xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’เบ่งกล้ามเพิ่มการควบคุมลุ่มแม่น้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: เดวิต ฮุตต์

<i>แผนที่แสดงที่ตั้งเขื่อนต่างๆ ทั้งที่ก่อสร้างเสร็จและใช้งานแล้ว, ที่กำลังก่อสร้าง, ที่วางแผนจะสร้าง, และที่ยกเลิกไป ตามแนวลุ่มแม่น้ำโขง </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China flexes its control on the Mekong
By David Hutt, @davidhuttjourno
11/01/2018

การประชุมระดับผู้นำของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ที่กรุงพนมเปญเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นการอำนวยความสะดวกทำให้ปักกิ่งสามารถขยายการชอนไชทางเศรษฐกิจออกไปอีกในภูมิภาคนี้ มากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากของสายน้ำสายนี้

พนมเปญ - คุ้มค่าจริงๆ หรือสำหรับการที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน สู้อุตส่าห์เดินทางไปยังกรุงพนมเปญ เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation หรือ MLC) ครั้งที่ 2?

ครั้นเมื่อการประชุมระดับผู้นำของ MLC ครั้งที่ 2 นี้ สิ้นสุดลงในวันพุธสัปดาห์ที่แล้ว (10 ม.ค.) มันก็ดูเหมือนว่าแทบไม่มีพัฒนาการใหม่ๆ หรือพัฒนาการในทางบวกปรากฏให้เห็นเอาเสียเลย ในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคนี้จะตอบโต้รับมือกับประเด็นปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ อีกมากมาย ที่กำลังสร้างความกระทบกระเทือนต่อแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่รู้จักเรียกขานกันในจีนว่าแม่น้ำล้านช้าง

นายกฯหลี่ของจีนกล่าวว่า แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปีฉบับใหม่ที่สามารถตกลงกันได้แล้ว จะครอบคลุมถึงหนทางวิธีการต่างๆ ที่จะแก้ไขคลี่คลายความไม่ลงรอยกันระหว่างชาติต่างๆ ด้วย แต่ในแทบจะเวลาเดียวกันนั้นเองเขาก็เน้นย้ำว่า MLC มีพันธะผูกพันอย่างมั่นคงแน่วแน่ต่อหลักการที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอื่นๆ

เขาพูดเช่นกันว่า บรรดาบริษัทกิจการของจีนมีความพรักพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวก็ให้คำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นอีกเพื่อลดทอนบรรเทาความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม –โดยดูเหมือนไม่ได้มีการพิจารณาเลยว่าสิ่งหนึ่ง (การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า) อาจจะเกี่ยวข้องโยงใยไปถึงอีกสิ่งหนึ่ง (ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม) อย่างที่พวกผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเตือนเอาไว้

ส่วนอื่นๆ ที่เหลือของบรรดาข้อตกลงซึ่งทำกันในวันพุธ (10 ม.ค.) แทบทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่จีนจะกระทำเพื่อกระตุ้นส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจใน 5 ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วม MLCซึ่งได้แก่ กัมพูชา, ลาว, พม่า, ไทย, และเวียดนาม

ในเอกสารที่ขนานนามกันว่า “ปฏิญญาพนมเปญ” (Phnom Penh Declaration) ซึ่งลงนามกันในการประชุมคราวนี้นั้น มีเนื้อหาน้อยนิดเดียวที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง และมีมากกว่าซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่จีนจะมีส่วนร่วมจะมีส่วนสร้างคุณูปการอย่างไรบ้างต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

จุดอ่อนข้อบกพร่องที่มีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในเชิงโครงสร้างและในแง่ความเป็นสถาบันของ MLC ทำให้นักวิเคราะห์บางรายพิจารณากรอบความร่วมมือนี้ว่า เป็นเพียงเวทีสำหรับให้จีนแสดง “อำนาจละมุน (soft power) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้พวกรัฐบาลต่างๆ ของภูมิภาคต้องยินยอมสงบนิ่งเพื่อที่ได้รับเม็ดเงินลงทุนจากจีนเข้ามามากขึ้น

อันที่จริงแล้ว กรอบความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงก็มีอยู่แล้ว นั่นคือ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) ซึ่งก่อตั้งและดำเนินงานกันมาเป็นเวลาเกือบ 60 ปีภายใต้รูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างจาก MLC โดยทีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกขอให้จีนเข้าร่วม ทว่าปักกิ่งก็ปฏิเสธตลอดมา บางคนบางฝ่ายจึงเชื่อว่าเหตุผลสำคัญอยู่ที่ว่า จีนนั้นต้องการให้มีกรอบความร่วมมือใหม่เกี่ยวกับแม่น้ำโขงขึ้นมาซึ่งตนเองสามารถที่จะควบคุมได้

