ข่าวการกวาดล้างคอร์รัปชันในซาอุดีอาระเบียนับเป็นสัญญาณล่าสุดที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในราชอาณาจักรอิสลามแห่งนี้ หลังการก้าวขึ้นมามีอำนาจของ “เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บินซัลมาน” มกุฎราชกุมารผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมเพื่อทำให้ซาอุฯ กลายเป็นรัฐที่ทันสมัยและอยู่รอดในยุคที่น้ำมันกำลังจะหมดไป แต่อีกนัยหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นการกระชับฐานอำนาจของเจ้าชายหนุ่มให้เข้มแข็งก่อนขึ้นครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่
ชาวซาอุฯ ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะยินดีที่พวกผู้มีอิทธิพลซึ่งกอบโกยทรัพย์สินของรัฐไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวถูกปราบปรามเสียได้ แม้แต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ก็ยังพูดอวยส่งว่าพวกที่ถูกจับนั้น “รีดไถประเทศชาติมานานหลายปี” แต่เจ้าหน้าที่ตะวันตกบางคนกลับเป็นห่วงสิ่งที่จะตามมาจากวัฒนธรรมการเมืองแบบชนเผ่า และระบบเจ้าขุนมูลนายที่ขาดความโปร่งใส
เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงประกาศตั้งคณะกรรมาธิการปราบปรามการทุจริตที่มีพระองค์เองนั่งเป็นประธานเมื่อวันเสาร์ที่ 4 พ.ย. หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็มีข่าวการจับกุมรัฐมนตรีและเจ้าชายในราชวงศ์ซาอุฯ หลายพระองค์ รวมถึงเจ้าชาย อัล-วาลีด บิน ตอลาล มหาเศรษฐีนักลงทุนที่ร่ำรวยติดอันดับโลก บุคคลเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทุจริต เช่น ฟอกเงิน จ่ายสินบน ข่มขู่เจ้าหน้าที่ และยักยอกทรัพย์สินของรัฐไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ทว่าข้อครหาเหล่านี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ อีกทั้งผู้สื่อข่าวก็ไม่สามารถติดต่อสมาชิกในครอบครัวของพวกเขาเพื่อขอสัมภาษณ์
พระราชกฤษฎีกาซึ่งประกาศ ณ วันที่ 4 พ.ย. ระบุว่า การกวาดล้างครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลงโทษ “พวกจิตวิญญาณอ่อนด้อยซึ่งเห็นผลประโยชน์ของตนสำคัญกว่าส่วนรวม และสะสมเงินทองด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย”
ทางการซาอุฯ ได้สั่งอายัดบัญชีธนาคารของผู้ที่ถูกกล่าวหา และส่งกองกำลังความมั่นคงไปยึดเครื่องบินส่วนตัวซึ่งจอดอยู่ตามสนามบินต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้ชนชั้นสูงที่ถูกออกหมายจับหนีออกนอกประเทศได้
ปฏิบัติการล้างบางทุจริตมีขึ้นหลังจากที่ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกประสบวิกฤตขาดดุลกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตลอด 3 ปีงบประมาณที่ผ่านมา สืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ และมีแนวโน้มว่าจะขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่ 4
ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา รัฐบาลซาอุฯ ได้ดึงเงินทุนสำรองเกือบ 250,000 ล้านดอลลาร์มาชดเชยการขาดดุลดังกล่าว และกู้ยืมเงินจากตลาดทั้งภายในและนอกประเทศอีกราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เอ็ม. อาร์. ราฆุ หัวหน้าฝ่ายวิจัยจากสถาบัน คูเวต ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์ ระบุว่า “นโยบายปราบปรามทุจริตอาจส่งผลเสียในระยะสั้น แต่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว นักลงทุนต่างชาติย่อมตื่นตระหนกบ้าง แต่บางคนอาจเล็งเห็นว่ามาตรการนี้เป็นผลดี และจะช่วยให้การประกอบธุรกิจง่ายดายยิ่งขึ้น”
เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงออกแบบ “วิสัยทัศน์ 2030” (Vision 2030) เพื่อนำซาอุฯ ผันตัวจากระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาน้ำมัน และเมื่อไม่นานนี้ก็ได้ทรงประกาศโครงการเมกะโปรเจ็กต์หลายอย่าง รวมถึงแผนสร้างเมืองใหม่ที่ใช้หุ่นยนต์และยานพาหนะไร้คนขับ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
อีกหนึ่งกลไกสำคัญในแผนปฏิรูปของรัฐบาลซาอุฯ ได้แก่ การเปิดขายหุ้นไอพีโอของรัฐวิสาหกิจน้ำมันอารัมโก (Aramco) แก่ประชาชนทั่วไปในปีหน้า
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การกวาดล้างผู้มีอิทธิพลครั้งนี้เป็นเรื่องที่ออกจะสุ่มเสี่ยงไม่น้อย และยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจสู่มือของเจ้าชายมกุฎราชกุมารชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของซาอุฯ
“การกวาดล้างคอร์รัปชันเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงตั้งพระทัยที่จะกระชับฐานอำนาจของกระองค์เองให้แข็งแกร่งที่สุด ก่อนการสละราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานผู้เป็นพระราชบิดา ซึ่งอาจเกิดขึ้นก็ได้” สถาบันวิจัย แคปปิตอล อีโคโนมิสต์ ให้ความเห็น
เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงพยายามเป็นพิเศษที่จะควบคุมอำนาจของฝ่ายความมั่นคง และทรงกำจัดบุคคลที่เห็นว่าจะเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางสู่ราชบัลลังก์ หนึ่งในนั้นคือการปลดเจ้าชาย มิเตบ บิน อับดุลเลาะห์ พระราชโอรสวัย 64 พรรษาของกษัตริย์อับดุลเลาะห์ผู้วายชนม์ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังเนชันแนลการ์ด
องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ชี้ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในซาอุฯ น่าจะเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองมากกว่าความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศให้มีความโปร่งใส
“รัฐบาลซาอุฯ ประกาศจะล้างบางการทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ที่ถูกต้องควรจะดำเนินการสอบสวนให้แน่ชัดเสียก่อนว่ามีการกระทำความผิดจริงหรือไม่ ไม่ใช่กวาดต้อนคนไปขังรวมกันอยู่ในโรงแรมหรู” ซาราห์ เลียห์ วิตสัน ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคตะวันออกกลางของฮิวแมนไรต์วอตช์ ให้สัมภาษณ์ หลังมีรายงานว่าเจ้าชายและรัฐมนตรีบางคนถูกส่งไปกักขังไว้ที่โรงแรม ริตซ์ คาร์ลตัน ในกรุงริยาด
นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ยังทรงผลักดันการปฏิรูปด้านสังคมและวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับทัศนคติของพลเมืองซาอุฯ รุ่นใหม่ๆ และหนึ่งในนั้นคือการที่สตรีจะได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ได้เอง รวมถึงเข้าชมการแข่งขันกีฬาภายในสนามได้เช่นเดียวกับผู้ชาย
มกุฎราชกุมารหนุ่มผู้ถูกเรียกขานอย่างง่ายๆ ว่า “MBS” ยังทรงให้สัญญาว่าจะทำให้ซาอุดีอาระเบียกลับไปสู่ “แนวทางอิสลามสายกลางที่เปิดกว้างต่อทุกๆ ศาสนา และต่อทั้งโลก” โดยทรงริเริ่มปฏิรูประบบการศึกษา ตุลาการ และกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมอยู่ภายใต้การชี้นำขององค์กรศาสนา
นักวิเคราะห์จากสถาบัน ยูเรเชีย กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า วิสัยทัศน์ในการสร้างซาอุดีอาระเบียใหม่อาจเผชิญการตอบโต้อย่างรุนแรงจากกลุ่มมุสลิมอนุรักษนิยม “แม้สิ่งที่พระองค์ตรัสจะฟังดูกล้าหาญ แต่ต้องไม่ลืมว่าแนวคิดอนุรักษนิยมที่แผ่อิทธิพลครอบงำซาอุฯ มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ใช่จะถูกลบล้างไปได้ง่ายๆ” ขณะที่นักวิเคราะห์จาก แคปปิตอล อีโคโนมิสต์ เตือนว่า การกวาดล้างแบบไม่แคร์หน้าอินทร์หน้าพรหมเช่นนี้ “อาจทำให้มกุฎราชกุมารทรงถูกต่อต้านจากคนในราชวงศ์ นักธุรกิจ และองค์กรศาสนา ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแผนปฏิรูปของพระองค์เอง”