xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเร่งผลักดันเดินหน้า‘ข้อตกลงTPP’ ที่ไม่มีสหรัฐฯ ทว่ายังคงไปไม่ถึงไหน

เผยแพร่:   โดย: เดวิด ฮุตต์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Swing and another miss for TPP
By David Hutt, @davidhuttjourno
11/11/2017

ขณะที่พวกผู้นำซึ่งรวมตัวกันอยู่ในการประชุมเอเปกที่ประเทศเวียดนามเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บอกว่าชาติที่ร่วมลงนามในข้อความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก หรือ ทีพีพี ซึ่งยังคงเหลืออยู่ 11 ชาติภายหลังสหรัฐฯถอนตัวออกไปนั้น เวลานี้สามารถตกลงเห็นพ้องกันได้แล้วเกี่ยวกับ “ส่วนประกอบต่างๆ ที่เป็นแกนกลาง” แต่เอาเข้าจริงแล้ว ข้อตกลงการค้าที่เสร็จสมบูรณ์เพื่อใช้เดินหน้าดำเนินการได้อย่างจริงจังนั้น ยังคงไปไม่ถึงไหน

เมื่อตอนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จัดการถอนอเมริกาออกมาจาก ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ในวันแรกที่เขาเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สัญญาข้อตกลงการค้าเสรีอันใหญ่โตมีความหมายยิ่งฉบับนี้ ดูทำท่าว่าจะต้องถึงแก่มรณกรรมด้วยสาเหตุการเสียชีวิตตามธรรมชาติ จริงๆ แล้วในตอนนั้นดูเหมือนชาติผู้ร่วมลงนามรายอื่นๆ อีก 11 ชาติ มีจำนวนมากทีเดียวซึ่งทำท่ายอมรับชะตากรรมของดีลการค้าเสรีอันมีจุดหมายสูงส่งทะเยอทะยานนี้เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ ข้อตกลงซึ่งบัดนี้รู้จักกันในนามว่า ทีพีพี-11 โดยหักลบอเมริกาออกไป กลับได้แรงฉุดลากจากพวกผู้วางนโยบายในญี่ปุ่น จนกระทั่งมีการสัญญิงสัญญากันว่าจะเปิดเจรจาหารือกันขึ้นใหม่ ขณะที่เหล่าผู้นำจากทั่วโลกเดินทางไปยังเวียดนาม เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ เอเปก) ในวันศุกร์และวันเสาร์ที่ 10-11 พฤศจิกายนนี้

ในวันพฤหัสบดี (9 พ.ย.) รัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โทชิมิตสึ โมเตงิ (Toshimitsu Motegi) บอกกับพวกผู้สื่อข่าวที่เวียดนามว่า ชาติผู้ร่วมลงนามทั้ง 11 ราย “สามารถตกลงกันในหลักการ” เกี่ยวกับเอกสารสุดท้ายของความตกลงทีพีพีที่หยิบยกนำมาทบทวนกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับถูกปฏิเสธโดยรัฐมนตรีพาณิชย์ของแคนาดา ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาได้ทวิตบอกว่า “ถึงแม้มีการรายงานข่าวต่างๆ ก็ตาม แต่ยังไม่มีการตกลงในหลักการใดๆ เกี่ยวกับทีพีพี”

อันที่จริงแล้ว จนกระทั่งถึงตอนบ่ายวันศุกร์ (10 พ.ย.) ก็ดูเหมือนการพูดจาหารือกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังคงประสบภาวะชะงักงัน โดยตามรายงานข่าวของพวกสื่อต่างๆ เรื่องนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากความลังเลของแคนาดา (ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองใน ทีพีพี-11 รองลงมาจากญี่ปุ่นเท่านั้น) โดยที่แดนใบเมเปิลบอกว่าจะยังไม่เร่งรีบเข้าทำความตกลงเห็นพ้องกับข้อตกลงการค้าซึ่งทบทวนกันใหม่นี้

