รอยเตอร์ - พวกอาสาสมัครอินโดนีเซีย สามารถช่วยเหลือวาฬหัวทุยที่เกยตื้นชายฝั่งทางเหนือสุดของเกาะสุมาตราได้ 6 ตัว แต่อีก 4 ตัวช่วยชีวิตยื้อชีวิตไว้ไม่ไหว จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อนุรักษ์รายหนึ่งในวันอังคาร (14 พ.ย.) ขณะที่ต้นตอของเหตุเกยตื้นของฝูงวาฬขนาดยักษ์ยังคงเป็นปริศนา
เจ้าหน้าที่กู้ภัยทำงานจนดึกดื่นเมื่อค่ำคืนวันจันทร์ (13 พ.ย.) ในความพยายามช่วยเหลือวาฬหัวทุยขนาดใหญ่ 6 จาก 10 ตัว โดยใช้เชือกมัดกับเรือลาดตระเวนแล้วลากมันกลับสู่ผืนน้ำนอกชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์
“ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่บางคนได้รับบาดเจ็บจากหินปะการัง ขณะที่คลื่นสูงก็เป็นอุปสรรคเช่นกัน แต่เราก็พยายามอย่างเต็มที่” ซัปโต อาจี ปราโบโว หัวหน้าหน่วยงานอนุรักษ์สัตว์จังหวัดอาเจะห์กล่าว “มันเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับเรา ถึงวิธีการเคลื่อนย้ายสัตว์ขนาดใหญ่เช่นนี้ หากมันเกิดขึ้นอีกครั้ง”
ปราโบโว ระบุไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทำไมวาฬหัวทุย ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใหญ่ที่สุดในโลก ถึงมาเกยตื้นในน้ำตื้น “เรามีแผนรวบรวมตัวอย่างจากวาฬตัวที่ตายแล้ว เพื่อสรุปหาสาเหตุการตายของทันและเพื่อทำการวิจัยในอนาคต” เขากล่าว พร้อมเผยว่าพวกเจ้าหน้าที่จะดำเนินการฝังซากวาฬให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ซากเหล่านั้นจะเกิดการสะสมของแก๊สจนเกิดระเบิด “หากเราปล่อยให้มันเน่าเปื่อย มันอาจเป็นต้นตอของโรค”
แม้เป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก แต่ก็เคยเกิดเหตุการณ์วาฬเกยตื้นในพื้นที่อื่นๆ ของอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะประกอบด้วยเกาะต่างๆกว่า 17,000 เกาะ
ในปี 2016 ฝูงวาฬนำร่อง 29 ตัวว่ายเข้ามาติดในป่าชายเลนนอกชายฝั่งทางตะวันออกของเกาะชวา แต่บางตัวสามารถดิ้นรนเอาตัวรอดกลับออกไปได้ ขณะที่บางตัวได้รับความช่วยเหลือพากลับสู่ทะเลโดยพวกชาวประมง