xs
xsm
sm
md
lg

‘ซัมมิตเอเปกที่เวียดนาม’ คือสัญญาณแสดงว่าอิทธิพลของสหรัฐฯในเอเชียกำลังหดหาย

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

APEC signals US’ waning influence in Asia
By M K Bhadrakumar
12/11/2017

การทัวร์ชาติเอเชียเป็นเวลา 12 วันของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะการกล่าวปราศรัยของเขาต่อที่ประชุมซัมมิตของเอเปก เมื่อเปรียบเทียบตัดแย้งกับคำปราศรัยบนเวทีเดียวกันของสี จิ้นผิง ะเป็นเพียงการเพิ่มเสริมความรับรู้ความเข้าใจของพวกชนชั้นนำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ว่า สหรัฐฯกำลังสูญเสียพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ให้แก่จีนมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าหากเวทีเอเปกแสดงบทบาทเป็นสนามทดสอบสำหรับการประมาณการว่าสหรัฐฯสามารถกอบกู้ฟื้นคืนพลังอำนาจของอเมริกันในเอเชียได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว การประชุมซัมมิตในเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เมื่อวันศุกร์ (10 พ.ย.) และวันเสาร์ (11 พ.ย.) ที่ผ่านมา คือสัญญาณแสดงให้เห็นว่าอเมริกายังจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานทีเดียว ถ้าหากจะสามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จกันจริงๆ ประเด็นก็คือ ขณะที่สหรัฐฯให้น้ำหนักเน้นย้ำอยู่ที่สถานะทางการทหารของตนเป็นอย่างมากนั้น สงครามแห่งการช่วงชิงอิทธิพลในเอเชียกลับจะตัดสินแพ้ชนะกันที่เรื่องเศรษฐกิจ

สหรัฐฯเสียหน้าอย่างร้ายแรงทีเดียวจากการถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ภารกิจที่เอเปกต้องกระทำในที่ประชุมดานังคือการนิยามขอบเขตเพื่อรักษาแนวทางแห่งการยึดมั่นอยู่กับระบบการค้าที่เปิดเสรีเอาไว้ พลวัตความมีชีวิตชีวาในทางเศรษฐกิจของเอเชียนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาอาศัยสภาพแวดล้อมภายนอก ปีเตอร์ ดรายสเดล (Peter Drysdale) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ (Emeritus Professor) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) เขียนเอาไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ความเชื่อมั่นในระบบการค้าโลกเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเอเชีย มันคือสิ่งที่ประคับประคองสนับสนุนการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน, ความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ, และความมั่นคงทางการเมืองของเอเชียในอดีตที่ผ่านมา และจะยังคงแสดงบทบาทเช่นนี้ต่อไปอีกในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ในการปกปักรักษาผลประโยชน์ระดับโลกเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้เอาไว้ให้ได้ เอเชียจึงจะต้องแสดงบทบาทอย่างใหม่ที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวด และเอเปกนั่นแหละคือเวทีที่การปฏิบัติการนี้จะต้องเริ่มต้นขึ้นมา”

เมื่อมองจากแง่มุมเช่นนี้แล้ว คำปราศรัยที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวต่อที่ประชุมซัมมิตเอเปกในวันศุกร์ (10 พ.ย.) จึงต้องถือว่าเป็นคำปราศรัยที่ผิดฝาผิดตัวทั้งในด้านเนื้อหาและในเรื่องสถานที่ (ดูรายละเอียดคำปราศรัยนี้ได้ที่ https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/11/10/remarks-president-trump-apec-ceo-summit-da-nang-vietnam) ทั้งนี้ทรัมป์ได้ข่มขู่ว่าสหรัฐฯจะไม่ยอมอดทนต่อ “การละเมิดอย่างยืดเยื้อเรื้อรังต่างๆ ในด้านการค้า” อีกต่อไปแล้ว รวมทั้งคร่ำครวญเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯต้องขาดดุลการค้า และกล่าวหาว่าการค้าเสรีทำให้ชาวอเมริกันต้องสูญเสียงานไปหลายล้านตำแหน่ง เขาเรียกร้องให้คุณค่าแก่ “ความเคารพซึ่งกันและกันและการที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์” (mutual respect and mutual benefit) ในระดับเท่าเทียมเสมอเหมือนกับ “การค้าต่างตอบแทน” (reciprocal trade) และกล่าวโทษโจมตีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) ทรัมป์ปิดประตูโครมไม่ต้อนรับข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคใดๆ

มันเป็นการปฏิบัติการทางการทูตที่ช่างกระจ่างแจ่มแจ้งเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้นำเอเชียยังคงยืนกรานให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ แก่หนทางแก้ไขแบบพหุภาคีในการจัดการกับปัญหาการค้าระดับโลก เมื่อ ทีพีพี กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจเริ่มต้นเดินหน้าได้เสียแล้ว ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ที่นำโดยอาเซียน จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์เพียงหนึ่งเดียวที่วางแบอยู่เบื้องหน้า (โดยที่ในการจัดทำ RCEP นี้ สหรัฐฯไม่ได้เป็นชาติหนึ่งที่เข้าร่วมการเจรจาด้วยซ้ำ)

