xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เลบานอนกลับถึง “เบรุต” ทันฉลองวันเอกราช 22 พ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ซาอัด ฮารีรี แห่งเลบานอน เดินลงจากเครื่องบินส่วนตัวที่สนามบินนานาชาติเบรุต เมื่อกลางดึกของวันที่ 21 พ.ย.
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีซาฮัด ฮารีรี แห่งเลบานอนเดินทางโดยเครื่องบินส่วนตัวกลับถึงกรุงเบรุตเมื่อค่ำวานนี้ (21 พ.ย.) ก่อนถึงวันเอกราช 22 พ.ย. หลังจากที่ประกาศสละตำแหน่งสายฟ้าแลบเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนจนก่อความระส่ำระสายไปทั้งภูมิภาค

สำนักงานของฮารีรี แถลงว่า เครื่องบินของนายกฯ เลบานอนลงจอดที่สนามบินนานาชาติเบรุตก่อนเวลาเที่ยงคืนเล็กน้อย

ฮารีรี ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ว่าต้องการสละตำแหน่งนายกฯ และได้พำนักอยู่ที่กรุงริยาดต่อมาอีก 2 สัปดาห์ ก่อนจะเดินทางทริปสั้นๆ ไปเยือนกรุงอาบูดาบี, ปารีส และไคโร

การลาออกของ ฮารีรี สร้างความตกตะลึงต่อชาวเลบานอน และจุดกระแสข่าวลือว่าเขาอาจจะถูกรัฐบาลซาอุฯ จับเป็นตัวประกัน ทว่า ฮารีรี ให้สัญญาจะเดินทางกลับบ้านเกิดให้ทันฉลองวันประกาศเอกราชปีที่ 47 และจะแถลงจุดยืนของตนให้ชาวเลบานอนทราบ

ฮารีรี ได้เข้าพบประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี แห่งอียิปต์ที่กรุงไคโรเมื่อวานนี้ (21) พร้อมกล่าวขอบคุณที่สนับสนุนรัฐบาลเลบานอนมาโดยตลอด หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็บินต่อไปยังไซปรัส และพบกับประธานาธิบดี นิกอส อนัสตาเซียเดส ก่อนจะเดินทางกลับมายังกรุงเบรุต

ทั้งนี้ คาดว่า ฮารีรี จะเข้าร่วมพิธีสวนสนามกองทัพเนื่องในวันเอกราช รวมถึงพิธีต้อนรับซึ่งจัดขึ้นภายในทำเนียบประธานาธิบดีช่วงเช้าวันนี้ (22) ขณะที่กลุ่ม ฟิวเจอร์ มูฟเมนต์ ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ ฮารีรี ประกาศให้ผู้สนับสนุนไปรวมตัวกันที่หน้าบ้านพักนายกฯ ในเวลา 13.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น

ฮารีรีซึ่งถือทั้งสัญชาติเลบานอนและซาอุฯ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ขณะอยู่ที่กรุงริยาด โดยอ้างว่ากลัวจะเป็นอันตรายถึงชีวิต พร้อมกล่าวหาอิหร่านกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์นิกายชีอะห์ว่าพยายามบ่อนทำลายเสถียรภาพของเลบานอน

การที่ ฮารีรี พำนักอยู่ที่ริยาดเป็นเวลานานทำให้เกิดกระแสข่าวว่าเขาอาจจะถูกริยาดจับเป็นตัวประกัน ขณะที่ประธานาธิบดี มิเชล อูน แห่งเลบานอนยังไม่ยอมรับการลาออกของ ฮารีรี และยืนกรานให้เขากลับมายื่นจดหมายลาออกด้วยตัวเอง

ระหว่างเข้าพบประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ฮารีรียืนยันว่าตนจะกลับเลบานอนก่อนวันพุธที่ 22 พ.ย.

“อย่างที่คุณทราบว่าผมลาออกแล้ว และเราคงจะได้หารือประเด็นนี้อีกครั้งในเลบานอน” ฮารีรีกล่าว

หลายฝ่ายยังตั้งคำถามว่า การลาออกของฮารีรี เมื่อวันที่ 4 พ.ย. จะมีผลจริงและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หรือว่าเจ้าตัวจะเปลี่ยนใจ

เอ็ดมอนด์ ริซก์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญเลบานอน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า รัฐธรรมนูญระบุเอาไว้ชัดเจนว่าประธานาธิบดีต้องยอมรับการลาออกของนายกฯ ไม่ว่าจะแสดงความจำนงผ่านช่องทางใดก็ตาม จากนั้นประธานาธิบดีจะคัดเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกระหว่างกลุ่มการเมืองสายสุหนี่ที่โปรซาอุฯ กับพวกฮิซบอลเลาะห์ซึ่งมีอิหร่านหนุนหลัง ทำให้กระบวนการนี้มักต้องใช้เวลานานหลายเดือน

เพื่อถ่วงดุลอำนาจของกลุ่มต่างๆ การปกครองแบบกึ่งรัฐสภา-กึ่งประธานาธิบดีของเลบานอนจึงกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ประธานาธิบดีต้องเป็นชาวคริสต์นิกายมาโรไนต์ ส่วนประธานรัฐสภาเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์

เมื่อสัปดาห์เศษๆ ที่ผ่านมา ฮารีรี พูดในทำนองว่าอาจจะยอมเป็นนายกฯ ต่อ หากพวกฮิซบอลเลาะห์ยอมวางมือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในภูมิภาค โดยเฉพาะสงครามซีเรีย

กำลังโหลดความคิดเห็น