xs
xsm
sm
md
lg

ชักมึนตึงเสียแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ทรัมป์’ กับ ‘มกุฎราชกุมารซาอุดี’

เผยแพร่:   โดย: เปเป็ เอสโคบาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Don’t expect Trump to send in the cavalry if MBS has to circle wagons
By Pepe Escobar
11/01/2018

ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างทำเนียบขาวของประธานาธิบดีโดนัลด์ รัมป์ กับ มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ที่เคยทำท่าว่าไปด้วยกันได้ดี เวลานี้กลับแสดงสัญญาณของความสึกกร่อนเสียแล้ว

ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ทำหน้าที่คอยลำเลียงขนส่ง “ข้อเท็จจริงแบบทางเลือก” (alternative facts) อย่างที่มีบางฝ่ายกล่าวหาหรือไม่ก็ตามที แต่ในหนังสือเรื่อง Fire and Fury: Inside the Trump White House ที่กำลังโด่งดังเป็นพลุของเขา ไมเคิล วูล์ฟฟ์ (Michael Wolff) พยายามที่จะเจาะลึกเข้าไปข้างในความคิดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในตอนที่กำลังจัดทำนโยบายการต่างประเทศใหม่เกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางอยู่ที่กรุงวอชิงตัน

จากข้อความที่วูลฟฟ์เขียนเอาไว้ในหนังสือซึ่งก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันอย่างมากมายเล่มนี้ของเขา นี่คือสิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบันกำลังขบคิดอยู่

“โดยพื้นฐานแล้วมีผู้เล่นอยู่ด้วยกัน 4 ราย [หรืออย่างน้อยที่สุดเราก็สามารถที่จะลืมๆ ผู้เล่นรายอื่นๆ ไปเสียได้] ได้แก่ อิสราเอล, อียิปต์, ซาอุดีอาระเบีย, และอิหร่าน” วูล์ฟฟ์เขียนถึงความคิดของทรัมป์เกี่ยวกับตะวันออกกลางเอาไว้เช่นนี้ “สามรายแรกนั้นสามารถที่จะสามัคคีกันเพื่อมาต่อต้านเล่นงานรายที่ 4 ได้”

“แล้วอียิปต์กับซาอุดีอาระเบีย เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการในส่วนที่เกี่ยวกับอิหร่าน –ตลอดจนอะไรอย่างอื่นๆ ซึ่งไม่ได้แทรกแซงก้าวก่ายผลประโยชน์ต่างๆ ของสหรัฐฯแล้ว— จะไปบีบคั้นกดดันพวกปาเลสไตน์ให้ต้องยอมทำข้อตกลง” วูล์ฟฟ์บรรยายต่อไปอีก

มาถึงเวลานี้ สิ่งที่แน่ใจกันแล้วและรู้กันอยู่โดยทั่วไปก็คือว่า ตอนนั้น เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) ผู้เคยมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯและที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติภายใต้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำแก่ จาเรด คุชเนอร์ (Jared Kushner) บุตรเขยของทรัมป์ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนดูแลรับผิดชอบเรื่องตะวันออกกลาง

ในเวลาเดียวกันนั้นเอง เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน (Mohammad bin Salman หรือที่นิยมเรียกขานกันด้วยอักษรย่อว่า MBS) ซึ่งอีกไม่นานต่อจากนั้นจะก้าวขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย ก็กำลังพยายามผูกมิตรไมตรีกับคุชเนอร์ ขณะเดียวกับที่กำลังผลักดัน “วิสัยทัศน์ปี 2030” (2030 Vision) ของเขา ซึ่งจะบดบังรัศมีของดูไบให้ด้อยความสำคัญไปเลย

สิ่งที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น แผนการใหม่เกี่ยวกับตะวันออกกลางของ คุชเนอร์ และ MBS เริ่มเดินหน้าไปด้วยดีเมื่อ เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน เยือนทำเนียบขาวในเดือนมีนาคม 2017

