เอเอฟพี - เกาหลีใต้เผชิญวิกฤตขาดดุลการค้า “กิมจิ” สูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว หลังมีการนำเข้ากิมจิราคาถูกจากจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ผักดองรสเปรี้ยวถือเป็นเครื่องเคียงที่จะขาดเสียไม่ได้ในอาหารเกือบทุกชนิดของชาวเกาหลี และการทำกิมจิไว้รับประทานก็ยังคงเป็นประเพณีที่หลายครอบครัวปฏิบัติสืบต่อกันมา
อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ซึ่งถูกเรียกขานว่าแดนกิมจิกลับต้องประสบปัญหา “ขาดดุลกิมจิ” อย่างที่ไม่น่าจะเป็น หลังจากมีการนำเข้ากิมจิที่ผลิตในจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลสถิติจากสำนักงานศุลกากรโสมขาวพบว่า เกาหลีใต้นำเข้ากิมจิมากกว่า 275,000 ตันในปี 2017 โดยร้อยละ 99 มาจากจีน แต่กลับส่งออกเพียงแค่ 24,000 ตันเท่านั้น คิดเป็นมูลค่าขาดดุล 47.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้า และนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่สำนักงานศุลกากรเริ่มเก็บสถิติในปี 2000
สาเหตุสำคัญของปัญหานี้อยู่ที่เรื่องราคา ข้อมูลจากบรรษัทการค้าสินค้าเกษตร ประมง และอาหารแห่งเกาหลีใต้ (Korea Agro-Fisheries & Food Trade Corporation, KAFTC) ระบุว่า กิมจิที่นำเข้าจากจีนมีราคาถูกเพียง 0.50 ดอลลาร์/ 1 กิโลกรัมในปี 2016 ขณะที่กิมจิเกาหลีใต้ซึ่งส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น มีราคาเฉลี่ย 3.36 ดอลลาร์/ 1 กิโลกรัม
ข้อมูลจากสถาบันกิมจิโลก (World Institute of Kimchi) ระบุว่า ร้อยละ 89.9 ของกิมจิที่เสิร์ฟตามภัตตาคารในเกาหลีใต้เมื่อปี 2016 เป็นของนำเข้าจากจีน
ภาวะขาดดุลกิมจิซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2006 ทำให้ชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อยเริ่มหันกลับมาทบทวนพฤติกรรมการบริโภคของตัวเอง
องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ขึ้นทะเบียนการทำกิมจิเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในปี 2013 โดยให้เหตุผลว่ากิมจิ “เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของอาหารเกาหลี โดยไม่มีการแบ่งแยกภูมิภาคหรือชนชั้นวรรณะ” นอกจากนี้ วัฒนธรรมการทำกิมจิช่วงต้นฤดูหนาวยังเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวเกาหลี ช่วยส่งเสริมความร่วมมือในหมู่ญาติมิตร และเตือนสังคมมนุษย์ให้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ
ยูเนสโก ระบุว่า กิมจิของแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งวัตถุดิบและขั้นตอนการทำของแต่ละครอบครัวถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่แม่สามีมักจะถ่ายทอดให้แก่บรรดาลูกสะใภ้