รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี เปโดร คักซินสกี แห่งเปรูประกาศอภัยโทษให้แก่อดีตผู้นำเผด็จการ อัลเบร์โต ฟูจิโมริ เมื่อค่ำวานนี้ (24 ธ.ค.) คืนอิสรภาพให้แก่อดีตผู้นำชราก่อนที่เขาจะรับโทษจำคุกครบ 25 ปีในความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนและฉ้อราษฎร์บังหลวง
การตัดสินใจของผู้นำเปรูครั้งนี้สร้างความตกตะลึงไม่น้อย และนำไปสู่การนัดชุมนุมประท้วงใจกลางกรุงลิมาในวันคริสต์มาสอีฟ ซึ่งสถานการณ์อาจบานปลายจนถึงขั้นมีการลาออกของคณะรัฐมนตรี
ฝ่ายศัตรูของ ฟูจิโมริ ประณามการอภัยโทษว่าเป็นข้อตกลงทางการเมืองเพื่อช่วยให้ คักซินสกี รอดพ้นข่าวฉาว ขณะที่สำนักงานของ คักซินสกี ออกมาปฏิเสธ และอ้างความเห็นของแพทย์ซึ่งระบุว่า ร่างกายของ ฟูจิโมริ “มีภาวะเสื่อมพิการลงเรื่อยๆ ที่ไม่อาจรักษาได้”
ฟูจิโมริ ซึ่งปกครองเปรูในช่วงปี 1990-2000 และอายุ 79 ปีเท่าๆ กับ คักซินสกี ถูกหามส่งโรงพยาบาลอีกครั้งเมื่อค่ำวันเสาร์ (23) โดยแพทย์ระบุว่าความดันโลหิตของเขาลดต่ำอย่างรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่กลุ่มที่ไม่เชื่อก็มองว่าเป็นการจัดฉากเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลอภัยโทษผู้นำขี้ฉ้อรายนี้
ประกาศอภัยโทษมีขึ้นเพียง 3 วัน หลังจากที่ เคนจิ ฟูจิโมริ บุตรชายของอดีตผู้นำจอมฉาว ตัดสินใจทรยศพรรคตัวเองด้วยการงดออกเสียงระหว่างที่รัฐสภาลงมติถอดถอน คักซินสกี ด้วยข้อหาทุจริต ซึ่งช่วยให้ผู้นำเปรูรั้งเก้าอี้ไว้ได้อย่างหวุดหวิด
“เราจะซาบซึ้งในน้ำใจของคุณตลอดไป” เคนจิ ทวีตขอบคุณรัฐบาลในนามของครอบครัวฟูจิโมริ
ฟูจิโมริ ซึ่งรับโทษจำคุกมาแล้ว 12 ปี ถือเป็นอดีตผู้นำที่มีทั้งคนรักและคนชัง แม้จะมีผลงานโดดเด่นในด้านเศรษฐกิจและการปราบปรามขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงรูปแบบการปกครองที่เป็นเผด็จการ และการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ
กลุ่มผู้สนับสนุน ฟูจิโมริ ไปรวมตัวกันที่หน้าโรงพยาบาลในกรุงลิมาซึ่งอดีตผู้นำนอนรักษาตัวอยู่เมื่อค่ำวานนี้ (24) พร้อมชูป้ายข้อความที่เขียนว่า “อิสรภาพสำหรับฟูจิโมริ”
ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็แสดงท่าทีโกรธแค้นและเรียกร้องให้มีการชุมนุมประท้วง
“ทุกคนจงออกมาเดินขบวนบนท้องถนน นี่ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งอยู่เฉยๆ” เว็บไซต์ข่าว เอล ปันเฟลโต เปรู แถลงผ่านทวิตเตอร์
คำสั่งอภัยโทษยังสร้างความเจ็บช้ำต่อครอบครัวของเหยื่อ อัยการ และนักสิทธิมนุษยชนที่ร่วมกันต่อสู้อย่างทรหดจนทำให้ ฟูจิโมริ ต้องเข้าไปนอนในคุก และเรียกเสียงชื่นชมจากทั่วโลกว่าเป็นตัวอย่างของการต่อต้านวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity)
อินทิรา ฮูอิลกา ส.ส. พรรคฝ่ายซ้ายซึ่งบิดาถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 1992 ในเหตุการณ์ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนแห่งอเมริการะบุว่าเป็นการฆ่าโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม (extrajudicial killing) ได้กล่าวประณาม คักซินสกี ว่า “ทรยศต่อความยุติธรรม ประชาธิปไตย และเหยื่อ ประวัติศาสตร์จะไม่มีวันให้อภัยคุณ”
มาเรีย ลุยซา คูคูลิซา ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลฟูจิโมริ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์หลังเข้าเยี่ยม ฟูจิโมริ ว่า อดีตผู้นำรายนี้ไม่ปรารถนาที่จะเล่นการเมืองอีกแล้ว
“เขาแค่ต้องการอิสรภาพ เขาอยากเห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าและมีสันติสุข เขาไม่ต้องการกลับมาเล่นการเมืองอีก และอยากจะเป็นคุณปู่ที่ดีเท่านั้น เขาบอกกับฉันเช่นนี้”