หลังจากยื่นเสนอดีลต่างๆ จำนวนหนึ่งต่อทรัมป์ เจ้าชายองค์นี้ยังได้เชื้อเชิญประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้ให้เดินทางไปเยือนกรุงริยาดในเดือนพฤษภาคม นอกจากนั้นยังมีคำมั่นสัญญาอย่างคลุมเครือกำกวม ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นการรีไซเคิลคำมั่นสัญญาที่ได้เคยให้เอาไว้ตั้งแต่ยุคโอบามา ที่ระบุว่าซาอุดีอาระเบียจะซื้ออาวุธอเมริกันเป็นจำนวน 110,000 ล้านดอลลาร์ และจะลงทุนในสหรัฐฯเป็นมูลค่า 350,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 10 ปีจากนี้ไป

ตัวชี้ขาด

จากนั้น ในหน้า 233 ของหนังสือ Fire and Fury เราก็จะพบตัวชี้ขาด

“ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังการเดินทางเที่ยวนั้น MBS ซึ่งจับกุมคุมขัง MBN [เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ Mohammed bin Nayef] เอาไว้ในช่วงกลางดึกคืนวันหนึ่ง ก็จะบังคับให้ MBN ต้องยอมสละตำแหน่งเจ้าชายมกุฎราชกุมาร แล้วตัว MBS ก็เข้าครอบครองตำแหน่งนี้เอาไว้เอง” วูล์ฟฟ์เขียนเอาไว้เช่นนี้ “ทรัมป์จะบอกกับเพื่อนๆ ว่า เขากับจาเรดเป็นผู้วางแผนเรื่องนี้: ‘เราจัดแจงนำเอาคนของเราขึ้นสู่ตำแหน่งบนสุด’”

แน่นอนล่ะ เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะระบุว่า คำว่า “จะบอก” ซึ่งปรากฏในหนังสือนั้น คือ การอ้างอิงตรงๆ ถึงสิ่งที่ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้พูดออกมา เรื่องนี้ยังเปิดกว้างสำหรับการเจาะค้นให้แน่ใจอยู่ แต่สิ่งซึ่งแน่นอนแล้วและได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวหลายๆ รายที่ใกล้ชิดกับราชวงศ์สะอูด (House of Saud) ของซาอุดีอาระเบียด้วย ก็คือ MBS มีการตกลงผูกพันกับคุชเนอร์จริงๆ

เรื่องที่สำคัญมากๆ เรื่องหนึ่งก็คือ MBS ได้ตีความคำพูดพร่ำเพ้อของทรัมป์ว่า เป็นการเปิดไฟเขียวให้สามารถเข้าเล่นงานกาตาร์ (ดูเพิ่มเติมเรื่องที่ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรอาหรับเล่นงานกาตาร์ ได้ที่ https://www.icis.com/resources/news/2017/12/15/10174303/insight-qatar-economic-costs-grow-amid-protracted-isolation-in-gcc/) แต่ถึงอย่างไร ประธานาธิบดีอเมริกันก็ดูเหมือนเชื่อคำปลุกปั่นของซาอุดีอาระเบียที่ว่า กาตาร์กำลังส่งเสริมการก่อการร้าย ด้วยการสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) รวมทั้งยังเชื่อคำสาธยายของริยาดที่ว่า ซาอุดีอาระเบียนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ “กำลังให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย” ทำนองเดียวกันนี้ ตามที่มีผู้กล่าวหา

นอกจากนั้นแล้ว MBS ยังสามารถสร้างความประทับใจขึ้นมาว่า ริยาดจะยื่นเสนอสถานที่สำหรับให้สหรัฐฯตั้งฐานทัพทางทหาร เพื่อใช้แทนฐานทัพอัล-อูเดอิด (al-Udeid) ในกาตาร์

ให้บังเอิญเหลือเกินว่า เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯคนปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีความเกี่ยวโยงพัวพันอย่างแข็งขันกับฐานทัพอัล-อูเดอิด ตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central Command) ซึ่งใช้ฐานทัพในกาตาร์แห่งนี้เป็นกองบัญชาการส่วนหน้า ก่อนที่เขาจะแสดงบทบาทเป็นที่ปรึกษาทางทหารให้แก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ภายใต้ ชัยค์ โมฮาเหม็ด บิน ไซเอด อัล นาห์ยาน (Sheikh Mohamed bin Zayed Al Nahyan) เจ้าชายมกุฎราชกุมารแห่งรัฐเอมิเรต อาบูดาบี

