xs
xsm
sm
md
lg

INSIGHT: วงในแฉซาอุฯ จับมืออิสราเอล-ล็อบบี้ “ปาเลสไตน์” เดินตามแผนสันติภาพของ “ทรัมป์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากซ้ายไปขวา : เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย, ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล
รอยเตอร์ - แม้ซาอุดีอาระเบียจะออกมาประณามการรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลเช่นเดียวกับชาติมุสลิมอื่นๆ แต่กลับมีข้อมูลวงในจากเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ว่า แท้ที่จริงริยาดพยายามหว่านล้อมพวกเขามานานหลายสัปดาห์ให้ยอมเดินตามแผนสันติภาพเข้าข้างชาวยิวของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

ทรัมป์ ละทิ้งนโยบายที่อเมริกายึดถือมานานหลายสิบปีด้วยการประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงยิวในวันพุธ (6 ธ.ค.) ขณะเดียวกันก็สั่งเริ่มกระบวนการย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่แคร์คำเตือนว่าการทำเช่นนี้จะส่งผลให้ข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ปะทุรุนแรง

ถ้อยแถลงจากราชสำนักซาอุฯ ชี้ว่าการตัดสินใจของ ทรัมป์ นั้น “ไร้ความชอบธรรมและขาดความรับผิดชอบ” ทั้งยังเป็นการบ่อนทำลายกระบวนการสันติภาพด้วย

อย่างไรก็ตาม มีเสียงพูดคุยกันในหมู่เจ้าหน้าที่อาหรับว่า ดูเหมือนซาอุฯ จะสนับสนุนยุทธศาสตร์สร้างสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ของสหรัฐฯ ที่เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น

เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ 4 คนซึ่งไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุฯ ทรงเคยหารือกับประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ เกี่ยวกับรายละเอียด “ข้อตกลงแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่” ที่ ทรัมป์ และบุตรเขย เจเร็ด คุชเนอร์ เตรียมจะแถลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2018

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งอ้างว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงขอร้องให้ อับบาส ยอมสนับสนุนแผนสันติภาพของสหรัฐฯ ระหว่างที่ทั้งคู่พบกันที่ริยาดเมื่อเดือน พ.ย.

“อดทนไว้ก่อน แล้วคุณจะได้รับข่าวดี กระบวนการสันติภาพนี้จะเดินหน้าต่อไปแน่นอน” เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์อีกคนอ้างพระดำรัสที่เจ้าชายซาอุฯ ทรงมีต่อ อับบาส

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ซาอุดีอาระเบียแน่นแฟ้นเป็นพิเศษหลังจากที่ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้นำทั้งสองชาติมีเป้าหมายร่วมกันที่จะยับยั้งอิทธิพลของอิหร่าน

บิดาของ คุชเนอร์ เป็นเพื่อนกับนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล และตัวเขาเองก็ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ดซึ่งกำลังเสริมสร้างอำนาจบารมีของพระองค์เองในประเทศ รวมถึงผลักดันให้ราชอาณาจักรซาอุฯ ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลก

ราชสำนักซาอุฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องดังกล่าว ส่วนเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวก็ยืนยันว่า คุชเนอร์ ไม่เคยขอร้องให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงช่วยเกลี้ยกล่อม อับบาส

เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์และอาหรับต่างสงสัยว่า การที่สหรัฐฯ ออกมาปิดโอกาสไม่ให้ปาเลสไตน์ได้เยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงเช่นนี้ ทรัมป์อาจกำลังร่วมมือกับอิสราเอลซึ่งเสนอให้ปาเลสไตน์มีอำนาจปกครองตนเองอย่างจำกัดในเขตเวสต์แบงค์ และผู้ลี้ภัยที่พลัดถิ่นฐานจากสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1948 และ 1967 จะไม่มีสิทธิ์กลับภูมิลำเนาเดิมของตน

เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ระบุว่า ข้อเสนอซึ่งเจ้าชายโมฮัมเหม็ดน่าจะทรงรับมาจาก คุชเนอร์ และถ่ายทอดต่อให้แก่ อับบาส ก็มีเนื้อหาคล้ายๆ เช่นนี้ คือเสนอให้สร้างเขตปกครองของชาวปาเลสไตน์ขึ้นในฉนวนกาซา รวมถึงพื้นที่บริหาร A, B และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ C ในเขตเวสต์แบงก์ซึ่งมีนิคมชาวยิวตั้งอยู่

ชุมชนชาวยิวในเขตเวสต์แบงค์จะคงอยู่ตามเดิมโดยไม่มีสิทธิ์กลับภูมิลำเนา และรัฐบาลอิสราเอลก็จะยังมีอำนาจควบคุมพรมแดน