ในทางตรงกันข้าม บรรดาผู้ชมผู้ฟังชาวเอเชียย่อมมองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งว่า คำปราศรัยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งขึ้นพูดบนเวทีถัดจากทรัมป์ทันทีนั้น นำเสนอวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของการค้าโลกซึ่งแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน (ดูรายละเอียดคำปราศรัยนี้ได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2017-11/11/c_136743492.htm) ประธานาธิบดีสีกล่าวยืนยันว่า โลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนเวียนหมุนกลับไปอีกแล้ว พร้อมกับรับรองหนุนส่งฐานะของจีนที่กลายเป็นแชมเปี้ยนนักต่อสู้เพื่อการค้าโลกคนใหม่ “เราควรสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และปฏิบัติตามลัทธิภูมิภาคนิยมแบบเปิดกว้าง (open regionalism) ซึ่งเปิดทางให้เหล่าสมาชิกที่เป็นชาติกำลังพัฒนาได้รับผลประโยชน์มากขึ้นจากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ” สีรบเร้า เขายังพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล, วิทยาการควอนตัม, ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) ฯลฯ ระหว่างการบรรยายกรอบโครงของวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตซึ่งส่วนต่างๆ มีการโยงใยต่อเชื่อมกันและครอบคลุมรอบด้าน

อนึ่ง ในขณะที่สีกำลังกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมซัมมิตเอเปกนี้เอง จีนก็ได้ประกาศแผนการที่มีความสำคัญระดับเป็นประวัติการณ์ ในการลดทอนผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของต่างชาติในกิจการทางการเงินทั้งหลาย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ปักกิ่งเสนอที่จะลดหรือกระทั่งยกเลิกบรรดาข้อจำกัดเรื่องกรรมสิทธิ์ของต่างชาติ ทั้งในกิจการด้านการธนาคารพาณิชย์, หลักทรัพย์, ตราสารฟิวเจอร์ส, การบริหารจัดการสินทรัพย์, และการประกันภัย หลังจากที่ผ่านมาจีนได้ใช้ข้อกำหนดเรื่องการร่วมทุนและข้อจำกัดเรื่องกรรมสิทธิ์ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ จำนวนมาก มาปกป้องคุ้มครองกลุ่มกิจการภายในประเทศจากการถูกกิจการภายนอกเข้ามาแข่งขัน รวมทั้งยังเป็นมาตรการเพื่อโน้มน้าวให้ต่างชาติถ่ายโอนเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญทางการบริหารจัดการให้แก่พวกหุ้นส่วนในท้องถิ่น

สีบอกในคำปราศรัยของเขาว่า “ในอีก 15 ปีข้างหน้า จีนจะมีตลาดที่ใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก และมีการพัฒนาอย่างครอบคลุมรอบด้านมากขึ้นไปอีก ประมาณการกันไว้ว่าจีนจะนำเข้าสินค้าคิดเป็นมูลค่า 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงเข้าสู่ประเทศจำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทำการลงทุนภายนอกประเทศเป็นจำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

เมื่อเปรียบเทียบกัน ทรัมป์กลับกำลังยกไม้ที่กั้นขวางความเป็นหุ้นส่วนกันให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตอนที่นายกรัฐมนตรีของชาติอาเซียน 3 ชาติ ได้แก่ มาเลเซีย, ไทย, และสิงคโปร์ เดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อเร็วๆ นี้ ทรัมป์เฉลิมฉลองวาระดังกล่าวในฐานะที่เป็นการทำธุรกรรมทางด้านช็อปปิ้ง ชาวเอเชียนั้นมอบของขวัญให้ในฐานะเป็นตัวแทนอันสำคัญยิ่งแห่งการแสดงออกถึงไมตรีจิตมิตรภาพ ทว่าทรัมป์กลับเบื่อหน่ายไม่สนใจกับเรื่องน้ำจิตน้ำใจ และโอ่อวดว่ามันคือชัยชนะของนโยบาย “อเมริกาต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง” (America First)

ระหว่างการไปเยือนของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย ทั้งกองทุนคาซานาห์ นาเซียนัล (Khazanah Nasional กองทุนความมั่งคั่งภาครัฐของรัฐบาลมาเลเซีย) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างพนักงาน (Employees Provident Fund กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแห่งชาติของมาเลเซีย) ต่างประกาศการเข้าลงทุนเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ในหลักทรัพย์และในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐ ฯ ขณะที่สายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ให้คำมั่นที่จะสำรวจทางเลือกต่างๆ เพื่อสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารของบริษัทโบอิ้งและเครื่องยนต์เครื่องบินจากบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) เพิ่มมากขึ้นอีกจนถึงหลัก 10,000 ล้านดลอลาร์สหรัฐฯ

ทางด้านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย ก็ให้สัญญาว่า คณะทหารของประเทศของเขาจะซื้อหาเฮลิคอปเตอร์แบบแบล็กฮอว์ก (Blackhawk) และแบบลาโคตา (Lakota), เฮลิอปเตอร์กันชิปแบบโคบรา (Cobra gunship) 1 ลำ, ขีปนาวุธฮาร์พูน (Harpoon missiles), เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 รุ่นอัปเกรด บวกกับที่บริษัทการบินไทยก็จะซื้อเครื่องบินโดยสารลำใหม่ๆ จากโบอิ้ง นอกจากนั้นกลุ่มปูนซีเมนต์ไทยสัญญาที่จะซื้อถ่านหินเป็นจำนวน 155,000 ตันเพื่อผ่อนคลายความทุกข์ยากของพวกคนงานสหรัฐฯในแถบ “รัสต์ เบลต์” (Rust Belt) ที่ถูกอ้างอิงพูดถึงกันเกรียวกราว สำหรับ ปตท. บริษัทน้ำมันของไทยก็ตกลงจะลงทุนในโรงงานก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (shale gas) ที่รัฐโอไฮโอ พล.อ.ประยุทธ์ กับ ทรัมป์ ยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนต่างๆ คิดเป็นมูลค่าราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเ ซึ่งคาดหมายว่าจะก่อให้เกิดตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นมา 8,000 ตำแหน่งในสหรัฐฯ

สำหรับสิงคโปร์โชว์การสั่งซื้อเครื่องบินจำนวน 39 ลำจากบริษัทโบอิ้ง คอร์เปอเรชั่น พร้อมกับประทับคำโฆษณาตัวโตว่าจะสามารถสร้างงาน 7,000 ตำแหน่งในภาคพื้นทวีปสหรัฐฯ (ในพิธีลงนามที่มีการถ่ายทอดออกทีวี ทรัมป์ยิ้มร่าพร้อมกับปล่อยมุกหยอกล้อขำๆ ใส่ซีอีโอของโบอิ้ง โดยส่งเสียงดังชนิดกล้องโทรทัศน์สามารถจับได้ชัดเจนว่า “นี่แหละงาน งานสำหรับอเมริกันน่ะ ไม่ยังงั้นก็อย่าเซ็นมันเลย!”

สิ่งต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นอะไร การทัวร์ชาติเอเชียเป็นเวลา 12 วันของทรัมป์น่าจะเป็นเพียงการเพิ่มเสริมความรับรู้ความเข้าใจของพวกชนชั้นนำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ว่า สหรัฐฯกำลังสูญเสียพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ให้แก่จีนมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากเย็นเลยว่า ประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์เอเชียที่เน้นย้ำให้ความสำคัญมากที่สุดแก่ความแข็งแกร่งทางการทหารนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีความแน่นอนและไม่มีความยั่งยืน คำประกาศที่ประชุมซัมมิตเอเปกซึ่งออกมาเมื่อวันเสาร์ที่ 11 พ.ย. (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.apec.org/Meeting-Papers/Leaders-Declarations/2017/2017_aelm) เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันว่าคำปราศรัยของ สี นั้น สอดคล้องต้องกันกับจิตวิญญาณของยุคสมัย ขณะที่สิ่งซึ่งทรัมป์คำรามออกมาดังลั่นอย่างโมโหโทโสนั้นไม่ได้มีความหมายอะไรเลย

ในเวลานี้พวกบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสัญชาติจีน กำลังพยายามบุกเข้ามาจัดวางตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งอันเฉียบคมได้เปรียบ เพื่อหาประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิตอลของอาเซียนซึ่งคาดหมายกันว่าจะเกิดขึ้นทศวรรษที่กำลังจะมาถึงนี้ ในเวลาเดียวกันนั้น แผนการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) กำลังเดินแถวเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เป็นการรับประกันให้เกิดเครือข่ายการค้าและการลงทุนอันกว้างขวางที่มีจีนอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของมัน และกำลังสร้างสายโซ่อุปทานระดับโลกสายใหม่ บรรดารัฐในภูมิภาคเหล่านี้จึงกำลังประสบด้วยตัวเองอย่างชัดเจนถึงความจำกัดต่างๆ ในพลังอำนาจของสหรัฐฯ

แล้วสิ่งที่ทำให้เรื่องยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อได้เห็นทรัมป์ยกย่องเฉลิมฉลองข้อตกลงทางการค้าต่างๆ มูลค่า 253,000 ล้านดอลลาร์ที่ทำกับประเทศจีน ชาวเอเชียทั้งหลายย่อมจักต้องรู้สึกพิศวงว่า หรือว่าลงท้ายแล้วถนนทุกๆ สายต่างก็กำลังนำไปสู่กรุงปักกิ่ง

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

(ข้อเขียนนี้มาจากบล็อก อินเดียน พันช์ไลน์)
กำลังโหลดความคิดเห็น