xs
xsm
sm
md
lg

“คิม” สั่งต่อสายฮอตไลน์เกาหลีใต้ เมิน “ทรัมป์” บลัฟปุ่มกดนุกของตนอันใหญ่กว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>เจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีใต้ตรวจสอบโทรศัพท์สายด่วนที่เป็นช่องทางสื่อสารโดยตรงในการพูดจากับฝ่ายเกาหลีเหนือ ณ หมู่บ้านปันมุนจอม, เกาหลีใต้ เมื่อวันพุธ (3 ม.ค.)  ทั้งนี้ คิม จองอึน ผู้นำโสมแดงเพิ่งสั่งต่อสายฮอตไลน์นี้ขึ้นมาใหม่  ซึ่งทำให้บรรยากาศความตึงเครียดระหว่างสองเกาหลีลดลง </i>
เอเจนซีส์ - คิม จองอึน สั่งต่อสายระบบฮอตไลน์กับเกาหลีใต้ใหม่ในวันพุธ (3 ม.ค.) เพื่อหารือเรื่องการส่งนักกีฬาลงแข่งโอลิมปิกฤดูหนาว โดยไม่สนใจคำส่อเสียดตอบโต้จากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯที่ว่าตัวเองก็มีปุ่มกดนิวเคลียร์ “ที่ใหญ่และทรงพลังกว่า” บนโต๊ะทำงาน

โทรศัพท์สายด่วนที่เปียงยางระงับใช้ตั้งแต่ปี 2016 เริ่มใช้การได้อีกครั้งเมื่อเวลา 06.30 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิชวันพุธ (3) หรือประมาณ 13.30 น.ตามเวลาไทย หลังจากที่เมื่อวันอังคาร (2) โซลเสนอจัดการหารือระดับสูงช่วงต้นสัปดาห์หน้า เป็นการตอบกลับท่าทีที่อ่อนลงของผู้นำเกาหลีเหนือระหว่างที่เขากล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ โดยการหารือจะครอบคลุม “ประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน” ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะของคิมว่า เกาหลีเหนืออาจส่งนักกีฬาร่วมแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพในเดือนหน้า

อย่างไรก็ตาม คำปราศรัยปีใหม่ของคิมยังมีส่วนที่เตือนอเมริกาว่า บนโต๊ะทำงานของตนมี “ปุ่มกดนิวเคลียร์” พรักพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ทรัมป์เดือดดาลและโต้กลับผ่านทวิตเตอร์ก่อนที่คิมจะสั่งการให้ต่อสายด่วนกับเกาหลีใต้ไม่กี่ชั่วโมงว่า “ใครสักคนในประเทศเกาหลีเหนือที่ยากแค้นอดอยากช่วยบอกเขาหน่อยว่า ผมก็มีปุ่มกดนิวเคลียร์เหมือนกัน แถมใหญ่กว่า มีอานุภาพกว่า และใช้งานได้จริง!”

ทว่า ดูเหมือนคำตอบโต้แบบส่อเสียดเย้ยหยันของทรัมป์ ไม่มีผลต่อความพยายามฟื้นสัมพันธไมตรีของสองเกาหลีแต่อย่างใด โดยรี ซอนวอง ประธานคณะกรรมาธิการการรวมชาติอย่างสันติของเกาหลีเหนือ แถลงว่า คิมยินดีมากกับการตอบรับของโซล และได้ออกคำสั่งอย่างละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการทำงานร่วมกับรัฐบาลเกาหลีใต้อย่างจริงจังและจริงใจ

รีเสริมว่า การหารือมีเป้าหมายเพื่อปูทางสำหรับการเจรจาเกี่ยวกับการส่งนักกีฬาร่วมแข่งขันโอลิมปิกที่เมืองเปียงชางในเกาหลีใต้

เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ที่ถูกแบ่งแยกโดยมีเขตปลอดทหารคั่นกลาง นับจากสิ้นสุดสงครามเกาหลีปี 1950-1953 ได้เคยจัดการหารือระดับสูงกันมาหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดในปี 2015 นั้นมุ่งที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียด ทว่าไม่ประสบสำเร็จ

สำหรับระบบโทรศัพท์สายด่วนที่ติดตั้งอยู่ในหมู่บ้านปันมุนจอมในเขตปลอดทหารนั้น ถูกเกาหลีเหนือตัดสายไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 เพื่อตอบโต้ที่เกาหลีใต้ปิดนิคมอุตสาหกรรมแกซอง ที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันก่อตั้งและดำเนินการ

ทางด้าน ยุน ยองชาน หัวหน้าโฆษกของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวว่า การตัดสินใจเปิดสายด่วนอีกครั้งของฝั่งเปียงยางมีนัยสำคัญมาก เนื่องจากอาจนำไปสู่การสื่อสารอย่างต่อเนื่องระหว่างสองชาติ

ประธานาธิบดีมุน แจอินของเกาหลีใต้นั้นสนับสนุนการเกี่ยวพันกับเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ต้น ถึงแม้คณะบริหารของทรัมป์ยืนกรานว่า เปียงยางต้องยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์เสียก่อนจึงสมควรจะรื้อฟื้นการเจรจา

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือเพิกเฉยต่อมาตรการแซงก์ชันของนานาชาติและคำขู่ของทำเนียบขาว ด้วยการเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์หลายครั้งในปีที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า เพื่อป้องกันตัวเองจากการรุกรานของอเมริกา

ทางด้านนิกกี้ เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ข้อเสนอหารือของโซลเป็นแค่ “ผ้าพันแผล” และย้ำว่า วอชิงตันจะไม่ให้ราคาการเจรจาระหว่างโซลกับเปียงยาง ถ้าเปียงยางยังไม่ปลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งเตือนว่า เกาหลีเหนืออาจกำลังเตรียมทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธรอบใหม่

ส่วน เฮเธอร์ นอเอิร์ต โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ สำทับว่า คิมอาจพยายามเสี้ยมให้โซลกับวอชิงตันแตกแยกกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น