“ชาวปาเลสไตน์ไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ ประธานาธิบดี อับบาส ได้แถลงจุดยืนของเรา และเตือนว่าแผนการเช่นนี้เป็นอันตรายต่อเป้าหมายสูงสุดของปาเลสไตน์ ซึ่งรัฐบาลซาอุฯ ก็เข้าใจดี” เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ ระบุ

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวยืนยันว่า คุชเนอร์ ไม่เคยเผยรายละเอียดเหล่านี้ให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทราบ “และมันไม่ได้ตรงกับบทสนทนาระหว่างทั้งสองเลยแม้แต่น้อย”

ทรัมป์ พยายามบรรเทากระแสตอบโต้ด้วยการโทรศัพท์ไปคุยกับ อับบาส เมื่อวันอังคาร (5) และยืนยันว่าชาวปาเลสไตน์จะได้ประโยชน์จากแผนซึ่ง คุชเนอร์ และทูตสหรัฐฯ ประจำตะวันออกกลาง เจสัน กรีนบลัตต์ ได้ร่างขึ้นมา

เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์เผยว่า ทรัมป์ ได้กล่าวกับ อับบาส ทางโทรศัพท์ว่า “ผมมีข้อเสนอที่คุณจะต้องพอใจ” แต่เมื่อผู้นำปาเลสไตน์ขอทราบรายละเอียด เขากลับไม่ยอมบอกอะไรเลย

แหล่งข่าวในซาอุฯ คนหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่า ความตกลงเกี่ยวกับแผนสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์น่าจะเริ่มปรากฏเค้าโครงให้เห็นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

“อย่าดูหมิ่นความเป็นนักธุรกิจในตัวคุณทรัมป์ เขาพูดเสมอว่านี่คือข้อตกลงสุดท้าย” แหล่งข่าวรายนี้ระบุ

“ผมไม่คิดว่ารัฐบาลของเราจะยอมรับ หากปราศจากเงื่อนไขดีๆ ที่ (สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานและเจ้าชายโมฮัมเหม็ด) จะนำไปขายให้แก่โลกอาหรับได้ และต้องทำให้ชาวปาเลสไตน์ได้มีรัฐเป็นของตัวเองด้วย”

จอร์แดนซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลเมื่อปี 1994 ยืนยันว่าสันติภาพระหว่างยิวและปาเลสไตน์จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากเยรูซาเลม

โอราอิบ รันตาวี นักวิเคราะห์การเมืองชาวจอร์แดน ยอมรับว่า รัฐบาลอัมมานรู้สึกกังวลที่อเมริกามองข้ามบทบาทของจอร์แดน และหันไปทำข้อตกลงลับๆ กับซาอุดีอาระเบีย

“พวกเขามีการเจรจากันโดยตรง และพยายามเสนอแผนสันติภาพที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวปาเลสไตน์ เพื่อแลกกับการหนุนหลังของอเมริกา และนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างรัฐอ่าวอาหรับกับอิสราเอลเพื่อต่อต้านอิหร่าน” รันตาวี กล่าว

ชาดี ฮามิด นักวิเคราะห์จากสถาบันบรุกกิงส์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ผู้นำชาติอาหรับส่วนใหญ่คงไม่ต่อต้านคำแถลงของ ทรัมป์ มากนัก เพราะเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับอิสราเอลมากขึ้นเพื่อสกัดอิทธิพลของเตหะราน

“หากเจ้าหน้าที่ซาอุฯ รวมถึงตัวมกุฎราชกุมาร เป็นห่วงสถานะของเยรูซาเลมมากจริงๆ พวกเขาก็คงจะใช้สถานะพันธมิตรใกล้ชิดล็อบบี้รัฐบาลทรัมป์ให้ยับยั้งการกระทำที่จะส่งผลเสียร้ายแรงโดยไม่จำเป็นไปแล้ว” ฮามิด ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ลงนิตยสาร ดิ แอตแลนติก

“ทรัมป์ คงไม่ประกาศรับรองสถานะของเยรูซาเลม หากซาอุฯ ยื่นคำขาดว่าทำไม่ได้”

ยูวัล สไตนิตซ์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานอิสราเอล เคยให้สัมภาษณ์ต่อสถานีวิทยุกองทัพเมื่อเดือน พ.ย. ว่า อิสราเอลมีการติดต่อสื่อสารอย่างลับๆ กับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นการยอมรับกระแสข่าวลือที่มีมานานแล้วเกี่ยวกับความร่วมมืออันซ่อนเร้นระหว่าง 2 ชาติที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต

รัฐบาลซาอุฯ ปฏิเสธรายงานที่ว่านี้ และยืนยันว่าจะยอมฟื้นความสัมพันธ์สู่ระดับปกติก็ต่อเมื่ออิสราเอลถอนตัวออกไปจากดินแดนของคนอาหรับที่พวกเขายึดไประหว่างสงครามปี 1967 ซึ่งก็หมายถึงแผ่นดินที่ชาวปาเลสไตน์ต้องการสร้างเป็นรัฐในอนาคตนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น