“การประชุมหารือครั้งนี้มีความมุ่งหมายที่จะให้ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแผ่นดินใหญ่ เพิ่มความสนับสนุนอย่างมั่นคงแก่การสร้างเขื่อน, ระเบียงการค้า, และการต่อเชื่อมด้านการคมนาคมของจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้แก่จีนในการขยายการชอนไชเข้าไปในภูมิภาคแม่น้ำโขง” พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ในประเทศไทย ให้ความเห็นกับหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ (Phnom Penh Post) ก่อนหน้าซัมมิตครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ในการพูดจากันเป็นการส่วนตัวนั้น มีนักการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางรายโอดครวญในเรื่องที่ว่าจีนไม่เพียงแต่เป็นหัวหน้าใหญ่ของกรอบความร่วมมือ MLC ทั้งในทางการเงินและในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังในทางภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย บางทีนายกรัฐมนตรีหลี่ของแดนมังกรเองก็ไม่ได้ช่วยปลอบโยนบรรเทาความรู้สึกว่าด้อยกว่าของพวกชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอาเสียเลย เมื่อตอนที่เขาพูดในวันพุธ (10 ม.ค.) ว่า “สถาบันแห่งนี้ (MLC) เป็นสิ่งที่จีนสร้างขึ้นมา ... จีนจะแบกรับความรับผิดชอบนี้ต่อไป”

แน่นอนทีเดียวว่าเรื่องภูมิรัฐศาสตร์นั้นมีบทบาทของมันอยู่ เมื่อปี 2009 รัฐบาลอเมริกันคือผู้ที่ช่วยเหลือให้มีการจัดตั้ง “ข้อริเริ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง” (Lower Mekong Initiative) ขึ้นมา โดยที่ชาติสมาชิกในปัจจุบันประกอบด้วย กัมพูชา, ลาว, พม่า, ไทย, เวียดนาม, และสหรัฐฯ

อู่ ซินโป๋ (Wu Xinbo) ผู้อำนวยการของศูนย์กลางเพื่ออเมริกันศึกษา (Center for American Studies) แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ต้าน นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน บอกกับผู้เขียนคนนี้ในปี 2015 ว่า “ผมคิดว่าสิ่งที่สหรัฐฯกำลังทำอยู่คือความพยายามที่จะหยุดยั้งจีนจากการมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนี่เป็นเพียงยุทธวิธีอีกอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง”

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรที่จีนได้จัดการประชุมหารือระดับผู้นำของ MLC ครั้งแรกขึ้นมาปี 2016 ทั้งนี้ปักกิ่งแสดงให้เห็นว่าตนเองเตรียมพร้อมที่จะลงทุนและปล่อยกู้มากมายยิ่งกว่าฝ่ายอเมริกัน โดยการหนุนหลังกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ด้วยเงินทุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในจีน

ทว่าภูมิรัฐศาสตร์ก็แสดงบทบาทในระดับภายในภูมิภาคด้วยเช่นเดียวกัน แม่น้ำโขงที่มีความยาวทั้งสิ้น 4,909 กิโลเมตรสายนี้ มีต้นน้ำอยู่ในที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต (Qinghai-Tibet Plateau) ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และไหลลงทะเลที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ผลก็คือ จีนเป็นผู้ที่สามารถควบคุมก๊อกซึ่งกำหนดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำสายนี้ เช่นเดียวกับแต่ละชาติที่ตั้งอยู่ต้นน้ำมากกว่า ก็เป็นผู้ที่สามารถชี้ขาดปริมาณน้ำของแม่น้ำโขงตอนที่ไหลลงสู่ประเทศปลายน้ำลงมา

“กรอบความร่วมมือ MLC คือวิธีการหนึ่งในการแสดงให้เห็นว่าจีนจะเล่นไปตามกฎเกณฑ์ของตนเองเท่านั้น จีนได้สร้างสิ่งที่กระทำสำเร็จเสร็จสิ้นและแก้ไขไม่ได้แล้ว (fait accompli) ขึ้นมา ด้วยการสร้างเขื่อนหลายแห่งบริเวณต้นน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อพวกประเทศปลายน้ำ แล้วจากนั้นจึงจัดตั้งองค์กรทำหน้าที่ปกครองบริหารของตนเองขึ้น” ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ รองศาสตราจารย์ด้านการระหว่างประเทศศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ กล่าวกับสื่อมวลชนระหว่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้

