เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ประกาศเมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) ว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเธอสามารถบรรลุข้อตกลงซึ่งจะปูทางไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ร่วมกับพรรคฝ่ายค้านโซเชียลเดโมแครตส์ (SPD) ซึ่งถือเป็น “จุดเริ่มต้นที่สดใส” ของยุโรป ในขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า แมร์เคิล ซึ่งมักจะถูกยกให้เป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก อาจครองเก้าอี้นายกฯ สมัยที่ 4 โดยไม่มีอำนาจอิทธิพลมากเท่าเก่า และยังมองไม่เห็นวิสัยทัศน์ว่าจะนำพายุโรปไปในทิศทางใด
หลังผ่านการเจรจามาราธอนนานถึง 24 ชั่วโมง บรรดาผู้นำพรรคและทีมเจรจาซึ่งอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ยเพลียแรงก็สามารถบรรลุข้อตกลงเชิงหลักการ ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ผลการเจรจา 3 ฝ่ายระหว่าง แมร์เคิล จากพรรค คริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน (CDU), ฮอร์สต์ ซีโฮเฟอร์ จากพรรค คริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (CSU) ในแคว้นบาวาเรีย และ มาร์ติน ชุลซ์ จากพรรค SPD ถูกสรุปออกมาเป็นเอกสารความยาว 28 หน้ากระดาษ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างเป็นทางการต่อไป
ซีโฮเฟอร์ คาดว่ารัฐบาลผสมชุดใหม่น่าจะจัดตั้งสำเร็จก่อนเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เม.ย.
ก่อนหน้านี้ แมร์เคิล ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องพยายามจับขั้วกับพรรคการเมืองเล็กๆ 2 พรรคที่มีนโยบายแตกต่างกันหลายอย่าง หลังจากที่กลุ่มพรรคพี่พรรคน้อง CDU และ CSU ของเธอชนะเป็นอันดับ 1 ในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.ย. แต่ได้คะแนนเสียงเพียง 33% ซึ่งนับว่าตกต่ำที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่พรรค SPD ของ มาร์ติน ชุลซ์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน และได้คะแนนเสียงมากเป็นลำดับ 2 ก็ปฏิเสธที่จะจับขั้วตั้งรัฐบาลผสมซ้าย-ขวา “grand coalition” กับ แมร์เคิล อีกสมัย
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของ แมร์เคิล ที่จะเจรจาจับขั้วกับพรรคฟรีเดโมแครตส์ (FDP) ที่มีนโยบายเน้นส่งเสริมธุรกิจ และพรรคกรีนส์ กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า จนเธอต้องหันกลับมาต่อรองกับ SPD อีกครั้ง
ทั้ง 3 พรรคได้เห็นพ้องในกรอบนโยบายสำคัญๆ 3 ประการ ได้แก่ ร่วมมือกับฝรั่งเศสในการ “ฟื้นฟูความแข็งแกร่งและปฏิรูป” ยูโรโซน, จำกัดการไหลเข้าของผู้ขอลี้ภัยให้เหลือไม่เกิน 200,000 คนต่อปี และงดเว้นการขึ้นภาษีเนื่องจากฐานะการคลังของรัฐบาลเข้มแข็งอยู่แล้ว
แมร์เคิล เปิดแถลงข่าวด้วยสีหน้าโล่งใจที่ทั้ง 3 พรรคสามารถก้าวข้ามความเห็นต่าง โดยระบุว่า “โลกไม่ได้รอคอยพวกเรา ยุโรปจำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้นที่สดใส และจุดเริ่มต้นที่สดใสของยุโรปก็คือจุดเริ่มต้นที่สดใสของเยอรมนีเช่นกัน”
ฌ็อง โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวชื่นชมข้อตกลงครั้งนี้ว่า “สำคัญ” และ “เป็นบวก” ต่ออนาคตของยุโรป ขณะที่ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ระบุว่ารู้สึก “พึงพอใจและมีความสุข” ที่ภาวะสุญญากาศทางการเมืองในเยอรมนีสิ้นสุดลงเสียที
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่การจัดตั้งรัฐบาลจะล้มเหลวก็มีอยู่ หากสมาชิกพรรค SPD ที่ไม่เห็นด้วยพร้อมใจกันโหวตคัดค้านการจับขั้วกับพรรคของแมร์เคิลในการประชุมใหญ่ของ SPD ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 21 ม.ค. นี้
ผู้สังเกตการณ์หลายคนชี้ว่า แมร์เคิล อาจจะต้องกุมบังเหียน “รัฐบาลผสมผู้แพ้” ซึ่งขาดทั้งจุดมุ่งหมายและพลังในการแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เยอรมนีและยุโรปกำลังเผชิญอยู่
คาร์ล-รูดอล์ฟ กอร์เต นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดุยส์บวร์ก-เอสเซน ชี้ว่า “ในความเป็นจริง พรรคร่วม grand coalition ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นแค่ mini-coalition ซึ่งคุมที่นั่งในสภาเพียง 53% เท่านั้น” เนื่องจากกลุ่มพรรคของ แมร์เคิล และ SPD ต่างสูญเสียฐานเสียงให้กับพรรคขวาจัด AfD ที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ จากเดิมที่เคยกุมเสียงข้างมากในสภาเกือบ 80%
ด้าน ดิเอ็ตมาร์ บาร์ช แกนนำพรรคขวาจัดลินเก (Linke) ก็ออกมาวิจารณ์เสียดสีว่า “พวกที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.ย. กันมาจับมือกันแล้ว และคงต้องบอกว่าพิมพ์เขียวของโครงการนี้ไม่ได้พูดถึงปัญหาต่างๆ ในสังคมของเราเลยด้วยซ้ำ”
นิโกลา เบียร์ จากพรรค FDP ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจมองว่า ข้อตกลงจับขั้วระหว่างกลุ่มของ แมร์เคิล และ SPD ยังขาดวิสัยทัศน์ “ในการมุ่งสู่อนาคตที่ปฏิบัติได้จริง” ดังนั้นจึงรังแต่จะสร้างความผิดหวังท้อแท้ และยิ่งส่งเสริมให้กลุ่มขวาและซ้ายจัดขยายอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้นไปอีก