มีรายงานว่านายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา ได้บอกงดไม่เข้าร่วมการประชุมวาระสำคัญของทีพีพีในตอนบ่ายวันศุกร์ (10 พ.ย.) ซึ่งในที่สุดแล้วการหารือดังกล่าวก็ต้องยกเลิกไปสืบเนื่องจากการขาดหายไปของเขา สำนักงานของทรูโดแถลงในเวลาต่อมาว่าเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากกำหนดการของเขารัดตัวแน่นเอี๊ยด

แต่แล้วในช่วงชั่วโมงแรกๆ ของวันเสาร์ (11 พ.ย.) ปรากฏว่าได้มีการเผยแพร่คำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งบอกว่า ชาติสมาชิกทั้ง 11 รายสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับ “ส่วนประกอบต่างๆ ที่เป็นแกนกลาง” ของข้อตกลงฉบับใหม่

มีบางคนเชื่อว่าชาติเหล่านี้เกิดความแตกแยกความคิดเห็นกันในเรื่องที่ว่าควรกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มเติมสำหรับใช้ชักจูงโน้มน้าวอเมริกาให้หวนกลับมาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้กันใหม่ ถึงแม้ว่ามันคงไม่น่าจะเกิดขึ้นภายในสมัยซึ่งทรัมป์ยังคงเป็นประธานาธิบดีอยู่ ตัวทรัมป์เองได้พูดในการกล่าวปราศรัยครั้งหนึ่งเมื่อวันศุกร์ (10 พ.ย.) ว่า สหรัฐฯนั้นเปิดกว้างสำหรับการลงนามในดีลการค้าแบบทวิภาคีกับชาติใดๆ ก็ตาม โดยอิงอยู่บนหลักการของ “ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ซึ่งต่างฝ่ายต่างได้รับร่วมกัน”

ยังมีบางคนโต้แย้งว่า ประเทศเหล่านี้มีความไม่ลงรอยกันในเรื่องที่ว่า จีนซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าฉบับนี้ อีกทั้งยังถูกกีดกันออกไปอยู่วงนอกโดยเจตนาด้วยซ้ำเมื่อตอนที่สหรัฐฯเป็นผู้นำในการทำให้ดีลนี้บังเกิดขึ้นมานั้น เมื่อถึงที่สุดแล้วควรที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมทีพีพีหรือไม่

ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 ชาติซึ่งเข้าร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ด้วยแล้ว ได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, สิงคโปร์, และเวียดนาม อาจจะมีบางรายซึ่งมีส่วนรับผิดชอบสำหรับการชะลอไร้ความคืบหน้าครั้งนี้ด้วย

โดยที่รัฐมนตรีว่าการคลังของญี่ปุ่นบอกในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (10 พ.ย.) ว่า ประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเม็กซิโกและเวียดนามนั้น ยังคงกำลังเจรจาหารือกันอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ว่าที่มันกำลังเป็นตัวถ่วงรั้งการตกลงกัน

ต่อจากนั้นในวันเดียวกัน หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานข่าวโดยอ้าง “บุคคลผู้ใกล้ชิดกับการเจรจาหารือ” กล่าวว่า ประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งยังคงกำลังถูกพิจารณาตรวจสอบเหล่านี้ ก็คือพวกกฎระเบียบทางด้านแรงงาน

ทีพีพี-12 อันเป็นชื่อที่เรียกกันในเวลานี้เพื่อหมายถึงข้อตกลงการค้าฉบับดั้งเดิมซึ่งอเมริกายังเข้าร่วมด้วย จะกำหนดให้ชาติซึ่งร่วมลงนาม ต้องกระทำตามเงื่อนไขต่างๆ ในด้านการเปิดเสรีเพิ่มมากขึ้น เป็นต้นว่า การอนุญาตให้สหภาพแรงงานอิสระสามารถดำเนินงานได้ และการห้ามการใช้แรงงานเด็กอย่างเข้มงวดกวดขัน

สำหรับคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯแล้ว ข้อตกลงทีพีพี-12 คือหนทางหนึ่งในการเร่งรัดให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เรื่องการค้าที่จะเพิ่มพูนเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นมาเป็นตัวโน้มน้าวจูงใจ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้กล่าวถึงข้อตกลงฉบับดั้งเดิมว่า มี “มาตรการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรงที่สุด และมาตรฐานต่างๆ ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างแข็งแกร่งที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับที่ข้อตกลงการค้าใดๆ ในประวัติศาสตร์ได้เคยมีมา”

ในเวียดนามนั้น เวลานี้มีเพียงสหภาพแรงงานซึ่งหนุนหลังโดยพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งดำเนินการได้ เวลาเดียวกันเรื่องแรงงานเด็กก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ความเป็นไปได้ในเรื่องการตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านแรงงานของทีพีพี-11 ตามที่ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานเอาไว้นั้น ได้นำไปสู่การคาดเดากันว่าคณะผู้เจรจาของฝ่ายเวียดนามอาจจะพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกมาตราหลายๆ มาตราออกไปจากข้อตกลงฉบับใหม่ เพื่อที่เวียดนามจะได้หลีกเลี่ยงไม่ต้องดำเนินการปฏิรูปซึ่งจะเป็นการเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น

มาเลเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งน่าที่จะกังวลเกี่ยวกับมาตรการพิทักษ์คุ้มครองแรงงานอย่างแข็งขันยิ่งขึ้นของข้อตกลงนี้ รายงานข่าวต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมาเปิดโปงให้เห็นว่าแดนเสือเหลืองมีการใช้แรงงานซึ่งถูกบีบบังคับให้ทำงาน หรือ “แรงงานบังคับ” (forced labor) ทั้งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, สิ่งทอ, และปาล์มน้ำมัน

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แถลงเอาไว้ในวันศุกร์ (10 พ.ย.) ว่า “มาเลเซียยังคงมีพันธะผูกพันต่อทีพีพี แต่ว่าเราต้องการที่จะทำความตกลงโดยพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ของเรา” ทางด้าน มุสตาฟา โมฮาเหม็ด (Mustapa Mohamed) รัฐมนตรีพาณิชย์ของเขากล่าวถึงเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมายิ่งกว่านี้เสียอีกในวันพุธ (8 พ.ย.) ที่ผ่านมา เมื่อเขาบอกว่า “มีบางมาตรา (ของข้อตกลงทีพีพี) ... ควรที่จะถูกระงับใช้เอาไว้ก่อน” โดยเขาอธิบายว่าการระงับใช้จะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาเจรจาข้อตกลงกันใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งเขาชี้ว่าอาจจะต้องใช้เวลายาวนานเป็นสิบปีทีเดียว

เมื่อถูกพวกนักหนังสือพิมพ์ขอให้ระบุเจาะจงเลยว่ามีมาตราอะไรบ้างซึ่งมาเลเซียต้องการให้ระงับการบังคับใช้เอาไว้ก่อน มุสตาฟาตอบว่า “มันไม่เป็นการเหมาะสมสำหรับผมหรอกที่จะออกมาเสนอบัญชีรายชื่ออันชัดเจนแน่นอน” จากนั้นเขาก็กล่าวต่อไปว่า “ประเด็นปัญหาที่ยากลำบากสำหรับเราเสมอมาก็คือเรื่องรัฐวิสาหกิจ และเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐบาล”

ทั้งนี้ในความพยายามที่จะส่งเสริมสนับสนุนการเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจ และตัดทอนลัทธิกีดกันการค้า ข้อตกลง ทีพีพี-12 ดั้งเดิมมีข้อกำหนดซึ่งเป็นการจำกัดความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจต่างๆ ของตน รวมทั้งยังเรียกร้องให้ดำเนินการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

แต่อย่างกรณีของมาเลเซียนั้น รัฐวิสาหกิจอย่างเช่น เปโตรนาส (Petronas) กิจการยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เหนือแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรอง โดยที่มีกฎหมายของประเทศรับรองเรื่องเช่นนี้เอาไว้ ตัวมุสตาฟาได้เคยพูดในปี 2015 ว่า มีการประนีประนอมบางอย่างประการในการทำข้อตกลงทีพีพี-12 ในประเด็นปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับเปโตรนาส ซึ่งเป็นผู้จัดส่งรายได้รายใหญ่รายหนึ่งให้แก่ท้องพระคลังของประเทศ