ทั้งหมดนี้ช่างเหมาะเจาะสอดคล้องจนทำให้มีเหตุผลรับฟังได้ในระดับหนึ่งทีเดียว เมื่อมีการบรรยายความว่า คุชเนอร์ได้จัดเตรียมพื้นฐานสำหรับให้ทรัมป์เปิดไฟเขียวอนุญาต MBS ให้เดินหน้าแผนการของพระองค์ในการกำราบกาตาร์ และในการขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียแทนที่ MBN ซึ่งเคยเป็นคนโปรดของซีไอเอ

แน่นอนทีเดียวว่า ข้อมูลข่าวสารทั้งหลายทั้งปวงเท่าที่สามารถหาได้นั้นล้วนแล้วแต่ชี้บ่งไปในทิศทางนี้ เช่นเดียวกับข้อมูลข่าวสารที่ถูกระบุว่าเป็นข่าวกรองของฝ่ายเยอรมันนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2016 เป็นต้นมา

ทุกๆ คนย่อมทราบกันดีอยู่แล้วว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อซาอุดีอาระเบียและสมาชิกรายอื่นๆ ของสภาความร่วมมือสำหรับรัฐอาหรับแห่งอ่าวเปอร์เซีย (Cooperation Council for the Arab States of the Gulf หรือ GCC) ซึ่งรวมถึงยูเออีด้วย ออกปฏิบัติการ “ปิดล้อม” กาตาร์ นั่นก็คือ อิหร่านกับตุรกีประกาศให้การสนับสนุนกาตาร์ ขณะที่ “ความสามัคคี” ของ GCC อยู่ในสภาพตึงตัวหนักจนกระทั่งถึงจุดแตกร้าว

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าในที่สุดแล้วสหรัฐฯจะได้รับเงินทองเป็นจำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์ในรูปการลงทุนใหม่ๆของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ตามที่ระบุกันว่า MBS ได้ให้สัญญาไว้หรือไม่ เรื่องนี้คงจะต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

ในเวลาเดียวกัน เจ้าชายอัลวาลีด บิน ตอลัล (Prince Alwaleed bin Talal) อภิมหาเศรษฐีนักลงทุนชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความใกล้ชิดกับทั้ง บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ และ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค (Rupert Murdoch) เจ้าพ่อวงการสื่อ ยังคงถูกกักบริเวณโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการที่ริยาดเข้ากำราบปราบปรามพวกสมาชิกคนสำคัญๆ ที่มีความเกี่ยวข้องโยงใยกับราชวงศ์ผู้ปกครองซาอุดีอาระเบีย

นับตั้งแต่ที่ถูกจับกุม เจ้าชายองค์นี้ไม่ได้ส่งข้อความข่าวสารใดๆ ผ่านทางทวิตเตอร์เลยแม้แต่ข้อความเดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าประหลาดเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งของกิจการข่าวออนไลน์และเครือข่ายสังคมแห่งนี้

แผนขายหุ้นรัฐวิสาหกิจน้ำมัน “อารัมโค”

สิ่งที่ดูแปลกๆ ขัดแย้งกันอยู่นี้ อาจมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการนำเอา อารัมโค (Aramco) รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของซาอุดีอาระเบียที่มีการประมาณการกันว่าน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ออกมาทำไอพีโอ (เสนอขายหุ้นใหม่ให้แก่ประชาชนครั้งแรก) โดยที่เคยกำหนดกันเอาไว้ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ได้ในภายในปี 2017 นี้ ทว่าเวลานี้เห็นกันว่าคงจะเกิดขึ้นได้ในปี 2019 ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ซาอุดีหลายราย

