xs
xsm
sm
md
lg

‘เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯยังสามารถเอาชนะขีปนาวุธต่อสู้เรือรบของจีนได้’

เผยแพร่:   โดย: ดั๊ก สึรุโอกะ

<i>เรือบรรทุกเครื่องบิน จอห์น เอฟ เคนเนดี ของกองทัพเรือสหรัฐฯ </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

‘US aircraft carriers can trump Chinese anti-ship missiles’
By Doug Tsuruoka
30/11/2017

อดีตรัฐมนตรีทบวงทหารเรือสหรัฐฯ จอห์น เอฟ. เลห์แมน บอกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันนั้นมีความแข็งแกร่งและสามารถเอาชนะพวกขีปนาวุธต่อสู้เรือรบรุ่นใหม่ๆ ของจีนได้ แต่เขามองว่าการแฮกทางไซเบอร์ของมอสโกได้สร้างความเสียหายให้แก่ความได้เปรียบทางทหารของสหรัฐฯ โดยที่เวลานี้สหรัฐฯได้สูญเสียฐานะนำในด้านเรือดำน้ำและสงครามต่อสู้เรือดำน้ำให้แก่รัสเซียไปแล้ว

อดีตรัฐมนตรีทบวงทหารเรือสหรัฐฯ (US Navy Secretary) จอห์น เอฟ. เลห์แมน (John F. Lehman) บอกว่า รายงานหลายกระแสซึ่งกล่าวกันว่าเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นสิ่งที่ล้าสมัยและตายแล้วนั้น เป็นการพูดแบบเกินเลยความจริงไปมาก

เขาบอกกับเอเชียไทมส์ระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษว่า พวกเรือบรรทุกเครื่องบินพลังนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ สามารถที่จะปฏิบัติการต่อกรกับจีนอย่างประสบความสำเร็จในบรรดาพื้นที่ต่อสู้ช่วงชิงอย่างเช่นทะเลจีนใต้ ถึงแม้ปักกิ่งใช้อาวุธลับจำพวกขีปนาวุธต่อสู้เรือรบ (anti-ship missile) เป็นต้นว่า ดีเอฟ-26 (DF-26) อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่าพวกแฮกเกอร์รัสเซียกำลังทำลายความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีของกองทัพสหรัฐฯด้วยการโจรกรรมความลับต่างๆ โดยที่ในเวลานี้สหรัฐฯไม่ได้เป็นผู้นำในด้านเรือดำน้ำและสงครามต่อสู้เรือดำน้ำอีกต่อไปแล้ว

เลห์แมนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบกองทัพเรืออเมริกันในยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ตั้งแต่ปี 1981 – 1987 เขาเป็นผู้ผลักดันคนสำคัญในแนวความคิดใช้กำลังเรือรบ 600 ลำเพื่อต่อสู้กับสหภาพโซเวียตระหว่างยุคสงครามเย็น ปัจจุบันเขาเป็นประธานของ เจ.เอฟ. เลห์แมน แอนด์ โค พาร์ตเนอร์ส (J.F. Lehman & Co. Partners) บริษัทที่ปรึกษาด้านกลาโหม

เอเชียไทมส์: เรือรบเยี่ยมๆ ขนาดยักษ์ๆ อย่างเรือบรรทุกเครื่องบินพลังนิวเคลียร์ ยังคงพึ่งพาอาศัยได้อยู่หรือไม่ ในยุคสมัยซึ่งมีพวกอาวุธที่เรียกกันว่า anti-access/area-denial หรือ A2/AD (ต่อต้านการเข้าถึง/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่) อย่างพวกขีปนาวุธต่อสู้เรือรบของจีน?

