ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ คุยเขื่องเรื่องความสำเร็จในการทัวร์เอเชียนานเกือบ 2 สัปดาห์ ระบุได้มิตรเพิ่มขึ้นแถมหอบดีลการค้ามูลค่านับพันๆ ล้านกลับบ้าน ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่านโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ทำให้ ทรัมป์ แตกแถวจากผู้นำอเมริกาคนก่อนๆ ที่สนับสนุนแนวทางพหุภาคี และเปิดช่องให้จีนสวมบทผู้นำการค้าเสรีรายใหม่ ขณะที่แผนดึงนานาชาติร่วมกดดันเกาหลีเหนือยังไม่เห็นแนวทางที่เป็นรูปธรรม
ทรัมป์ ใช้เวลาสิบกว่าวันที่ตระเวนเยือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายเพิ่มแรงกดดันต่อเปียงยางเพื่อยับยั้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงโชว์ความกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาการค้าที่ไม่สมดุลระหว่างสหรัฐฯ กับหุ้นส่วนในเอเชีย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ที่เน้นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นที่ตั้ง
“สหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบจากหลายๆ ชาติ ไม่ใช่แค่ในภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่เป็นทั่วโลก” ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวขณะนั่งเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันกลับไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. “แต่วันเวลาเหล่านั้นหมดไปแล้ว”
ผลสัมฤทธิ์ของการเยือนเอเชียครั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งบางอย่างก็อยู่เหนือการควบคุมของสหรัฐฯ เช่น การที่ ทรัมป์ เรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ใช้บทลงโทษทางเศรษฐกิจและการทูตกับเกาหลีเหนือ แต่ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเหล่านั้นว่าจะทำตามหรือไม่ และไม่มีอะไรการันตีได้ว่า แรงกดดันจากภายนอกจะทำให้เปียงยางล้มเลิกความตั้งใจที่จะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์
ผู้สังเกตการณ์บางรายวิจารณ์ ทรัมป์ ว่าเน้นสร้างผลงานแบบฉาบฉวย เช่น ทำข้อตกลงการค้ามูลค่ามหาศาลที่ไร้ผลผูกพัน แต่กลับไม่ใช้โอกาสนี้แก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น เรื่องที่จีนยังคงกีดกันไม่ให้บริษัทรถยนต์ของสหรัฐฯ และสื่อสังคมออนไลน์เข้าถึงตลาดแดนมังกร เป็นต้น
“ดูเหมือน ทรัมป์ จะคิดว่าความสนิทสนมระหว่างเขากับ สี่ จิ้นผิง จะทำให้จีนยอมร่วมมือกับสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องการค้าและเกาหลีเหนือ แต่ในความเป็นจริงไม่มีอะไรเลยที่บ่งบอกเช่นนั้น” ริชาร์ด แมคเกรเกอร์ นักหนังสือพิมพ์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และเจ้าของงานเขียนเรื่อง “Asia Reckoning: China Japan and the Fate of US Power in the Pacific Century” ให้สัมภาษณ์
“จีนอาจจะยอมทำตามน้อยที่สุดเพียงเพื่อให้ ทรัมป์ หยุดเซ้าซี้ แต่จะไม่มากไปกว่านั้น”
เป้าหมายสำคัญอีกอย่างในการมาเยือนของ ทรัมป์ ก็คือการทำให้ประเทศในเอเชียเชื่อว่ากิจกรรมนิวเคลียร์ของโสมแดงเป็นภัยคุกคามต่อทั้งโลก และทุกชาติจำเป็นต้องสนับสนุนมติคว่ำบาตรของยูเอ็นด้วยการหยุดค้าขายและตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเปียงยาง แต่คำถามก็คือ รัฐบาลเหล่านี้จะเชื่อฟังอเมริกาแค่ไหน? โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นที่รู้กันว่าโอบอุ้มเศรษฐกิจโสมแดงมาโดยตลอด ประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ออกอาการเหนื่อยหน่ายกับการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธในเกาหลีเหนือก็จริง แต่ก็ไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งบอกว่าจีนพร้อมที่จะใช้บทลงโทษสถานหนัก