หลักคิดสำคัญส่วนหนึ่งในแผนการเล่นของ MBS ก็คือ ทำไมจะต้องทำให้สถานะเดิมทางการเมืองต้องยุ่งเหยิงวุ่นวายไปหมด ในเมื่อมีผู้มั่งคั่งร่ำรวยมากมายที่กวักมือร้องเรียกต้องการซื้อหุ้นไอพีโอเหล่านี้อยู่แล้ว

เวลานี้พวกวาณิชธนกิจวอลล์สตรีทต่างพากันจับจ้องกระบวนการนำหุ้นบางส่วนของอารัมโคมาทำไอพีโอ (เพื่อจะได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์กันต่อไป) ด้วยสายตาอันมันเยิ้มเคลิบเคลิ้มถึงค่าธรรมเนียมและผลประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับแบ่งปัน ทว่ามีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะต้องสะดุ้งขวัญผวา ในเมื่อการทำไอพีโอของอารัมโคอาจจะไม่ใช่เพื่อเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ถึงแม้เป็นเรื่องที่ทรัมป์ถือว่าเป็นของตายอยู่แล้ว หรือกระทั่งอาจจะไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนอีกด้วย

อาลี ชิฮาบี (Ali Shihabi) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอาราเบีย ฟาวน์เดชั่น (Arabia Foundation) หน่วยงานคลังสมองซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน มีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.arabiafoundation.org/op-eds/forbes-visions-and-misperceptions-on-the-road-to-an-aramco-ipo/) เขาเสนอแนะว่าฝ่ายจีนสามารถที่จะขอซื้อหุ้นอารัมโคส่วนหนึ่งโดยตรง จากนั้นจึงติดตามมาด้วยการทำไอพีโอหุ้นปริมาณจำกัดในตลาดหลักทรัพย์ซาอุดีอาระเบียเอง

เขามีข้อสรุปว่า การทำเช่นนี้จะเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับริยาด “การขายหุ้นแบบเจาะจงผู้ซื้อ (Privately placement) โดยทำกับนักลงทุนเชิงยุทธศาสตร์รายใหญ่อย่างเช่นจีน มีข้อได้เปรียบตรงที่ว่าจะสามารถได้ทำง่ายขึ้น, รวดเร็วขึ้น, และต้องตกเป็นเหยื่อความคาดเดาไม่ได้ของตลาดสาธารณะน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการลอยตัวเข้าไปขายให้สาธารณชนในลอนดอนหรือในนิวยอร์กก็ตามที” ชิฮาบี กล่าว

ถ้าหากเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมาจริงๆ ทรัมป์ย่อมยากที่จะรู้สึกตื่นเต้นดีอกดีใจกับ MBS คุณยังสามารถเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่งเข้าไปในส่วนผสมนี้ได้อีก นั่นคือ ปัญหาปาเลสไตน์ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่ายดายเหลือเกินว่า MBS จะไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาในเรื่องมหาข้อตกลงระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์-โลกอาหรับ” ซึ่งดูเป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่าจะต้องมีการหารือถึงเรื่องนี้ทั้งในวอชิงตันและในริยาด

มหาข้อตกลงนี้ยิ่งเป็นไปไม่ได้ในทางเป็นจริง หลังจากที่ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

ดังนั้นเมื่อถึงที่สุดแล้ว ใครกันล่ะที่จะเป็นฝ่ายอยู่เหนือกว่า? เนื่องจากสมุดคู่มือการเล่นเกมเกี่ยวกับตะวันออกกลางและซาอุดีอาระเบียนั้น มีการเขียนขึ้นมาแล้วก็ฉีกทิ้งไปด้วยความสม่ำเสมอครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างน่าตื่นตะลึงอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอย่าได้คาดหมายเลยว่าทำเนียบขาวของทรัมป์จะเข้าไปช่วยเหลือ หากว่า MBS ประสบภัยอันตรายถูกคุกคามถึงขั้นเป็นตาย

เปเป้ เอสโคบาร์ เป็นผู้สื่อข่าวไม่ประจำที่ (correspondent-at-large) ของเอเชียไทมส์


กำลังโหลดความคิดเห็น