xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! “ทรัมป์” ไม่ฟื้นมาตรการคว่ำบาตรนุก “อิหร่าน” แต่ขู่จะยอมให้เป็น “ครั้งสุดท้าย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
เอเอฟพี - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) ว่าจะยังไม่ฟื้นมาตรการคว่ำบาตรโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งช่วยให้ข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ที่เตหะรานทำร่วมกับชาติมหาอำนาจทั้ง 6 เมื่อปี 2015 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

คำสั่งยกเว้นคว่ำบาตรที่ ทรัมป์ จำใจเซ็นในคราวนี้ถือเป็นการรับรองว่าสหรัฐฯ จะรักษาพันธกรณีในข้อตกลงนิวเคลียร์ไปอีกอย่างน้อย 120 วัน แต่ก็ขู่ว่า “นี่จะเป็นครั้งสุดท้าย”

ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า ทรัมป์ ต้องการให้สภาคองเกรสและพันธมิตรในยุโรปร่างข้อตกลงฉบับใหม่ขึ้นมา “โดยไม่ต้องขอความเห็นจากอิหร่าน” เพื่อนำมาใช้แทนที่ข้อตกลงปี 2015 ซึ่งตนเห็นว่ามี “ข้อบกพร่องอย่างเลวร้าย”

“ถึงผมจะอยากทำมากแค่ไหน แต่ผมตัดสินใจว่าจะยังไม่นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกมาจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน” ทรัมป์ ระบุในถ้อยแถลง

“แต่ผมได้กำหนดทางเลือกเอาไว้ 2 ทาง ถ้าข้อบกพร่องร้ายแรงในข้อตกลงเดิมไม่ถูกแก้ไข สหรัฐฯ ก็คงจะต้องถอนตัว”

สำหรับข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่นั้น ทรัมป์ ระบุว่าจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายของสหรัฐฯ รวมถึงมีอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และต้องกำหนดมาตรการควบคุมอิหร่านอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อแลกกับการที่นานาชาติยอมยกเว้นคว่ำบาตร

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อตกลงใหม่จะไม่ทยอยสิ้นอายุลงหลังใช้ไปแล้ว 10 ปีเหมือนอย่างข้อตกลงปี 2015 แต่จะจำกัดกิจกรรมทั้งในโรงงานนิวเคลียร์และโครงการขีปนาวุธของอิหร่านอย่าง “ถาวร”

“ข้อกำหนดเหล่านี้จะต้องไม่มีวันหมดอายุ นโยบายของผมคือการปฏิเสธทุกช่องทางที่อิหร่านจะได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และไม่ใช่แค่ 10 ปี แต่เป็นตลอดกาล” ทรัมป์ กล่าว

“ถ้าอิหร่านไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด มาตรการคว่ำบาตรของอเมริกาจะถูกรื้อฟื้นโดยอัตโนมัติ”

ทรัมป์ ยังเรียกร้องให้สภาคองเกรสแก้ไขกฎหมาย เพื่อไม่ให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องประกาศทุกๆ 90 วันว่าเขาคิดว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ และไม่ต้องออกมาประกาศยกเว้นคว่ำบาตรทุกๆ 120 หรือ 180 วันอย่างที่เป็นอยู่

โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ได้ทวีตข้อความวิจารณ์ถ้อยแถลงของ ทรัมป์ ว่าเป็น “ความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะบั่นทอนข้อตกลงพหุภาคีอันแข็งแกร่ง”

เขาย้ำว่าข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 “ไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขได้อีก และแทนที่จะพูดจาข่มขู่คุกคาม สหรัฐฯ ควรจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ให้ไว้อย่างสมบูรณ์ เหมือนที่อิหร่านทำ”

แม้จะยอมยกเว้นคว่ำบาตรโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน แต่ ทรัมป์ ก็ได้ออกคำสั่งคว่ำบาตรเพิ่มเติมในประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่าเป็นการลงโทษที่อิหร่านปราบปรามผู้ประท้วงซึ่งออกมาแสดงความไม่พอใจปัญหาสินค้าแพงเมื่อไม่นานนี้

ฝ่ายที่สนับสนุนข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจทั้ง 6 รวมไปถึงอดีตเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งมีส่วนในการผลักดันข้อตกลงฉบับนี้ ต่างออกมาติเตียนแผนของ ทรัมป์

Diplomacy Works ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ระบุว่า “วันนี้เราได้รับรู้ว่า ประธานาธิบดี ทรัมป์ มีแผนที่จะข่มขู่ชาติพันธมิตรของเราให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขขั้นพื้นฐานของข้อตกลงซึ่งพวกเขาก็ตระหนักว่ามันเป็นผลดีต่อความมั่นคงร่วม และเคยประกาศต่อสาธารณะแล้วว่าไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรทั้งนั้น”

อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ซึ่งได้ร่วมลงนามในข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 รวมไปถึงสหภาพยุโรปซึ่งดูแลการเจรจาดังกล่าว ต่างเฝ้ามองท่าทีของวอชิงตันอย่างระมัดระวัง

กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษและเยอรมนีระบุว่าได้ทราบการตัดสินใจของ ทรัมป์ แล้ว และจะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับฝรั่งเศส ก่อนที่จะกำหนดแนวทางปฏิบัติใดๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น