เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – เครื่องบิน AG600 ที่จีนผลิตเอง ซึ่งเป็นเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบกลำใหญ่ที่สุดในโลกเวลานี้ ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อวันอาทิตย์ (24 ธ.ค.) ในการออกบินเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญสิงคโปร์ชี้อากาศยานรุ่นนี้มีพิสัยไปถึงโครงการเกาะเทียมทุกๆ แห่งในทะเลจีนใต้ได้อย่างสบายๆ อีกทั้งร่อนลงจอดและบินขึ้นจากพื้นน้ำได้ จึงสามารถเข้าถึงเกาะซึ่งโครงสร้างบอบบางไม่อาจทำรันเวย์ได้
เครื่องบินซึ่งสำนักข่าวซินหวาของจีนระบุว่าใช้ชื่อรหัสว่า “คุนหลง” (Kunlong) ลำนี้ ทะยานขึ้นจากเมืองจูไห่ นครทางภาคใต้ของประเทศ และบินอยู่เป็นเวลาราว 1 ชั่วโมงก่อนจะร่อนลงจอด
AG600 มีความกว้างจากปลายปีกข้างหนึ่งไปยังปีกอีกข้างหนึ่งเท่ากับ 38.8 เมตร ใช้เครื่องยนต์ใบพัดจำนวน 4 เครื่อง มีศักยภาพที่จะบรรทุกคนได้ 50 คน และสามารถบินอยู่บนท้องฟ้านาน 12 ชั่วโมง
“จากความสำเร็จในการบินเที่ยวปฐมฤกษ์นี้ ทำให้จีนติดอันดับอยู่ในบรรดาชาติต่างๆ ไม่กี่ชาติในโลกซึ่งมีความสามารถที่จะพัฒนาเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดใหญ่เช่นนี้” หวง หลิงไค หัวหน้าผู้ออกแบบบอกกับซินหวา
เครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบกลำนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางการทหาร แต่จะใช้เพื่อการต่อสู้อัคคีภัยและการกู้ภัยทางทะเลเป็นหลัก โดยที่จนถึงเวลานี้ เอวิเอชั่น อินดัสตรี คอร์ป ออฟ ไชน่า รัฐวิสาหกิจจีนที่เป็นผู้ผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ ได้รับใบสั่งซื้อแล้วอย่างน้อย 17 ลำ สื่อมวลชนของรัฐจีนรายงาน
ขณะที่ AG600 มีขนาดประมาณพอๆ กับเครื่องบินโบอิ้ง 737 แต่ยังถือว่าเล็กกว่ากันมากเมื่อเปรียบเทียบกับ “เรือบินได้” ของอภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน โฮเวิร์ด ฮิวจ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “เดอะ สปรูซ กูซ” (the Spruce Goose) โดยมีความกว้างจากปลายปีกหนึ่งไปอีกปลายปีกหนึ่งเท่ากับ 97 เมตร และมีความยาว 67 เมตร ทว่าเคยบินขึ้นสู่ท้องฟ้าเพียงระยะเวลาสั้นๆ ครั้งเดียวในปี 1947 ดังนั้น เครื่องบินรุ่นนี้ของแดนมังกรจึงยังคงถือเป็น เครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งยังมีการผลิตกันอยู่
สมรรถนะในการบินของ AG600 ทำให้มีพิสัยไปถึงโครงการสร้างเกาะเทียมทุกๆ แห่งของจีนในทะเลจีนใต้
“ด้วยพิสัยในการปฏิบัติการ 4,500 กิโลเมตร และความสามารถที่จะลงจอดและทะยานขึ้นจากผิวน้ำ ทำให้เครื่องบินรุ่นนี้มีความเหมาะสมสำหรับการประจำการในเกาะเทียมต่างๆ ของจีน” เจมส์ ชาร์ นักวิเคราะห์ด้านการทหาร แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ของสิงคโปร์ กล่าวให้ความเห็น
ขณะที่ โกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์ในเครือเหรินหมินรึเป้า ปากเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็รายงานยืนยันว่า เครื่องบินรุ่นนี้สามารถบินจากเมืองซานย่า บนเกาะไหหลำ ทางภาคใต้ของแดนมังกร ไปจนถึงแนวปะการัง เจมส์ โชล (James Shoal) ซึ่งเป็นดินแดนทางด้านใต้ที่สุด ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ ในเวลาเพียงแค่ 4 ชั่วโมง
แนวปะการังนี้นอกจากจีนแล้ว ยังถูกอ้างกรรมสิทธิ์โดยไต้หวันและมาเลเซีย โดยที่เวลานี้อยู่ใต้การบริหารของมาเลเซีย ทั้งนี้ เจมส์ โซล ซึ่งประกอบด้วยโขดหินจมน้ำจำนวนหนึ่ง ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งของมาเลเซียราว 80 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่จีนราว 1,800 กิโลเมตร
“ศักยภาพและความสามารถในการเคลื่อนตัวของเครื่องบินนี้ ทำให้ถือเป็นอุดมคติทีเดียวสำหรับใช้ลำเลียงขนส่งวัสดุต่างๆ ไปยังพวกสถานที่ทางทะเลซึ่งมีโครงสร้างที่เปราะบางเกินกว่าจะรองรับรันเวย์ได้” ชาร์กล่าว