xs
xsm
sm
md
lg

ซัมมิตชาติอาเซียนแตะแค่เบาหวิว ทั้งในประเด็นทะเลจีนใต้-โรฮิงญา ขณะ “ทรัมป์” จูบปากหวานหยด “ดูเตอร์เต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพชุดแสดงให้เห็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ อยู่ในอาการเซอร์ไพรซ์อยู่พักหนึ่ง ในตอนถ่ายภาพหมู่กับบรรดาผู้นำชาติอาเซียน ช่วงพิธีเริ่มเปิดการประชุมในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันจันทร์ (13 พ.ย.)  กว่าที่จะตระหนักว่า “การจับมือแบบอาเซียน” นั้น เขาต้องไขว้แขนเพื่อจับมือกับนายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม และประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ซึ่งยืนอยู่สองข้างของเขา
เอเจนซีส์ - ซัมมิตอาเซียนวันจันทร์ (13 พ.ย.) แค่แตะเบาๆ ประเด็นทะเลจีนใต้และคลื่นมนุษย์โรฮิงญา ขณะที่ “ทรัมป์-ดูเตอร์เต” จูบปากหวานหยด นอกจากไม่ประณามสงครามยาเสพติดและปัญหาสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์แล้ว ผู้นำสหรัฐฯ ยังชมเปาะว่าประธานาธิบดีตากาล็อกจัดงานประชุมอาเซียนได้ดี และประกาศว่า ตนและดูเตอร์เตมีมิตรภาพเยี่ยมยอดต่อกัน

บรรดาผู้นำของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนประชุมซัมมิตกันตั้งแต่เช้าวันจันทร์ จากนั้นก็เป็นวาระที่พวกเขาจะหารือกับผู้นำของชาติผู้ร่วมเจรจาต่างๆ เป็นต้นว่า นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน, ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ โดยที่คาดหมายกันว่าตัวคำแถลงร่วมของการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนทั้ง 10นั้น จะจัดทำกันเสร็จและนำออกเผยแพร่ในช่วงเย็นวันเดียวกัน

แหล่งข่าวทางการทูตและสื่อหลายสื่อเผยว่า ร่างคำแถลงร่วมตามที่ได้เห็นกันในตอนเช้า มีข้อความระบุถึงประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ว่า “ขณะที่สถานการณ์สงบลงมาในเวลานี้ แต่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ สิ่งสำคัญคือ เราต้องร่วมมือกันเพื่อรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ เสรีภาพในการเดินเรือและการบินในและเหนือทะเลจีนใต้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ การหลีกเลี่ยงการคำนวณผิดพลาดที่อาจทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดคือผลประโยชน์ร่วมกันของเรา”

ทั้งนี้ จีนอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด และมีกรณีพิพาทแย่งชิงสิทธิ์กับ 4 ชาติอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และบรูไน

ทรัมป์กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (12) ว่า พร้อมเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศที่มีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

ทว่าในวันเดียวกันนั้น เจ้าภาพของอาเซียนซัมมิตปีนี้ คือ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นนับจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ได้กล่าวเกริ่นว่า ไม่ควรพาดพิงประเด็นทะเลจีนใต้ในที่ประชุมอาเซียน แม้มีความเห็นแตกต่างกันก็ตาม ต่อจากนั้นในขณะกล่าวเปิดประชุมในวันจันทร์ ผู้นำฟิลิปปินส์ก็ทำอย่างปากว่า ด้วยการกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ที่จุดชนวนความรุนแรงในภูมิภาค เช่น ลัทธิก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่ง
ภาพประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ถ่ายภาพหมู่กับบรรดาผู้นำชาติอาเซียน ช่วงพิธีเริ่มเปิดการประชุมในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันจันทร์ (13 พ.ย.)
ด้านเวียดนามที่มีกรณีพิพาทรุนแรงกับจีน โดยที่เมื่อเดือนกรกฎาคมนี้เองยังถูกจีนกดดันให้ยุติการขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำซึ่งช่วงชิงกรรมสิทธิ์กัน ทว่าสถานีโทรทัศน์ของทางการเวียดนามรายงานว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเดินทางไปเยือนกรุงฮานอย ได้บอกกับ เหวียน ฝูจ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเมื่อวันอาทิตย์ (12) ว่า จีนต้องการทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อออกแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหวารายงานว่า ในการหารือของผู้นำจีนและเวียดนาม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในการจัดการปัญหาทางทะเลอย่างเหมาะสม และยึดมั่นในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ

ด้าน เกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า จีนมุ่งมั่นแก้ปัญหาผ่านการเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง และสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ และสำทับว่า สถานการณ์ในทะเลจีนใต้โดยทั่วไปในขณะนี้มีเสถียรภาพและเดินหน้าในทิศทางที่เหมาะสม จากความพยายามร่วมกันระหว่างจีนและอาเซียน และจีนหวังว่า ประเทศนอกภูมิภาคจะเคารพความพยายามนี้ รวมทั้งแสดงบทบาทของตนอย่างสร้างสรรค์

แม้ไม่ได้ระบุโดยตรง แต่ที่ผ่านมาจีนไม่พอใจมากกับการที่อเมริกาอ้างเสรีภาพในการเดินเรือและส่งเรือลาดตระเวนเฉียดหมู่เกาะของจีนในทะเลจีนใต้

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานว่า ร่างคำแถลงร่วมของอาเซียนยังงดพาดพิงถึงคลื่นมนุษย์โรฮิงญาโดยตรง เพียงแต่มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงความสำคัญของการบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยชนแก่เหยื่อภัยพิบัติธรรมชาติในเวียดนาม และการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ในฟิลิปปินส์ รวมทั้ง “ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ” ในรัฐยะไข่ของพม่า

ร่างคำแถลงร่วมไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ในยะไข่ หรือกล่าวถึงชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกทารุณกรรม ตามที่อองซาน ซูจี ผู้นำพม่าขอร้อง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย(ขวาสุด) กำลังพูดคุยกับนางอองซาน ซูจี (คนกลาง)ผู้นำพม่า และนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย(ขวาสุด) ระหว่างการประชุมซัมมิตอาเซียนในวันจันทร์(13พ.ย.)
ชะตากรรมของชาวโรฮิงญากว่า 600,000 คนที่หนีไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศหลังถูกกองทัพพม่ากวาดล้างครั้งใหญ่เพื่อตอบโต้ที่กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีค่ายทหารเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม กลายเป็นประเด็นร้อนและเกิดกระแสประณามทั่วโลก ตลอดจนถึงมีการเรียกร้องให้ยึดรางวัลโนเบลสันติภาพคืนจากซูจี

สมาชิกบางชาติของอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซียที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แสดงความกังวลกับปัญหานี้ ทว่าดูเหมือนแดนเสือเหลืองจอคล้อยตามหลักการสำคัญของอาเซียนคือการงดแทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ทำให้ประเด็นนี้ถูกตัดออกจากที่ประชุมผู้นำ

นอกจากเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนแล้ว ดูเตอร์เตยังให้การต้อนรับทรัมป์อย่างอบอุ่นชื่นมื่นในวันจันทร์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศก้องว่า มีมิตรภาพดีเยี่ยมกับประมุขตากาล็อก ทั้งที่ก่อนหน้านี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนพยายามเรียกร้องให้ทรัมป์ปิดฉากการเยือนเอเชียด้วยการออกคำแถลงประณามสงครามยาเสพติดของดูเตอร์เตที่ถูกกล่าวหาว่า ให้อำนาจตำรวจสังหารผู้ต้องสงสัยตายเป็นเบือหลายพันคน

ทว่า ทรัมป์และดูเตอร์เตกลับยิ้มแย้มให้กันตั้งแต่ที่พบกันคืนวันอาทิตย์จนถึงเช้าวันจันทร์ โดยประมุขทำเนียบขาวชมผู้นำฟิลิปปินส์ว่า จัดการประชุมอาเซียนได้ดีไม่มีที่ติ ซ้ำเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่า จะพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์หรือไม่ ทั้งทรัมป์และดูเตอร์เตกลับหัวเราะแทนคำตอบ

โฆษกของดูเตอร์เตเปิดเผยภายหลังว่า ทรัมป์ไม่ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวหารือกับดูเตอร์เตระหว่างการประชุมกันนาน 40 นาที

ทว่า ซาราห์ ฮักคาบี โฆษกของทรัมป์กลับบอกว่า มีการพูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน “สั้นๆ”

นอกจากนั้นเมื่อวันอาทิตย์ ดูเตอร์เตที่นั่งข้างทรัมป์ระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ และพูดคุยยิ้มแย้มแกล้มแชมเปญ ยังขึ้นเวทีครวญเพลงรักฟิลิปปินส์และมาเฉลยภายหลังว่า เป็นเพราะทรัมป์ขอมา
กำลังโหลดความคิดเห็น