เวียดนาม ชาติที่อยู่ปลายน้ำมากที่สุดของแม่น้ำโขง ได้ใช้ความพยายามในระยะหลายปี หลังมานี้ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ ในการล็อบบี้ให้ลาว ซึ่งเป็นชาติเพื่อนบ้านที่เป็นคอมมิวนิสต์ด้วยกัน พิจารณาทบทวนโครงการที่จะก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเป็นจำนวนมาก โดยที่ฮานอยบอกว่ามันอาจจะส่งผลทำลายแม่น้ำโขงตอนที่ไหลผ่านประเทศเวียดนาม ที่จริงแล้วมีผู้เชี่ยวชาญหลายรายทีเดียวออกมาเตือนว่าเขื่อนต่างๆ ในลาวเหล่านี้สามารถทำให้เกิดภัยน้ำท่วมกับภัยแล้งขึ้นในเวียดนาม รวมทั้งยังส่งผลกระทบกระเทือนต่อปริมาณปลาในเขตปลายน้ำด้วย

“เวียดนามต้องการให้บรรดาชาติแม่น้ำโขงที่อยู่ต้นน้ำทั้งหมด ตกลงยอมรับนโยบายอันถูกต้องเหมาะสมในการหาผลประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้แก่เหล่าชาติที่อยู่ปลายน้ำอย่างเช่นเวียดนาม” เจิ่น ห่ม ห่า (Tran Hong Ha) รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเวียดนามกล่าวเอาไว้เช่นนี้เมื่อปีที่แล้ว

ถึงแม้ชาติทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันก แต่ลาวก็ไม่เคยขยับถอยแผนการสร้างเขื่อนของตนเลย ช่วงต้นปี 2011 รัฐบาลเวียงจันทน์ประกาศว่าได้ดำเนินการปรึกษาหารือระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี (Xayaburi dam) ตามที่กำหนดเอาไว้ใน “ข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 1995” (1995 Mekong Agreement) แล้ว และได้ข้อสรุปว่าการก่อสร้างควรดำเนินต่อไป ปรากฏว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเวียดนาม ได้แสดงข้อกังขาว่ามีการปรึกษาหารือกันแล้วจริงหรือไม่

เวียงจันทน์แสดงท่าทีไม่ยอมอ่อนข้อพอๆ กัน เมื่อในเดือนมกราคม 2015 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติของ 3 ประเทศ คือ กัมพูชา, เวียดนาม, และไทย ต่างส่งเสียงคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ของลาว องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) และกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) 2 องค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ระดับโลก ก็เข้ามาส่งเสียงเตือนว่าเขื่อนแห่งนี้จะคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากที่อยู่ปลายน้ำ

“สำหรับการพัฒนาแม่น้ำโขงแล้ว เราไม่จำเป็นที่จะต้องได้ฉันทามติ” นี่เป็นการแถลงตอบโต้ของฝ่ายเวียงจันทน์ในตอนนั้น โดยเป็นคำพูดของ ดาววง โพนแก้ว อธิบดีกรมนโยบายและการวางแผนพลังงานของลาว

ความเห็นนี้ของเขาเป็นการวาดภาพให้เห็นปัญหาที่ MLC จะต้องเผชิญ เฉกเช่นที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันเป็นปัญหาซึ่งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN) ต้องประสบอยู่ รัฐบาลของชาติต่างๆในภูมิภาค มีความนิยมชื่นชอบที่จะพูดอะไรมากมายใหญ่โตเกี่ยวกับความร่วมมือกัน แต่เมื่อถึงยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ประเทศเหล่านี้ก็มีความโน้มเอียงที่จะกระทำการโดยถือผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้งเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ลาว ซึ่งทราบดีว่าเศรษฐกิจในอนาคตของตนนั้น ที่สำคัญแล้วต้องพึ่งพาอาศัยการสร้างโอกาสให้ตนเองกลายเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำรายใหญ่รายหนึ่งให้ได้ เพื่อที่ว่าเมื่อส่งออกพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้ไปยังไทย, เวียดนาม, และจีน ก็จะมีรายได้สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองจากการเป็นชาติยากจนอันดับ 2 ของภูมิภาค ให้กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นมา

ในเวลาเดียวกัน กัมพูชากับเวียดนามต่างทราบดีว่าภาคเกษตรกรรมของพวกเขาเองกำลังตกต่ำ และอาจจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีกถ้าหากคำเตือนอันฟังดูย่ำแย่มากเกี่ยวกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของลาวเกิดกลายเป็นความจริง ปริมาณปลาในแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยนั้นกำลังลดจำนวนลง ขณะเดียวกันเวียดนามก็ประสบปัญหาหนักจากการที่พืชผลประสบความเสียหายอย่างกว้างขวางในปี 2016 เมื่อประเทนี้ต้องเผชิญกับภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 90 ปี

