xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกรายงาน “ไทย” คาด FAA สหรัฐฯ จะคืนเรตติ้งความปลอดภัยให้ในมีนาฯ ส่วน “นายกฯตู่” ชื่นมื่น เปิดงานประชุมการบินพลเรือนระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/MGRออนไลน์ – กระทรวงคมนาคมแถลงวันนี้(20 ธ.ค)ว่า ไทยตั้งเป้าจะได้รับการคืนมาตรฐานความปลอดภัยทางอากาศจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ FAA ภายในมีนาคมปีหน้า หลังถูกจับลดระดับลงในเดือนธันวคม 2015 เกิดขึ้นในวันพุธ(20 ธ.ค)ที่นายกฯตู่เปิดงานประชุมระดับภูมิภาคด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระดับโลก ICAO

รอยเตอร์รายงานวันนี้(20 ธ.ค) ทั้งนี้พบว่าสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย DCA ถูกลดชั้นมาตรฐานความปลอดภัยทางอากาศตามมาตรการของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ FAA จากเดิมที่ไทยเคยอยู่ในระดับ 1 แต่ถูกลดลงมาที่ระดับ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2015 แต่ทว่าล่าสุด ทางไทยชี้ว่า เชื่อว่าจะได้รับการปรับระดับคืนให้ในไม่กี่เดือนข้างหน้า

“ทางเราตั้งเป้าหมายที่จะได้รับการจัดลำดับมาอยู่ที่ระดับ 1 เช่นเดิมภายในเดือนมีนาคม” รัฐมนตรีคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว

ซึ่งตามมาตรฐานของ FAA สหรัฐฯ ระดับ 2 หรือ Category 2 ที่ทางไทยได้รับนั้นหมายความว่า ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO ในการออกใบอนุญาตและทำการกำกับดูแลสายการบิน ซึ่งส่งผลต่อสายการบินของไทย ที่ถึงแม้ว่าจะยังได้รับอนุญาตให้สามารถทำการบินเข้าสหรัฐฯได้ แต่ไม่สามารถเพิ่มการให้บริการใด ๆ ได้

ส่วนระดับ 1 หรือ Category 1 นั้นคือ เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO ในการออกใบอนุญาตและทำการกำกับดูแลสายการบิน อ้างอิงจากสื่อภายในประเทศ

โดยจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.)ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเมื่อสิงหาคม 2017 ได้เคยเปิดเผยกับสื่อธุรกิจของไทยในการรายงานเมื่อวันที่ 15 พ.ย 2015 ชี้แจงถึงปัญหาไทยที่มีต่อทาง FAA ของสหรัฐฯในขณะนั้นว่า

"ในการเข้ามาติดตามแผนแก้ไขข้อบกพร่องที่FAA ติงไว้ 35 ข้อ เมื่อวันที่ 26-28 ตุลาคม 2558 เราก็ได้รายงานความคืบหน้าในการแก้ไขข้อบกพร่องให้เขารับทราบว่าแต่ละเรื่องอยู่ในขั้นตอนใด โดยที่ผ่านมาข้อท้วงติงที่ FAA ซีเรียสมากๆก็ทยอยดำเนินการแก้ไขครอบคลุมในจุดเหล่านั้นแล้วเพราะFAA ได้แจ้งไว้ตั้งแต่เข้ามาตรวจสอบครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 - 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา (2015)และการเข้ามาพบในรอบนี้เป็นการติดตามการแก้ปัญหา ซึ่งเขาก็ขอเรียกดูเอกสารเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักบิน ถามเรื่องการบรรจุคนของกพท.ที่ยังบรรจุไม่หมด ซึ่งเราก็ได้ชี้แจงว่าอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการ เป็นต้น"

รอยเตอร์รายงานต่อว่า ทั้งนี้ในการออกมาให้ความเห็นของรัฐมนตรีคมนาคมไทยในวันพุธ(20)เกิดขึ้น 3 เดือนหลังจากที่ทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ICAO ยอมปลดธงแดงเตือนความปลอดภัยการเดินทางอากาศของไทยในเดือนตุลาคม 2017

โดยธุรกิจไทยได้อธิบายในเรื่องนี้ในรายละเอียดว่า เกิดมาจากการที่ไทยสามารถผ่านข้อกำหนดได้ 33 ข้อจากทั้งหมด 580 ข้อ ซึ่งกว่าที่ทางไทยจะผ่านข้อกำหนดทั้ง 33 ข้อมาได้นั้น สื่อธุรกิจไทยชี้ว่า ต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 2 ปี และส่วนข้อกำหนดกว่า 500 ข้อที่เหลือ เชื่อว่าทางไทยน่าจะสามารถทำให้ผ่านได้ภายใน 1 ปีหลังจากนี้

ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์วันนี้(20) ทางรัฐมนตรีคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้ให้การยืนยันว่า ไทยจะเดินหน้าเร่งสปีดการตรวจสอบคุณสมบัติของนักบิน และตั้งเป้าที่จะสรรหาบุคลากรทางการบินและนักบินที่มีความสามารถเพื่อที่ทางไทยจะสามารถเพิ่มเรตติ้งด้านความปลอดภัยของให้สูงขึ้น

