นับเป็นกระแสร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี เมื่อผู้นำ คิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือออกมากล่าวสุนทรพจน์เริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยวาทกรรม “ปุ่มนิวเคลียร์อยู่บนโต๊ะ” ที่ทำเอาผู้นำสหรัฐฯ นั่งไม่ติด ขณะเดียวกันก็เริ่มเล่นบทมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่มีความรับผิดชอบและใฝ่สันติ พร้อมหยิบยื่นไมตรีให้เกาหลีใต้ด้วยการประกาศจะส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกส์ฤดูหนาว “เปียงชางเกมส์” 2018
ผู้นำเกาหลีเหนือระบุว่ารัฐบาลของเขา “เปิดกว้าง” สำหรับการพูดคุยกับโซล พร้อมฝากคำเตือนถึงอเมริกาว่า “แผ่นดินสหรัฐฯ ทั้งหมดอยู่ในพิสัยโจมตีของอาวุธนิวเคลียร์ของเรา และปุ่มนิวเคลียร์ก็อยู่บนโต๊ะทำงานผม นี่คือความจริง ไม่ใช่คำขู่... แต่อาวุธเหล่านี้จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อความมั่นคงของเราถูกคุกคามเท่านั้น”
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ พิมพ์ข้อความทวีตตอบอย่างเผ็ดร้อนพอๆ กันว่า “ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน อ้างว่าปุ่มนิวเคลียร์อยู่บนโต๊ะทำงานของเขาตลอดเวลา ใครสักคนในรัฐบาลที่อดอยากและสิ้นไร้ไม้ตอกของเขาช่วยไปแจ้งให้เขาทราบด้วยว่า ผมเองก็มีปุ่มกดนิวเคลียร์เหมือนกัน แต่มันใหญ่กว่ามาก และมีอานุภาพมากกว่าที่เขามีเสียอีก และที่สำคัญปุ่มของผมมันใช้การได้”
นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ปีนี้ผู้นำคิมไม่ได้สวมสูทสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มแบบประธาน เหมา เจ๋อ ตง แต่ปรากฏตัวในชุดสูทสีเทาผูกเนคไทตามแบบตะวันตกซึ่งดูผ่อนคลายมากกว่า ลักษณะการพูดก็เต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจ ไม่มีท่าทางหลุกหลิกหรือเสียงสั่นอย่างปีก่อนๆ
สถาบันเพื่อการรวมชาติเกาหลี (Korea Institute for National Unification) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “การเปลี่ยนจากชุดประธานเหมามาเป็นสูทแบบตะวันตกบ่งบอกถึงสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ คิม เน้นย้ำเป็นพิเศษ” และยังแสดงถึง “จิตใจที่ผ่อนคลาย” ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากถ้อยแถลงก่อนหน้าที่เขาประกาศว่าเกาหลีเหนือบรรลุเป้าหมายสูงสุดด้านนิวเคลียร์แล้ว
เกาหลีใต้นั้นต้องการให้โสมแดงมีส่วนร่วมในกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาว เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่าอีกฝ่ายจะไม่ทดลองนิวเคลียร์หรือยิงขีปนาวุธในช่วงเวลาดังกล่าว
นักวิเคราะห์เชื่อว่าการยื่นข้อเสนอเจรจาและส่งนักกีฬาเข้าร่วม “เปียงชางเกมส์” นั้นเป็นกลยุทธ์ของผู้นำคิมที่จะดึงเกาหลีใต้ออกห่างจากสหรัฐฯ และอาจหวังผลไปไกลถึงขั้นสลายจุดยืนร่วมระหว่าง 5 มหาอำนาจได้แก่ สหรัฐฯ เกาหลีใต้ รัสเซีย จีน และญี่ปุ่น ที่ใช้นโยบายโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้
“หลักสำคัญในตำรายุทธศาสตร์ของตระกูลคิมก็คือ การดีลกับแต่ละชาติที่มีผลประโยชน์แตกต่างกัน เริ่มจากสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ก่อนจะขยายต่อไปยังมหาอำนาจทั้งห้า” แดเนียล รัสเซลล์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันทำงานกับสถาบัน Asia Society Policy Institute ในนิวยอร์กระบุ พร้อมเสริมว่าเกาหลีเหนือใช้กลยุทธ์ยั่วยุสลับกับการขอปรองดองเพื่อทำให้มหาอำนาจแตกคอกันเองอย่างนี้มานานแล้ว
“เรากำลังเผชิญสถานการณ์แบบ ‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย’ ถ้าเกาหลีเหนือทำตัวเป็นรัฐอันธพาล มหาอำนาจทั้งห้าจะร่วมมือกันง่ายกว่านี้”
