เอเจนซีส์ - เหล่ารัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของหลายชาติ ระบุในวันพฤหัสบดี (16 พ.ย.) ว่าตอนนี้มี 20 ประเทศกับอีก 2 รัฐของอเมริกา ได้ร่วมกันเป็นพันธมิตรนานาชาติเพื่อลดการใช้ถ่านหินออกไปจากกระบวนการผลิตพลังงานให้ได้ก่อนปี 2030
นับตั้งแต่ลงนามในข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 ซึ่งมุ่งเป้าขจัดการใช้พลังงานฟอสซิล หลายประเทศได้วางแผนระดับชาติในการขจัดถ่านหินให้หมดไปจากการเป็นแหล่งพลังงาน
พันธมิตรนานาชาติ Powering Past Coal ได้รวมเอาประเทศที่มุ่งจะลดการใช้ถ่านหิน โดยจะแบ่งปันเทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษ อาทิ การจับและกักเก็บคาร์บอน รวมถึงกระตุ้นให้ชาติอื่นๆ ลดการใช้
ถ่านหินนั้นคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ในการก่อมลพิษด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สร้างภาวะเรือนกระจกทั่วโลก
พันธมิตรกลุ่มนี้ ประกอบด้วย แองโกลา ออสเตรีย เบลเยียม อังกฤษ แคนาดา คอสตาริกา เดนมาร์ก เอลซัลวาดอร์ ฟิจิ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี ลักเซมเบิร์ก หมู่เกาะมาร์แชล เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นิวเว โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์
นอกจากนี้ยังมีรัฐวอชิงตัน กับรัฐโอเรกอนของอเมริกา รวมถึงอีก 5 จังหวัดของแคนาดา ที่ได้ลงนามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรครั้งนี้
การร่วมเป็นพันธมิตรครั้งนี้ ที่ไม่มีผลผูกพันทางกฏหมาย มุ่งเป้าจะให้มีสมาชิกอย่างน้อย 50 ประเทศ ที่การประชุมด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติในปี 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองหนึ่งในโปแลนด์ และเป็นหนึ่งในหลายเมืองที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดของยุโรป
อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่เป็นผู้ใช้งานถ่านหินรายใหญ่ของโลกอย่างจีน อินเดีย อเมริกา เยอรมนี รัสเซีย ล้วนไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตร