ปี 2017 ที่ผ่านพ้นไปมีหลากหลายเหตุการณ์รอบโลกที่น่าจับตามอง เริ่มตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ วิกฤตการเมืองในตะวันออกกลาง การกวาดล้างชาวโรฮิงญา สงครามไอเอส และอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือที่ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ อย่างจริงจัง
- ปีของทรัมป์
วันที่ 20 ม.ค. โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ ชาวนิวยอร์ก วัย 70 ปี ได้เข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา พร้อมประกาศนโยบาย America First ซึ่งเน้นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นที่ตั้ง ทว่าการบริหารประเทศของทรัมป์ก็ต้องเผชิญมรสุมจากข้อครหาสมคบรัสเซียแกว่งผลการเลือกตั้ง ซึ่งนำมาสู่การสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ใกล้ชิด ทรัมป์ หลายราย
ผู้นำสหรัฐฯ ยังสร้างความวิตกกังวลด้วยการทวีตข้อความยั่วยุโอ้อวด และประกาศหันหลังให้กับข้อตกลงระหว่างประเทศที่เขามองว่าขัดกับผลประโยชน์ของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงภูมิอากาศปารีส, ข้อตกลงว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของยูเอ็น, ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) หรือแม้กระทั่งนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากยูเนสโก
วันที่ 6 ธ.ค. ทรัมป์ จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลกด้วยการละทิ้งจุดยืนหลายสิบปีของสหรัฐฯ และประกาศรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
- ความคืบหน้า “เบร็กซิต”
อังกฤษเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ในวันที่ 29 มี.ค. หลังจากชาวเมืองผู้ดีเกินครึ่งได้ลงประชามติสนับสนุน “เบร็กซิต” เมื่อ 9 เดือนก่อนหน้า
นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ประกาศจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดในวันที่ 8 มิ.ย. โดยหวังว่าพรรครัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟจะกวาดคะแนนเสียงและคว้าที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น แต่ผลของการเดิมพันครั้งนี้กลับพลิกความคาดหมาย และทำให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟสูญเสียเสียงข้างมาก
หลังใช้เวลาเจรจาต่อรองอยู่นานหลายเดือน ในที่สุดบรัสเซลส์และลอนดอนก็บรรลุข้อตกลงว่าด้วยเงื่อนไขเบร็กซิตในวันที่ 8 ธ.ค. ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเจรจาขั้นที่ 2 ว่าด้วยความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างอังกฤษและอียูในอนาคต
- แผ่นดินไหวการเมืองใน “ฝรั่งเศส”
เอมมานูแอล มาครง นักการเมืองสายกลางผู้มีจุดยืนโปรอียู คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ด้วยคะแนนทิ้งห่าง มารีน เลอแปน ผู้นำพรรคขวาจัดเนชันแนลฟรอนต์ และขึ้นแท่นผู้นำอายุน้อยที่สุดของเมืองน้ำหอมด้วยวัยเพียง 39 ปี
ขบวนการ “อ็อง มาร์ช” (En Marche) ของ มาครง ยังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการชิงอำนาจบริหารมาจาก 2 พรรคใหญ่อย่างโซเชียลิสต์และรีพับลิกันได้เป็นครั้งแรก
- ไฟพิพาท “ตะวันออกกลาง”
ซาอุดีอาระเบียจับมือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. โดยกล่าวหาโดฮาว่าให้การสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย และเอาใจฝักใฝ่อิหร่าน จุดชนวนวิกฤตการทูตครั้งใหญ่ในรอบหลายปี
วันที่ 4 พ.ย. นายกรัฐมนตรีสะอัด ฮาริรี แห่งเลบานอนสร้างความระส่ำระสายไปทั่วภูมิภาคด้วยการประกาศลาออกสายฟ้าแลบระหว่างเยือนกรุงริยาด โดยระบุว่าไม่พอใจที่ “อิหร่าน” ใช้อิทธิพลแทรกแซงเลบานอน ก่อนจะเปลี่ยนใจยอมอยู่ในตำแหน่งต่อ
