เอเอฟพี - รอยเท้าไดโนเสาร์อายุเก่าแก่ถึง 115 ล้านปีในออสเตรเลียถูกคนมือบอนเข้าไปทุบทำลายจนเสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ออสซี่ระบุว่าเป็นเรื่อง “น่าเสียใจ” ที่สะท้อนถึงความใจจืดใจดำของผู้กระทำ
รอยเท้าไดโนเสาร์เทโรพอดขนาดกลางถูกพบที่บริเวณ แฟลต ร็อคส์ ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลบูนูรอง รัฐวิกตอเรีย เมื่อปี 2006 ซึ่งถือเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในโลกที่นักบรรพชีวินวิทยาพบฟอสซิลไดโนเสาร์แถบขั้วโลกหรือยุคน้ำแข็ง
สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ซึ่งพาเด็กนักเรียนไปทัศนศึกษาพบว่ารอยเท้าถูกใครบางคนทุบทำลายอย่างจงใจ
“การที่ใครบางคนซึ่งรู้ที่ตั้งของรอยเท้าไดโนเสาร์ และจงใจเข้ามาทำลายสิ่งที่มีความสำคัญต่อแวดวงวิทยาศาสตร์ในระดับสากล นับเป็นเรื่องน่าเสียใจจริงๆ” ไบรอัน มาร์ติน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติรัฐวิกตอเรีย (Parks Victoria) ระบุ
นักบรรพชีวินวิทยาได้ใช้ยางซิลิโคนจำลองรอยเท้าที่พบเอาไว้ แต่แทนที่จะเคลื่อนย้ายรอยเท้าไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ พวกเขากลับตัดสินใจทิ้งมันไว้กับแผ่นหินตามเดิม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมและตื่นตาตื่นใจกับรอยเท้าไดโนเสาร์ในสถานที่จริง
รอยเท้านี้อยู่ในแหล่งขุดค้นทางบรรพชีวินวิทยาที่เรียกว่า “ไดโนซอร์ ดรีมมิง” ซึ่งพบกระดูกและฟันของสัตว์โบราณหลายพันชิ้นตั้งแต่ปี 1991
พารค์ส วิกตอเรีย ระบุว่า รอยเท้าไดโนเสาร์นับว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นการบันทึกช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์กินเนื้อตัวนี้เคยมายืนอยู่ในจุดดังกล่าว ซึ่งแตกต่างจากเศษกระดูกและฟอสซิลซึ่งถูกแม่น้ำในยุคโบราณพัดพามาทับถมกัน
ไมค์ คลีแลนด์ เจ้าหน้าที่จากศูนย์สิ่งแวดล้อมบูนูรอง หวังว่าผู้เชี่ยวชาญจะสามารถซ่อมแซมรอยเท้าไดโนเสาร์ให้กลับมาสมบูรณ์ใกล้เคียงของเดิมได้
“โชคดีที่ผมไปเจอเศษชิ้นส่วนที่แตกออกมาจากรอยเท้า และหวังว่าช่างเทคนิคจากพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐวิกตอเรียคงจะซ่อมแซมมันได้บ้าง”