เลห์แมน: ตามที่ผมได้รับรู้ได้เข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาแบบนี้นะ มีการพูดกันมาตลอดแหละว่าเรือบรรทุกเครื่องบินกำลังจะถูกทำให้ล้าสมัยอย่างสมบูรณ์แล้วโดย ... โดยอะไร คุณก็เติมคำในช่องว่างเอาเองแล้วกัน เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯเผชิญหน้ากับพวกขีปนาวุธร่อน (cruise missile) ที่มีความแม่นยำสูงครั้งแรกในสมรภูมิโอกินาวะ (battle of Okinawa) และสมรภูมิอิโวชิมะ (battle of Iwo Jima) ในปี 1945 พวกหน่วยคามิกาเซ (kamikaze) ของญี่ปุ่นนั้นคือขีปนาวุธร่อนชั้นสูงสุด และจริงๆ แล้วพวกเขาก็ทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯต้องถูกปลดประจำการไป 4 ลำทีเดียว –ถึงแม้พวกเขาไม่ได้สามารถจมเรือเหล่านี้จริงๆ แม้สักลำหนึ่ง เรือบรรทุกเครื่องบินย่อมจะถูกโจมตีได้ และเรือบรรทุกเครื่องบินย่อมจะหมดความสามารถในการปฏิบัติการได้ แต่เนื่องจากมันมีความแข็งแกร่งมาก ดังนั้นจะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ทีเดียวจึงจะสามารถจมมันได้จริงๆ

เอเชียไทมส์: ดังนั้นพวกอาวุธต่อต้านการเข้าถึง/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ ซึ่งกำลังพัฒนาขึ้นมาโดยจีน จึงไม่ใช่สิ่งที่กลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมได้อย่างที่พวกเขาตั้งใจทำขึ้นมาให้มีความสามารถเช่นนั้น หรือครับ?

เลห์แมน: พวกอาวุธ A2/AD นี่เป็นแค่อาวุธที่ฟังดูอินเทรนด์ประเภทหนึ่งเท่านั้นแหละ แต่สำหรับใครก็ตามซึ่งมีทัศนะมุมมองเชิงประวัติศาสตร์แล้ว มันกลายเป็นสิ่งที่น่าหัวเราะเยาะ พวกโซเวียตก็เคยมีขีปนาวุธต่อสู้เรือรบที่สามารถโยกย้ายหลบหลีกได้นะ ไอเดียนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรหรอกและก็มีวิธีการหลายๆ วิธีที่สามารถใช้ตอบโต้รับมือมันได้ พวกอาวุธเหล่านี้ (A2/AD) ไม่มีอันไหนที่ถือเป็นการทะลุทะลวงอย่างยิ่งใหญ่ได้เลย

ถ้าหากใครสักคนนึงกำลังจะยิงขีปนาวุธใส่พวกคุณแล้ว คุณจะยอมถูกมัดติดอยู่กับโคออนิเนตส์ของฐานภาคพื้นดินที่ตายตัวแห่งหนึ่ง หรือว่าคุณจะเคลื่อนที่ไปอย่างฉับไวด้วยความเร็ว 35 น็อตล่ะ?

เรือรบขนาดใหญ่มากๆ โดยเฉพาะอย่างเรือบรรทุกเครื่องบิน สามารถให้การพิทักษ์คุ้มกันทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหากคุณไม่ได้มีความสูงล้ำกว่าทางอากาศเหนือพื้นผิวทะเล และความสูงล้ำกว่าทางเรือดำน้ำสำหรับใต้ทะเลแล้ว คุณจะผลักดันการพาณิชย์ของโลกได้ยังไง หรือกองทัพของคุณจะลำเลียงขนส่งหรือทำอะไรต่างๆ ได้ยังไง? คุณไม่สามารถที่จะให้ความมั่นคงปลอดภัยประเภทนี้และมีความสูงล้ำกว่าทางอากาศ โดยอาศัยแค่ฐานทัพต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่บนภาคพื้นดินได้หรอกนะ ดังนั้นเรือบรรทุกเครื่องบินจึงต้องมีความสามารถที่จะอยู่รอดได้ และพวกมันก็ถูกทำขึ้นมาเพื่อให้สามารถที่จะอยู่รอดได้

เอเชียไทมส์: มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องพัฒนาแนวความคิดทางยุทธวิธีใหม่ๆ อย่างเช่น “การกระจายความร้ายแรงของพลังทำลาย” (distributed lethality ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.usni.org/magazines/proceedings/2015-01/distributed-lethality) ในเวลาเผชิญภัยคุกคามจากขีปนาวุธต่อสู้เรือรบ?

