพวกเขาอาจจะถูกตัดลดให้ต่ำเตี้ยลงไปอีก

จากการที่ทั้งจีนและสหรัฐฯต่างกำลังเล็งบรรดาขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ทีละหลายหัวรบของพวกเขาให้พุ่งเป้าเข้าใส่กันและกัน คงมีน้อยคนนักไม่ว่าในสหรัฐฯ, จีน, หรือในโลก ซึ่งสามารถที่จะรู้สึกว่าพวกเขานอนหลับได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลตลอดทั้งคืน ประเทศทั้งสองนี้เป็นเจ้าของครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากมายเพียงพอที่จะทำลายล้างโลก และเข่นฆ่าสังหารประชาชนมากกว่า 7,000 ล้านคนของพิภพนี้ได้หลายๆ รอบทีเดียว

หมายเหตุ

[1] https://www.reuters.com/article/us-moneygram-intl-m-a-ant-financial/u-s-blocks-moneygram-sale-to-chinas-ant-financial-on-national-security-concerns-idUSKBN1ER1R7
[2] https://www.reuters.com/article/us-at-t-huawei-tech/huaweis-att-u-s-smartphone-deal-collapses-idUSKBN1EX29E
[3] https://www.theguardian.com/technology/2018/jan/13/huawei-china-american-atandt-deal-loss-end-us-ambitions-cyber-security-fears
[4] https://www.telecomstechnews.com/news/2017/sep/01/deutsche-telekom-and-huawei-launch-europes-first-5g-network/
[5] https://www.androidauthority.com/why-us-carriers-wont-sell-the-best-phone-in-the-world-829694/
[6] http://news.abs-cbn.com/overseas/01/09/18/us-to-continue-freedom-of-navigation-ops-in-disputed-south-china-sea
[7] https://qz.com/1081460/unga-2017-trumps-threat-at-the-un-to-totally-destroy-north-korea-sounded-even-worse-in-chinese/
[8] http://www.atimes.com/article/pla-breaches-taiwanese-airspace-no-longer-news/

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization เพิ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer


กำลังโหลดความคิดเห็น