สหรัฐฯ เองก็ตระหนักดีว่า มาตรการกดดันเกาหลีเหนือจะสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าจีนและรัสเซียจะให้ความร่วมมือแค่ไหน
จีนซึ่งเป็นทั้งพันธมิตรและคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือได้เริ่มจำกัดการค้าและลดเพดานส่งออกน้ำมันให้โสมแดงตามมติของยูเอ็น ทว่าสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้ปักกิ่งใช้อิทธิพลควบคุมพฤติกรรมเปียงยางมากกว่านี้
รัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาขานรับสุนทรพจน์ปีใหม่ของคิม ขณะที่ประธานาธิบดี มุน แจ อิน ก็พยายามลดความตึงเครียดด้วยการขอเลื่อนกำหนดการซ้อมรบประจำปีกับสหรัฐฯ ออกไป จนกว่าการแข่งขันโอลิมปิกส์ฤดูหนาวจะสิ้นสุด
โรเบิร์ต เคลลี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซาน ระบุว่า การที่เจ้าภาพเกาหลีใต้อ้าแขนรับนักกีฬาโสมแดงเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกส์ฤดูหนาวอาจสร้างความลำบากใจให้แก่ผู้นำหลายๆ ประเทศที่ตราหน้าเกาหลีเหนือเป็นรัฐอันธพาล
“เกาหลีใต้จะตกที่นั่งลำบาก เพราะสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ” เคลลี ระบุ
นอกจากประวัติศาสตร์ยุคสงครามซึ่งยังคงเป็นปมปัญหาระหว่างประเทศอยู่แล้ว อดีตนักการทูตญี่ปุ่นคนหนึ่งยังยอมรับว่า รัฐบาลโตเกียวรู้สึก “เหนื่อยหน่าย” ท่าทีของโซลต่อเกาหลีเหนือ และไม่เชื่อมั่นในตัวประธานาธิบดี มุน แจ อิน เท่าใดนัก
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางคนไม่เชื่อว่ากลยุทธ์ปรองดองของ คิม จะกัดเซาะความเป็นพันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ หรือลดกระแสคว่ำบาตรของนานาชาติได้ในระยะยาว เนื่องจากเกาหลีเหนือไม่มีทีท่าว่าจะยอมทำตามข้อเรียกร้องของนานาชาติเรื่องการทดสอบนิวเคลียร์/ขีปนาวุธ หรือการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน
“ผมไม่เชื่อว่าทั่วโลกจะเปลี่ยนนโยบายการเมืองหรือเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือในระยะเวลาอันใกล้นี้” สก็อตต์ สไนเดอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสหรัฐฯ-เกาหลีจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ระบุ สอดคล้องกับมุมมองของ เคลลี ที่บอกว่า “การส่งนักกีฬามาแข่งโอลิมปิกส์ก็แค่การประนีประนอมแบบลวงๆ อันที่จริงเกาหลีเหนือยังไม่ได้ล้มเลิกอะไรเลยสักอย่าง”
เอียน เบรมเมอร์ ประธานยูเรเชียกรุ๊ป ชี้ว่า ความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธ ICBM ที่เดินทางไปถึงแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ คงทำให้เกาหลีเหนือรู้สึกปลอดภัย และเชื่อว่าจะสามารถรับมือการโจมตีก่อน (pre-emptive strike) ของวอชิงตันได้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงกระตือรือร้นที่จะพูดคุยกับเกาหลีใต้หรือจีนมากขึ้น ขณะที่โซลก็ดูเหมือนจะยินดีรับไมตรีของผู้นำโสมแดง
“ถึงอย่างไรเสีย นโยบายของทรัมป์ก็คือ อเมริกาเฟิร์สต์ ไม่ใช่ เกาหลีใต้เฟิร์สต์” เบรมเมอร์ กล่าว
เบรมเมอร์ ซึ่งมีโอกาสพุดคุยกับเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ประธานาธิบดี มุน อาจตัดสินใจระงับการซ้อมรบประจำปีกับสหรัฐฯ เพื่อแลกโอกาสเจรจากับคิม ซึ่งจะนับว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายจีน และเป็นความพ่ายแพ้ของอเมริกาซึ่งย้ำมาโดยตลอดว่าจะไม่ยอมให้เกาหลีเหนือเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ว่า ทรัมป์ อาจจะเอออวยไปกับทางออกนี้ หรือแม้กระทั่งอ้างความดีความชอบ แต่หากเขายังที่จะบีบให้ คิม เป็นฝ่ายถอยก็เท่ากับเร่งเร้าให้เกิดสงครามเร็วขึ้น