เลห์แมน: การกระจายความร้ายแรงของพลังทำลาย เป็นเพียงศัพท์เทคนิคที่ฟังดูเท่ๆ ประเภทเอาไว้พูดคุยกันในห้องประชุมสัมมนา ทว่ามันไม่มีความหมายอะไรหรอก ถ้าหากคุณศึกษาดูหน่วยเฉพาะกิจของกองทัพเรือสหรัฐฯในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ความร้ายแรงของพลังทำลายก็มีการกระจายออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางระดับหลายๆ พันตารางไมล์ทีเดียว คุณมีทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่, เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็ก, เรือพิฆาต, เรือลาดตระเวน, เรือประจัญบาน, เรือดำน้ำ, และปืนที่มีพิสัยยิงไกล 24 ไมล์

แล้วถ้าคุณศึกษาดูการฝึกซ้อมทางนาวีของพวกเราที่เพิ่งแล่นเข้าไปในแปซิฟิกตะวันตกและทะเลนอร์วีเจียน (Norwegian Sea) เมื่อเร็วๆ นี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.usni.org/2017/11/12/video-3-carriers-now-operating-off-korean-peninsula-japanese-ships#more-29341) กลุ่มเรือโจมตีมีการกระจายตัวออกไปไกลครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางไมล์ทีเดียว กลุ่มเรือโจมตีเหล่านี้เล็งเอาเป็นเป้าหมายโจมตีได้ยากมากๆ แต่กลับมีเขี้ยวเล็บประจำการทั้งพวกขีปนาวุธร่อนโจมตีใส่ภาคพื้นดิน อย่างโทมาฮอว์ค (Tomahawk), ขีปนาวุธต่อสู้เรือรบ “ฮาร์พูน” (Harpoon), ฝูงเครื่องบินเอฟ-14 ที่สามารถบังคับบัญชาทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังบินอยู่ในรัศมี 300 ไมล์รอบๆ หน่วยเฉพาะกิจนี้ แล้วก็ยังมีเรือดำน้ำ นี่แหละมันคือการกระจายความร้ายแรงของพลังทำลายอยู่แล้ว เรามีสิ่งนี้อยู่เรียบร้อยแล้ว –คุณไม่สามารถที่จะกระจายมันออกไปให้มากยิ่งกว่านี้ได้

เอเชียไทมส์: การแฮกทางไซเบอร์ของรัสเซียและจีนกำลังสร้างความเสียหายให้แก่ความสามารถในการแข่งขันทางด้านกลาโหมของสหรัฐฯมากน้อยขนาดไหน?

เลห์แมน: ด้านที่น่าวิตกกังวลมากที่สุดของมันก็คือ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้ประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์ทางด้านนี้อย่างฉลาดและทรงประสิทธิภาพ พวกเขารู้ดีว่าพวกเขาไม่ได้มีความล้ำลึกในด้านเทคโนโลยี, ห้องแล็ป, มหาวิทยาลัย, และพัฒนาการทางวิศวกรรมในระดับที่ฝ่ายตะวันตกมีอยู่ ดังนั้นพวกเขาก็เลยพูดกันว่า “ดีล่ะ เราจะปล่อยให้พวกเขาพัฒนาอาวุธเหล่านี้ไป แล้วเราก็จะขโมยมันมา” นี่แหละคือสิ่งที่พวกเขาทำ

แผนการจัดซื้อจัดจ้างของพวกเขาถูกชะลอเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการทะลุทะลวงผ่าทางตันกันในสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, และยุโรป แล้วจากนั้นพวกเขาก็จะซื้อหามันหรือโจรกรรมมัน ซึ่งเรื่องโจรกรรมนี่คือสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เสมอ คุณยังจำหนังเรื่อง The Falcon and the Snowman’ ได้ไหม? พวกเขารู้ดีว่างานจารกรรมของพวกเขาจะทำให้พวกเขาสามารถได้เรดาร์ เอฟ-18 นั่น เครื่องบินขับไล่รัสเซียรุ่นที่ 4 มีเรดาร์ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วคือเรดาร์ของเอฟ-18 เรื่องทำนองเดียวกันนี้ยังเป็นจริงสำหรับเวอร์ชั่นขีปนาวุธ AMRAAN แบบยิงจากอากาศสู่อากาศ ซึ่งสามารถยิงแล้วก็ลืมมันไปได้เลย ของพวกเขา