โดยในเรื่องปัญหาคุณภาพของนักบินไทยนั้น จุฬา รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเคยกล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อไทยว่า ยอมรับว่าถูกทาง FAA สหรัฐฯสั่งให้แก้ไขปัญหาคุณภาพของนักบินจริง ซึ่งทางสหรัฐฯต้องการให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนตรวจสอบใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอกชนใหม่

พบว่ามีนักบินพลเรือนจำนวนราว 5,000 คนที่ทำงานอยู่ของสายการบินต่างๆที่ต้องถูกตรวจสอบ ทั้งนี้รายงานการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาการตรวจสอบใบอนุญาตนักบินนี้เกิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค 2017 โดยทางจุฬาชี้ว่า ทางสำนักงานได้ทำเสร็จสิ้นไปแล้วราว 1,000 พันคน

ซึ่งในการเรียกตรวจสอบนี้ สื่อธุรกิจไทยชี้ว่า ส่งผลทำให้บรรดานักบินพาณิชย์จำนวนหลายพันคนต้องถูกเรียกมาสอบใบอนุญาตใหม่อีกครั้งเพื่อที่จะสามารถขึ้นบินได้

โดยปัญหานอกเหนือจากการที่นักบินไม่ได้คุณภาพแล้ว พบว่าสาเหตุทางไทยในอดีตที่ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือความปลอดภัยทางอากาศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางไทยขาดผู้เชี่ยวชาญ โดยพบว่าถึงแม้ทางไทยจะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ทว่าบุคคลเหล่านี้ ซึ่งในแต่เดิมก่อนหน้าที่จะถูก FAA ลดระดับนั้น ทางไทยมีแค่ 36 คนเท่านั้น

และนอกเหนือจากที่มีจำนวนผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงพอแล้ว ยังพบว่าคนเหล่านี้มีคุณสมบัติไม่ครบุถ้วน รวมไปถึงยังขาดบความรู้ความสามารถในการตรวจสอบนักบินสำหรับการบินเครื่องบินได้ทุกรุ่นที่ทำการบินในปัจจุบัน เป็นต้นว่า เครื่องบินสมัยใหม่ เช่น โบอิ้ง 787 หรือ แอร์บัส เอ 380

ซึ่งการรายงานของรอยเตอร์ เกิดขึ้นในวันเดียวกัน(20)ที่ทางไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระดับโลก ICAO โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้เปิดงาน ซึ่งการประชุมนี้ถูกจัดขึ้นในเวลาราว 09.00 น. ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน

โดยในการรายงานของ MGRออนไลน์ และสื่ออื่นๆภายในประเทศ พบว่า มีคนสำคัญในแวดวงอุตสาหกรรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศเข้าร่วม เป็นต้น ดร.ฟ่าง หลิว เลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO อรุณ มิชรา ผอ.ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ICAO ชารีฟ ฟาเธย์ รัฐมนตรีการบินพลเรือนของอียิปต์ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม จุฬา สุขมานพ รักษาการผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พร้อมผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทางผู้นำไทยกล่าวถึง การยอมรับของไทยในสายตานานาชาติจากการที่ไทยสามารถปลดธงแดงของ ICAO ได้สำเร็จ

ภายในงาน นายกฯประยุทธ์กล่าวยืนยันโดยโยงไปถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะเวลา 20 ปี ว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเองประยุทธ์นั้นมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งภายใต้แผนยุทธศาสตร์นี้ อุตสาหกรรมการบินถูกจัดให้อยู่ในประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) เพื่อผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค

และผู้นำไทยยังกล่าวไปถึงสนามบินอู่ตะเภา โดยชี้ว่า ทั้งนี้รวมไปถึงแผนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบินแห่งภาคตะวันออก และนอกจากนี้ทางไทยยังมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นเพิ่มเติมร่วมไปไปด้วย เป็นต้นว่า การสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารอาคาร 2 การสร้างทางวิ่งหรือรันเวย์แห่งที่ 2 ห่างออกไปจากรันเวย์เดิม 1.5 ก.ม และการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมก่อสร้างอาคารเรียนของศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบินอีกด้วย พลเอกประยุทธ์เสริม สื่อไทยชี้

พลเอกประยุทธ์กล่าวกับผู้เข้าร่วมงานว่า “ขอสัญญาว่าจะรักษามาตรฐานการบินของไทยทำให้ดีที่สุดและทำให้ต่อเนื่องตลอดไป ตามแผนยุทธศาสตร์และการปฏิรูปด้วยกฎหมาย วิธีการและกฎระเบียบต่างๆ ที่ยังต้องแก้ไขภายในอีกจำนวนมาก ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจด้วย ซึ่งการมาประชุมของไอเคโอทำให้อากาศเมืองไทยเย็นขึ้น เพราะมีแต่เรื่องดีๆมาให้”

ทั้งนี้รอยเตอร์รายงานว่า ไทยถือเป็นฮับการเดินทางอากาศภายในภูมิภาค ซึ่งในปี 2017 รัฐบาลไทยตั้งเป้าที่จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนให้ได้ราว 33 -34 ล้านคน

กำลังโหลดความคิดเห็น