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่พวกนักวิชาการและนักการทูตได้ลั่นระฆังเตือนภัยดังก้องว่า แม่น้ำโขงกำลังกลายเป็น “ปัญหาแบบทะเลจีนใต้ปัญหาถัดไป” ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่ชาติต่างๆ ไม่มีความพึงพอใจอยู่แค่การพูดจาอย่างเอ้อระเหยเกี่ยวกับสันติภาพและการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันอีกต่อไปแล้ว และเริ่มต้นลงมือกระทำอะไรต่างๆ เพื่อขัดขวางลดทอนผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของอีกชาติหนึ่ง

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากตลอดจนพวกผู้เชี่ยวชาญด้านชายฝั่งแม่น้ำ ได้เสนอแนะหนทางประนีประนอม โดยบอกว่าบรรดาชาติแม่น้ำโขงที่อยู่ตรงปลายน้ำทั้งหลาย ควรต้องหยุดสักพักหนึ่งเพื่อขบคิดพิจารณาเกี่ยวกับผลต่อเนื่องในระยะยาวจากสิ่งที่พวกเขากำลังทำกับสายน้ำของพวกเขา

ในปี 2011 รัฐบาลพม่าซึ่งเวลานั้นอยู่ใต้การปกครองแบบกึ่งทหารกึ่งพลเรือน ได้กระทำเช่นนี้นี่เอง เมื่อสั่งระงับงานสร้างเขื่อนมยิตโสน (Myitsone dam) ในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนบน ที่ได้รับความสนับสนุนจากจีน ด้วยเหตุผลว่าเขื่อนนี้จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

การตัดสินคราวนั้นบังเกิดขึ้นภายหลังพวกเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมพยายามล็อบบี้อย่างเต็มกำลัง ขณะที่กระทรวงกระแสไฟฟ้าก็แสดงอาการสงวนท่าทีในเรื่องที่จะเดินหน้าต่อไปอีก ทั้งนี้โครงการนี้ออกแบบวาแผนขึ้นมาเพื่อส่งออกกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ถึง 90% ไปขายให้จีน

อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาต่างๆ ตามล้ำน้ำโขงส่วนใหญ่ที่สุดแล้วยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยฝีก้าวอันรวดเร็วจนน่าตกใจ โดยที่รัฐบาลของพวกเขาอ้างเหตุผลความชอบธรรมว่า นี่เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 5 ที่อยู่ใน MLC ต่างพิจารณาว่าพวกเขาเองกำลังประสบปัญหาร้ายแรงจากการมีโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ (อาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับประเทศไทย) ทั้งเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการอื่นๆ ต่างเข้ากันได้ดีกับแนวความคิดของรัฐบาลชาติเหล่านี้ ในเรื่องการพัฒนาที่ชี้นำโดยโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกันก็ยังเอื้ออำนวยให้พวกผู้นำทั้งหลายมีบางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาสามารถชี้ด้วยความภาคภูมิใจได้ว่านี่แหละคือส่วนหนึ่งในมรดกที่พวกเขาทิ้งเอาไว้ให้แก่ประเทศชาติ

การยินยอมกระทำตามอำนาจละมุนของจีนอย่างเงียบๆ โดยผ่านเวทีอย่างเช่นกรอบ MLC นี้ ยังเป็นเครื่องรับประกันว่าพวกรัฐบาลทั้งหลายในภูมิภาคจะยังคงมีสายสัมพันธ์ที่ดีอยู่กับปักกิ่งซึ่งจะทำให้ได้รับเม็ดเงินลงทุนก้อนใหม่ๆ จากแดนมังกร ดังที่ได้แสดงให้เห็นอย่างถนัดชัดเจนในการประชุมซัมมิตของผู้นำ MLC ที่กรุงพนมเปญครั้งนี้ กล่าวคือนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อการพัฒนาฉบับใหม่ๆ ราว 20 ฉบับกับทางเจ้าภาพกัมพูชา คิดเป็นมูลค่ารวมหลายพันล้านดอลลาร์

แล้วจากข้อเท็จจริงที่ว่าโครงการยักษ์เมกะโปรเจ็กต์อย่างเช่นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง มักจะกลายเป็นแหล่งที่มาอันอุดมสมบูรณ์ของสินบนและเงินใต้โต๊ะทั้งหลาย ดังนั้นจึงอาจกลายเป็นลาภลอยอีกอย่างหนึ่งสำหรับพวกสมาชิกในรัฐบาลของชาติ MLC อีกด้วย

เดวิด ฮุตต์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งตั้งฐานประจำอยู่ในกรุงพนมเปญ


กำลังโหลดความคิดเห็น