เอเชียไทมส์: มาถึงตอนนี้ ฝ่ายรัสเซียกำลังทำอะไรกันอยู่?

เลห์แมน: ทุกวันนี้พวกเขายังคงยึดถือปรัชญาอย่างเดิม ยกเว้นแต่ว่าแทนที่จะรอคอยจนกว่าเทคโนโลยีนั้นๆ จะถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างเต็มที่และมีการติดตั้งประจำการกันแล้วจึงค่อยเข้าทำการโจรกรรม การแฮกทางไซเบอร์ของพวกเขานำพวกเขาตรงเข้าไปในห้องแล็ปต่างๆ ของพวกผู้รับเหมาด้านกลาโหมรายหลักๆ และของมหาวิทยาลัยต่างๆ กันเลยทีเดียว –ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถแล่นอยู่เคียงข้างพวกเราเชียวแหละ ในขณะที่พวกเรากำลังพัฒนาสิ่งต่างๆ อย่างเช่น เลเซอร์, ปืนไฟฟ้า, และอุปกรณ์รบกวนสัญญาณ ด้วยเหตุนี้นี่จึงเป็นสิ่งที่กำลังสร้างความเสียหายให้อย่างหนักหน่วงที่สุด และมันเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือพวกเขาให้อุดช่วงห่างทางเทคโนโลยีที่มีอยู่กับฝ่ายตะวันตก

เอเชียไทมส์: ฝ่ายจีนล่ะกำลังทำอย่างเดียวกันนี้หรือเปล่า?

เลห์แมน:ครับ โดยสาระสำคัญแล้วพวกเขาก็กำลังทำสิ่งเดียวกัน ฝ่ายรัสเซียนั้นทำได้ดีกว่าในเรื่องนี้ ดีกว่าในเรื่องการออกสนามแสวงหาสิ่งที่พวกเขาต้องการโจรกรรม แต่ฝ่ายจีนก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่โคลน (clone) ของระบบของฝ่ายรัสเซียหรอกนะ พวกเขาเก่งมากๆ ในเรื่องที่เป็นการวิจัยพื้นฐานมากกว่า ในบางกรณี เก่งยิ่งกว่าเราด้วยซ้ำไป ทั้งจีนและโดยเฉพาะรัสเซียต่างกำลังรวมศูนย์ให้ความสนใจที่อาณาบริเวณต่างๆ ซึ่งพวกเขาเชื่อ และผมเองก็คิดว่าถูกต้องทีเดียว ว่าเป็นจุดอ่อนเปราะที่สุดของเรา

เอเชียไทมส์: อาณาบริเวณสำคัญอะไรที่ถือเป็นจุดอ่อนเปราะของสหรัฐฯ?

เลห์แมน:ฝ่ายรัสเซียรวมศูนย์ให้ความสนใจเยอะมากในเรื่องการวิจัยและพัฒนาของพวกเขาในเทคโนโลยีเรือดำน้ำและการต่อสู้เรือดำน้ำ นี่เป็นความได้เปรียบที่เราเคยเชื่อมั่นกันในยุคสงครรามเย็นแต่เวลานี้เราไม่มีอีกแล้ว พวกเขาทำการก็อปปี้เทคโนโลยีของเราไปทำเรือดำน้ำของพวกเขาอย่างเงียบๆ พวกเขายังนำหน้าในสมรรถนะด้านการรุกโจมตีบางอย่างด้วยซ้ำไป

ดั๊ก สึรุโอกะ เป็นเป็นบรรณาธิการประจำกองบรรณาธิการ (Editor-at-Large) ของเอเชียไทมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น