xs
xsm
sm
md
lg

จีนไม่ได้ “ก้าวร้าวชอบก่อเรื่อง” มากมายเกินไปกว่าสหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรหรอก

เผยแพร่:   โดย: เคน มวค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China is no more ‘aggressive’ than US and its allies
By Ken Moak
27/11/2017

จีนจะเป็นอย่างที่พวกนักวิพากษ์วิจารณ์แดนมังกรพูดถึงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทัศนะมุมมองของแต่ละคน แต่เมื่อพิจารณาจากความเป็นมาในประวัติศาสตร์แล้ว จีนเห็นว่าพวกชาติตะวันตกและของญี่ปุ่นไม่ได้มีคุณสมบัติที่จะมาตัดสินวินิจฉัยตน เนื่องจากชาติเหล่านี้ต่างก็กำลังกระทำสิ่งเดียวกันกับที่พวกเขากล่าวหาจีนอยู่

ประเทศจีนจะเป็นอย่างที่พวกนักวิพากษ์วิจารณ์แดนมังกรพูดถึงหรือไม่นั้น มันเป็นสิ่งซึ่งขึ้นอยู่กับทัศนะมุมมองของแต่ละคน ทว่าในความคิดเห็นของจีนแล้ว เมื่อพิจารณาจากความเป็นมาในประวัติศาสตร์ของฝ่ายตะวันตกและของญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีคุณสมบัติที่จะมาตัดสินวินิจฉัยจีนหรอก เนื่องจากพวกเขาต่างก็กำลังกระทำสิ่งเดียวกันเลยกับที่พวกเขากล่าวหาจีนอยู่

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า จีนนั้นไม่ได้มีทรัพยากร, เวลา, หรือความโน้มเอียงใดๆ ที่จะมามุ่งเสาะแสวงหาฐานะในการเป็นผู้ครอบงำโลก ในขณะที่แดนมังกรจำเป็นต้องมีระยะเวลาแห่งสันติภาพ, เสถียรภาพ, และทรัพยากรต่างๆ อันต่อเนื่องยาวนาน เพื่อสร้างประเทศสังคมนิยม “ที่รุ่งเรืองมั่งคั่งและเข้มแข็ง” ขึ้นมาให้สำเร็จภายในปี 2050 จีนกำลังส่งเสริมสนับสนุนโลกาภิวัตน์และโลกที่หลายขั้วอำนาจ ไม่ใช่คอยเที่ยวรังแกพวกชาติที่อ่อนแอกว่าและข่มขู่คุกคามโลกตะวันตกตลอดจนญี่ปุ่นแต่อย่างใดทั้งสิ้น

โลกตามทัศนะมุมมองของจีน

พวกผู้นำของจีนดูเหมือนจะเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ผู้ฉลาดหลักแหลม พวกเขากำลัง “มองดูอนาคตโดยอาศัยประวัติศาสตร์เป็นกระจกเงา” พวกเขาเรียนรู้ว่าการที่แดนมังกรโดดเดี่ยวตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอกในช่วงต้นๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 15 คือสาเหตุรากเหง้าของความล้าหลังและความเสื่อมโทรมของจีน นี่แหละเป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงออกมาประกาศอย่างมีอารมณ์ความรู้สึกว่า “การโดดเดี่ยวตัดขาดจากโลกภายนอก ก็เหมือนกับการนำเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในห้องที่ดำมืด”

แดนมังกรยังได้เรียนรู้ว่าการอยู่ในฐานะที่อ่อนแอคือการเชื้อเชิญให้ถูกข่มเหงรังแก นี่แหละเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมจีนจึงมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะสร้างกำลังทหารอันเข้มแข็งขึ้นมา จีนมีความตระหนักรับรู้เป็นอย่างดีถึงความขมขื่นที่พวกเหยื่อผู้ถูกข่มเหงรังแกทั้งหลายต้องทนแบกรับ นี่แหละเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมจีนจึงเสนอ “หลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติ” (Five Principles of Peaceful Co-existence) เป็นหลักนโยบายด้านการต่างประเทศของตน โดยที่ 2 ประการของหลักการทั้ง 5 ประการนี้ ได้แก่ การยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียมกันของชาติต่างๆ และการไม่เข้าแทรกแซงในกิจการภายในของประเทศอื่นๆ