เกาหลีเหนือไม่ได้ต้อนรับการมาเยือนของ ทรัมป์ ด้วยการยิงขีปนาวุธหรือแสดงพฤติกรรมยั่วยุทางทหารอย่างที่ผู้สังเกตการณ์คาดเดาไว้ แต่กลับทิ้งระเบิดน้ำลายลูกใหญ่ด้วยการด่า ทรัมป์ ว่าเป็น “ตาแก่” ที่ “ร้องขอสงครามนิวเคลียร์” ทำเอาผู้นำสหรัฐฯ นั่งไม่ติด ออกมาทวีตโต้กลับทันควันว่า “ทำไม คิม จอง อึน ต้องมาดูถูกผมว่าเป็น ‘ตาแก่’ ผมยังไม่เคยด่าเขาว่า ‘อ้วนเตี้ย’ เลยสักครั้ง”
มีกระแสข่าวว่าสหรัฐฯ จะใส่ชื่อเกาหลีเหนือกลับเข้าไปในบัญชี “รัฐที่สนับสนุนก่อการร้าย” หลังจากที่ ทรัมป์ เดินทางกลับถึงอเมริกา
ในประเด็นการค้า ทรัมป์ พยายามปลอบประโลมชาติพันธมิตรซึ่งผิดหวังที่วอชิงตันถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) โดยยืนยันว่าสหรัฐฯ มีแผนจะทำข้อตกลงแบบทวิภาคีกับหุ้นส่วนแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเอเชียจะไม่กระตือรือร้นกับแนวทางทวิภาคีของ ทรัมป์ มากนัก รัฐมนตรีคนหนึ่งจากประเทศสำคัญในอาเซียนได้อ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ที่ว่า “การทำข้อตกลงโดยตรงกับสหรัฐฯ ก็เท่ากับเปิดทางให้อเมริกาโขกสับคู่สัญญาเท่านั้น”
ในขณะที่อนาคตของ TPP ยังดูมืดมน จีนก็ถือโอกาสผลักดันข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ที่ประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียน และชาติคู่เจรจาของอาเซียนอีก 6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น TPP แบบที่มีจีนเป็นผู้นำ
“ประเทศในเอเชียยังต้องการให้อเมริกาแสดงบทบาทอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งในภูมิภาคนี้” แมคเกรเกอร์ ให้ความเห็น “แต่ปัญหาก็คือจีนกำลังเสนอทางเลือกใหม่ให้กับพวกเขา ในขณะที่ ทรัมป์ ไม่มีอะไรเลย”
ทรัมป์ เคยวิจารณ์พฤติกรรมการค้าของจีนอย่างเผ็ดร้อนระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง แต่การเยือนปักกิ่งคราวนี้กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน แม้ ทรัมป์ จะยังเรียกร้องให้จีนหยุดปั่นค่าเงินและขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอเมริกัน แต่เขาก็รับปากจะร่วมมือกับจีนในหลายเรื่อง ทั้งยังออกอาการปลาบปลื้มเอามากๆ ที่ประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ให้การต้อนรับอย่างเอกเกริก แถมยังพาไปเยี่ยมชมพระราชวังต้องห้ามด้วยตนเอง
“เขาว่ากันว่าจีนไม่เคยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองยิ่งใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ซึ่งผมเชื่อว่าจริง” เขาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบนแอร์ฟอร์ซวัน
แมคเกรเกอร์ เตือนว่า การที่ ทรัมป์ สรรเสริญเยินยอจีนจนเกินเหตุเพียงเพราะอีกฝ่ายปูพรมแดงต้อนรับนั้นไม่มีประโยชน์ในระยะยาว เนื่องจากจีนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกแทนที่สหรัฐฯ ในอีกไม่ช้า และย่อมจะสยายอิทธิพลในเอเชียและทั่วโลกมากขึ้น ไม่ว่าสหรัฐฯ จะพอใจหรือไม่ก็ตาม
แม้การทัวร์เอเชียของ ทรัมป์ จะยังไม่ปรากฏผลงานที่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่สำหรับชาติเอเชียที่เฝ้ามองการแผ่อิทธิพลของจีนอย่างไม่ไว้วางใจ การมาของเขาก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าสหรัฐฯ ยังไม่ทอดทิ้งภูมิภาคนี้
“ทุกประเทศในภูมิภาคเพียงคาดหวังให้ ทรัมป์ มาปรากฏตัว เพื่อยืนยันว่าอเมริกาจะยังรักษาพันธกรณีที่มีต่อเอเชีย แม้ในเชิงหลักการก็ยังดี” ชาห์ริมาน ล็อคแมน นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันเพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษาในมาเลเซีย ระบุ