มีรายงานข่าวระบุว่า รัฐวิสาหกิจใหญ่แห่งนี้จะยังคงได้รับอนุญาตให้แบ่งสรรข้อตกลง 40% ของกิจกรรมด้านดาวสตรีม (downstream) และ 70% ของกิจกรรมด้านอัปสตรีท (upstream) ให้แก่พวกบริษัทของมาเลเซีย ซึ่งปกติแล้วเป็นกิจการที่ดำเนินการโดยชาวภูมิปุตรา (bumiputra) --คำศัพท์ที่มีความหมายในทางแบ่งแยกเชื้อชาติโดยมุ่งหมายถึงชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์เท่านั้น

พรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (United Malays National Organization หรือ UMNO) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ปกครองมาเลเซียเรื่อยมานับแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ได้ใช้เปโตรนาสเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการดำเนินนโยบายให้ประโยชน์เป็นพิเศษแก่ชาวภูมิปุตราของตนมาเป็นเวลานานแล้ว โดยที่นโยบายนี้ก็ให้บังเอิญได้กลายเป็นหนทางหนึ่งสำหรับการทำให้พรรคอัมโนได้รับความสนับสนุนมากยิ่งขึ้นไปอีกจากคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนข้างมากของประเทศ

เวลานี้มีสิ่งบ่งชี้หลายๆ ประการว่า คณะผู้เจรจาของฝ่ายมาเลเซียในเมืองดานัง ได้พยายามเรียกร้องให้ข้อกำหนดต่างๆ ของ ทีพีพี-11 ฉบับทบทวนใหม่ มีข้อยกเว้นเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกสำหรับพวกรัฐวิสาหกิจ

ในส่วนของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งก็พึ่งพาอาศัยรัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่งของตนเป็นแหล่งที่มาของการให้ความอุปถัมภ์ จึงไม่มีข้อสงสัยเลยว่าจะต้องให้ความสนับสนุนเงื่อนไขที่อ่อนลงในเรื่องการเปิดเสรีรัฐวิสาหกิจ สำหรับบรูไนและสิงคโปร์ อีก 2 ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงนามใน ทีพีพี-11 นั้น จนถึงเวลานี้ยังคงเงียบกริบเกี่ยวกับเรื่องการเจรจาต่อรองทบทวนข้อตกลงนี้กันใหม่

ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่า “ส่วนประกอบต่างๆ ที่เป็นแกนกลาง” ซึ่งถูกระบุว่าสามารถทำความตกลงกันได้แล้วนั้น จะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อใด หรือจะมีการเผยแพร่ข้อความของข้อตกลงฉบับทบทวนกันใหม่แล้วนี้กันเมื่อใด โดยที่ในการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงทีพีพี-12 ฉบับดั้งเดิม ก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาแล้วว่าทำอะไรอย่างปิดลับไปหมด

ทั้งหมดเท่าที่ทราบกันจวบจนถึงเวลานี้ โดยอิงอาศัยคำแถลงซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อตอนเช้าวันเสาร์ (11 พ.ย.) ก็คือ บรรดารัฐมนตรีของทีพีพี-11 เห็นพ้องต้องกันที่จะธำรงรักษา “มาตรฐานต่างๆ อันสูงส่ง, ความสมดุลและบูรณภาพโดยรวม (ของข้อตกลงทีพีพี) ... ในเวลาเดียวกับที่รับประกันผลประโยชน์ทางการค้าและผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ของชาติผู้เข้าร่วมทั้งหมด และสงวนรักษาสิทธิโดยธรรมชาติของเราในการออกระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงความยืดหยุ่นของฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมในการจัดลำดับความสำคัญทางด้านนิติบัญญัติและด้านการออกระเบียบกฎเกณฑ์”

เดวิด ฮุตต์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งตั้งฐานประจำอยู่ในกรุงพนมเปญ
กำลังโหลดความคิดเห็น