ทำอย่างที่พูด

ดูเหมือนว่าจีนกำลัง “กระทำในสิ่งที่พูด” ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการเจริญเติบโตที่ฝ่ายต่างๆ มีการเชื่อมต่อสัมพันธ์กัน, มีพลังชีวิตชีวา, มีการเปิดกว้างต้อนรับฝ่ายต่างๆ ให้เข้าร่วม, และมีนวัตกรรม ซึ่งทุกๆ ชาติควรที่จะได้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น แผนการริเริ่มหนึ่งแถบเศรษฐกิจหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) นั้น มุ่งหมายที่จะเป็นช่องทางระบายกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมล้นเกินของประเทศจีน และขณะเดียวกันก็ปรับปรุงยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมในแผนการ BRI ด้วย โดยที่จีนทำการลงทุนเป็นมูลค่าเกือบๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น เหล็กกล้าที่ผลิตได้ล้นเกินของแดนมังกรจะถูกใช้ไปในการก่อสร้างบรรดาโครงสร้างพื้นฐาน, โรงงานต่างๆ, และอาคารอื่นๆ ของพวกประเทศซึ่งเข้าร่วม

ยิ่งไปกว่านั้น จีนมีท่าทีลังเลรีรอในเรื่องการส่งออกหรือการบีบบังคับให้ประเทศอื่นๆ ต้องใช้ค่านิยมและอุดมการณ์แนวความคิดของตน ความสำเร็จแห่งเส้นทางการพัฒนาของจีนนั้นได้ทำให้ โจชัว คูเปอร์ ราโม (Joshua Cooper Ramo) นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันคิดวลี “ฉันทามติปักกิ่ง” (Beijing Consensus) ขึ้นมาสำหรับใช้เรียกขานเส้นทางการพัฒนานี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://fpc.org.uk/publications/TheBeijingConsensus) เขาเสนอแนะว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ควรที่จะใช้เส้นทางนี้เป็นแม่แบบสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของพวกตน ทว่าจีนเองนั้นส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่ต้องการลอกเลียนแบบตน ให้เดินไปตามเส้นทางการพัฒนาและเลือกแม่แบบในการบริหารปกครองซึ่งมีความสอดคล้องเหมาะสมกับประวัติศาสตร์, ค่านิยม, วัฒนธรรม, และสถาบันอื่นๆ ของพวกเขาเอง

ประการสุดท้าย จีนไม่ได้เข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ ยกเว้นแต่มันจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของจีน ไม่เหมือนกับสหรัฐฯและพวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ จีนนั้นไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์, ข่มขู่คุกคาม, หรือกระทั่งรุกรานชาติต่างๆ ซึ่งกำลังใช้อุดมการณ์แนวความคิดหรือสถาปัตยกรรมทางการบริหารปกครองที่แตกต่างออกไปจากตนเอง ตัวอย่างเช่น จีนไม่ได้ทิ้งระเบิดถล่มใส่ประเทศต่างๆ (อย่าง ลิเบีย และซีเรีย) โดยที่ไม่ได้มีเหตุผลอย่างอื่นๆ เลยนอกเหนือจากว่าประเทศเหล่านี้อยู่ในระบอบเผด็จการ หรือกำลังติดต่อค้าขายทำธุรกิจกับประเทศต่างๆ (อย่าง จีน และรัสเซีย) ซึ่งฝ่ายตะวันตกไม่ชอบ แดนมังกรยังไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลสำหรับการที่ประเทศนั้นกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง

เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่าจีนกำลังข่มเหงรังแกพวกชาติที่อ่อนแอกว่า เมื่อช่วงทศวรรษ 1960 สหรัฐฯและเหล่าชาติพันธมิตรของเขาได้รุกรานเวียดนามเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ขยายตัว โดยถึงขนาดโกหกหลอกลวงประชาชนชาวอเมริกันว่าเวียดนามเหนือที่อยู่ในความควบคุมของฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ยิงใส่เรือรบสหรัฐฯลำหนึ่งในอ่าวตังเกี๋ย นับตั้งแต่นั้นมา ฝ่ายอเมริกันก็มีทั้งโจมตีถล่มทิ้งระเบิดใส่ หรือข่มขู่คุกคามประเทศต่างๆ ที่กล้าท้าทายพวกเขา (ไม่ว่าจะเป็น ลิเบีย, อิรัก, ซีเรีย, หรือ เกาหลีเหนือ) โดยที่อิงอยู่กับ “ข้อเท็จจริงแบบทางเลือก” (alternative facts) และการคาดเดากะเก็งอีกนั่นแหละ อิรักนั้นถูกคาดเดาว่ามีอาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรง (weapons of mass destruction หรือ WMD) อยู่ในความครอบครอง ส่วนเกาหลีเหนือถูกกล่าวหาว่า “ยั่วยุ” และ “ข่มขู่คุกคาม” สหรัฐฯและชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ

เท่าที่เป็นมาจนกระทั่งถึงเวลานี้ สิ่งที่จีนให้ความสนใจและลงมือกระทำนั้น ได้แก่การสร้างกำลังทหารที่เข้มแข็งขึ้นมา เพื่อป้องปรามไม่ให้ตนเองต้องเจอกับประสบการณ์แบบสนธิสัญญาแวร์ซายส์ (Treaty of Versailles) อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อปี 1919 ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 สนธิสัญญาของสันนิบาตชาติ (League of Nations) ได้มอบโอนทรัพย์สินกรรมสิทธิ์การครอบครองต่างๆ ที่เยอรมนีมีอยู่ในประเทศจีนทั้งหมดไปให้แก่ญี่ปุ่น โดยที่ไม่ได้ทำการปรึกษาหารือกับจีนเลย ประสบการณ์อันเจ็บปวดชอกช้ำคราวนั้นและจากครั้งสงครามฝิ่น (Opium Wars) ได้นำพาให้ เหมา เจ๋อตง กล่าวย้ำเน้นว่า “อำนาจทางการเมืองออกมาจากปากกระบอกปืน” นั่นก็คือ จีนได้เรียนรู้บทเรียนจากฝ่ายตะวันตกและญี่ปุ่นว่า การทูตจะมีน้ำหนักมีความหมายขึ้นมาได้จำเป็นที่จะต้องมีการทหารที่เข้มแข็ง

เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่าจีนกำลัง “ก้าวร้าวรุกราน” ในทะเลจีนใต้ การเรียกร้องกล่าวอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ ในทะเลจีนใต้ (และทะเลจีนตะวันออก) ส่วนใหญ่แล้วถูกเก็บฝังเอาไว้ก่อนเพื่อรอคอยรัฐบาล “ที่เฉลียวฉลาดมากกว่านี้” ในอนาคต มาเป็นคนจัดการแก้ไขคลี่คลาย จวบจนกระทั่งถึงปี 2012 เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ประกาศนโยบาย “ปักหมุดหวนคืนสู่เอเชีย” (pivot to Asia) ของเขา และรัฐบาลญี่ปุ่นก็ตัดสินใจที่จะ “ซื้อ” หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ (หรือที่ฝ่ายญี่ปุ่นเรียกชื่อว่าเซงกากุ) จาก “ชาวญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของ” เกาะเหล่านี้ (สำหรับเรื่องที่ชาวญี่ปุ่นพวกนี้กลายมาเป็นเจ้าของครอบครองหมู่เกาะนี้ได้อย่างไรนั้น ไม่ได้เคยมีการอธิบายให้ความกระจ่างกันเลย) จังหวะเวลาที่ 2 เรื่องนี้บังเกิดขึ้นมาในระยะใกล้ๆ กัน อาจจะเป็นเพียงแค่ความบังเอิญ ทว่าทั้ง 2 เรื่องนี้มีความรุนแรงเปรียบได้กับการเปิดกระป๋องที่อัดแน่นไปด้วยหนอนร้าย

