รอยเตอร์ - ผู้ประท้วงก่อเหตุยิงตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิต ระหว่างการชุมนุมในอิหร่าน จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในวันจันทร์(1ม.ค.) นับเป็นสมาชิกกองกำลังด้านความมั่นคงนายแรกที่เสียชีวิตในความพยายามควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบที่ท้าทายพวกผู้นำประเทศ
การชุมนุมยืดเยื้อเข้าสู่วันที่ 5 ด้วยรายงานระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันอาทิตย์(31ธ.ค.) เพิ่มขึ้นเป็น 14 ราย นับเป็นสถานการณ์ความไม่สงบครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 โดยหนนั้นฝูงชนมหาศาลออกมารวมตัวกันบนท้องถนน เพื่อประณามการได้รับเลือกตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยของมาห์มูด อะห์มาดิเนจัด ประธานาธิบดี ณ ขณะนั้น
เหตุประท้วงได้ก่อแรงกดดันแก่พวกผู้นำทางศาสนาที่อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปฏิวัติอิสลาม 1979 เช่นเดียวกับประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ซึ่งปรากฏตัวผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่้งเมื่อวันอาทิตย์(31ธ.ค.) วิงวอนทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ โดยบอกว่าประชาชนชาวอิหร่านมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่มีสิทธิ์ก่อความไม่สงบ
โฆษกตำรวจเผยว่าเหตุตำรวจถูกยิงเสียชีวิต เกิดขึ้นเมื่อผู้ประท้วงคนหนึ่งกราดยิงปืนไรเฟิลฆ่าสัตว์ระหว่างการชุมนุมที่เมืองนาจาฟาบัด ทางภาคกลางของประเทศ นอกจากนี้แล้วยังมีตำรวจรายอื่นๆได้รับบาดเจ็บอีก 3 ราย อย่างไรก็ตามไม่ชัดเจนว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่
ก่อนหน้านี้สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐรายงานว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พวกผู้ประท้วงติดอาวุธพยายามยึดฐานที่มั่นของตำรวจและทหาร แต่ถูกกองกำลังด้านความมั่นคงเข้าสกัด อย่างไรก็ตามสื่อแห่งนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
มีผู้เสียชีวิต 10 คนในการประท้วงเมื่อวันอาทิตย์(31ธ.ค.) และยอดรวมเหยื่อเพิ่มขึ้นอีกในวันจันทร์(1ม.ค.) หลังรองผู้ว่าราชการจังหวัดฮามาดัน ทางตะวันตกของประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่ามีผู้ประท้วงเสียชีวิต 3 คนที่เมืองตัยเซอร์คาน เมื่อวันอาทิตย์(31ธ.ค.)
นอกจากนี้แล้วพวกเจ้าหน้าที่เผยว่ามีผู้ชุมนุมถูกจับกุมไปหลายร้อยคน และวิดีโอบนสื่อสังคมออนไลน์ พบเห็นตำรวจในกรุงเตหะราน ฉีดน้ำสลายการชุมนุม
การชุมนุมเริ่มต้นที่เมืองมัชฮาด นครใหญ่สุดอันดับ 2 ของอิหร่าน เมื่อค่ำคืนวันพฤหัสบดี (28 ธ.ค.) จากการประท้วงค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจและคำกล่าวหาคอรัปชัน แต่มันลุกลามและแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเป็นการประท้วงทางการเมือง โดยบางส่วนถึงขั้นเรียกร้องให้ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดลาออก และตะโกนด่าทอรัฐบาลว่าเป็นพวกหัวขโมย
เหตุชุมนุมยังมีขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ออกมาร้องขอความสงบ โดยเขากล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐว่าชาวอิหร่านมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ แต่ก็เตือนว่าอาจถูกปราบปรามเช่นกัน "รัฐบาลจะไม่อดทนต่อพวกที่ก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยและก่อความไม่สงบในสังคม" รูฮานี เรียกร้องผ่านสถานีโทรทัศน์เมื่อวันอาทิตย์(31ธ.ค.)