รัฐบาลซาอุฯ กล่าวหาว่ากบฏฮูตีซึ่งยึดครองเยเมนได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและขบวนการฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ขณะที่ยูเอ็นเตือนว่าสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานานร่วม 3 ปีเสี่ยงก่อวิกฤตความอดอยากครั้งใหญ่ของโลก และมีชาวเยเมน 17 ล้านคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารอย่างเร่งด่วน
- หายนะทางเศรษฐกิจของ “เวเนซุเอลา”
เวเนซุเอลาเผชิญเหตุจลาจลขับไล่ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ที่ยืดเยื้อนานถึง 4 เดือนเต็ม ก่อนที่รัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 ก.ค. แม้จะถูกปฏิเสธความชอบธรรมทั้งจากฝ่ายค้านและนานาชาติก็ตาม
สภาร่างรัฐธรรมนูญได้สั่งปลดอัยการสูงสุด ลุยซา ออร์เตกา ซึ่งผันตัวมาอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล จากนั้นก็ทำการยึดอำนาจจากรัฐสภาที่ฝ่ายค้านครองเสียงข้างมาก
ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงจากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำส่งผลให้ค่าเงินโบลิวาร์ร่วงดิ่งเหว ขณะที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเมินสถานะของเวเนซุเอลาอยู่ในขั้น “ผิดนัดชำระหนี้บางส่วน” (selective default)
- ภัยคุกคาม “เกาหลีเหนือ”
เกาหลีเหนือทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ต่อมาผู้นำ คิม จอง อึน ได้ประกาศในวันที่ 20 พ.ย. ว่าเกาหลีเหนือได้กลายเป็น “รัฐนิวเคลียร์” อย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากประสบความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ที่สามารถส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปถล่มแผ่นดินสหรัฐฯ ได้ทุกแห่ง
สหรัฐฯ ขู่จะทำลายล้างระบอบคิมให้ “ราบคาบ” เมื่อใดก็ตามที่สงครามปะทุขึ้น
- การกวาดล้างชาติพันธุ์ “โรฮิงญา”
กองทัพพม่าเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่เมื่อวันที่ 25 ส.ค. โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้ที่กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาบุกโจมตีค่ายทหารและตำรวจ ผลจากการปราบปรามทำให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 650,000 คนต้องทิ้งบ้านเรือนหนีตายข้ามไปยังบังกลาเทศ
องค์การสหประชาชาติและสหรัฐฯ ประณามการกระทำของรัฐบาลพม่าว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์โรฮิงญา ขณะที่ เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น ระบุว่าอาจมีพฤติการณ์บางอย่างที่เข้าข่าย “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
- กระแสเรียกร้องเอกราช “กาตาลุญญา”
แคว้นกาตาลุญญาของสเปนได้จัดทำประชามติว่าด้วยการแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งผลปรากฏว่าประชาชนราว 42% ที่ออกมาใช้สิทธิโหวต “เยส” ถึงร้อยละ 90 รัฐบาลกลางสเปนชี้ว่าการลงประชามติดังกล่าวผิดกฎหมาย แต่รัฐสภาคาตาลันยังดื้อดึงประกาศเอกราชจากสเปนอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ต.ค.
มาดริดตอบโต้ด้วยการประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 155 ริบอำนาจคืนสู่ส่วนกลางและสั่งยุบสภากาตาลุญญาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่ คาร์เลส ปุยจ์เดมองต์ ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาถูกตั้งข้อหากบฏและหลบหนีไปยังเบลเยียม
- ความพ่ายแพ้ของไอเอส
วันที่ 9 ธ.ค. รัฐบาลอิรักประกาศชัยชนะในสงครามขับไล่กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ขณะที่นักรบญิฮาดก็ถูกกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ และกองทัพซีเรียที่ได้รัสเซียหนุนหลังตีโต้จนสูญเสียดินแดนในซีเรียไปเกือบหมดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าไอเอสยังไม่ได้ถูกกำจัดและจะยังเป็นภัยคุกคามต่อไปอีก ขณะที่ในปี 2017 ได้เกิดเหตุโจมตีขึ้นในหลายประเทศซึ่งไอเอสประกาศอ้างความรับผิดชอบ