การที่รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจซื้อหมู่เกาะแห่งนี้ถูกมองว่าคือการปฏิเสธไม่ยอมรับประวัติศาสตร์ แถมพวกเขายังได้รับกำลังใจปลุกปลอบขวัญจากการที่สหรัฐฯให้คำมั่นสัญญาว่าจะเข้าป้องกันหมู่เกาะแห่งนี้ถ้าหากถูกชาติอื่นๆ เข้ามาโจมตี สหรัฐฯนั้นเป็นประเทศหนึ่งที่ร่างและลงนามในเอกสารปฏิญญาไคโรปี 1944 (1944 Cairo Declaration) ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นต้องคืนดินแดนจีนทั้งหมดที่ผนวกฮุบเอาไปกลับมาให้แก่จีน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯกลับทรยศหักหลังไม่ทำตามคำมั่นสัญญาของตนและคืนหมู่เกาะเซงกากุไปให้ญี่ปุ่นในปี 1972

ในการตอบโต้เรื่องที่รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าซื้อหมู่เกาะแห่งนี้ จีนได้ประกาศจัดตั้งเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone หรือ ADIZ) ขึ้นมา ซึ่งกำหนดให้เครื่องบินต่างชาติทั้งหลายต้องแสดงอัตลักษณ์ของพวกตนในเวลาบินผ่านอาณาบริเวณดังกล่าว ปรากฏว่าสหรัฐฯและพวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯพากันเพิกเฉยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาเองต่างได้ประกาศจัดตั้งเขตทำนองนี้มาก่อนหน้านี้กันแล้ว และพากันประท้วงอย่างเดือดดาลต่อการตัดสินใจนี้ของจีน

รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ชักนำสาธารณชนของตนเองและทั่วโลกให้บังเกิดความเข้าใจผิด ด้วยการกล่าวว่าจีนไม่ได้เคยปรึกษาหารือเรื่องนี้กับพวกเขามาก่อนเลย อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ไมนิจิ ชิมบุง (Mainichi Shimbun) รายงานเอาไว้ในปี 2012 ว่า จีนได้เคยแจ้งให้ญี่ปุ่นทราบแล้วเกี่ยวกับการตัดสินใจที่จะจัดตั้งเขต ADIZ นี้ ส่วนสำนักข่าวชินเกสึ (Shingetsu News Agency) ก็รายงานข่าวว่า จีนได้สอบถามรัฐบาลญี่ปุ่นถึงวิธีการที่ประเทศทั้งสองควรใช้เพื่อจัดการกับประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมาได้ ตั้งแต่ 3 เดือนก่อนที่จีนจะประกาศการตัดสินใจในเรื่องนี้

เพื่อตอบโต้กับนโยบาย “ปักหมุนหวนคืนสู่เอเชีย” ของโอบามา จีนได้สร้างเกาะต่างๆ หลายแห่งและติดตั้งระบบอาวุธในเกาะเหล่านี้ซึ่งอยู่ภายในเขต “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” (Nine Dash Line) จีนนั้นมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะป้องกันไม่ให้สหรัฐฯและชาติพันธมิตรของสหรัฐฯดำเนินการสกัดกั้นปิดล้อมในทะเลจีนใต้ โดยที่การค้าซึ่งกำลังลำเลียงขนส่งผ่านน่านน้ำแห่งนี้นั้นส่วนใหญ่ที่สุดแล้วเป็นการค้าที่กระทำกับประเทศจีน

เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่าจีนกำลังขโมยเทคโนโลยีต่างๆ จากพวกบริษัทสหรัฐฯหรือกำลังบังคับให้พวกเขาต้องยอมถ่ายโอนเทคโนโลยี จีนได้แฮกพวกบริษัทสหรัฐฯเพื่อโจรกรรมเทคโนโลยีของพวกเขาหรือไม่นั้นยังไม่มีความชัดเจน แต่ข้อกล่าวหาก็อยู่ในลักษณะแบบนั้นแหละ แมนเดียนต์ (Mandiant) บริษัทความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯระบุเอาไว้เพียงแค่ว่า การแฮกพวกคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯนั้น “น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด” ที่กระทำกันจากภายในจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/net-us-hackers-virus-china-mandiant/mandiant-goes-viral-after-china-hacking-report-idUSBRE91M02P20130223) บางทีอาจเป็นด้วยต้องการเพิ่ม “ความน่าเชื่อถือ” ให้มากขึ้น บริษัทแห่งนี้กระทั่งระบุอาคารแห่งที่สันนิษฐานกันว่าเป็นแหล่งของการแฮกอีกด้วย

หากมองกันในภาพใหญ่ขึ้นมา การแฮกพวกคอมพิวเตอร์ของประเทศอื่นๆ นั้นอันที่จริงแล้วเริ่มต้นขึ้นมาโดยสหรัฐฯเมื่อตอนที่พวกเขาแอบทำการสืบความลับทางไซเบอร์อิหร่าน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์จอมแฉ “วิกิลีกส์” (WikiLeaks) และการเปิดโปงของ เอดเวิร์ด สโนว์ดอน (Edward Snowdon) รัฐบาลสหรัฐฯคอยแอบสืบความลับของประเทศอื่นๆ อย่างไม่หยุดไม่หย่อน รวมทั้งของพวกชาติพันธมิตรของตัวเองด้วย

ส่วนการถ่ายโอนเทคโนโลยีต่างๆ ไปให้แก่พวกหุ้นส่วนร่วมลงทุนชาวจีนนั้น คือเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้สำหรับการเข้าสู่ตลาดจีน ไม่ได้เป็น “การบีบบังคับ” พวกเขาอย่างที่นักวิพากษ์วิจารณ์จีนต้องการให้ทั่วโลกเชื่อ พวกกิจการต่างประเทศทั้งหลายย่อมมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะทำการลงทุนในจีนหรือไม่ แท้ที่จริงแล้วจีนก็ไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่กำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและพวกชาติตะวันตกก็ทำอย่างเดียวกันนี้แหละ

เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่าจีนกำลังใช้นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตนเองชนิดที่ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเลวร้ายหนักหน่วงยิ่งขึ้นในประเทศอื่นๆ จีนนั้นถูกกล่าวหาเรื่อยมาว่ากำลังปั่นค่าเงินหยวนเพื่อเอื้ออำนวยให้สินค้าส่งออกของตนมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ทว่าจนแล้วจนรอดกระทรวงการคลังสหรัฐฯยังคงปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ยอมประทับตราแดนมังกรว่าเป็นนักปั่นค่าเงินตรา ยิ่งไปกว่านั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังปฏิเสธไม่ยอมรับคำนิยามเรื่อง “การปั่นค่าเงินตรา” ของสหรัฐฯอีกด้วย ทั้งนี้คำนิยามของสหรัฐฯระบุเอาไว้ว่า ชาติที่ทำการปั่นค่าเงินตรา คือประเทศใดก็ตามทีซึ่งการค้ามีมูลค่าสูงถึงระดับ 50,000 ล้านดอลลาร์ และมีความได้เปรียบดุลบัญชีสะพัดสหรัฐฯเกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์

กลุ่มคนนักต่อต้านจีนเหล่านี้ดูเหมือนกำลังเจ็บป่วยด้วยอาการโรคความจำเสื่อม พวกเขาไม่เห็นเอ่ยอ้างถึงกันเลยว่า เมื่อปี 2002 สหรัฐฯได้ปรับลดค่าเงินดอลลาร์ของตนลงมาอย่างจงใจรวมแล้วเป็นเวลา 20 ปีเพื่อยกระดับเพิ่มพูนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (โดยอาศัยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ และการส่งออกซึ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ)

ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (US Federal Reserve หรือ เฟด) ยังได้ดำเนินนโยบาย “การผ่อนคลายเชิงปริมาณ” (quantitative easing) รวมแล้ว 3 รอบนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ซึ่งก็คือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯพิมพ์เงินใหม่ๆ ออกมาซื้อพันธบัตรคลังของสหรัฐฯ เงินใหม่ๆ เหล่านี้จำนวนมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ ถูกใช้ไปในการเข้าช่วยชีวิตพวกธนาคารและบริษัทต่างๆ ซึ่งเห็นกันว่า “มีขนาดใหญ่โตเกินกว่าจะยอมปล่อยให้ล้ม” ทว่าการเพิ่มปริมาณเงินอย่างมหาศาลเช่นนี้ได้กลายเป็นปัจจัยลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำและลดค่าเงินดอลลาร์ จนกระทั่งทำให้เยอรมนีและบราซิลออกมากล่าวหาสหรัฐฯว่ากำลังกระตุ้นยั่วยุให้เกิดสงครามลดค่าเงินตรา

ความเห็นส่งท้าย

ประเทศจีนเป็นอย่างที่พวกนักวิพากษ์วิจารณ์จีนกล่าวหาหรือไม่นั้น มันเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับว่าเราไปพูดคุยกับใคร แต่จีนมีประเด็นที่ควรแก่การรับฟังทีเดียวเมื่อพวกเขากล่าวหากลุ่มคนนักต่อต้านจีนชาวตะวันตกและชาวญี่ปุ่นว่า เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล และพวกที่มีอคติ

การเที่ยวนำเอาข้อมูลข่าวสารแบบมีอคติเข้าข้างตัวเองไปป้อนใส่สาธารณชนนั้น สามารถที่จะสร้างอันตรายและก่อให้เกิดความเสียหายและค่าใช้จ่ายอย่างสูงลิ่ว เหมือนอย่างกรณีสงครามเวียดนามและสงครามอิรักได้สาธิตให้เห็นแล้ว สหรัฐฯและพวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯต้องสูญเสียผู้คนวัยหนุ่มวัยสาวของตนจำนวนเป็นหมื่นๆ คนไปในเวียดนามโดยที่ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย แทนที่จะสามารถสกัดขัดขวางการขยายตัวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ ลงท้ายสหรัฐฯและชาติพันธมิตรของสหรัฐฯน่าจะกลับเป็นตัวผลักดันให้พวกคอมมิวนิสต์ขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว แทนที่จะสามารถสร้างอิรักให้กลายเป็น “ประชาธิปไตย” ขึ้นมา สหรัฐฯและชาติพันธมิตรของสหรัฐฯกลับเปลี่ยนแปลงอิรักให้กลายเป็นรัฐที่ไม่สมประกอบที่ประสบกับการสู้รบระหว่างคนต่างนิกายศาสนาต่างชาติพันธุ์ภายในชาติไม่หยุดหย่อน แถมยังสร้างผลพวงต่อเนื่องทำให้เกิดประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัยอันใหญ่โตมหึมาขึ้นมาด้วย

จีนนั้นเป็นประเทศที่ใหญ่โตยิ่งกว่าและเข้มแข็งยิ่งกว่าเวียดนามหรืออิรักมากมายนัก และการสร้างปัญหาความขัดแย้งสู้รบกับอภิมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาเช่นนี้ ย่อมจะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงกว่าอย่างมหาศาลนัก คำพังเพยบทหนึ่งของจีนที่ว่า “มองดูอนาคตโดยอาศัยประวัติศาสตร์เป็นกระจกเงา” จึงอาจจะเป็นคำแนะนำที่คมคายทีเดียว

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เคน มวค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization เพิ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer
กำลังโหลดความคิดเห็น